ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อื้อฉาวสุด ๆ แถมยิ่งขุดคุ้ยก็ยิ่งเจอความฟอนเฟะในโครงการสร้าง “ตึกกากเต้าหู้” ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่มหลังแผ่นดินไหว
หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเรื่องคดีผู้ถือหุ้นแทน หรือ “นอมินี” เป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอ ก็เดินหน้ารวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) สองบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ซึ่งเมื่อดีเอสไอ ยิ่งสาวลึกลงไป ยิ่งพบความไม่ปกติแทบจะทุกขั้นตอน
นอกเหนือไปจากผู้ถือหุ้นคนไทยในบริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ จะเข้าข่ายเป็น “นอมินีของกลุ่มทุนจีน” หรือไม่ เพราะดูแล้วเป็นเพียงพนักงานทั่วไป ไม่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ซึ่งเป็นบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจก่อสร้างของรัฐบาลจีน แม้แต่น้อยแล้ว ในการตรวจสอบเอกสารคู่สัญญาสำคัญ ยังพบพิรุธอีกเพียบ
สำหรับเอกสารคู่สัญญาสำคัญ แบ่งออกเป็น 4 สัญญาคือ สัญญาการออกแบบโครงสร้าง ซึ่งทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ไม่ได้เป็นคนออกแบบ แต่มีบริษัทของเอกชนเป็นออกแบบ, สัญญาควบคุมงาน, สัญญาการเปลี่ยนแบบ และสัญญาการก่อสร้าง ในเบื้องต้นทางดีเอสไอ กำลังขยายผลสอบไปถึงประเด็นที่มีการปลอมแปลงลายเซ็นของวิศวกรระดับสูงในการคุมงานก่อสร้างอาคาร สตง. รวมทั้งวิศวกรผู้ออกแบบอาคาร
“การปลอมแปลงลายเซ็นของนายสมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรระดับสูง เป็นผู้ควบคุมงานการสร้างอาคาร สตง. ทาง DSI ได้รับข้อมูลมาหมดแล้ว ตอนนี้ได้ส่งพนักงานสอบสวนตรวจสอบลายเซ็นของจริงและของปลอมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะนำไปประกอบสำนวนคดีนอมินี” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อในวันลงพื้นที่ตรวจซากอาคาร สตง. พร้อมกับ พ.ต.อ.ยุทธนา แพรดำ อธิบดี ดีเอสไอ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับสองบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ข้อมูลที่ดีเอสไอได้เป็นส่วนหนึ่งในคดีนอมินีจะเป็นประโยชน์ โดยนายสมเกียรติถือเป็น 1 ในจิ๊กซอว์ที่จะนําไปเชื่อมโยงเรื่องราวทั้งหมด การปลอมแปลงเอกสารจะเป็นสาเหตุอะไรหลาย ๆ อย่างหรือไม่ อาทิ การออกแบบ การควบคุมงาน จะต้องมีการขยายผลอยู่แล้ว
การปลอมแปลงลายเซ็นวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้าง เป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้นเมื่อนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานอนุกรรมการคลินิกช่าง ภายใต้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) วังทองหลาง เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2568 หลังพบว่าตนเองถูกแอบอ้างชื่อในเอกสารแก้ไขแบบปล่องลิฟต์ของอาคาร สตง. แห่งใหม่ที่พังถล่มลงมา
นายสมเกียรติ บอกว่าจากการตรวจสอบเอกสาร พบว่า ตนเองถูกแอบอ้างชื่อมา 5 ปี และยืนยันลายเซ็นทั้งหมดเป็นของปลอม พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทที่นำชื่อเขาไปแอบอ้างต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายเดือนละกว่า 100,000 บาท ซึ่งเป็นอัตราตอบแทนรายเดือนสำหรับวิศวกรรมโยธา ผู้ควบคุมงานโครงสร้างขนาดใหญ่
นอกจากพิรุธการปลอมแปลงลายเซ็นแล้ว ข้อมูลสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยคือพบรายชื่อบุคคลที่เซ็นชื่อออกแบบก่อสร้างอาคาร สตง. แห่งนี้ เป็นวิศวกรที่มีอายุมากถึง 85 ปี
วิศวกรรายนี้ มีชื่อว่า นายพิมล เจริญยิ่ง อาศัยอยู่ที่ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งเจ้าตัวชี้แจงว่าเป็นวิศวกรของบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ที่รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร สตง. แต่ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับงานนี้ด้วย ไม่ได้ออกแบบมานานแล้ว ขอให้ไปสอบถามข้อมูลจากบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด จะดีกว่า
“ผมไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย ไปถามบริษัทดีกว่า” นายพิมลให้สัมภาษณ์
สำหรับบริษัทเอกชนที่ได้รับงานออกแบบอาคาร สตง. วงเงิน 73 ล้านบาท มี 2 บริษัท คือ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2532 ทุนจดทะเบียนล่าสุด 5.3 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อาคารฟอรัม ทาวเวอร์ ชั้น 31 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร แจ้งทำธุรกิจบริการออกแบบให้คำปรึกษางานสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ตกแต่งภายใน ปรากฏชื่อ นายอภิรักษ์ เอี่ยมธรรม และ นายสุชาติ ชุติปภากร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ วันที่ 21 พ.ย. 2567 นายอภิรักษ์ เอี่ยมธรรม ถือหุ้นใหญ่สุด หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นายสุชาติ ชุติปภากร และนางศรีพร ศิริสัมพันธ์
ส่วนบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 19 ส.ค. 2534 ทุนจดทะเบียนล่าสุด 34 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อาคารธนภูมิ ทาวเวอร์ ชั้น 6, 15, 16 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการออกแบบด้านวิศวกรรม
ปรากฏชื่อ นายจอห์น เลียวนาด พอลลาร์ด, นายธีระ วรรธนะทรัพย์, นายจอห์น สจ๊วต แอนเดอร์สัน, นายเช็น เยา ฮุย, นางสาวศศิพร ศิริลัทพร, นายแมทธิว โทมัส ซิลเวสเตอร์, นายสมโภชน์ ศิริโชติ ซึ่ง ณ วันที่ 28 ส.ค. 2567 บริษัท อาร์ซี นานา แอนด์ โค จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ บริษัท ไมน์ฮาร์ท เอเซีย พีทีอี ลิมิเต็ด สัญชาติสิงคโปร์ และ ไมนฮาร์ท กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด สัญชาติฮ่องกง
จากการสืบสาวราวเรื่อง ณ เวลานี้ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมแล้วว่า สัญญาการก่อสร้าง ที่ สตง. ทำกับ อิตาเลียนไทยฯ และ ไชน่า เรลเวย์ฯ มีปัญหา โดย ไชน่า เรลเวย์ฯ มีปัญหาเรื่องนอมินี ส่วน อิตาเลียนไทยฯ มีปัญหาเรื่องฐานะทางการเงิน
ส่วนสัญญาออกแบบก่อสร้าง มีปัญหา วิศวกร วัย 85 ปี ถูกแอบอ้างชื่อ
และตามปกติแล้ว การก่อสร้างหน่วยงานราชการจะให้กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ แต่กรณีของ ตึก สตง. ทั้งสองหน่วยงานไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ เนื่องจากไม่สามารถออกแบบได้ทันตามกรอบเวลา 180 วัน ซึ่งดีเอสไอ ระบุว่า “ไม่ได้ผิดปกติมากนัก” กระทั่งตึกถล่มมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นเบือ และวิศวกรวัย 85 ถูกแอบอ้างชื่อ จึงชี้ชัดว่าการออกแบบอาคาร สตง. มีปัญหา และมีความ “ผิดปกติอย่างยิ่ง”
สำหรับสัญญาการควบคุมงาน มีปัญหา วิศวกรผู้ควบคุมงานถูกแอบอ้างชื่อเช่นกัน
ทั้งนี้ สตง. ทำสัญญากับ กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด, บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ในวงเงิน 74.65 ล้านบาท
ส่วนสัญญาการเปลี่ยนแบบ ก็มีปัญหา และยังเห็นความ “สับปลับ” ชี้แจงกลับไปกลับมาของผู้บริหาร สตง. อีกด้วย
กล่าวคือ ในแถลงการณ์ครั้งแรกของ สตง. เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 ระบุว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารแห่งนี้ “ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้” พร้อมกับปฏิเสธว่าไม่มีการปรับแบบลดขนาดเสาให้เล็กลง ดังที่ปรากฏข่าวในสื่อต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ ทั้งหมดเป็นไปตามแบบที่ผู้ออกแบบได้กำหนด และไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ต่อมา วันที่ 10 เม.ย. 2568 นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ชี้แจงต่อ กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณฯ ว่ามีการปรับแก้แบบจุดแกนกลางของลิฟต์ (Core lift) สาเหตุการปรับแก้เกิดจากบริเวณดังกล่าวมีทั้งทางเดินหลักและทางเดินรอง จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแบบให้ถูกต้องตามกฎหมายการก่อสร้าง
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานการสอบสวนที่ยืนยันว่าการแก้ไขดังกล่าว เป็นสาเหตุของตึกถล่ม
ความอื้อฉาวของตึกสตง. ยังมีรายการจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ สุขภัณฑ์ ไฟระย้าหรือแชนเดอเลียอันมหึมา ที่มีราคาแพง หรูหราเกินความจำเป็น รวมทั้งการใช้สอยพื้นที่ทำห้องสันทนาการ ห้องรับรองที่เวอร์วังอลังการ ฯลฯ
ตัวอย่าง รายการครุภัณฑ์ดังกล่าวมีตั้งแต่พรมขนยาวขนาดกว้าง 3.40 ม. x ยาว 2.40 ม. ในราคาผืนละ 110,000 บาท สำหรับห้องประธานกรรมการตรวจเงิน ซึ่งต้องการจัดซื้อจำนวน 2 ผืน รวมเป็นเงิน 220,000 บาท ไปจนถึงถึงห้องรับรองที่มีแผนจัดซื้อโซฟางานแกะสลักด้วยมือ เป็นงานแกะสลักปิดทอง โดยเป็นทองนำเข้าจากอิตาลี จำนวน 2 ตัว ราคา 157,000 บาท ไม่นับรวมอ่างล้างหน้า โถสุขภัณฑ์ และฝักบัวอาบน้ำจำนวนมากที่ตั้งราคาเกินกว่าท้องตลาด จนเป็นที่มาของคำถามที่ว่า สตง.ที่ดีแต่ตรวจสอบหน่วยงานอื่น ๆ ให้ใช้งบประมาณอย่างประหยัดนั้น สตง.เอง ใช้งบประมาณคุ้มค่าหรือไม่
นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพมหานคร เขต 9 จากพรรคประชาชน ออกมาแฉว่า อาคารแห่งนี้ มีห้องสันทนาการ ขนาด 3,000 ตร.ม. ใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ภายในห้องมีเวทีขนาด 150 ตร.ม. พร้อมห้องแต่งตัวชาย-หญิง ห้องครัวเตรียมอาหาร ห้องน้ำ 45 ห้อง ลิฟต์ 3 ตัว บันได 4 มุม ซึ่งคาดว่ามีไว้เพื่อจัดงานเลี้ยง งานเกษียณ งานเฉลิมฉลองปีใหม่ ฯลฯ
“ไม่ต้องเสียเงินไปปิดร้าน ใช้ที่หลวง ไฟหลวง เงินหลวงฉ่ำ ๆ” สส.จากพรรคประชาชน กล่าว
นายสุทธิพงษ์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้อธิบายประเด็นจัดซื้อของแพง ในการชี้แจงต่อกมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณฯ ว่า ตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เทียบเท่ารัฐมนตรี ขณะที่รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี ผู้ออกแบบจึงออกแบบให้เหมาะสมกับตำแหน่ง และยอมรับว่าที่แพงมีเพียงห้องรับแขกห้องหนึ่ง ซึ่ง สตง. ไทยเป็นคณะกรรมการบริหารของ สตง.ระหว่างประเทศ 159 ประเทศ ที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนแบบวีไอพี
“ถ้าวันนี้มันแพง ครั้งหน้าเราจะทำไม่ให้แพง จริง ๆ ครับ ขอรับรองเลย” รองผู้ว่าการ สตง. กล่าวยืนยันกับ กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณฯ
ขณะเดียวกัน เพจ “สมันอสังหา” พาส่องแบบแปลนตึก สตง. ที่พังถล่มให้เห็นถึงความเวอร์วังสุด ๆ ว่า เรื่องแรก ตึกนี้สร้างใหญ่มากไปเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานในตึก ตึกที่ถล่มไปจุคนได้เกินกว่าจำนวนบุคลากรทั้งหมดของ สตง. และที่ สตง.แถลงจะสร้างตึกใหม่ พื้นที่ดินลดลงกว่าครึ่งหนึ่งและความสูงไม่เกิน 10 ชั้น ก็แปลว่า จริง ๆ แล้ว สตง. ไม่ต้องสร้างตึกใหญ่โตมโหฬารก็พอใช้งานได้แล้ว
เรื่องที่สอง การใช้พื้นที่อาคารที่ไม่ค่อยเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะห้องผู้บริหารใช้พื้นที่เว่อร์เกินไป โดยชั้น 11 ทั้งชั้น ที่เป็นห้องผู้บริหารเพียงตำแหน่งเดียว พร้อมเลขาฯ ที่ปรึกษาอีก 6 คน เท่ากับว่าชั้นนี้มีคนใช้งาน 7 คน แต่พื้นที่ทั้งชั้นคือ 1,480 ตร.ม. ตกคนละ 211 ตร.ม. เลยทีเดียว พื้นที่ต่อคนเกินมาตรฐาน workplace ใด ๆ ไปเยอะ ส่วนห้องรับรอง ห้องประชุม ห้องรับประทานอาหาร ค่อนข้างซ้ำซ้อนในการใช้งานและพื้นที่ต่อห้องก็ใช้กันเหลือเฟือมาก ๆ
เมื่อลองเทียบกับชั้นอื่นที่เป็นชั้น Typical Floor ของที่ทำงานพนักงาน เช่น ชั้น 20 พื้นที่ 1,480 ตารางเมตร มีที่นั่งทำงานพนักงาน 213 คน (ตกคนละ 7 ตร.ม.) นี่คือตัวอย่างการใช้พื้นที่ที่ไม่มีความสมดุลของมาตรฐาน ทำให้อาคารใหญ่โตเกินความจำเป็นไปมาก
เรื่องที่ 3 คือ การมีพื้นที่ Facility ที่โคตรเยอะ เทียบเท่าโรงแรม หรือ คอนโดฯ หรู ๆ เช่น ห้องประชุมแบบ Theater 200 ที่นั่ง, ห้องประชุมอเนกประสงค์ 1,000 ที่นั่ง, ห้องสันทนาการที่เป็นข่าวเกือบ 3,000 ที่นั่ง น้องๆ ห้องรอยัลจูบิลี่บอลรูม ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เลยทีเดียว
ยังไม่นับชั้นบนสุดของคาร เป็น Top Floor Facility เชื่อมกันสามชั้น รับวิวกรุงเทพ 360 องศา ชั้น 28 พื้นที่ประมาณ 1,400 ตารางเมตร มีส่วนของ Fitness รับวิวเมือง กระจกรอบทิศ ออกแบบตามมาตรฐานคอนโดฯหรือโรงแรม มีส่วนของ Cardio Area / Strength training / Weight Training / Function area จำนวนอุปกรณ์ คือ ตามสัดส่วนครบถ้วน พื้นที่เหลือ ๆ
ถ้าให้เทียบ ขนาดนี้พอ ๆ กับฟิตเนสในคอนโดฯ ขนาดประมาณ 850 ห้องชุดได้เลย มีส่วนของตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ พื้นที่นั่งพัก Refreshment Area เผลอ ๆ ดีกว่าคอนโดฯ อีกนะ อันนี้ไม่แน่ใจในระเบียบราชการจริง ๆ ว่าให้เล่นตอนไหน ถ้าหลังเวลาราชการ แล้วเปิดไฟเปิดแอร์ได้ถึงตอนไหน ส่วนที่เหลือของชั้นนี้มีส่วน Co working Space / Library / Meeting Facility ครบถ้วนเหมือนคอนโดฯหรู ขาดอย่างเดียวคือสระว่ายน้ำ ไม่งั้นชนะคอนโดฯบางแห่งไปเลย
ถัดมาอีกชั้น ชั้น 29 เป็นชั้น Sky lounge สุดหรู ห้องรูปวงกลม ผนังกระจกรอบทิศ ห้องสูง เทควิวกรุงเทพสวยงาม เกือบ 360 องศา พื้นที่ห้องรูปวงกลมนี้ประมาณ 900 ตารางเมตร ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึง ร้านอาหารติดแอร์บนชั้นบนสุดของโรงแรมหรู ๆ สักแห่ง ผนังเป็นกระจกสูงรอบทิศ เห็นวิวแสงไฟกรุงเทพระยิบระยับ ฟีลลิ่งแบบนั้นเลย ไม่รู้จริงๆ ว่า Function ของห้องนี้เอาไว้ทำราชการงานใด เพราะห้องประชุมสัมมนามีข้างล่างเหลือ ๆ เลย
นอกจากนี้ ถ้าอยากมีพื้นที่ Roof top แบบ Semi Outdoor รับลมเย็น ๆ เทควิวสวย ๆ มีชั้นหลังคาห้องห้อง Sky lounge พื้นที่อีกประมาณพันตารางเมตร ให้จัดโต๊ะแบบ Roof top Bar ได้ชิล ๆ เลยนะ บางคอนโดหรู หรือ บางโรงแรมหรู ยังไม่มี Function เท่านี้เลยนะเนี่ย
ขณะที่ “ความวัว” ตึก สตง. ถล่ม กำลังถูกไล่ตรวจสอบทั้งกระบิ “ความควาย” ตึกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ก็แตกร้าวหนัก จนต้องปิดตึกกันทีเดียว
เพจดัง CSI LA ออกมาแฉว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ทำให้เกิดปัญหาขึ้นกับอาคารหน่วยงานราชการอีกแห่ง นั่นคือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (บช.สตม.) ที่เมืองทองธานี โดยตึก 30 ชั้น ของ บช.สตม. ผนังร้าว ที่ชั้น 3 ซึ่งเป็น “ผนังรับแรง” หรือที่วิศวกรเรียกว่า shear wall หรือส่วนที่แข็งแรงที่สุดของโครงสร้าง เหมือนกระดูกสันหลังของตึก พบแตกร้าวเสียหาย วงในเผย “เหล็กแนวนอนที่ควรเสริมไว้ กลับแทบไม่มี” ทำให้เพจดังตั้งคำถามว่า แบบก่อสร้างเขียนไว้อย่าง แต่ของจริงใส่น้อยจนผิดปกติ แบบนี้ถ้าไม่เรียกว่าโกง แล้วจะเรียกว่าอะไร”
พลตำรวจโท ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กล่าวถึงกรณีอาคาร 30 ชั้น ของบช.สตม. ผนังร้าว ที่ชั้น 3 ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวว่า ขณะนี้อาคารดังกล่าวยังไม่เปิดให้พนักงานเข้าทำงาน เพื่อความปลอดภัย และอยู่ระหว่างการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างอาคารมาประเมินความเสียหาย และขอตรวจสอบความชัดเจนเกี่ยวกับบริษัทที่เข้ามารับเหมาก่อสร้างก่อน
แผ่นดินไหวที่ผ่านมา จึงเปิดแผลให้เห็น “ความชุ่ย” ที่ส่อทุจริตในการก่อสร้างอาคารหน่วยงานรัฐทั้งแผ่นดินเลยก็ว่าได้