ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดรามานักอนุรักษ์ท้องทะเล “ทราย-สก็อต” ทายาทสิงห์รุ่น 4 กลายเป็นไม้ขีดไฟก้านเดียวที่จุดติดลุกลามไหม้ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จนร้อนรนกันไปหมด รวมถึง “รัฐมนตรีที่โลกลืม” นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่คงไม่อาจนิ่งเฉยต่อไปได้
ก่อนอื่นมารู้จัก ทราย - สก๊อต กับชีวิตและผลงานรักษ์ท้องทะเลแบบฟาดจุก ๆ จนสั่นสะเทือนผู้มากบารมีในกรมอุทยานฯ บริษัททัวร์ และไกด์ผี ฯลฯ กันสักหน่อย
สิรณัฐ สก๊อต อายุ 26 ปี ลูกครึ่งไทย-สก๊อตแลนด์ เป็นหลานชายของนายจำนง ภิรมย์ภักดี ประธานบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านแอนิเมชันจากสหรัฐอเมริกา
ถึงแม้ชีวิตส่วนตัวของทราย จะมีเรื่องราวเบื้องหลังชีวิตในวัยเด็กอันน่าขมขื่นและเศร้าใจ ตามที่เขาเขียนเล่าไว้ในเพจ “ทราย - Merman Ψ (มนุษย์เงือก)” ช่วงเดือนส.ค. 2023 แต่มาวันนี้เขาเติบใหญ่และเข้มแข็งขึ้นมาได้ด้วยอ้อมกอดของท้องทะเลที่เยียวยาจิตใจ และผูกพันโชคชะตา จนได้ฉายา “อควาแมนเมืองไทย”
บนเส้นทางชีวิตที่เขาเลือกเป็นนักอนุรักษ์ท้องทะเล ทราย ประเดิมด้วยโครงการ Sea you strong ก่อตั้งด้วยทุนส่วนตัว มีสมาชิกเป็นชุมชนในภาคใต้ ช่วยกันทำความสะอาดเก็บขยะชายหาด และมีกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
กระทั่งเมื่อชื่อเสียงของเขาโดดเด่นขึ้นมา จากการว่ายน้ำเดี่ยวจากอ่าวนางไปกลับเกาะปอดะ ระยะทาง 30 กม. เพื่อสร้างกระแสให้สังคมตระหนักถึงการอนุรักษ์ท้องทะเล เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบดีกรมอุทยานฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 และ 6 มี.ค. 2568 โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ ติดตาม ประสานงาน และปฎิบัติหน้าที่อื่น ตามที่อธิบดีกรมอุทยานฯ มอบหมาย
“เคยไปว่ายน้ำข้ามเกาะด้วยกัน และเห็นว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจเพื่อส่วนรวมในการทำงานด้านการอนุรักษ์ จึงชวนมาทำงานเป็นที่ปรึกษา แต่ก็ทำงานแบบไม่มีเงินเดือน เป็นจิตอาสา ที่คอยช่วยเหลืองานมากกว่า” นายอรรถพล กล่าวถึงเหตุผลในการตั้งทราย – สก๊อต เป็นที่ปรึกษา
การทำงานในฐานะที่ปรึกษาฯ อาจกล่าวได้ว่าทรายได้ทุ่มเทกำลังเต็มร้อย หากติดตามเพจ “ทราย - Merman Ψ (มนุษย์เงือก)” จะเห็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันของเขา เช่น การเป็นทูตทางทะเลเพื่อเป็นสื่อกลางในการรักษาท้องทะเล การให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บหอยไปเป็นที่ระลึก การเหยียบปะการัง ฯลฯ
อย่างไรก็ดี การอุทิศตนทำงานอย่างมุ่งมั่นและทุ่มเท โดยออกตัว “แรง” ในบางครั้ง ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้เสียประโยชน์ เช่น เหตุการณ์ที่เขาขึ้นไปบนเรือท่องเที่ยว เพื่อตักเตือนนักท่องเที่ยวที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสพกัญชา เนื่องจากจะมีปัญหาความปลอดภัยหากขาดสติจากสภาพมึนเมา หรือกรณีเรือบางลำที่ทิ้งสมอเรือสร้างความเสียหายแก่ปะการัง กรณีที่อ่าวบูหยา เกาะปอดะ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้มีการท่องเที่ยว การโยนสมอจึงผิดกฎหมาย
รวมไปถึงบริษัททัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวดำน้ำให้อาหารเต่าทะเล ซึ่งกลายเป็นคดีฟ้องร้อง และการเผยแพร่คลิปที่เขาเข้าช่วยนักท่องเที่ยวเรือเสีย แต่มีคำพูด “หนีห่าว” แล้วหัวเราะ ซึ่งเขามองว่าเป็นการเจตนาเหยียดคนไทยต้องมีเคลียร์ ครานั้นมีกระแสในโลกโซเซียลว่า จะมีการปลดทรายจากตำแหน่งที่ปรึกษาของนายอรรถพล แต่เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2568 นายอรรถพล ยืนยันว่ายังไม่ปลด ก่อนจะปลดจริงในเวลาต่อมา
แรงปะทะจากการทำหน้าที่ของ ทราย - สก๊อต ขยายวงกว้างขึ้น ทำให้หลายฝ่ายทั้งบริษัททัวร์ ไกด์เถื่อน เรือรับจ้าง แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่บางคน และอาจรวมถึงผู้บริหารอุทยานฯ เองที่ไม่พอใจ พร้อมรุมกินโต๊ะ
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ข่าวลือในโลกโซเซียลจะกลายเป็นข่าวจริง เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 21 เม.ย. 2568 ระหว่าง “ทราย-สก๊อต” ให้สัมภาษณ์รายการข่าวดัง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ก็ออกคำสั่งปลดเขาออกจากการเป็นที่ปรึกษาฯ
“ทรายต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ แต่วันนี้ทำงานร่วมกับใครไม่ได้ เลยต้องยุติบทบาท แต่เขายังเด็ก ผมเข้าใจ ต้องฟังคนอื่นให้เยอะกว่านี้” นายอรรถพล ให้เหตุผลต่อการปลด “ทราย-สก๊อต”
ขณะที่ นายเฉลิม ศรีอ่อน เห็นด้วยกับการที่ทรายปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ แต่ก็ต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่าการทำคอนเทนต์บางเรื่องนั้นส่งผลกระทบกับหลายกลุ่ม ต้องมาช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ไม่อยากให้เป็นเรื่องดรามาสร้างกระแสในสังคมว่ามีการรังแก และเหรียญมีสองด้าน เพราะฉะนั้นต้องดูให้ครบทุกด้าน
เปิดแผลเน่า ทุจริตอุทยานฯ บานตะไท ใช่หรือไม่?
“ผมเห็นเยอะเกินไป” ทราย สก๊อต บอกอย่างซื่อ ๆ เมื่อถูกถามว่าทำไมเกิดกระแสต่อต้านเขาในช่วงนี้...เห็นอะไร!!?? ใช่ภาพการทุจริตอันเกิดจากการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หย่อนหยานในหน้าที่ของผู้บริหารอุทยานฯ บางคน เจ้าหน้าที่บางคน เพราะมีผลประโยชน์เกื้อหนุนกันทั้งระบบ ใช่หรือไม่
ปฏิเสธได้ยากว่า วงจรทุจริตในกรมอุทยานฯ ฝังรากลึกมานาน เหตุการณ์ที่เพิ่งถูกจับได้คาหนังคาเขาเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือ คดีทุจริตอุทยานหมู่เกาะสิมิลัน ที่ฟ้องต่อชาวโลก โดยเมื่อ 25 มี.ค. 2568 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ชุด ฉก.ฉลามอันดามัน กว่า 30 นายแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยวแล้วจับกลโกงเก็บค่าธรรมเนียมผ่านระบบ E-Ticket จำนวนคนไม่ตรงกับจำนวนตั๋ว ซึ่งเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเศษ พบว่ารัฐต้องเสียรายได้มากถึง 156,000 บาท
ทั้งนี้ ชุดเฉพาะกิจติดตามมาตรการป้องกันการทุจริต ในการจัดการอุทยานแห่งชาติ หรือ ฉก. ป.ป.ช.อันดามัน รายงานจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ปรากฏว่า อุทยานชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้รายงานจำนวนนักท่องเที่ยวในรอบเดือนที่ผ่านมา ที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวน 40,000 กว่าคนต่อเดือน ซึ่งเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2568 มีการจำหน่ายตั๋วเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 500 คน แต่ข้อเท็จจริงจากการสังเกตการณ์ พบว่าไม่ค่อยปรากฏมีนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนมากเกือบ 100% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
และจากการตรวจนับของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ตรงกับระบบจำหน่ายตั๋วอุทยาน (E-Ticket) เช่น ในบางบริษัท เรือบางลำ ซื้อตั๋วนักท่องเที่ยวเพียงแค่ 5 คน แต่ในเรือกลับปรากฏจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 50 คน หรือซื้อตั๋วจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย 20 คน ต่างชาติ 20 คน แต่ไม่ปรากฏนักท่องเที่ยวชาวไทยแม้แต่คนเดียว ซึ่งค่าธรรมเนียมคนไทย 100 บาท ต่างชาติ 500 บาท
หลักฐานที่ปรากฏคาตา ทำให้ นายอรรถพล ต้องออกคำสั่งย้าย ว่าที่ ร.อ.ฤทธิกรณ์ นุ่นลอย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสิมิลัน ออกจากพื้นที่
นี่เพียงกลโกงตั๋ว E-Ticket การเวียนเทียนตั๋ว หรืออื่น ๆ ที่เชื่อแน่ว่า แตะไปตรงไหนก็เจอตรงนั้น รวมไปถึงการส่อทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ที่น่าจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของเงินจำนวนนี้ มีไว้ใช้เพื่อสวัสดิภาพและสวัสดิการของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทุกคนในกรมอุทยานฯ และประกันภัยความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่ แต่ทว่ากลับมีโครงการที่เบื้องบนสั่งมา เช่น โครงการจัดซื้อเรือด้วยงบหลายร้อยล้าน ที่หากว่ามีชื่อของ “บริษัทเอกชนรายหนึ่ง” ซึ่งเป็นผู้ยื่นฟ้อง ทราย - สก๊อต เข้าร่วมประมูลด้วย จงอย่าประหลาดใจ !!??
อีกทั้งจงอย่าแปลกใจที่มีเสียงร่ำลือกันว่า กรณีหาเรื่องปลด ทราย - สก๊อต เพราะคุมไม่ได้ วงในเขาเชื่อกันว่าต้องมี “ใบสั่ง” มาจากเบื้องบนที่เริ่มไม่แฮปปี้กับการออกมาแฉให้เห็นถึงผลประโยชน์ต่างตอบแทนในแวดวงอุทยานฯ ซึ่ง ทราย - สก๊อต เห็นมากเกินไป พูดมากเกินไป
โพสต์หนึ่งของทราย – สก๊อต เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2568 อาจถือได้ว่าเป็นการเรียกแขกตัวเอ้ ระบุว่า 'ไม่ใช่เคสนักอนุรักษ์สู้กับนายทุน' ไม่ครับมันเป็นเคสบริษัททัวร์ในพื้นที่จำนวนใหญ่ยื่นเงินใต้โต๊ะให้กับหัวหน้าอุทยาน และคิดว่าทำอะไรก็ได้ ซื้อความสะดวกข้ามกฎอุทยาน.. แต่ในเมื่อทรายไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงจรทุจริตระหว่างสองฝ่าย ทรายเลยปฏิบัติการตามสิ่งที่ถูกต้องให้กับสังคมและยึดกับกฎหมายของกรมอุทยาน ....”
และคลิปไกด์เถื่อนสัญชาติรัสเซีย ที่ทรายเผยแพร่ผ่านเพจ “ทรายแจ้งหัวหน้าอุทยานสิมิลัน (คนที่เป็นข่าว) ช่วยตรวจสอบไกด์เถื่อนตามบริษัทเรือที่มาทำทัวร์ หัวหน้ารายงานต่อมาว่า 'ตรวจสอบแล้วไม่เจอ' คุณภาพจริง”
“.... ช่วงหลัง ๆ ที่เขาเห็นว่าผมทำแรงเกินไป เตือนนักท่องเที่ยวให้ทำถูกกฎ เตือนเรือไม่ให้โยนสมอ ทางเลือกทางคืออะไร? คือเปล่า ให้เกิดขึ้นเหรอ นั่นก็ไม่ถูกกฎหมายนะครับ นี่คือทิศทางของอุทยาน ผมว่าไม่เหมาะสมสำหรับผมที่จะไปอยู่ตรงนั้น เพราะมันเป็นทิศทางที่ไม่ถูกต้องในการอนุรักษ์ และรักษากฎอุทยาน ....” ทราย สก๊อต เปิดใจ ผ่านรายการ “คุยนอกจอ” เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2568 ก่อนถูกปลดฟ้าผ่า
เวลานี้ มีเสียงร่ำลือกันทั้งทุ่งบางเขน ว่าอันที่จริงแล้ว นายอรรถพล เป็นเพียง “อธิบดีหนังหน้าไฟ” ให้กับทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพราะ ”หลังฉาก” ยังมี “อธิบดีเงา” ที่เป็นตัวจริง เสียงจริง สายตรงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรี ทส. ยืนทะมึนอยู่เบื้องหลัง*
สำหรับ “อธิบดีเงา” ที่เล่ากันลั่นทุ่งบางเขนนั้น แสงไฟสาดส่องไปยัง**นายอริยะ เชื้อชม** วน.55 ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ คนปัจจุบัน ที่ออกจะโลว์โปร์ไฟล์ แต่รัฐมนตรีให้ความไว้วางใจอย่างมาก ขนาดที่ว่ากันว่า คุมบัญชีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกรมฯ รวมทั้งบัญชีงบประมาณค่าใช้จ่ายในกรมฯ เลยก็ว่าได้ โดยทำงานเข้าขากันกับ **นายนริศ ขำนุรักษ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนักเรียนป่าไม้แพร่ ซึ่งรู้เส้นสนกลในทุกเส้นสายที่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี
เบื้องหลังกรมอุทยานฯถอยหลังลงคลอง
ทั้งนี้ ในปีหนึ่ง ๆ กรมอุทยานฯ มีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานฯ ทั่วประเทศ นับพันล้านบาท ซึ่งเมื่อปี 2567 เก็บรายได้สูงถึง 2.2 พันล้านบาท โดย อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ ธารา หมู่เกาะพีพี จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบ ยังรักษาแชมป์อันดับหนึ่ง รองลงมา คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.กระบี่, อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง และ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา
อุทยานฯ เบอร์ต้นดังกล่าว นับเป็นแหล่งผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันทั้งภาครัฐ เอกชน คนท้องถิ่นในหลากหลายรูปแบบ และกว่าการจัดเก็บรายได้จะเข้ารูปเข้ารอย ทำเงินนับพันล้านต่อปีในเวลานี้ ต้องแลกด้วยการทำงานหนักของบุคคลผู้ปิดทองหลังพระ เมื่อสิบปีมาแล้วที่จัดระบบระเบียบ ปิดช่องโหว่ แต่วันนี้กลับถูกทลายลง
อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ว่า “การทำให้เงินอุทยานโปร่งใส เน้นเพิ่มพลังให้เจ้าหน้าที่ สนับสนุนผู้ประกอบการที่ทำดี ประเมินผลงานอย่างเป็นระบบ/เปิดเผย นี่คือ 4 ข้อทำได้ทันทีครับ”
ขุมทรัพย์ค่าธรรมเนียมอุทยานฯรั่วไหล และกำลังจะกลับไปเป็นเหมือนอดีตนั้น นายศศิน เฉลิมลาภ อดีตเลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้โพสต์แชร์ความทรงจำ ถึงเรื่องที่อาจเป็นข้อสงสัยเรื่องรายได้ของกรมอุทยานฯ ซึ่งมีเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระดับตำนาน กระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปการทำงานครั้งใหญ่ ก่อนจะมีจุดเปลี่ยนแนวโน้มที่กลับมายังจุดเดิมหรือแย่กว่าเดิม จากการเลือกผู้บริหารสมัยรัฐบาลลุงตู่ 2 ที่ส่งผู้บริหารที่ไม่มีความสามารถ และมีข่าวเรื่องซองเงิน เป็นต้น สืบต่อมา
ทั้งนี้ บันทึกในเพจ Thon Thamrongnawasawat เมื่อ 23 เมษายน 2017 เขียนถึงเรื่องของ “ศรายุทธ ตันเถียร ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ ธารา หมู่เกาะพีพี จ.ภูเก็ต ผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ของวงการอุทยานแห่งชาติเมืองไทย ไปตลอดกาล #บุรุษผู้ทวงเงินคืนชาติพันล้านบาท
อาจารย์ธรณ์ เล่าย้อนกลับไปในปีงบประมาณ 2558 กรมอุทยานฯ เก็บเงินรายได้ค่าธรรมเนียมจากอุทยาน 147 แห่งทั่วประเทศ ได้ทั้งหมด 896 ล้านบาท กระทั่ง ศรายุทธ เข้ามาเป็นหัวหน้าอุทยานฯ หมู่เกาะพีพี ที่ตอนนั้นมีปัญหารุมเร้า เป็นอุทยานฯที่ทำรายได้น้อยนิด เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาล
แต่ชั่วเวลา 1 ปี 9 เดือน ของการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าอุทยานฯ หมู่เกาะพีพีคนใหม่ สถิติใหม่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาค่อนศตวรรษที่มีการจัดตั้งอุทยานในเมืองไทย นี่คือหัวหน้าอุทยานคนแรกที่ทำให้อุทยานฯ สามารถเก็บเงินรายได้รวม 978 ล้านบาท และผลจากการกระทำ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่ว ตัวเลขเงินรายได้อุทยานทั่วประเทศพุ่งกระฉูด จาก 896 ล้านบาท (ปี 58) กลายเป็น 1,982 ล้านบาท (ปี 59) และ 1,053 ล้านบาท ในเวลาเพียง 5 เดือนของปี 60 (ตุลา-กุมภา) เป็นไปได้ว่า ในปีงบประมาณ 60 กรมอุทยานฯ จะมีเงินรายได้มากกว่า 2,400 ล้านบาท ลองคิดถึงปีต่อไป ต่อ ๆ ไป...
การจับกุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจับสัตว์น้ำผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการทำผิดกฎ นักท่องเที่ยวทำร้ายธรรมชาติ ฯลฯ จำนวนสถิติพุ่งจนเกือบถึง 1 พันครั้ง อุทยานจากเหนือจรดใต้ เกือบ 150 แห่งทั่วประเทศ เงินรายได้สามารถจัดสรรปันส่วนไปถ้วนทั่วหน้า
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า การปฏิรูปที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเมื่อปี 2558 สิบปีผ่านไป มาถึงวันนี้ กรมอุทยานฯ ในยุค อธิบดีอรรถพล และท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัย กำลังทำให้อุทยานฯ ถอยหลังลงคลอง อย่างที่อาจารย์ ศศิน เฉลิมลาภ กล่าวเตือนไว้
ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ เปิดสถิติการจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ 133 แห่ง และวนอุทยาน 9 แห่ง ประจำปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 - ก.ย. 2567) มีเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ 2,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 ที่จัดเก็บรายได้จำนวน 1,467 ล้านบาท
อุทยานฯที่จัดเก็บเงินรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ปี 2567 ได้แก่ 1.อุทยานฯหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ 629 ล้านบาท 2.อุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา 243 ล้านบาท 3.อุทยานฯเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง 164 ล้านบาท 4.อุทยานฯอ่าวพังงา 149 ล้านบาท 5.อุทยานฯเขาใหญ่ 129 ล้านบาท
นายนิติพล ผิวเหมาะ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก ว่าปัญหาที่ใหญ่กว่าดรามา ทราย-สก๊อต คือ เรามีรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมที่โลกลืม สะท้อนว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันทรงคุณค่า ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม
นับเป็นบทสรุปที่ตรงประเด็นที่สุดกับสถานกาณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้