xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (34): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด (Charles XI)
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไปจากประเด็นความขัดแย้งต่อนโยบายเวนคืนไปสู่ความขัดแย้งเห็นต่างในเรื่องพระราชอำนาจในการออกกฎหมายและพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

ถ้าลำดับเหตุการณ์ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า ในปี ค.ศ. 1680 ฐานันดรทั้งสี่ได้ขอให้พระมหากษัตริย์ทรงร่างพระราชพินัยกรรม เพื่อกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ และตั้งกติกากำหนดทิศทางสำหรับคณะสำเร็จราชการแทนพระองค์

ต่อมา ในปี ค.ศ. 1682 พระมหากษัตริย์และสภาบริหารได้แนะนำต่อฐานันดรทั้งสี่ว่า การสืบราชบัลลังก์จะเป็นไปตามสายบุรุษก่อน แล้วค่อยสายสตรี และในสภาอภิชน ได้มีการลงมติยอมรับโดยการประกาศออกเสียง

ต่อมา สภาบริหารและคณะกรรมาธิการลับ ได้รับแจ้งว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงร่างพินัยกรรมแล้ว แต่พระองค์ทรงขอให้สภาบริหารและคณะกรรมาธิการลับส่งผู้แทนไปเข้าเฝ้าพระองค์ เพราะพระองค์ได้ทรงพบบันทึกการประชุมของสภาฐานันดรในปี ค.ศ. 1660, 1664, และ 1672 ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความถูกต้องชอบธรรมของพินัยกรรมที่พระองค์ทรงร่างขึ้นและพระองค์ทรงต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ให้หมดไป และทุกคนก็เห็นด้วยว่าจะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดความถูกต้อง และพร้อมๆ ไปกับการเจรจาในประเด็นการเก็บภาษี ผู้แทนจากสภาบริหารและฐานันดรทั้งสี่ได้เริ่มอ่านเอกสารบันทึกการประชุมที่มีปัญหาดังกล่าว
 
ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1682  พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด (Charles XI) ได้ทรงประชุมร่วมกับผู้แทนจากสภาบริหารและฐานันดรทั้งสี่ และทรงมีพระราชดำรัสว่า พระองค์ทรงต้องการให้รวมข้อความที่เป็นทางการรวมเข้าไปในข้อสรุปที่เป็นมติของสภาฐานันดร ด้วยข้อความที่ได้กล่าวไว้ในบันทึกการประชุมสภาฐานันดร ค.ศ. 1660 และ 1664  “ไม่สอดคล้องกับสำหรับผู้รักปิตุภูมิที่ซื่อสัตย์” 

วันต่อมา สภาอภิชนได้รับทราบจากราชเลขานุการของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ (Charles X Gustav) ถึงปัญหายุ่งยากที่ได้เกิดขึ้นกับเขาต่อกรณีความถูกต้องตามกฎหมายและความน่าอับอายที่พระราชพินัยกรรมของพระองค์ (Charles X Gustav) ได้ถูกละเมิด ในขณะที่ประธานสภาได้ยืนยันว่า เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง “ที่การจัดการที่พระมหากษัตริย์ได้ทำขึ้นขณะนี้จะต้องไม่อยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอนอีกต่อไป” 

อภิชนทุกระดับชั้นได้ตัดข้อความที่ถูกประนามไปด้วยอาการที่น่าเวทนา และกราบบังคมทูลให้พระมหากษัตริย์ทรงตำหนิเป็นรายบุคคล และไม่นับคนเหล่านี้รวมเป็นฐานันดรอภิชนโดยรวม และต่อมาได้มีการเสนอร่างหนังสือให้ทุกคนในทุกฐานันดรยอมรับ
ประธานสภาฐานันดรอภิชนได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า  “พระมหากษัตริย์ไม่ทรงบังคับให้ใครต้องลงนาม” แต่จริงๆ แล้ว มีแรงกดดันมหาศาล

อาร์คบิชอบได้กล่าวว่า ตอนที่เขาได้เข้าเฝ้าหารือกับพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับคำวิจารณ์ที่มีต่อพระราชบิดาของพระองค์  “พระองค์ทรงมีอารมณ์อย่างยิ่ง และทรงมีน้ำพระเนตรไหลออกมา” ซึ่งการแสดงออกทางอารมณ์ของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดเช่นนี้ไม่ค่อยจะเกิดขึ้น แต่พระองค์ได้ทรงอุทิศให้กับความทรงจำต่อพระราชบิดาที่สวรรคตตั้งแต่พระองค์ทรงมีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา คำประกาศอย่างเป็นทางการได้กำหนดว่า บันทึกที่ละเมิดจะต้องถูกขจัดทิ้ง และผู้ใดก็ตามที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ด้วยคำกล่าวเช่นนั้นในที่สาธารณะในกาลต่อไปจะต้องมีความผิดในฐานที่ยุยงปลุกปั่น
จะเห็นได้ว่า มติต่างๆ ของสภาฐานันดรในปี ค.ศ. 1680 และ 1682 ได้แผ้วทางสำหรับการปฏิรูปของพระมหากษัตริย์ ทั้งในทางการเมือง การคลัง และรัฐธรรมนูญ

มติต่างๆ ของสภาฐานันดรทั้งสองครั้งได้ยืนยันพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้สืบสายโลหิต เป็นเจ้าชายในคริสตศาสนา และสลายข้อจำกัดทางการเมืองต่อเสรีภาพต่อการใช้พระราชอำนาจของพระองค์

จากการตรวจสอบของคณะตุลาการ ทำให้อภิชนในฐานะที่เป็นฐานันดรที่ทรงอิทธิพลที่สุดถูกเปิดโปงการครอบครองทรัพย์สินมหาศาล และจากการที่จะต้องถูกยึดทรัพย์สินที่จะนำมาซึ่งความหายนะทางเศรษฐกิจ พวกเขาจะได้ทรัพย์สินกลับคืนมาไม่มากยกเว้นจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาจากพระมหากษัตริย์ และคำสัญญาว่าจะให้การเป็นข้าราชการมีเงินเดือนในการรับใช้พระองค์

สิ่งที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วง ค.ศ. 1680-1682 คือ พวกอภิชนถูกคุกคามอย่างรุนแรง จากการสมคบวางแผนรวมมือกันเป็นพันธมิตรระหว่างกลุ่มองครักษ์พิทักษ์พระมหากษัตริย์และฐานันดรสามัญชน มีการเขียนบันทึกในปี ค.ศ. 1682 ว่า  “พวกอภิชนกับสภาบริหาร (the Senate) อยู่ในสภาวะที่หมดสภาพและถดถอย โดยไม่มีใครกล้าพูดอะไรออกมาอีกเลย” 

ในการขึ้นสู่การเป็นพระมหากษัตริย์พระราชอำนาจไม่จำกัด (absolutism) ของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด มีปัจจัยสำคัญสี่ประการ คือ

 หนึ่ง การสมคบคิดกันในหมู่ข้าราชบริพารคนสนิทของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดและและในสภาบริหาร ที่อาศัยพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการทำลายคณาธิปไตยที่อำนาจทางการเมืองการปกครองอยู่ในมือของพวกอภิชน โดยเฉพาะอภิชนชั้นสูงในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดยังไม่ทรงพระชันษา และสถาปนาระบอบ  “สมบูรณาญาสิทธิราชย์”  ขึ้นมา โดยพวกตนยังคงมีอำนาจอิทธิพลในฐานะผู้รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์.

 การสมคบคิดดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้เส้นสายสัมพันธ์ในเครือข่ายของตระกูล Fleming ที่นำโดย Claes Fleming ผู้ซึ่งขณะนั้นได้รับความเชื่อถือจากพระมหากษัตริย์อย่างมาก และ Wrede ผู้เป็นน้องเขยของ Claes Fleming และ Thegner ที่อยู่ในเครือข่ายของ Fleming มายาวนาน และอาร์คบิชอบและลูกเขยของเขา C. Carlson ผู้เป็นบิชอบแห่ง Vasteras ก็เป็นพันธมิตรในสายสัมพันธ์นี้ พวกเขาทำให้พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด ทรงไม่พอพระทัยการละเมิดพินัยกรรมของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ พระราชบิดาของพระองค์ 
 สอง ลำพังการสมคบคิดดังกล่าวไม่สามารถมีพลังเพียงพอที่จะทำลายการครองอำนาจนำของคณาธิปไตยของพวกอภิชน (hegemonic oligarchy) ที่ดูจะยอมสละอำนาจอย่างง่ายดายเกินไป โดยเกือบจะไม่ได้มีการต่อสู้อะไรเลย

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสมคบคิดมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จก็คือ ความแตกแยกภายในฐานันดรอภิชนเอง ดังจะเห็นได้ว่า อภิชนระดับล่างสนับสนุนนโยบายการเวนคืนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อพวกตน รวมทั้งการฉ้อฉลในการใช้งบประมาณแผ่นดินของพวกอภิชนชั้นสูงในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และสภาบริหาร ที่ทำให้ไม่สามารถแก้ตัวหรือต่อสู้อะไรได้มากนัก เงื่อนไขดังกล่าวนี้ได้เปิดช่องให้มีการแทรกแซงและชักใยจากกลุ่มคนของฝ่ายพระมหากษัตริย์
 สาม  พวกอภิชนขาดความมั่นใจและขาดความชอบธรรมที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิ์และอำนาจของพวกตนและทัดทานถ่วงดุลพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เพราะพวกอภิชนที่เคยครองอำนาจทางการเมืองก่อนหน้าที่พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลวและจบลงด้วยความหายนะครั้งใหญ่จากสงคราม ส่งผลให้สถานะตำแหน่งของพวกเขาไม่เป็นที่น่าเชื่อถือและขาดความชอบธรรม

 สี่  ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายนี้ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้ทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระชันษาหนุ่มแน่นในพระชนมายุ 20 พรรษาที่ทรงสืบราชสันตติวงศ์ผ่านการสืบสายโลหิตในฐานะพระราชโอรสอันชอบธรรมโดยตรงต่อจากพระราชบิดา ไม่ทรงอยู่ในเงื่อนไขที่จะมีผู้ท้าทายท้าชิงราชบัลลังก์ เพราะพระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ทำให้ไม่เกิดจุดอ่อนที่พวกอภิชนจะใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองลดทอนพระราชอำนาจได้ดังที่เคยเกิดขึ้นมาอยู่เสมอในกรณีที่ผู้สืบราชสันตติวงศ์ไม่ใช่พระราชโอรสอันชอบธรรมพระองค์ใหญ่ของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนหรือเป็นพระราชธิดา

แม้ว่าพระองค์จะไม่ได้มีบุคลิกภาพที่น่าเกรงขามนัก แต่พระองค์ก็ได้พิสูจน์พระองค์เองในสนามรบและได้การเป็นวีรบุรุษสงครามอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน อีกทั้งพระองค์ยังทรงเป็นนักรัฐประศาสนศาสตร์ชั้นเลิศที่สามารถและแข็งขันในการจัดองค์กรต่างๆในการบริหารราชการแผ่นดิน เสนอแนวทางของการฟื้นฟูปฏิรูปราชราชอาณาจักร และด้วยสถานะอันทรงเกียรติและมั่นคงท่ามกลางชาติมหาอำนาจในยุโรป พระองค์ทรงสามารถประสบความสำเร็จจากการระดมความร่วมมือจากราษฎรที่เสียสละอย่างใหญ่หลวงในการยินยอมให้มีการเก็บภาษีเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูสร้างชาติ

ในปี ค.ศ. 1682 ทูตเดนมาร์กประจำสวีเดนขณะนั้นได้มีบันทึกต่อสถานะอันทรงอำนาจยิ่งของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดไว้ว่า   “พระมหากษัตริย์ไม่ทรงถูกผูกมัดโดยกฎหมายอีกต่อไป และพระองค์ได้ขึ้นเป็นองค์อธิปัตย์ (sovereignty) เพราะต่อเรื่องที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด พระองค์ไม่ทรงต้องการความเห็นพ้องยอมรับจากราษฎรของพระองค์อีกต่อไป” การคุกคามที่เกิดจากการที่ “เลขาธิการของพระมหากษัตริย์ได้เข้าไปรับรู้การอภิปรายโต้เถียงในการประชุมในทุกๆฐานันดร และมีการเก็บบันทึกรายละเอียดการประชุมไว้ และในที่ประชุมสภาอภิชนได้มีทหารรักษาพระองค์อยู่ด้วย ทำให้ไม่มีใครพูดต่อต้าน” 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น