xs
xsm
sm
md
lg

การทับซ้อนและพลวัตของการเมืองสามรูปแบบในสังคมไทย: ชนชั้นนำ บ้านใหญ่ และพลเมือง (6) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

สัปดาห์นี้จะกล่าวถึงประเด็น ฐานอำนาจของการเมืองแบบพลเมืองในการเมืองแบบพลเมือง ด้วยการที่การเมืองแบบพลเมืองเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับบทบาทและการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะพลเมืองที่กระตือรือร้น มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างมีความหมาย

การเมืองรูปแบบนี้จำเป็นต้องมีฐานอำนาจที่ค้ำจุนให้สามารถดำรงอยู่และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในบริบทสังคมที่มีโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์และมีวัฒนธรรมอุปถัมภ์เช่นสังคมไทย ฐานอำนาจสำคัญที่ค้ำจุนการเมืองแบบพลเมืองประกอบด้วยพลังของภาคประชาสังคม ความตื่นตัวของพลเมือง และกลไกตรวจสอบถ่วงดุล

ฐานอำนาจประการแรกของการเมืองแบบพลเมืองคือ พลังของภาคประชาสังคม (Civil Society) ซึ่งหมายถึง พื้นที่ทางสังคมที่อยู่ระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคล ประกอบด้วยองค์กร เครือข่าย และการรวมกลุ่มของประชาชนที่ดำเนินกิจกรรมโดยอิสระจากอำนาจรัฐ แต่มีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเด็นสาธารณะ สังคมที่มีองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งและหลากหลายมักจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพและตอบสนองต่อประชาชนมากกว่า

ภาคประชาสังคมจะสร้าง พัฒนา และรักษาพื้นที่สาธารณะ (Public Sphere) ซึ่งเป็นพื้นที่ของการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างพลเมืองและช่วยสร้างความเห็นสาธารณะที่มีเหตุผลและเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐและระบบเศรษฐกิจ

ในสังคมไทย ภาคประชาสังคมมีพัฒนาการที่น่าสนใจและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย ภาคประชาสังคมไทยมีจุดเริ่มต้นสำคัญหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นำไปสู่การขยายตัวของกลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ซึ่งทำงานกับชุมชนและกลุ่มคนชายขอบ ในช่วงทศวรรษ 2530-2540 มีการเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่หลากหลาย เช่น ขบวนการด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดิน แรงงาน สิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้รัฐธรรมนูญ 2540 ให้การรับรองสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน

หลังรัฐธรรมนูญ 2540 และหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สังคมไทยเริ่มมีความตื่นตัวของพลเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างพื้นที่และกลไกสำหรับการมีส่วนร่วมของพลเมืองหลายประการ เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงสถานะความเป็นพลเมืองมากขึ้น ภาคประชาสังคมไทยจึงมีการขยายตัวทั้งในเชิงประเด็นและพื้นที่การทำงาน จากการเคลื่อนไหวเฉพาะประเด็นสู่การเคลื่อนไหวเชิงโครงสร้างและเชิงนโยบายมากขึ้น ซึ่งทำให้มีผลกระทบทางการเมืองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองหลังปี 2549 ภาคประชาสังคมไทยมีความแตกแยกและแบ่งขั้วตามความขัดแย้งทางการเมือง การแบ่งขั้วนี้ทำให้ภาคประชาสังคมสูญเสียความเป็นอิสระและเอกภาพ ซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและอำนาจต่อรองไปไม่น้อยทีเดียว

ในปัจจุบัน ภาคประชาสังคมไทยมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในแง่ของประเด็น รูปแบบการเคลื่อนไหว และองค์กร โดยมีทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนแบบดั้งเดิม ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย องค์กรสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มที่ทำงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรมทางสังคม

กล่าวได้ว่าการเมืองภาคพลเมืองในไทยมีความเข้มแข็งในระดับฐานราก โดยเฉพาะในชุมชนที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การจัดการทรัพยากร ที่ดิน และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ การเคลื่อนไหวเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมและตรวจสอบอำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคมไทยยังเผชิญความท้าทายสำคัญหลายเรื่องด้วยกัน

ประการแรก การถูกจำกัดเสรีภาพและการคุกคาม โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลทหารและในประเด็นที่อ่อนไหว เช่น การวิพากษ์กองทัพหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ

ประการที่สอง ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและความยั่งยืน องค์กรภาคประชาสังคมไทยจำนวนมากเผชิญกับความท้าทายด้านงบประมาณและบุคลากร โดยเฉพาะหลังจากแหล่งทุนต่างประเทศลดบทบาทลง ความท้าทายนี้อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องและประสิทธิภาพในการทำงาน

ประการที่สาม การขาดการเชื่อมโยงระหว่างประเด็นและกลุ่มต่าง ๆ ดังเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมไทยยังมีลักษณะแยกส่วนตามประเด็นและพื้นที่ ทำให้ขาดพลังในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

และ ประการที่สี่ ความท้าทายในยุคดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการสื่อสารทำให้รูปแบบการเคลื่อนไหวแบบเดิมไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แม้จะเผชิญความท้าทายหลายประการ แต่ภาคประชาสังคมยังคงเป็นฐานอำนาจสำคัญของการเมืองแบบพลเมืองในไทย โดยเฉพาะในการสร้างพื้นที่ทางการเมืองนอกเหนือจากการเมืองในระบบสถาบัน การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

ฐานอำนาจที่สองคือ ความตื่นตัวของพลเมือง (Active Citizenship) พลเมืองที่ตื่นตัวคือ ประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนในฐานะสมาชิกของสังคมการเมือง มีทักษะและทัศนคติที่พร้อมมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองเพื่อกำหนดทิศทางของสังคม ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงระบอบการปกครอง แต่เป็นวิถีชีวิตที่พลเมืองร่วมกันปกครองตนเอง ความสามารถเชิงพลเมืองที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมและมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางการเมืองคือ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผล การเข้าใจมุมมองของผู้อื่น และการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อเป้าหมายส่วนรวม

ในปัจจุบัน ความตื่นตัวของพลเมืองไทยมีลักษณะที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาความเป็นพลเมือง

ปัจจัยแรกคือการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ทางการเมือง การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในช่วงปี 2563-2564 แสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดและวิธีการทางการเมืองแตกต่างจากรุ่นก่อนหน้า โดยเน้นความเท่าเทียม การต่อต้านอำนาจนิยม และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ปัจจัยที่สอง การปรากฏตัวและขยายตัวของพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) การเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง พื้นที่ดิจิทัลเปิดโอกาสให้พลเมืองสามารถแสดงความคิดเห็น รวมกลุ่ม และระดมทรัพยากรได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ เช่น การแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ การแบ่งขั้วทางความคิด และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี

และปัจจัยที่สาม การเมืองของอัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมไทยเริ่มมีการรับรู้และยอมรับความหลากหลายของอัตลักษณ์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเพศสภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือวัฒนธรรม การเคลื่อนไหวของกลุ่มอัตลักษณ์ต่าง ๆ มีส่วนในการขยายความเข้าใจเรื่องสิทธิพลเมืองและการสร้างสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้น

แม้การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีจะช่วยกระตุ้นความตื่นตัวทางการเมืองของพลเมืองไทย แต่ยังมีข้อจำกัดสำคัญที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

ประการแรก คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการทางการเมือง ผู้มีฐานะดีกว่ามักได้รับโอกาสและมีอิทธิพลมากกว่า ขณะที่กลุ่มเปราะบางยังถูกกันออกจากพื้นที่การตัดสินใจสำคัญ

ประการต่อมา คือ การขาดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการถกเถียงทางการเมือง สังคมไทยยังขาดวัฒนธรรมที่เปิดรับความเห็นต่าง ความขัดแย้งและการแบ่งขั้วทางความคิดทำให้เวทีแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์มีอยู่อย่างจำกัด

สุดท้าย คือ ข้อจำกัดด้านสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงการปกครองของรัฐบาลทหาร หรือในประเด็นอ่อนไหวทำให้พลเมืองไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือมีส่วนร่วมได้อย่างเสรีและเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม ความตื่นตัวของพลเมืองยังคงเป็นฐานอำนาจสำคัญของการเมืองแบบพลเมืองในไทย โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่เน้นการมีส่วนร่วม การตรวจสอบอำนาจรัฐ และการส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตย

ฐานอำนาจประการที่สามคือ กลไกตรวจสอบถ่วงดุล (Check and Balance Mechanisms) กลไกตรวจสอบถ่วงดุลเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งจำกัดและควบคุมการใช้อำนาจของรัฐเพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพต้องมีกลไกตรวจสอบที่หลากหลาย ทั้งในระดับสถาบันและระดับประชาชน เพื่อสร้างระบบ “ภาระรับผิดชอบหลายชั้น”(Multiple Accountability) ที่ทำให้ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน






เพียร์ โรซานวัลลอน (Pierre Rosanvallon) นักทฤษฎีประชาธิปไตยชาวฝรั่งเศส ได้พัฒนาแนวคิด “ประชาธิปไตยแห่งการตรวจสอบ” (Counter-Democracy) ในหนังสือ Counter-Democracy: Politics in an Age of Distrust (2008) ที่เน้นบทบาทของพลเมืองในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐนอกเหนือจากการเลือกตั้ง ด้วยกลยุทธ์การเฝ้าระวัง (Surveillance) โดยการติดตามและตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจ เช่น การรายงานข่าวของสื่ออิสระ การสืบสวนโดยภาคประชาสังคม หรือ การเปิดโปงการทุจริต

ตามต่อด้วย กลยุทธ์การป้องกัน (Prevention) ซึ่งเป็นความสามารถของประชาชนในการคัดค้านหรือยับยั้งนโยบายหรือการตัดสินใจของรัฐบาล เช่น การออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย การชุมนุมประท้วงกดดันเพื่อหยุดยั้งนโยบายใดนโยบายหนึ่ง

และกลยุทธ์การตัดสิน (Judgment) ซึ่งเป็นกลไกที่พลเมืองใช้การลงโทษนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การยื่นถอดถอน การฟ้องร้องต่อศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ในปัจจุบัน กลไกตรวจสอบถ่วงดุลในประเทศไทยมีหลากหลายรูปแบบที่ทำงานควบคู่กันทั้งในระดับสถาบันและระดับประชาชน โดยแต่ละกลไกมีบทบาทและประสิทธิภาพที่แตกต่างกันออกไปตามบริบททางการเมืองและสังคม ในด้านกลไกตรวจสอบระดับสถาบัน องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับการออกแบบให้เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม องค์กรเหล่านี้ยังประสบข้อจำกัดทั้งในแง่ความเป็นอิสระและการเข้าถึงของประชาชนในทางปฏิบัติ และบางองค์การก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของการมีอคติทางการเมืองและเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ซึ่งทำให้การตัดสินขาดความเที่ยงธรรมและไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนจำนวนมาก

ในขณะเดียวกัน กลไกตรวจสอบภายในฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งกระทู้ถาม และการทำงานของคณะกรรมาธิการ ก็มีประสิทธิภาพจำกัด เพราะฝ่ายบริหารมักมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติผ่านระบบพรรคการเมืองและการควบคุมเสียงข้างมากในสภา ส่งผลให้กลไกเหล่านี้ไม่สามารถทำหน้าที่ถ่วงดุลได้อย่างเต็มที่

นอกเหนือจากกลไกระดับสถาบัน กลไกตรวจสอบโดยตรงของภาคประชาชนก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สื่อมวลชนและสื่อพลเมืองทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลและวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจรัฐ แม้สื่อมวลชนไทยเผชิญความท้าทายจากการแทรกแซงทางการเมืองและธุรกิจ แต่การเติบโตของสื่อออนไลน์และสื่อพลเมืองได้สร้างพื้นที่ใหม่สำหรับการตรวจสอบการใช้อำนาจที่มีความคล่องตัวมากขึ้น องค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมก็มีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาล

องค์กรเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเปิดโปงการทุจริตและการใช้อำนาจโดยมิชอบ แม้จะต้องเผชิญกับการคุกคามและการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวอยู่บ่อยครั้ง การตรวจสอบผ่านช่องทางกฎหมาย เช่น การฟ้องร้องคดีปกครอง การใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ และการร้องเรียนต่อองค์กรอิสระ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้โดยตรง อย่างไรก็ตามแม้จะมีช่องทางตรวจสอบเหล่านี้ แต่ข้อจำกัดในเรื่องความรู้ความเข้าใจและการเข้าถึงของประชาชนทั่วไปยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ

ในยุคดิจิทัล กลไกตรวจสอบได้พัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ที่มีพลังมากขึ้น การตรวจสอบผ่านสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ประชาชนสามารถแบ่งปันข้อมูล วิพากษ์วิจารณ์ และระดมการสนับสนุนได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง สื่อสังคมออนไลน์ได้เปลี่ยนแปลงดุลอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน โดยทำให้การปกปิดข้อมูลหรือการใช้อำนาจโดยมิชอบเป็นไปได้ยากขึ้น

การเฝ้าระวังและตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ (Fact-checking) ได้กลายเป็นกลไกใหม่ในการสร้างความรับผิดชอบทางการเมือง โดยช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่เผยแพร่โดยรัฐและนักการเมือง ในขณะที่การเคลื่อนไหวแบบแฮกติวิสต์ (Hacktivism) ที่ใช้ทักษะด้านเทคโนโลยีในการเข้าถึงและเปิดเผยข้อมูลที่ถูกปกปิด แม้จะมีข้อถกเถียงในเรื่องจริยธรรมและกฎหมาย แต่ก็เป็นรูปแบบใหม่ของการตรวจสอบอำนาจที่ท้าทายกลไกดั้งเดิม

ด้วยการที่สรรพสิ่งมักมีหลายมิติ ดังนั้นแม้เทคโนโลยีจะเปิดพื้นที่ใหม่สำหรับการตรวจสอบอำนาจ แต่ก็นำมาซึ่งความท้าทายที่ซับซ้อนไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ ปฏิบัติเชิงจิตวิทยา (IO) ของหน่วยงานภาครัฐ การแบ่งขั้วทางความคิดในสังคมออนไลน์ และความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การตรวจสอบโดยภาคประชาชนผ่านช่องทางดิจิทัลมีทั้งโอกาสและข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึง การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกตรวจสอบถ่วงดุลในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)


กำลังโหลดความคิดเห็น