ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อผลสำรวจความคิดเห็นของชาวต่างชาติที่เกษียณและกึ่งเกษียณอายุใน “หัวหิน” กว่า 500 คนจาก 76 ประเทศ ซึ่งจัดทำโดย บริษัท บูลล์โลตัส หัวหิน (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมกับภาคธุรกิจพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยว่า เหตุผลที่เลือกหัวหินเป็นที่อยู่อาศัยวัยเกษียณเป็นเพราะบรรยากาศที่เงียบสงบ ความใกล้ชิดกับชายหาด ค่าครองชีพที่เหมาะสม สภาพอากาศที่ดี และความสะดวกในการเดินทางไปกรุงเทพฯ
สอดรับกับข้อมูลที่ยืนยันว่า “ประเทศไทย” เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของคนต่างชาติวัยเกษียณ โดยข้อมูล ปี 2564 ระบุว่า มีชาวต่างชาติประมาณ 52,000 คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยวีซ่าเกษียณอายุ ซึ่งมีรายงานว่าเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา นับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ย้อนกลับไปช่วงปี 2565 รัฐบาลไทยออกมาตรการส่งเสริมให้ไทยเป็นสถานที่พักของชาวต่างชาติวัยเกษียณที่มีเงินทุนเพียงพอ โดยเล็งเห็นถึงโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับจุดเด่นของเมืองไทยคือ ค่าครองชีพที่ไม่แพง สภาพแวดล้อมที่ดี ภูมิอากาศไม่หนาวหรือร้อนเกินไป อาหารหลากหลาย รวมทั้ง มีภาคบริการต่างๆ รองรับสังคมสูงวัยครบครัน
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายรองรับการซื้อที่พักของชาวต่างชาติ รวมถึงมาตรการในการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าไทย โดยขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามในบางกลุ่มประเทศ ขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี นำร่อง 14 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และแคนาดา เป็นต้น
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าแนวโน้มสังคมสูงวัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ความต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณในต่างประเทศได้รับความสนใจมากขึ้น โดยประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับความสนใจ และอยู่ในกลุ่มประเทศน่าอยู่สำหรับวัยเกษียณซึ่งมีการจัดอันดับจากองค์กรสื่อของต่างประเทศ โดยมีผลการจัดอันดับล่าสุดในปี 2566 อาทิ
ดัชนีเกษียณอายุโลก (Annual Global Retirement Index 2023) ที่จัดทำและเผยแพร่ทุกปีโดย International Living ซึ่งเป็นสื่อสัญชาติสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศไทย เป็นประเทศเดียวในทวีปเอเชียที่ได้รับการจัดอันดับ โดยอยู่อันดับ 9 ร่วมกับประเทศอิตาลี จาก 16 ประเทศ สำหรับประเทศที่เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โปรตุเกส เม็กซิโก ปานามา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา
ขณะที่การจัดอันดับประเทศที่น่าอยู่ที่สุดสำหรับวัยเกษียณ (Best Countries for a Comfortable Retirement 2023) ที่จัดทำและเผยแพร่ทุกปีโดย U.S. News and World Report สื่อสัญชาติสหรัฐอเมริกา พบว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในทวีปเอเชีย โดยอยู่อันดับที่ 18 จาก 87 ประเทศ สำหรับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ โปรตุเกส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสเปน
โดยทั้ง 2 องค์กร ชี้ชัดคุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของประเทศไทยคือ “ระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตที่ไม่สูงมากนักในทรรศนะของต่างชาติ” สะท้อนจากคะแนนหมวดค่าครองชีพของ International Living และหมวดระดับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตของ U.S. News and World Report ที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเกณฑ์ทั้งหมด
ขณะที่เมืองไทยได้รับความนิยมเป็นสถานที่ใช้ชีวิตบั้นปลายแสนสุขของชาวต่างชาติวัยเกษียณ ประเด็นที่น่าจับตาคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยที่มาพร้อมความท้าทายเพราะสังคมไทยกำลังเผชิญความไม่พร้อมหลังวัยเกษียณ
อ้างอิงผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 ชี้ว่าในระยะสั้น ปัญหาแก่ก่อนรวยของสังคมไทยยังน่าห่วง โดยพบว่ากลุ่มวัยทำงานใกล้เกษียณ (51 - 60 ปี) ส่วนใหญ่ยังมีสินทรัพย์น้อย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายหลังเกษียณ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสะสมสินทรัพย์ของกลุ่มนี้ คือ ปัญหาภาระหนี้ โดย 56% ของครัวเรือนที่มีหนี้พบว่ามีสินทรัพย์รวมไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนสูง
ขณะที่ ปัญหาในระยะยาว เรื่องการออมนับเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อความพร้อมหลังเกษียณ โดยภาพรวมคนวัยทำงานที่สามารถออมเงินได้ทุกเดือนยังมีไม่ถึงครึ่ง และอีกราว 1 ใน 4 ที่ไม่สามารถออมได้เลย โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจะเหลือเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถออมได้สม่ำเสมอ สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภาระรายจ่ายสูงแต่รายได้ต่ำ โดยเฉพาะวัยทำงานอายุ 31–50 ปี ที่มีปัญหาภาระหนี้มากกว่ากลุ่มอื่น เพราะได้เริ่มก่อหนี้ก้อนใหญ่เอาไว้
ดังนั้น พฤติกรรมการออมจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาแก่ก่อนรวยของคนไทย โดยเฉพาะคนอายุมากและรายได้ต่ำ ซึ่งผลสำรวจพบว่ามีวินัยการออมน้อยที่สุด ขณะที่คนรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี พบว่าสามารถเริ่มออมสม่ำเสมอได้ตั้งแต่ช่วงรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ได้ตั้งแต่รายได้ 30,000 บาทต่อเดือน แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน กลับพบว่ายังขาดวินัยการออม ส่วนหนึ่งเพราะใช้จ่ายตามกระแสสังคมมาก ซึ่งจะต่างจากคนอายุมากกว่าที่ส่วนใหญ่เริ่มมีพฤติกรรมเก็บก่อนใช้ตั้งแต่มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป
นอกจากนี้ ผลสำรวจด้านการลงทุน พบว่าคนอายุน้อยที่มีเงินลงทุนมีสัดส่วนต่ำกว่าคนอายุมากกว่า และยังไม่ค่อยมีสินทรัพย์อื่นนอกจากเงินสดหรือเงินฝาก แม้ว่าคนรุ่นใหม่ดูจะสนใจและต้องการลงทุนมากกว่ากลุ่มคนอายุมากกว่า แต่ปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนและความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินยังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนรุ่นใหม่
ขณะที่ โครงการวิจัยการศึกษาอคติเชิงพฤติกรรมในประชากรไทย เพื่อเสาะหามาตรการที่ได้ผลในการส่งเสริมการวางแผนทางการเงินของประชากรไทยสำหรับสังคมอายุยืน โดยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สะท้อนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสังคมผู้สูงอายุ โดยหนึ่งในปัญหาสำคัญคือ “คนไทยแก่ก่อนรวย" แม้มีรายได้แต่ก็ไม่พอรายจ่ายที่จำเป็น ส่งผลให้ไม่มีเงินออมสำหรับวัยชรา แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพในการออมแต่ไม่ออม
ทั้งนี้ เนื่องเพราะคนไทยให้น้ำหนักความสำคัญกับความสุขและผลตอบแทนที่ได้รับในปัจจุบันมากกว่าในอนาคต เช่น การที่บุคคลผัดวันประกันพรุ่งในการออม และนำเงินที่ได้ไปซื้อสินค้าเพื่อบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน เนื่องจากมีปัญหาในการควบคุมตนเอง (self-control problem) แม้จะรู้ว่าการออมจะทำให้ได้รับผลตอบแทนในรูปเงินใช้ยามเกษียณก็ตาม
นอกจากนั้น ยังพึงพอใจกับสภาวะปัจจุบันมากกว่าจะเปลี่ยนไปลองทำสิ่งใหม่ที่จะแม้จะให้ผลประโยชน์มากกว่า เช่น เลือกที่จะออมในรูปแบบที่คุ้นเคย เช่น ฝากธนาคาร มากกว่าที่จะลองออมในหุ้นหรือพันธบัตรที่มีคุณภาพดี ความเสี่ยงไม่สูง แต่ให้ผลตอบแทนกว่าเงินฝากธนาคารมาก
หรือ การมองโลกในแง่ดีเกินไปคือ รูปแบบหนึ่งของการมีความมั่นใจล้นเกิน ทำให้เกิดความชะล่าใจในการออมเงิน เช่น คิดว่าเมื่อตนเองเกษียณไป อาจไม่โชคร้ายและเผชิญเหตุไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วยหนักหรือป่วยเรื้อรัง และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก ทำให้ไม่เห็นความสำคัญกับการเตรียมพร้อมทางการเงินเพื่อการเกษียณ และมีการออมน้อยกว่าที่ควร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คนไทยร้อยละ 84 อยู่ในสถานะ “เปราะบางทางการเงิน” โดยมีพฤติกรรมใช้จ่ายก่อนออม ไม่ให้ความสำคัญหรือไม่วางแผนการออมเพื่อการเกษียณ ไม่มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายรายเดือน ไม่ออมจริงจัง มีหนี้สินจากการบริโภคระยะสั้น หาเงินได้ไม่พอใช้หนี้ และมีรายได้ไม่แน่นอน เรียกว่า “ติดกับดักแก่ก่อนรวย”
นอกจากนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงสถานการณ์ความยากจนของประชากรไทย โดยอ้างอิงดัชนีความจนหลายมิติ (MPI) สะท้อนว่า คนไทย “จน – เสี่ยงจน” เกือบครึ่งประเทศ มีคนจนมีมากถึง 7.17 ล้านคน และมีคนเสี่ยงเป็นคนจนหลายมิติ อีก 24.3 ล้านคน รวม 2 กลุ่มเกือบครึ่งประเทศจากประชากรในปีเดียวกัน 66.05 ล้านคน
พิจารณาข้อมูลข้างต้น พอจะสรุปได้ว่าชีวิตวัยเกษียณของคนไทยจำนวนไม่น้อยอาจเผชิญทุกข์ระทมจากวิกฤตการเงิน ต่างจากชาวต่างชาติวัยเกษียณที่เข้ามาพำนักในเมืองไทย กลุ่มที่มีศักยภาพด้านการเงินย่อมใช้ชีวิตราวกับอยู่สวรรค์บนดินบนแผ่นดินไทย.