xs
xsm
sm
md
lg

การทับซ้อนและพลวัตของการเมืองสามรูปแบบในสังคมไทย: ชนชั้นนำ บ้านใหญ่ และพลเมือง (5) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

สัปดาห์นี้จะเป็นเรื่อง การเมืองบบพลเมือง (Civic Politics) ซึ่งเป็นรูปแบบการเมืองที่กำลังเติบโตในสังคมไทยและกำลังกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของการเมืองแบบชนชั้นนำและการเมืองแบบบ้านใหญ่

การเมืองแบบพลเมืองหรือการเมืองแบบใหม่ (New Politics) เป็นรูปแบบการเมืองที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทางการเมืองมากกว่าการมอบอำนาจให้กับตัวแทนหรือกลุ่มอิทธิพลเฉพาะ การเมืองรูปแบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม โดยมองว่าประชาชนทุกคนมีศักยภาพและสิทธิในการกำหนดทิศทางของสังคมและนโยบายสาธารณะ ขยายความสำคัญของแนวคิดนี้ได้ดังนี้

ในระบบการเมืองแบบพลเมือง อำนาจไม่กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มชนชั้นนำ แต่กระจายไปสู่ประชาชนในทุกระดับ การตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสังคมจึงต้องผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมที่เปิดกว้างและโปร่งใส ประชาชนมีบทบาททั้งในการตรวจสอบ ถ่วงดุล และเสนอแนวทางพัฒนานโยบาย การเมืองแบบใหม่นิยามการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ครอบคลุมมากกว่าการเลือกตั้ง โดยรวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแสดงความคิดเห็นในเวทีสาธารณะ การเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม การติดตามตรวจสอบนโยบายรัฐ และการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การมีส่วนร่วมจะช่วยเพิ่มความชอบธรรมให้กับกระบวนการทางการเมืองและผลักดันให้รัฐตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

การเมืองแบบพลเมืองจึงเป็นแนวคิดทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นบทบาทของประชาชนในฐานะพลเมืองที่กระตือรือร้น มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างมีความหมาย

แนวคิดนี้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากการเมืองแบบอุปถัมภ์ (Patronage Politics) ที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองเป็นไปในลักษณะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์ หรือการเมืองแบบชนชั้นนำ (Elite Politics) ที่อำนาจการตัดสินใจถูกผูกขาดโดยกลุ่มคนจำนวนน้อย สำหรับเหตุผลอันเป็นรากฐานของการเมืองแบบพลเมืองมีดังต่อไปนี้

ประการแรก เหตุผลแห่งสิทธิและเสรีภาพ (Rights-Based Reason) ซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดเรื่องสิทธิธรรมชาติ (Natural Rights) และสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ที่มองว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิบางประการที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และไม่อาจพรากไปได้ รัฐและระบบการเมืองจึงมีหน้าที่ในการรับรองและคุ้มครองสิทธิเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ประทานให้

จอห์น ล็อค (John Locke) นักปรัชญาการเมืองผู้มีอิทธิพลต่อแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย เสนอว่า รัฐเกิดจากสัญญาประชาคม (Social Contract) ที่ประชาชนยินยอมมอบอำนาจบางส่วนให้กับรัฐเพื่อปกป้องสิทธิในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินของตน หากรัฐละเมิดสิทธิเหล่านี้ ประชาชนมีสิทธิที่จะต่อต้านและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

ในยุคปัจจุบัน อมาร์ตยา เซน (Amartya Sen) ได้พัฒนาแนวคิด “การพัฒนาในฐานะเสรีภาพ” (Development as Freedom) ที่มองว่าเสรีภาพไม่เพียงเป็นเป้าหมายของการพัฒนา แต่ยังเป็นวิธีการสำคัญในการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน เขาเน้นความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่ช่วยให้ประชาชนสามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยมีความเข้าใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่คลาดเคลื่อนในหลายแง่มุม โดยมักมองว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่รัฐหรือผู้มีอำนาจประทานให้ มากกว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด นอกจากนี้ ยังมักมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยอ้างความมั่นคงหรือคุณค่าอื่น ๆ ของสังคม โดยไม่มีกลไกตรวจสอบที่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐธรรมนูญ 2540 สังคมไทยเริ่มมีความตื่นตัวในเรื่องสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น มีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีการรับรองสิทธิเสรีภาพไว้อย่างกว้างขวางในรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นที่น่าสนใจในปัจจุบันคือ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากในอดีต โดยเน้นการท้าทายโครงสร้างอำนาจและการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในมิติใหม่ ๆ มากขึ้น

ประการที่สอง เหตุผลแห่งความเสมอภาคและความเป็นธรรม (Equality & Justice) ซึ่งมองว่าระบบการเมืองที่ดีไม่เพียงต้องรับรองสิทธิเสรีภาพ แต่ยังต้องสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคมด้วย

จอห์น รอลส์ (John Rawls) นักปรัชญาการเมืองชาวอเมริกัน เสนอทฤษฎีความยุติธรรมที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดร่วมสมัย เขาเสนอว่า “ความยุติธรรมในฐานะความเป็นธรรม” (Justice as Fairness) ซึ่งหมายถึงหลักการที่ทุกคนสามารถยอมรับได้ หากไม่รู้ว่าตนเองจะอยู่ในตำแหน่งใดในสังคม (Original Position) หลักการสำคัญสองข้อนั้นคือ 1) ทุกคนควรมีเสรีภาพขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกัน และ 2) ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมจะยอมรับได้ก็ต่อเมื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เสียเปรียบที่สุดในสังคม

และอิริส มาเรียน ยัง (Iris Marion Young) นักทฤษฎีการเมืองสตรีนิยม ได้วิพากษ์และขยายแนวคิดของรอลส์ โดยเน้นว่าความเป็นธรรมไม่ได้หมายถึงเพียงการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม แต่ยังรวมถึงการยอมรับความแตกต่างและการขจัดการกดขี่เชิงโครงสร้างที่เกิดจากอคติทางสังคม แนวคิดนี้นำไปสู่การพิจารณาความเป็นธรรมในมิติของความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ และวัฒนธรรม

เมื่อพิจารณากรณีสังคมไทย จะเห็นได้ว่าสังคมไทยเผชิญกับความท้าทายเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรมในหลายมิติ ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูง การเข้าถึงบริการสาธารณะที่ไม่เท่าเทียม และการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนชายขอบโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองไทยเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และชนชั้นนำ ในขณะที่เกษตรกรและแรงงานซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมักเข้าไม่ถึงนโยบายและทรัพยากรที่เพียงพอ

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมได้กลายเป็นวาระสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย โดยเฉพาะการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจและทรัพยากร การปฏิรูปที่ดิน และการสร้างระบบสวัสดิการที่ทั่วถึง ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงหลังเป็นความขัดแย้งระหว่างวิสัยทัศน์เรื่องความเป็นธรรมที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มที่เน้นความเป็นธรรมในแง่ของการกระจายทรัพยากรและโอกาสอย่างเท่าเทียม กับกลุ่มที่เน้นความเป็นธรรมในแง่ของคุณธรรมและการเคารพลำดับชั้นทางสังคม

ประการที่สาม เหตุผลแห่งผลประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) การเมืองแบบพลเมืองมองว่า เป้าหมายของการเมืองคือ การสร้างประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกในสังคม มากกว่าการตอบสนองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มหรือปัจเจกบุคคล

เจน แมนสบริดจ์ (Jane Mansbridge) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันได้พัฒนาแนวคิด “การพิจารณาที่คำนึงถึงผู้อื่น” (Other-regarding Deliberation) โดยเสนอว่า ในการถกเถียงสาธารณะ ผู้เข้าร่วมไม่เพียงคำนึงถึงผลประโยชน์ของตนเอง แต่ต้องพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้อื่นและสังคมโดยรวมด้วย เธอยังได้พัฒนาความคิด “ความเป็นตัวแทน” ขึ้นมาในสองลักษณะคือ

ลักษะณะแรกคือ “การเป็นตัวแทนเชิงเข็มทิศทางศีลธรรม” (Gyroscopic Representation) ซึ่งหมายความว่า สมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.)ไม่จำเป็นต้องทำตามความเห็นของประชาชนที่ตนเองเป็นตัวแทนในทุกเรื่อง และ ไม่ต้องอาศัยกลไกการควบคุมจากภายนอก (เช่น การเลือกตั้ง การสำรวจความเห็น) มาใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเสมอไป แต่ สส. สามารถกระทำการเป็นตัวแทนได้อย่างถูกต้องโดยอาศัยแรงจูงใจภายในและเข็มทิศศีลธรรม (moral compass) ของตนเองเป็นฐานในการตัดสินใจก็ได้ เช่น แม้จะเป็น สส. สังกัดพรรคร่วมรัฐบาล แต่หากรัฐบาลเสนอกฎหมายที่ขัดแย้งกับเข็มทิศทางศีลธรรมของตน อย่างเช่น กฎหมายกาสิโน สส. ย่อมมีสิทธิที่จะคัดค้านได้อย่างชอบธรรม

ลักษณะที่สอง คือ การเป็นตัวแทนโดยไม่จำกัดขอบเขตเลือกตั้ง (Surrogate Representation) ซึ่งหมายถึง การที่ สส. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนแทนกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในเขตเลือกตั้งของตนด้วย หรือ เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีสิทธิเลือกผู้แทนคนนั้น แต่ สส. รู้สึกว่าตนมีภารกิจในการสนับสนุนกลุ่มเหล่านี้ เช่น กลุ่มชายขอบ ชนกลุ่มน้อย หรือผู้ที่ไม่มีเสียงในระบบการเมือง

ลักษณะสำคัญของการเป็นตัวแทนแบบนี้คือ การเป็นตัวแทนเกิดจากพันธกิจทางอุดมการณ์หรือจริยธรรม ผู้แทนเป็น “กระบอกเสียง” ของคนที่ไม่มีโอกาสพูดในเวทีรัฐสภา และ มีลักษณะ “ข้ามเขต” หรือ “ข้ามกลุ่ม” จากการเป็นตัวแทนแบบดั้งเดิม เช่น สมาชิกรัฐสภาไทยบางคนที่ลุกขึ้นอภิปรายในประเด็นการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพ แม้กลุ่มคนเหล่านั้นเหล่านั้นจะไม่ได้อยู่ในเขตเลือกตั้งของเขาก็ตาม

ในบริบทไทย แนวคิดเรื่องผลประโยชน์สาธารณะมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวัฒนธรรมการเมืองที่มีลักษณะอุปถัมภ์นิยมและเครือญาติ ซึ่งมักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของกลุ่มเครือข่ายมากกว่าผลประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มมีความตื่นตัวในประเด็นผลประโยชน์สาธารณะมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิมนุษยชน และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยมีการใช้เหตุผลแห่งผลประโยชน์สาธารณะในการเรียกร้องนโยบายที่เป็นธรรมมากขึ้น

ประการที่สี่ เหตุผลเชิงการมีส่วนร่วม (Participatory Rationality) การเมืองแบบพลเมืองเน้นว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเลือกตั้ง แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการทางการเมือง และต้องมีการกระจายอำนาจและโอกาสในการตัดสินใจไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ชุมชน หรือครอบครัว เพื่อให้ประชาชนได้พัฒนาทักษะและความสามารถในการปกครองตนเอง การมีส่วนร่วมไม่เพียงทำให้นโยบายสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น แต่ยังช่วยพัฒนาความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วย

ในบริบทไทย การมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้วางรากฐานสำคัญสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายรูปแบบ รัฐธรรมนูญ 2540 พยายามสร้างสมดุลระหว่าง “ประชาธิปไตยแบบตัวแทน” กับ “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” โดยเพิ่มกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การเสนอกฎหมาย และการตัดสินใจในประเด็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การมีส่วนร่วมดังกล่าวยังมีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งในแง่ของกระบวนการและทรัพยากรที่จำเป็น แม้รัฐธรรมนูญจะเปิดช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติยังพบว่ามีอุปสรรคจากวัฒนธรรมราชการที่ยังคงผูกขาดอำนาจการตัดสินใจ และขาดความจริงใจในการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทำให้การมีส่วนร่วมในหลายกรณีเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางกฎหมาย มากกว่าจะเป็นกระบวนการที่มีผลต่อการตัดสินใจอย่างแท้จริง

ถึงกระนั้น ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบและช่องทางการมีส่วนร่วมในยุคดิจิทัลสื่อสังคมออนไลน์ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การมีส่วนร่วมทางการเมืองในไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเปิดพื้นที่ใหม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สามารถแสดงความคิดเห็น รวมกลุ่ม และเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในปี 2563-2564 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการใช้สื่อดิจิทัลในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองและสังคม

ประการที่ห้า เหตุผลแห่งภาระรับผิดชอบ (Accountability) การเมืองแบบพลเมืองเน้นว่า ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนและพร้อมรับการตรวจสอบจากประชาชน หลักการนี้มีรากฐานมาจากแนวคิดที่ว่าอำนาจทางการเมืองมาจากประชาชน ผู้ใช้อำนาจจึงต้องรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพต้องมีกลไกที่ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ทั้งในแง่ของความชอบด้วยกฎหมาย (Legality) และความชอบธรรม (Legitimacy) ซึ่งรวมถึงการเคารพหลักนิติธรรม การรับฟังเสียงประชาชน และการคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะ

ประเด็นเรื่องภาระรับผิดชอบและการตรวจสอบการใช้อำนาจมีความท้าทายในสังคมไทย เนื่องจากโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรมการเมืองที่มีลักษณะรวมศูนย์และอำนาจนิยม วัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกในสังคมไทยเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ โดยผู้มีอำนาจมักมองการตรวจสอบเป็นการคุกคามและมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการต่าง ๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือลดทอนการตรวจสอบ ในขณะที่ประชาชนหลายกลุ่มยังมีความเกรงกลัวอำนาจและไม่กล้าที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเข้มข้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มมีความตื่นตัวในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจมากขึ้น การตรวจสอบการใช้อำนาจในไทยมีสองแนวทางหลัก คือ การตรวจสอบผ่านกลไกทางสถาบัน เช่น องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม และการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ซึ่งแต่ละแนวทางมีจุดแข็งและข้อจำกัดแตกต่างกัน

การตรวจสอบผ่านกลไกทางสถาบันมีพลังทางกฎหมายแต่อาจถูกแทรกแซงหรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึง ในขณะที่การตรวจสอบโดยภาคประชาสังคมมีความคล่องตัวและสามารถระดมการสนับสนุนจากสาธารณะได้ แต่อาจไม่มีอำนาจบังคับทางกฎหมาย และในยุคดิจิทัล พลเมืองไทยมีเครื่องมือใหม่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้การปกปิดข้อมูลหรือการใช้อำนาจโดยมิชอบทำได้ยากขึ้น

ประการที่หก เหตุผลเพื่ออนาคตและการเปลี่ยนแปลง (Futuristic & Transformative Reason) การเมืองแบบพลเมืองที่มองว่า การเมืองไม่ใช่เพียงการรักษาสถานะเดิม แต่เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคตที่ดีกว่า แนวคิดนี้มีรากฐานจากปรัชญาก้าวหน้านิยม (Progressivism) ที่เชื่อในความก้าวหน้าของมนุษยชาติผ่านการใช้เหตุผล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงต้องคำนึงถึงความแตกต่างและความหลากหลายทางสังคม และต้องเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มที่ถูกกดทับในอดีตได้มีโอกาสกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบายที่ตอบสนองต่อประสบการณ์และความต้องการของพวกเขา

แนวคิดการเมืองเพื่ออนาคตและการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะเฉพาะที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย สังคมไทยมีความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่เน้นการรักษาสถานะเดิมและความมั่นคง กับแนวคิดก้าวหน้าที่เน้นการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ความขัดแย้งนี้มีรากฐานจากการตีความประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ไทยที่แตกต่างกัน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมักอ้างถึงอดีตอันรุ่งเรืองและความจำเป็นในการรักษาเอกลักษณ์ไทย ในขณะที่ฝ่ายก้าวหน้ามักเน้นการปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่และการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่

ในการเมืองร่วมสมัย การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ (ต่อมาคือพรรคก้าวไกล และล่าสุดคือพรรคประชาชน) สะท้อนให้เห็นความพยายามในการสร้างการเมืองที่มุ่งสู่อนาคตและการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นย้ำวิสัยทัศน์เรื่อง “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” ที่มุ่งลดการผูกขาดอำนาจและเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน และการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563-2564 สะท้อนวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้า

โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ วัฒนธรรมทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน โดยคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะท้าทายสถานะเดิมและเสนอทางเลือกใหม่ทางการเมืองที่สอดคล้องกับคุณค่าและวิถีชีวิตของพวกเขามากขึ้น

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)


กำลังโหลดความคิดเห็น