xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โกกั้ง (1) ต้นเรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กองทัพโกกั้ง
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในส่วนที่เป็นภาคพื้นทวีปนั้น เมียนมาหรือพม่าในอดีตจัดเป็นประเทศที่มีชนชาติพันธุ์ที่มิใช่พม่าอยู่หลายชนชาติ จนอาจกล่าวได้ว่ามากกว่าเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็เป็นได้ ชนชาติเหล่านี้กระจายอยู่ตามภูเขาและพื้นที่ชายขอบของประเทศ แต่ที่ดูต่างไปจากเพื่อนบ้านก็คือ มีบางชนชาติมีประชากรเป็นจำนวนมาก 
การที่มีจำนวนมากเช่นนี้ ทำให้ชนชาติเหล่านี้มีพลังในการต่อรองกับชนชาติพันธุ์พม่าที่เป็นผู้ปกครองสูงสุดตามไปด้วย

ชนชาติเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ของตนเองมายาวนานไม่ต่างกับชนชาติพม่า บางครั้งอยู่กับชนชาติพม่าด้วยดี บางครั้งก็ขัดแย้งกัน และในบรรดาชนชาติเหล่านี้กลับมีอยู่ชนชาติหนึ่งที่มีประชากรไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับบางชนชาติ แต่กลับมีพลังในการก่อปัญหาให้แก่รัฐบาลเมียนมาอยู่ไม่น้อย นั่นคือ  โกกั้ง 
ว่าที่จริงแล้วโกกั้งมีปัญหากับเมียนมาพอๆ กับอีกชนชาติหนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงกับตน นั่นคือ  ชนชาติว้า  ทั้งสองชนชาตินี้มีปัญหากับเมียนมาในสองประเด็นด้วยกัน ประเด็นหนึ่ง ต่างก็ต้องการเป็นอิสระจากเมียนมาเช่นเดียวกับแกหลายชนชาติ อีกประเด็นหนึ่ง ต่างก็เป็นผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ในเมียนมา
 แต่กล่าวเฉพาะโกกั้งแล้ว ปัญหาล่าสุดที่ก่อขึ้นจนเป็นที่เดือดร้อนไปทั่วก็คือ การตั้งตนเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 

คำว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (call center gangs) นี้ถือเป็นคำศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยหมายถึง กลุ่มมิจฉาชีพที่ทำงานเป็นขบวนการด้วยการหลอกลวงเหยื่อผ่านทางโทรศัพท์ และส่วนใหญ่จะอ้างตนเป็นหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพื่อหลอกลวงเหยื่อให้เกิดความวิตกกังวลและหวาดกลัว จนขาดสติโอนเงินไปให้ในที่สุด

เพราะฉะนั้นแล้ว คำสำคัญที่พึงอธิบายก็คือคำว่า โกกั้ง ว่าเป็นใคร มาจากไหน ทำไมจึงได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง และยังเป็นอาชญากรรมข้ามชาติอีกด้วย คือข้ามชาติในเรื่องยาเสพติดและเรื่องคอลเซ็นเตอร์ การที่โกกั้งก่อปัญหาได้หนักขนาดนี้จึงควรที่เราจะได้ทำความรู้จักกับชนกลุ่มนี้ตามสมควร แต่นั่นก็ต้องย้อนหลับไปไกลถึงสมัยราชวงศ์หมิงของจีนกันเลยทีเดียว

 เริ่มจากเมื่อปลายราชวงศ์หมิง 


ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) เป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่งของจีน ราชวงศ์นี้มีความสัมพันธ์กับดินแดนหรือรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แตกต่างไปจากราชวงศ์ก่อนหน้าของจีน แล้วราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ซึ่งเป็นราชวงศ์ต่อมาก็สานต่อความสัมพันธ์นี้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของโกกั้งที่จะได้บอกเล่าต่อไปนี้ได้เกิดขึ้นในช่วงปลายของราชวงศ์หมิง เมื่อราชวงศ์นี้เกิดความอ่อนแออย่างถึงที่สุดก่อนที่จะล่มสลายไปในที่สุด

เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาได้อย่างถ่องแท้ ในที่นี้จะได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงปลายของราชวงศ์หมิงโดยละเอียดพอสมควร ว่าได้เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก่อนจะล่มสลาย และเหตุการณ์ใดที่ทำให้เกิดกลุ่มชนที่ถูกเรียกว่า  โกกั้ง ในทุกวันนี้
ช่วงที่ราชวงศ์หมิงอ่อนแอนั้น ผู้ที่เป็นจักรพรรดิคือ  ฉงเจิน (ค.ศ.1611-1644) ว่าที่จริงแล้วตอนที่ฉงเจินก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดินั้น ราชวงศ์หมิงได้อ่อนแออยู่ก่อนแล้ว ครั้นพอพระองค์ขึ้นครองราชย์ สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้าย โดยเฉพาะเมื่อได้เกิดกบฏขบวนการต่างๆ ขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจีน

แต่ขบวนการกบฏที่ยิ่งใหญ่ก็คือ ขบวนการกบฏที่มีผู้นำชื่อ  หลี่จื้อเฉิง (ค.ศ.1605?-1645)  แรกเริ่มที่ก่อกบฏขึ้นนั้น หลี่จื้อเฉิงยังมิได้เป็นผู้นำในทันที หากแต่เป็นหนึ่งในแกนนำที่มีอยู่หลายคน กบฏนี้ได้ก่อการขึ้นที่มณฑลสั่นซีและซันซีก่อน จากนั้นจึงขยายการบุกไปยังที่ราบภาคกลางใน ค.ศ.1633

ครั้นถึง ค.ศ.1635 แกนนำกบฏที่มาจาก 13 ตระกูลรวม 72 ค่ายก็จัดให้มีการประชุมขึ้นเพื่อวางระบบการทำงานขึ้นใหม่ โดยที่ประชุมมีมติให้แบ่งกองกำลังออกเป็นกองประจำการตามข้อเสนอของหลี่จื้อเฉิง กองประจำการนี้มีห้าสาย

ต่อมาผู้นำในสายที่หลี่จื้อเฉิงสังกัดอยู่ถูกกองกำลังของทางการจับได้และถูกประหารชีวิต หลี่จื้อเฉิงจึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน

แต่การศึกที่มณฑลสั่นซี เหอหนัน และหูกว่างนั้น กองกำลังของหลี่จื้อเฉิงถูกโจมตีอย่างหนัก จนเขาต้องหนีไปซ่อนตัวในป่าเขา พร้อมกันนั้นก็ฟื้นฟูกองกำลังขึ้นมาใหม่ กล่าวโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่า ตลอดทศวรรษ 1630 กองกำลังกบฏของหลี่จื้อเฉิงแม้จะมิได้เข้มแข็งมากนักก็ตาม แต่ก็มิได้หยุดการเติบโตแต่อย่างไร

อนึ่ง หูกว่างเป็นมณฑลที่ถูกจัดตั้งขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน มีพื้นที่ครอบคลุมมณฑลหูเป่ยในส่วนด้านใต้ของแม่น้ำเหลือง หูหนัน กว่างซี และกุ้ยโจวในปัจจุบัน ในสมัยราชวงศ์ชิง หูกว่างถูกปรับพื้นที่ให้อยู่ในบริเวณมณฑลหูเป่ยและหูหนัน จนเรียกกันว่า เหลี่ยงหู ที่แปลว่า มณฑลสองหู ด้วยชื่อของสองมณฑลนี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า หู

อย่างไรก็ตาม พอลุล่วงสู่ทศวรรษ 1640 กองกำลังของหลี่จื้อเฉิงก็เริ่มแข็งแกร่งขึ้นมาจนเห็นได้ชัด
 ต้น ค.ศ.1644 หลี่จื้อเฉิงได้ประกาศสถาปนาราชวงศ์ซุ่นขึ้นที่มณฑลซันซี จากนั้นก็บุกตีเมืองต่างๆ เรื่อยไปจนถึงชานเมืองหลวงเป่ยจิง (ปักกิ่ง) ถึงตอนนี้ราชสำนักหมิงก็รู้ว่าจุดจบของตนมาถึงแล้ว 

ในชั้นแรกจักรพรรดิฉงเจินปฏิเสธคำแนะนำที่จะให้พระองค์เสด็จหนีลงไปทางใต้ และยืนยันที่จะต่อสู้กับฝ่ายกบฏ โดยพระองค์ทรงให้รัชทายาทกับอนุชาอีกสององค์หลบซ่อนตัวอยู่ที่ตำหนักของญาติวงศ์ ส่วนพระองค์ที่ทรงเดินด้วยอาการมึนเมาตรงไปยังเหล่านางสนมหมายจะฆ่า

ในขณะที่จักรพรรดินีทรงกระทำอัตวินิบาตกรรมไปแล้วนั้น เฉินจงกลับทรงฆ่าพระธิดาด้วยกระบี่ของพระองค์ ข้างฝ่ายนางสนมที่ถูกพระองค์ไล่ฟันด้วยนั้นก็ได้รับบาดเจ็บ พระองค์ยังทรงฟันไปที่พระกรขององค์รัชทายาทจนได้รับบาดเจ็บสาหัสอีกด้วย

จากนั้นก็ทรงปลอมพระองค์เป็นขันทีเพื่อจะหนีออกจากวังหลวงแต่ก็ไม่สำเร็จ ด้วยทรงถูกยิงจากทหารรักษาวังที่จำพระองค์ไม่ได้ แผนของพระองค์จึงถึงทางตัน

แต่จนถึงยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้แล้วก็ตาม เฉินจงก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดของพระองค์ที่อ่อนแอจนราชวงศ์ล่มสลาย พระองค์ได้แต่กล่าวโทษว่าเป็นความผิดของเหล่าเสนามาตย์ โดยพระองค์ตรัสว่า  “ข้าพเจ้ามีคุณธรรมความสามารถน้อย ร่างกายก็อ่อนแอ สวรรค์จึงลงทัณฑ์ ความผิดทั้งมวลอยู่ที่เหล่าเสนามาตย์”  จากนั้นก็เสด็จขึ้นสู่เนินเขาหลังพระราชวังต้องห้ามพร้อมกับขันทีที่จงรักภักดีจำนวนหนึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น