xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใต้เงาจีน ภาค 2 (32-จบ) ภาพจีนยังคงอยู่ในความทรงจำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แผ่นป้ายที่อธิบายเรื่องโรคเอดส์โดยมีบุคลากรทางการแพทย์คอยให้บริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เรื่องโรคเอดส์เมื่อทศวรรษ 1990
ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ในที่สุด งานเขียนชุด  ใต้เงาจีน ภาค 2   ก็มาถึงจุดที่พอแก่การแล้ว

โดยที่เมื่อย้อนกลับไปถึงตอนที่เขียนงานชุดนี้ในภาค 1 มาจนถึงภาคนี้ ผมพบด้วยตัวเองว่า ที่เขียนๆ ไปนั้นจะเป็นเรื่องราวของจีนที่ผมได้สัมผัสเป็นแง่มุมที่ผมคิดว่า โอกาสที่จะนำเอาเรื่องราวที่เล่าไปมาใส่ไว้ในงานศึกษาวิจัยเรื่องจีนของผมนั้นมีโอกาสน้อยมาก การนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าไว้ต่างหากจึงเป็นการบันทึกเรื่องจีนที่ผมได้สัมผัสมาไปในตัว อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลเรื่องจีนเมื่อทศวรรษ 1990 และทศวรรษ 2000

ความทรงจำดังกล่าวนับเนื่องด้วยเวลายาวนานหลายสิบปี โดยที่ผมเองไม่เคยได้บันทึกเอาไว้ในสมุดบันทึกหรือในรูปแบบใดๆ เรียกได้ว่า อาศัยความทรงจำเป็นหลัก แต่ก็โชคดีที่มีภาพถ่ายอยู่จำนวนหนึ่งที่ยังเก็บรักษาเอาไว้ โดยภาพถ่ายบางชุดได้ระบุวันเดือนปีที่ถ่ายเอาไว้ด้วย ทำให้ผมรู้ว่าเรื่องที่เล่าไปนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร
พูดถึงเรื่องภาพถ่ายแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า จะด้วยความที่เป็นคนที่มีเชื้อจีนหรือไม่ไม่ทราบได้ ที่ทำให้ผมไม่ได้ทิ้งภาพพวกนี้ไปเหมือนกับที่ผมเคยเห็นบางบ้านบางครอบครัวได้ทิ้งไป ที่ผมเคยประสบพบเห็นด้วยตัวเองหลายครั้ง

เช่น ครั้งหนึ่งสมัยที่ยังอยู่ในวัยเรียนอยู่นั้น ผมกับเพื่อนได้ช่วยกันทำความสะอาดบ้านหลังหนึ่งที่เป็นตึกแถวสามชั้น แล้วผมก็พบภาพถ่ายเก่าๆ จำนวนหนึ่งถูกเจ้าของเดิมทิ้งเอาไว้ ภาพนี้เป็นภาพสีที่ซีดจางไปแล้วของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ถ่ายจากมหาวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่ พอเห็นเข้าก็ให้รู้สึกใจหวิวๆ ที่ได้เห็นสภาพมหาวิทยาลัยของตัวเองในบรรยากาศเก่าๆ เป็นต้น

หลายครั้งที่ผมเห็นภาพที่ถูกทิ้งเหล่านี้แล้วก็อดคิดสงสัยไม่ได้ว่า ที่เจ้าของภาพทิ้งภาพของตนไปนั้น ทิ้งไปเพราะเหตุใด เช่น ไม่อยากเก็บให้รกบ้าน หรือมีความทรงจำที่ไม่ดีกับภาพเหล่านั้น ฯลฯ ซึ่งได้คอยย้ำเตือนผมว่าอย่าได้ทำเช่นนั้นเลย ไม่ว่าจะย้ายบ้านไปไหนก็กัดฟันนำภาพเหล่านั้นติดไปด้วย

เช่นเดียวกับภาพที่ไปเยือนจีนในโอกาสต่างๆ ของผม ที่ในเวลานั้นแม้ผมจะถ่ายภาพเป็นแล้วก็จริง แต่ก็ยังไม่มีกล้องเป็นของตนเอง ภาพที่ผมได้มาจึงเป็นภาพที่คนถ่ายให้มาบ้าง เป็นภาพที่ผมได้รับการร้องขอให้ช่วยเก็บรักษาเอาไว้บ้าง หรือเป็นภาพที่ผมได้รับมาเพื่อใช้เป็นภาพประกอบในวารสารทางวิชาการบ้าง (ผมเคยมีอาชีพจัดหน้าและออกแบบปกหนังสือมาก่อน) อย่างหลังนี้คิดไปแล้วก็อดขำไม่ได้ ที่ในวันหนึ่งผมไปรื้อภาพเก่าๆ มาดูแล้วพบว่ามีภาพของเพื่อนคนหนึ่งเข้า เป็นภาพที่ถ่ายตั้งแต่สมัยที่เขายังหนุ่มฟ้อ ผมก็เลยแยกเก็บภาพนี้เอาไว้ต่างหาก

โดยกะว่านัดเจอเพื่อนคนนี้เมื่อไรก็จะนำภาพนี้ไปมอบให้เขาได้เซอร์ไพรส์

อย่างเรื่อง  ใต้เงาจีน ภาค 2  นี้ก็มีภาพจำนวนหนึ่งที่ผมค้นเจอระหว่างเขียนแล้วรู้สึกใจหวิวๆ ก็คือ ภาพที่ถ่ายจากหน้าโรงพยาบาลของจีนในช่วงที่รัฐบาลจีนกำลังรณรงค์เรื่องโรคเอดส์ ซึ่งตรงกับช่วงทศวรรษ 1990 ที่โรคร้ายนี้กำลังระบาดหนัก ตอนนั้นจีนเพิ่งเปิดประเทศมาสิบกว่าปีก็ขานรับการรณรงค์ป้องกันโรคนี้ไปกับชาวโลกด้วย

 ที่ผมเห็นแล้วใจหวิวๆ ก็เพราะว่า หนึ่ง ปัจจุบันไม่มีภาพนี้ให้เห็นอีกแล้วในเมืองจีน สอง ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี 1991 หรือเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ภาพก็เลยดูซีดไปตามกาลเวลา และสาม ผมนึกไม่ถึงว่ามีภาพของผมติดอยู่ด้วย เป็นภาพที่ผมใส่หมวกเบเร่ต์ (ที่ผู้ชายจีนชอบใส่กัน) ยืนหันข้างอยู่หน้าโต๊ะบุคลากรทางการแพทย์ที่นั่งคอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคเอดส์แก่ผู้คน 

เรื่องโรคเอดส์นี้ผมได้เล่าไปแล้ว โดยเล่าควบคู่ไปกับเรื่องการล่อลวงหญิงจีนให้มาค้าประเวณีในไทย ซึ่งถือเป็นเนื้อหาหลักของ ใต้เงาจีน ภาค 2 

ถึงตรงนี้ก็ควรกล่าวด้วยว่า ที่ผมบอกว่าการเก็บภาพของผมเกี่ยวกับการที่ผมมีเชื้อจีนนั้นก็ด้วยเหตุที่ว่า ผมเห็นครอบครัวจีนหลายครอบครัวชอบเก็บภาพหรือข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่ไม่ใช้แล้วเอาไว้เสมอ อย่างหลังนี้หมายถึงข้าวของเครื่องใช้ที่ยังใช้ได้ แต่ถ้าเสียหายมากก็อาจไม่เก็บเอาไว้ก็ได้

แต่ผมไม่ค่อยเห็นการเก็บสิ่งเหล่านี้ในครอบครัวไทยมากนัก ที่เคยเห็นคือ พอเวลาผ่านไปหลายสิบปีก็มักจะทิ้งสิ่งเหล่านี้ไป จะมีที่ไม่กล้าทิ้งก็คือ ภาพถ่ายเก่าๆ ของผู้หลักผู้ใหญ่ของครอบครัว ที่ส่วนหนึ่งมักจะแขวนไว้กับบ้าน แต่ถ้าเป็นภาพขนาดโปสการ์ดบางทีก็ทิ้งไป ดังที่ผมพบภาพเก่าของเจ้าของบ้านเดิมที่เล่าไปข้างต้น เป็นต้น
การที่ผมเก็บภาพพวกนี้เอาไว้จึงเป็นประโยชน์ต่องานเขียนชุดนี้มาก แล้วทำให้ผมนึกย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1990 ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่อยู่ในช่วงที่ผมกำลังวิจัยเรื่องหญิงจีนอยู่นั้น จู่ๆ เพื่อนชาวจีนที่คุนหมิงที่ไม่รู้จะพาผมไปเที่ยวที่ไหนอีกในเวลาที่จำกัด ก็เลยพาผมไปดูนิทรรศการภาพถ่ายเก่าของเมืองคุนหมิง

 ภาพดังกล่าวถ่ายโดยอดีตกงสุลชาวฝรั่งเศสที่ประจำคุนหมิงในช่วงปลายราชวงศ์ชิงชื่อ ออกัสต์ ฟรองซัว (ค.ศ.1857-1935, Auguste François) หรือที่มีชื่อจีนว่า ฟังซูยา (方苏雅, Fang Suya) ฟรองซัวชื่นชอบในการถ่ายภาพและภาพยนตร์เป็นการส่วนตัว และได้ถ่ายภาพเมืองจีนตลอดช่วงที่เขาปฏิบัติงานอยู่ที่จีน รวมทั้งตอนที่ประจำอยู่ที่คุนหมิงด้วย โดยภาพที่เขาถ่ายจะใช้ฟิล์มกระจกซึ่งเก็บได้นาน และเมื่อเขากลับไปยังบ้านเกิดแล้วก็ยังคงเก็บภาพเหล่านี้เอาไว้จนกระทั่งลาโลกไป 

เพื่อนชาวจีนเล่าว่า ภาพที่เขาถ่ายถูกเก็บเอาไว้ในห้องใต้ดินของบ้านจนถึงปัจจุบัน แล้ววันหนึ่งลูกหลานของเขาก็ลงไปชำระห้องเก็บของใต้ดินแล้วก็พบฟิล์มดังกล่าวนับร้อยภาพ ครั้นรู้ว่าเป็นภาพเก่าที่ฟรองซัวถ่ายเอาไว้ก็นำเรื่องนี้มาเปิดเผยจนเป็นข่าว และพอทางจีนรู้เข้าก็ขอซื้อฟิล์มดังกล่าวด้วยราคาที่งดงาม

การขายฟิล์มกระจกครั้งนั้นมีเงื่อนไขเพียงว่า ขอให้ทางการจีนให้เครดิตกับฟรองซัวโดยให้พิมพ์ชื่อของฟรองซัวเอาไว้ทุกภาพที่ถูกอัดมาแสดง ภาพของฟรองซัวจึงมีชื่อภาษาฝรั่งเศสและภาษาจีนของเขาอยู่ภาพ โดยชื่อจีนจะเป็นรอยประทับสีแดงที่เป็นลายเซ็นแบบจีน ที่เราจะมักเห็นในภาพวาดจีนหรือภาพลายพู่กันจีน

 ภาพดังกล่าวนับว่ามีคุณค่าทางวิชาการอย่างมาก ด้วยเป็นภาพที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวจีนในช่วงปลายราชวงศ์ชิงในแง่มุมต่างๆ เช่น ภาพการแต่งกายของคนที่เป็นบัณฑิต (แบบที่เราเรียกกันอย่างลำลองว่า จอหงวน หรือ จ้วงหยวน ในภาษาจีนกลาง) หรือภาพการฝึกทหารแบบตะวันตกของกองทัพจีน ในขณะที่ทหารทุกนายต่างก็ยังคงใส่เครื่องแบบทหารจีนที่ดูรุ่มร่าม แทนที่จะเป็นเครื่องแบบทหารแบบสมัยใหม่ที่ดูทะมัดทะแมง เป็นต้น 

งานเขียนชุด  ใต้เงาจีน  คงจะเล่าได้ยากถ้าไม่มีภาพเหล่านี้คอยช่วย ผมจึงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อภาพเหล่านี้ และได้แต่นึกขอบคุณคนที่อัดภาพเหล่านี้ให้ผมเป็นเจ้าของ หรือมอบหมายให้ผมช่วยเก็บไว้กับตัว กรณีหลังนี้คิดไปแล้วก็ใจหาย เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ที่ทำงานเก่าของผมทำการรีโนเวทสำนักงานครั้งใหญ่แล้วจะทิ้งภาพเก่าเก็บเหล่านี้ (ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของการทิ้งของเก่าของคนไทยตามที่ผมเล่าไปข้างต้น) พอผมรู้เข้าก็ขอไว้ และส่วนหนึ่งได้นำมาใช้เล่าเรื่องชุด ใต้เงาจีน ดังที่เห็น

หลังจากนี้ไปผมคงขอยุติงานเขียนชุดนี้เสียที เพราะหมดเรื่องที่จะเล่าแล้ว ถึงแม้ผมยังไปเยือนจีนอยู่เสมอก็ตาม แถมชั้นหลังมานี้ยังได้ซื้อกล้องมาเป็นของตัวเองมาอีกด้วย จะถ่ายยังไงก็ถ่ายได้ไม่อั้นในระบบดิจิทัล ไม่ต้องคิดถึงเรื่องค่าฟิล์มอีกต่อไป ไม่เหมือนกับเมื่อทศวรรษ 1990 อันเป็นช่วงเวลาของเรื่องราวที่ผมได้เล่าไป

ภาพที่ถ่ายในระบบใหม่นี้ผมจะนำมาใช้เล่าประกอบในงานอื่นๆ ต่อไปเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น