xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึกชิง “เนสกาแฟ” ยังเดือด “มหากิจศิริ” ซัด “เนสท์เล่” บิดเบือด ชี้ชะตา “ขายได้หรือไม่” 20 มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้สถานการณ์ของผู้ที่นิยมชมชอบ “เนสกาแฟ” ทำท่าจะคลี่คลายลงไป หลัง “บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด” อ้างว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำสั่งให้บริษัทสามารถกลับมารับคำสั่งซื้อและขายได้ดังเดิม

หลัง “เสี่ยกึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใน “บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด(QCP)” ที่ 2 ฝ่ายก่อตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจเนสกาแฟ ตั้งแต่ปี 2533 และยุติสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย ส่งผลให้เนสท์เล่ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากร้านค้าต่างๆ ได้

แต่ในทางคดีและความเป็นจริง ความขัดแย้งระหว่าง “เนสท์เล่” กับ “บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด(QCP)” ของ “ตระกูลมหาศิริ” ยังไม่จบง่ายๆ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 เมษายน บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ออกคำชี้แจง 3 ฉบับโดยอ้างคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญากลางว่า “เนสกาแฟกลับมาขายได้ตามปกติแล้ว” หลังได้รับผลกระทบที่เกิดจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนหน้านี้ที่ออกโดยศาลแพ่งมีนบุรี ซึ่งผู้บริโภคสามารถหาซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทุกชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่อง

พร้อมทั้งยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญากับบริษัทควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักส์อย่างเคร่งครัด โดยมีหลักฐานของการปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาอย่างครบถ้วน

“ก่อนหน้านี้ เราได้ชนะคดีที่ศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยที่คุณประยุทธ มหากิจศิริ และครอบครัว ได้แก่คุณเฉลิมชัย มหากิจศิริ และคุณอุษณา มหากิจศิริ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น QCP ได้เข้าร่วมในกระบวนการไต่สวนของศาลอนุญาโตตุลาการสากลด้วยตนเอง”

ในคำชี้แจงดังกล่าว เนสท์เล่ยืนยันว่าจะลงทุนเพื่อผลิตเนสกาแฟในประเทศไทยต่อไป พร้อมระบุด้วยว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2561-2567 เนสท์เล่ได้ลงทุนกว่า 22,800 ล้านบาทในประเทศไทย และเนสท์เล่จะยังคงเดินหน้าลงทุนต่อไป

สำหรับเรื่องคดีความนั้น เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ออกนั่งพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ พ ๕๗๑/๒๕๖๘ ที่มีโจทย์ คือ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ นางสุวิมล มหากิจศิริ และนายประยุทธ มหากิจศิริ รวม 3 คน

โดยมี บริษัท เนสท์เล่ เอส.เอ , โซชิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.เอ ,บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด , นายรามอน เมนดิวิล กิล , บริษัท เนสท์เล่ อาร์โอเอช (ประเทศไทย) และ บริษัท เนสท์เล่เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด รวม 6 คน เป็นจำเลย

รายงานข่าวแจ้งว่า เดิมทีในวันดังกล่าวศาลนัดไต่สวนคำร้องของฝ่ายจำเลยที่ยื่นคำร้องเมื่อวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ห้ามผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์แบรนด์ Nescafé ในประเทศไทย ทำให้กระทบทั้งผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร และซัพพลายเออร์ในไทย

แต่ปรากฏว่าทนายของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพิ่มอีกฉบับ เพื่อขอให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ วินิจฉัยข้อโต้แย้งอำนาจการพิจารณาคดีของศาลแพ่งมีนบุรีโดยระบุเหตุผลในคำร้องว่า เนื่องจากคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงขอให้ส่งคดีไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเป็นผู้พิจารณา

ด้านทนายโจทก์ เดิมทีแถลงความประสงค์ต่อศาลเมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า จะยื่นคำคัดค้านคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่วันนี้เพิ่งได้รับทราบเรื่องการที่ทนายจำเลย ยื่นคำร้องขอให้คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จึงประสงค์ขอยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้าน เพราะลักษณะเป็นการประวิงเวลา รวมถึงคำร้องไม่มีประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรเครื่องหมายการค้า

ขณะที่ฝ่ายจำเลยยืนยันว่าไม่ได้ประวิงเวลาและยืนยันว่าคำร้องมีระบุถึงเรื่องสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า

อย่างไรก็ดี ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควร จึงอนุญาตในการให้ฝ่ายโจทย์ยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้านภายใน 5 วัน โดยขออนุญาตยื่นภายในวันที่ 23 เมษายน 2568 ถ้าไม่ยืนภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงโต้แย้ง

ขณะเดียวกัน ศาลได้วินิจฉัยว่า เมื่อคดีต้องรอการวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จึงยังไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้ เมื่อได้รับคำแถลงโต้แย้งคัดค้านของโจทก์แล้วให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเพื่อพิจารณา

และศาลนัดฟังคำสั่งประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หรือนัดไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2568 ของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยนัดพร้อมกันวันที่ 20 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 น.ตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีวันว่างตรงกัน

สำหรับความเคลื่อนไหวในฝาก “มหากิจศิริ”นั้น บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ก็ได้มีการออกแถลงการณ์ยืนยันข้อเท็จจริงกรณีข้อพิพาททางกฎหมายกับบริษัทเนสท์เล่ว่า การร่วมทุนระหว่างตระกูลมหากิจศิริกับเนสท์เล่ เริ่มต้นเมื่อครั้งนายประยุทธ มหากิจศิริ ร่วมลงทุนกับเนสท์เล่ตั้งโรงงานผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ซึ่งแม้เนสท์เล่จะเป็นเจ้าของแบรนด์และสูตรการผลิต แต่บริษัท QCP ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เนสท์เล่เป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

เมื่อสัญญาร่วมทุนหมดอายุ เนสท์เล่ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา โดยศาลอนุญาโตตุลาการสากลได้ตัดสินในเดือนธันวาคม 2567 ว่า เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุนกับนายประยุทธ มหากิจศิริเพียงผู้เดียว ซึ่ง ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ เห็นว่า ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย เนื่องจากนายประยุทธถือหุ้นเพียง 3% ขณะที่นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 47%

เพื่อปกป้องสิทธิ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัวจึงฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี จนศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 ห้ามเนสท์เล่ “ผลิต ขาย นำเข้าสินค้าเนสกาแฟมาจำหน่ายในประเทศไทย” ทำให้เนสท์เล่ไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ระบุว่า เนสท์เล่ไม่ยอมรับคำสั่งศาลไทย โดยได้ไปฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2568 ยืนยันว่าเนสท์เล่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “Nescafé” แต่ QCP กล่าวว่า เนสท์เล่ได้บิดเบือนคำสั่งศาลเพื่อให้สังคมเข้าใจผิดว่าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

ถึงตรงนี้ เห็นได้ชัดว่า มหากาพย์เนสกาแฟระหว่าง “ฝ่ายมหากิจศิริ” และ “เนสท์เล่” จะดำเนินต่อไป โดยเบื้องแรกจะต้องจับตาว่า ศาลแพ่งมีนบุรีจะมีคำสั่งออกมาอย่างไร จะ “คุ้มครอง” หรือ “เพิกถอนคำสั่งคุ้มครอง” ในวันที่ 20 มิถุนายน 2568 นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น