xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จาก “หมอชายแดน” ถึง “หมออินเทิร์น” โจทย์หิน “หมอลาออก” เรื่องใหญ่แก้ยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  การลาออกของหมออินเทิร์น ปี 1 โรงพยาบาลบึงกาฬ ถือเป็น “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของปัญหาเชิงระบบสาธารณสุขของไทยที่ซับซ้อนและยุ่งเหยิง การยกบึงกาฬให้เป็น “พื้นที่บริหารพิเศษ” เหมือนจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้หมออยู่ในพื้นที่ จะช่วยทุเลาปัญหาได้หรือไม่ ยังไม่แน่ว่าจะแก้ได้ 

อย่างที่รู้กันดีว่า ปัญหาการลาออกของแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นเรื่องใหญ่ที่แก้ยาก เมื่อไม่นานมานี้ก็มีเรื่องราวของ “หมอชายแดน”  ด้านฝั่งตะวันตก ที่แบกรับภาระงานล้นจนทนไม่ไหวยื่นใบลาออก มาคราวนี้ถึงคิวของ  “หมออินเทิร์น 1”  หรือหมอใช้ทุน/หมอเพิ่มพูนทักษะ ที่จังหวัดบึงกาฬ ชายแดนฝั่งตะวันออก โบกมือลาออกนับสิบ

ขณะที่ทางโรงพยาบาลบึงกาฬ โพสต์ผ่านเพจเฟชบุ๊กว่า แพทย์อินเทิร์น 1 รพ.บึงกาฬ จำนวน 16 คน ใช้ทุนกำลังจะครบ 1 ปี แจ้งความประสงค์ลาออก 6 คน เพื่อกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนา (ผ่านการคัดเลือกเข้าทำงานใน รพ.สังกัด กทม. แล้ว 6 คน และอีก 4 คน กำลังอยู่ในระหว่างการคัดเลือกเข้าทำงานในรพ. สังกัด กทม.) ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2568

รพ.บึงกาฬยังย้ำอีกว่า ไม่ใช่ลาออกทั้งหมดตามที่เป็นข่าว และหมอที่มีความประสงค์จะย้ายกลับไปอยู่รพ.ในสังกัดกทม. ซึ่งเป็นคนละสังกัดกับกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องลาออกจากสังกัดเดิม

ในการสืบสาวต้นสายปลายเหตุในการลาออกของหมออินเทิร์นบึงกาฬ นั้น  นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 ให้คำอธิบายว่า เป็นลักษณะปัญหาเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นทุกปี เพราะหมออินเทิร์นที่บึงกาฬ จบมาจากคณะแพทยศาสตร์ ของกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ไม่ไช่กลุ่มที่จบจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) ซึ่งผลิตแพทย์เพื่อพื้นที่ เมื่อมาจากส่วนกลางหรือที่อื่นจับสลากและมาลงที่บึงกาฬ ซึ่งเป็นตัวเลือกท้าย ๆ ก่อนสามจังหวัดชายแดนก็ว่าได้ พอมาอยู่แล้วก็ลาออกตลอด เนื่องจากไม่ใช่หรือไม่ใกล้ภูมิลำเนาของตัวเอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข แก้ปัญหามาตลอดทุกปี

ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬ มีโรงพยาบาลจังหวัด 1 แห่ง 200 กว่าเตียง เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก และมีโรงพยาบาลชุมชน ประมาณ 7 แห่ง ปีที่ผ่านมาได้แพทย์อินเทิร์น มาที่บึงกาฬ 16 คน จำนวนนี้อยู่ รพ.บึงกาฬ และต้องฝึก 9 เดือน และอีก 3 เดือนไปอยู่ รพ.ชุมชน ในจำนวน 16 คน ณ ตอนนี้แสดงความจำนงขอลาออกไป 10 คน เหลือ 6 คน ที่จะอยู่ทำงานปีที่ 2 ต่อ

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา นพ.ณัฐพงศ์ กางแผนว่า ยังมีหมออินเทิร์นอีก 5 คนที่ฝากฝึกไว้ที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี ซึ่งลาออกไป 3 คน เหลือ 2 คน ที่จะกลับมา รพ.ชุมชน ดังนั้น ในปีที่ 2 จะมีหมออินเทิร์นอยู่ในรพ.ชุมชนที่บึงกาฬ 8 คน คือ 6 คน จากรพ.บึงกาฬ และอีก 2 คน จากรพ.ศูนย์อุดรธานี รวมทั้งจะดึงหมออินเทิร์นปี ที่ 2 และปี 3 ภายในเขตสุขภาพที่ 8 จากจังหวัดอื่นมาหมุนเวียน เพื่อช่วย รพ.บึงกาฬ

เขตสุขภาพที่ 8 มี 7 จังหวัด ในปี 2567 ได้รับจัดสรรแพทย์อินเทิร์นเต็มความสามารถของแพทย์ผู้ฝึก หรือ สตาฟ ตามข้อกำหนดของแพทยสภา จำนวน 254 คน และปี 2568 จำนวน 246 คน ซึ่งจังหวัดอื่น ๆ ในเขตสุขภาพที่ 8 มีแพทย์อินเทิร์น 1 ลาออกเช่นกัน

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาในระยะ 3 – 5 ปี เพื่อดึงหมออินเทิร์นและสตาฟให้อยู่ในบึงกาฬ ขณะนี้ กำลังเสนอขอให้จังหวัดบึงกาฬ เป็น  “พื้นที่บริหารแบบพิเศษ  เหมือนสามจังหวัดชายแดนใต้ หากใครมาทำงานในพื้นที่จะมีโอกาสรับทุนการศึกษาเร็วขึ้น เพื่อไปศึกษาต่อด้านสูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม และกุมารเวช รวมทั้งเสนอค่าตอบแทนเพิ่มด้วย ซึ่งต้องรอการอนุมัติจากกระทรวงฯ
 นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า กำลังจะเสนอเรื่องผ่านคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ อ.ก.พ. ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ให้บึงกาฬ เป็น “พื้นที่บริหารแบบพิเศษ” โดยใช้หลักเกณฑ์เหมือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์อยู่ในพื้นที่ โดยจะหารือเรื่องนี้หลังเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าการพิจารณาผ่านขั้นตอน อ.ก.พ. คงใช้เวลาไม่นาน และเตรียมหารือแพทยสภา ขอเพิ่มสัดส่วนแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือหมออินเทิร์น 1 มาฝึกในพื้นที่บึงกาฬ จากเดิม 16 คน อาจขอเพิ่มเป็น 24 คน

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข สรุปแนวทางหลัก ๆ ในการแก้ปัญหาในภาพรวมของบึงกาฬ คือ 1.จัดสรรโควต้าแพทย์เฉพาะทางให้ จ.บึงกาฬ มากขึ้น 2.อนุโลมอายุการใช้ทุน เช่น หากสมัครไปฝึกเรียนที่บึงกาฬ ก็อาจลดระยะเวลาลง ยกตัวอย่าง 3 ปี เหลือ 2 ปี ก็สามารถไปเรียนต่อสาขาขาดแคลนได้ และ 3.ค่าตอบแทน ต้องพิจารณาว่าเวรนอกเวลาจะเพิ่มเท่าไหร่ แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เนื่องจากเป็นเงินบำรุง

จากข้อมูลของสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ ระบุว่า สถานการณ์ของแพทย์มีอัตราส่วนต่อประชากรน้อยที่สุดในประเทศไทย คือแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 6,000 คน และปัจจุบันทั้งจังหวัดมีแพทย์เพียง 73 คน ขณะที่ประชากรมีจำนวนถึง 420,000 คน ซึ่งบึงกาฬ ติดอันดับจังหวัดที่แพทย์ขาดแคลนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

 ทั้งนี้ “พื้นที่บริหารแบบพิเศษ” ณ ปัจจุบัน มีจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก เช่น อำเภออุ้มผาง อำเภอท่าสองยาง และสามจังหวัดชายแดนใต้ การเป็นพื้นที่บริหารพิเศษ จะมีค่าตอบแทนอัตราพิเศษ การนับระยะเวลาการใช้ทุน ระยะเวลาการศึกษาต่อก็จะแตกต่างจากพื้นที่ปกติ 




รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูล ณ ปัจจุบัน มีแพทย์จบใหม่ประมาณปีละ 3 พันคน หมอลาออกประมาณ 1 พันคน ยังอยูในระบบ 2 พันกว่าคน ซึ่งประเด็นกระจายตัว ถือเป็นปัญหาสำคัญที่กำลังดำเนินการกระจายให้เหมาะสม และหามาตรการในการสร้างแรงจูงใจเพิ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้ นพ.ภูวเดช ให้สัมภาษณ์สื่อหลังร่วมประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาการลาออกของแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า หลัก ๆ คือ การขาดแคลนกำลังคน ภาระงานมาก ขาดความก้าวหน้า และค่าตอบแทน ปัญหาเหล่านี้ทำให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขลาออกจากระบบ

ส่วนแนวทางแก้ปัญหา ทางสธ. ดำเนินการหลายเรื่อง เช่น การจัดทำยุทธศาสตร์ปฏิรูปกำลังคนและภารกิจด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ ระยะ 10 ปีข้างหน้า ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ โดยผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว

อีกแนวทางสำคัญ คือ การเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ...หรือกฎหมายแยกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้ สธ.สามารถบริหารจัดการด้วยวิธีเฉพาะของกระทรวงฯ ซึ่งขณะนี้ยื่นเรื่องเข้าสู่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)

หรืออีกทางออก คือตั้งคณะอนุกรรมการชุดพิเศษสำหรับกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะ แต่อยู่ในกรรมการข้าราชการพลเรือน ที่เรียกว่า  “ก.พ.(สธ.)”  เพราะข้าราชการของ สธ. มีจำนวนมากถึง 2.3 แสนคน คิดเป็น 54% ของข้าราชการทั้งหมดที่ ก.พ.ดูแลอยู่ 4.5 แสนคน ส่วนค่าตอบแทนเพิ่มต้องให้ทางกรมบัญชีกลาง อนุมัติ

 ศ.ทพ.ธนภูมิ โอสถานนท์  รองคณบดี ฝ่ายวิชาการและบัณฑิตศึกษา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นการลาออกของแพทย์ใช้ทุนว่า การลาออกของแพทย์ใช้ทุน จริง ๆ น่าจะเป็นปัญหาเชิงระบบของสาธารณสุข ที่มีความซับซ้อนและหยั่งรากแบบหยุ่งเหยิง ไม่ใช่แค่แพทย์ แต่รวมไปถึงบุคลากรสาธารณสุขอื่น ๆ ด้วย นอกจากความรู้สึกของทันตแพทย์ผู้ที่ทำงานที่โพสกันแล้ว อยากสะท้อนมุมเล็ก ๆ จากภาพใหญ่ ผ่านผลงานวิชาการของทันตะ จุฬาฯ 3 เรื่องที่เกี่ยวข้อง

การแก้ไขการขาดแคลนทันตแพทย์ในพื้นที่ชนบท โดยโครงการทันตแพทย์ใช้ทุนเริ่มมากว่า 30 ปีแล้ว โดยภาพรวมตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้มีการกระจายตัวของทันตแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถทำให้รักษาอัตราการคงอยู่ของทันตแพทย์ในระบบได้ เนื่องจากอัตราการคงอยู่ของทันตแพทย์ในระบบโรงพยาบาลรัฐยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายมิติ (Arunratanothai, et al Hum Resour Health 2022)

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกทำงานและการคงอยู่ของทันตแพทย์ในภาครัฐ ได้แก่ สภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัย การสนับสนุนจากหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน รวมถึงโอกาสในการศึกษาต่อระดับหลังปริญญา ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลต่อการคงอยู่หลังจากทำงานครบหนึ่งปี ได้แก่ ความใกล้บ้านเกิดและระบบราชการ การประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ อาจช่วยส่งเสริมให้ทันตแพทย์คงอยู่ในระบบภาครัฐได้มากขึ้น (Arunratanothai, et al BMC Oral Health 2023)

แล้วทันตะ จุฬาฯ มองการช่วยให้เกิดการกระจายของทันตแพทย์ในพื้นที่ชนบทและการคงอยู่ในระบบอย่างไร?

โครงการที่ทันตะ จุฬาทำมาอย่างยาวนานมากคือ โครงการจุฬาฯ ชนบท และโครงการสืบสานปณิธานสมเด็จย่าเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ขาดแคลนทันตแพทย์ซ้ำซาก โดยรับนักเรียนในพื้นที่มาเรียนทันตแพทย์เป็นการผลิตเพื่อพื้นที่ ซึ่งทันตแพทย์ที่รับเข้าด้วยโครงการนี้มีอัตราการคงอยู่ในระบบสูงกว่าทันตแพทย์ที่รับเข้าเรียนในระบบสอบคัดเลือกปกติอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อทั้งการคงอยู่และการลาออกคือสถานที่ปฏิบัติงาน โดยการได้ทำงานใกล้บ้านเกิด (Vivatbutsiri P, et al Hum Resour Health 2020)

แต่จริง ๆ ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับประชาชนตามยุคสมัย แม้ว่าจะอยู่ใกล้บ้านเกิด หากระบบไม่ได้เอื้อให้บุคลากรอยู่ในระบบได้อย่างมีคุณภาพที่ดี ก็คิดว่าคงจะรั้งคนให้อยู่ในระบบอย่างยาวนานไม่ได้เหมือนเดิม

 นพ.ภาสกร วันชัยจิระบุญ  กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยผลสำรวจของแพทยสภา เกี่ยวกับความคิดเห็นของแพทย์จบใหม่ ปี 2564 หรือที่เรียกว่า แพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือ “หมออินเทิร์น 1” ก่อนปฏิบัติงานใช้ทุนในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ โดยสำรวจก่อนไปปฏิบัติงานจริงว่า มีแผนจะลาออกล่วงหน้าหรือไม่ โดยสำรวจจากแพทย์จบใหม่รวม 2,431 คน คิดเป็น 84.8% ของทั้งหมด ครอบคลุม 4 โปรแกรมศึกษาแพทยศาสตร์ในไทย เช่น กสพท., CPIRD, โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ฯลฯ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ 31.8% ต่างจังหวัด 68.2% และรายได้ที่คาดหวังเฉลี่ย 60,000-80,000 บาทอยู่ที่ 46.2% ทั้งนี้ พบว่ามีเพียง 3.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีแผนจะลาออกตั้งแต่ก่อนปฏิบัติงาน

 ปัจจัยหลักที่น่าจะทำให้แพทย์ลาออก คือ 1.สภาพแวดล้อมการทำงาน คิดเป็น 61.4% สาเหตุคือ ถูกเอาเปรียบโดยผู้ร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา และวัฒนธรรมการทำงานที่มีการกลั่นแกล้ง 2.ภาระงานหนักเกินไป คิดเป็น 51.7% สาเหตุคือ ชั่วโมงทำงานยาวนาน มีความรับผิดชอบสูงเกินไปสำหรับแพทย์จบใหม่ 3.เงินเดือนและค่าตอบแทนต่ำ คิดเป็น 42.9% สาเหตุไม่สมดุลกับภาระงานและความรับผิดชอบ และไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในบางพื้นที่ และ ระยะเวลารอทุนการศึกษามีผลต่อการลาออก หากรอทุนนานเกินไป จะเพิ่มโอกาสในการลาออกเช่นกัน 

จากแบบสำรวจ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น 1.ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน เช่น สร้างวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมที่ดี ป้องกันการกลั่นแกล้งและการเอาเปรียบในที่ทำงาน 2. จัดการภาระงานให้เหมาะสม กำหนดชั่วโมงทำงานที่เหมาะสม กระจายงานอย่างเป็นธรรม 3.พิจารณาระบบค่าตอบแทน เช่น ปรับค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับภาระงาน สร้างแรงจูงใจทางการเงินที่เหมาะสม 4.ปรับปรุงระบบทุนแพทย์ประจำบ้าน เช่น ลดระยะเวลารอทุน มีความยืดหยุ่นในเรื่องสถานที่

ข้อค้นพบที่น่าสนใจของการสำรวจ คือ ระยะเวลารอทุนแพทย์ประจำบ้านมีผลต่อการตัดสินใจลาออก และสถานที่ตั้งของทุนการศึกษามีความสัมพันธ์กับการลาออก แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างสถานที่ตั้งของที่ทำงานกับการลาออก และความต้องการทำงานด้านความงาม ไม่ใช่สาเหตุหลักของการลาออก โดยมีเพียง 5.8% เท่านั้น

แพทยสภา เสนอแนะให้กระทรวงสาธารณสุข ติดตามแพทย์ที่จบเมื่อปี 2564 จนถึงปัจจุบันลาออกไปกี่คน ซึ่งแพทยสภา ไม่ทราบตัวเลขดังกล่าวเนื่องจากเป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข การสำรวจข้อมูลล่าสุดจะเป็นประโยชน์เพราะแมชชิ่งกันพอดีว่าหลังจากเข้าวงการแพทย์มาแล้ว มีตัวเลขลาออกเท่าไหร่ ต่างจากที่เคยสำรวจก่อนปฏิบัติงานมากน้อยแค่ไหน เพื่อร่วมกันปรับนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงได้

 หากต้องการทลายปรากฏการณ์ “ภูเขาน้ำแข็ง” หมอลาออก คงต้องเร่งมือแก้ไขปัญหาเชิงระบบที่ซับซ้อนยุ่งเหยิงให้ลุล่วงโดยเร็ว 


กำลังโหลดความคิดเห็น