xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ครู” แชมป์ข้าราชการถูกฟ้องล้มละลาย “แก้หนี้” ยากยิ่งกว่า “ลิงแก้แห” !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ภาวะ “หนี้สิน” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ “ครู” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย แม้ว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขมากเป็นลำดับ แต่นอกจากจะไม่มีอะไรดีขึ้นแล้ว สถานการณ์ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกต่างหาก กระทั่งกลายเป็นอาชีพที่ถูก “ฟ้องล้มละลาย” และเสี่ยง “ถูกให้ออกจากราชการ” มากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดา “ข้าราชการ” ในกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ

 นายณรินทร์ ชำนาญดู  นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ฉายภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่า ปัจจุบันข้าราชการไทยมีปัญหาหนี้สินจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ข้าราชการครู” ที่กำลังเผชิญวิกฤตการเงินถึงขั้นจ่อถูกฟ้องล้มละลาย แถมข้าราชการครูจำนวนไม่น้อยยังตกอยู่ในภาวะ “หนี้ซ้ำซ้อน”  คือเป็นหนี้ทั้งกับ “สหกรณ์ออมทรัพย์ครู” และเป็นหนี้กับ  “สถาบันการเงิน”  ควบคู่กัน

 ทั้งนี้ มีข้อมูลเปิดเผยว่า ปี 2567 มีข้าราชการถูกฟ้องล้มละลายกว่า 7,000 คน ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 14,000 คน และในจำนวนนี้เป็นข้าราชการครูกว่า 5,000 คน ครองสัดส่วนเป็นอันหนึ่งของข้าราชการไทย 

นั่นหมายความว่า หากคดีเป็นที่สิ้นสุด ครูที่ต้องคำพิพากษา “ให้ล้มละลาย” ก็เป็นต้องยุติชีวิตการรับราชการไปโดยปริยาย

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตาสำหรับนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าจะดำเนินการอย่างไร

โดยแนวทางเบื้องต้นนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มี  นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ ร่วมหารือเพื่อ “ปรับแก้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547”  ใหม่ เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ถูกฟ้องล้มละลายไม่ต้องออกจากราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นผู้เกี่ยวข้อง

นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวแสดงความคิดเห็นด้วยว่า “ไม่ควรให้ออกจากราชการ” เพราะเป็นการล้มละลายที่ไม่ใช่การทุจริต ซึ่งเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา ดังนั้น ข้าราชการครูควรได้รับโอกาสในการทำงานต่อไป อีกทั้งหากถูกบังคับออกจากราชการ นอกจากรัฐสูญเสียบุคลากรทางการศึกษา จะเป็นซ้ำเติมข้าราชการครูให้เสียช่องทางการหารายได้ ก่อภาระทางการเงินเพิ่ม

“กรณีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันมีข้าราชการที่ถูกให้ออกจากราชการจำนวนมาก จึงควรเร่งผลักดันเพื่อให้กฏหมายมีผลบังคับใช้เร็วที่สุด หากช้าไปกว่านี้ ก็อาจทำให้มีข้าราชการเดือดร้อน ถูกฟ้องล้มละลาย ต้องออกจากราชการ เพราะกฏหมายไม่มีผลย้อนหลัง และหากถูกให้ออกแล้ว ก็ไม่สามารถกลับมาเป็นข้าราชการได้อีก” นายณรินทร์กล่าว

ขณะเดียวกันจะมีการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งเป็นผู้แลภาพรวมของข้าราชการทั่วประเทศ รวมไปถึงคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) เพื่อผลักแก้ปัญหา ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อขับเคลื่อนกฏหมายที่ช่วยเหลือข้าราชการในทุกสาขาอาชีพให้เป็นไปในทิศทางเดียกวันอีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สถานการณ์การแก้ปัญหาหนี้ข้าราชการครูนับเป็นวาระใหญ่เร่งด่วนวาระดับชาติ หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาดำเนินการอย่างเต็มกำลัง ทำคลอดนโยบายเพื่อลดภาระทางการเงินแก้หนี้ครูอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2568 เห็นชอบแนวทางการขอความร่วมมือสถาบันการเงินทุกแห่ง แจ้งข้อมูลครูที่อยู่ระหว่างกระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีและมีแนวโน้มว่าจะถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย (กลุ่มวิกฤต) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือและหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

รวมทั้งเห็นชอบให้ตั้งสหกรณ์กลาง ภูมิภาคละ 1 แห่ง รวม 5 แห่ง ได้แก่ ภาคกลาง ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดกาญจนบุรี ภาคใต้ ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคเหนือ ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครสวรรค์ ภาคตะวันออก ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดสระแก้ว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนี้ ในส่วนกลาง ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงานและเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยเน้นการช่วยเหลือครูที่ประสบปัญหาการถูกหักเงินเดือนจนเหลือรายรับสุทธิต่ำกว่าร้อยละ 30 ของเงินเดือน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลโดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังได้ออกมาตรการลดหย่อนหนี้ โดยผู้กู้จะได้รับส่วนลดต้นเงิน (เงินต้น) 5-10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว

ประการสำคัญ มีการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการเสนอให้เพิ่มข้อความ “การหักเงินตามวรรคหนึ่ง หน่วยงานของรัฐต้องคำนึงถึงประโยชน์ในการดำรงชีวิตของสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหน่วยงานนั้น โดยการหักเงินเพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันอื่นที่มีต่อสหกรณ์จะต้องคงเหลือเงินเดือนสุทธิของสมาชิกหลังจากหักเงินดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30” เป็นวรรคสี่ของมาตรา 42/1 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553

รวมทั้งแก้ไขระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่ม และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2550 โดยขอให้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมความในข้อ 30 วรรคหนึ่ง “การจ่ายเงิน มิให้ส่วนราชการผู้หักเงินไว้เพื่อการใดๆ เว้นแต่จะมีหนังสือยินยอมจากข้าราชการ หรือผู้มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ เพื่อชำระเงินให้แก่สหกรณ์ที่จัดตั้งโดยส่วนราชการและค่าสวัสดิการต่าง ๆ ตามระเบียบว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ หรือชำระตามข้อผูกพันกับทางราชการเท่านั้น โดยเพิ่มเติม “ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพของข้าราชการ การหักเงินดังกล่าวจะต้องคงเหลือเงินสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30”

 ตามข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 มีผู้สมัครเข้าระบบสถานีแก้หนี้ จำนวน 7,762 ราย โดยเป็นครูที่อยู่ในกลุ่มสีแดง มีเงินเดือนเหลือหรือน้อยกว่า 30% จำนวน 6,250 ราย (มีสถานะถูกฟ้อง 1,030 ราย และไม่ถูกฟ้อง 5,220 ราย) และกลุ่มสีเหลือง มีเงินเดือนมากกว่า 30% จำนวน 1,512 ราย 

อย่างไรก็ดี ภาพรวมการแก้หนี้ครูปี 2567 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการแก้ไขสำเร็จแล้ว 1,640 ราย และมีมูลหนี้ที่แก้ไขสำเร็จรวมกว่า 4,920 ล้านบาท นอกจากนี้ ข้อมูลการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูของสถานีแก้หนี้ครูระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ พบว่ามีการแก้ไขให้ครูในกลุ่มสีแดงมีเงินเดือนเหลือเกิน 30% ได้สำเร็จ จำนวน 2,048 ราย และกลุ่มที่กำลังดำเนินการอีก 6,651 ราย รวมทั้ง พบว่ามีสถานีแก้หนี้ครูระดับเขตพื้นที่ฯ ที่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ 100% มากถึง 40 เขต รวมทั้งสิ้น 655 คน ซึ่งจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เหลือต่อไป

“การแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการนั้น เป้าหมายสำคัญคือการที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถติดตามสถานการณ์ ป้องกันไม่ให้ครูต้องประสบปัญหาทางการเงินที่รุนแรงจนถึงขั้นล้มละลาย” นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ ระบุ และยืนยันว่า มีวางแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในระยะยาวอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยเน้นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของครูที่ประสบปัญหาหนี้สินให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะที่  ดร.พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยถึงการเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ปีที่ผ่านมา มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีที่คู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) อยู่จำนวน 334,795 บัญชี เป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 273,838 ล้านบาท โดยได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากธนาคารออมสินในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ อีกด้วย

 ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อไหร่ “ครูไทย” จะสามารถก้าวพ้นจากภาวะ “หนี้สินล้นพ้นตัว” เสียที เพราะจะว่าไป ในปัจจุบัน “อัตราเงินเดือนและผลตอบแทนของครู” ก็ค่อนข้างสูงพอสมควร  


กำลังโหลดความคิดเห็น