xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จาก “Pepsi-Pizza Hut” ถึง “Nescafé” เมื่อบริษัทแม่ “เอาคืน” ทุนท้องถิ่นจำต้อง “สู้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็น “ศึกใหญ่” ที่เป็นกรณีศึกษาอีกครั้ง เมื่อ “เนสท์เล่” ต้องการ เข้ามาคุม “เนสกาแฟ” เบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลังจากร่วมทุนกับ “ตระกูลมหากิจศิริ” ในนาม “บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP)” ร่วมสร้างบุกตลาดมากว่า 30 ปี จนขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งในไทยอย่างแข็งแกร่ง ครองมาร์เก็ตแชร์ตลาดกาแฟในทุกเซกเม้นท์รวมกว่า 50%  

ทั้งนี้ เรื่องทวีความร้อนแรงถึงขีดสุดเมื่อ  “เสี่ยกึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ”  ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใน QCP ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568 ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย ส่งผลให้เนสท์เล่ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากร้านค้าต่างๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า คดีความระหว่าง “บรรษัทข้ามชาติ” กับ “ทุนท้องถิ่น” ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องและเกิดขึ้นในทุกวงการโดยก่อนหน้านี้ ก็มีมหากาพย์ศึก “เป๊บซี่” ระหว่าง   “บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน)” กับ   “เป๊ปซี่ โค อิงค์”  เจ้าของน้ำอัดลมแบรนด์ “Pepsi” จากสหรัฐอเมริกา

กล่าวคือเป๊ปซี่ โค อิงค์ ต้องการเทกโอเวอร์เสริมสุขจากการขอซื้อหุ้นเพิ่มจากผู้ถือหุ้นเดิม จากการมองเห็นศักยภาพของตลาดน้ำอัดลมไทย แต่ไม่สำเร็จ กระทั่งจบลงด้วยการที่เป๊บซี่ โค อิงค์ ประกาศยุติสัญญากับเสริมสุขในปี 2555

ขณะที่เสริมสุขได้ปั้นแบรนด์น้ำอัดลมของตัวเอง คือ  “เอส โคล่า”  ออกมาวางจำหน่ายกระทั่งถึงทุกวันวันนี้ ซึ่งแม้จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดไม่มากนัก แต่ก็เรียกว่า ทำให้ “เป๊ปซี่” ประสบกับความสูญเสียไปไม่น้อยกระทั่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถกลับมาเป็น “ที่หนึ่ง”  ในตลาดน้ำอัดลมเมืองไทยได้

เช่นเดียวกันกับกรณีศึกษาบริษัทแม่ Pizza Hut กับ The Pizza Company  ที่แปรเปลี่ยนสภาพจากพันธมิตรธุรกิจในยุคต้นสู่คู่แข่งขันตลอดกาลในเวลานี้ โดย The Pizza Company แบรนด์พิซซ่าของ   “บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)”  ขึ้นเป็นผู้นำครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดถึง 70% อีกด้วย ส่วน Pizza Hut อยู่ที่ 20%




หรือในแวดวงยานยนต์ก็มีตัวอย่างให้เห็นคือ “สยามกลการ” ของ “ตระกูลพรประภา” กับ “นิสสัน” เป็นต้น

สำหรับกรณีของ “เนสกาแฟ” ทางเนสท์เล่ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ มีคำอธิบายว่า เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” แต่เพียงผู้เดียว โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 จนถึง พ.ศ.2567 ผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ ได้ผลิตในประเทศไทยผ่านบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมทุนในสัดส่วน 50% - 50% ระหว่างเนสท์เล่ และตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งมีนายประยุทธ มหากิจศิริ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น

ภายใต้สัญญาการร่วมทุนนี้ เนสท์เล่ มีอำนาจในการบริหารงาน การผลิต การจัดจำหน่าย รวมทั้งการทำการตลาดผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตเนสกาแฟนั้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเนสท์เล่

ต่อมา เนสท์เล่ ได้แจ้งยุติสัญญาที่ให้สิทธิ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ในการผลิตเนสกาแฟในปี 2564 ซึ่งการยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมาย โดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยมีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567

ภายหลังการยุติสัญญา ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 เนสท์เล่ เอส เอ จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเลิกบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด ซึ่งกระบวนการพิจารณาคำร้องเพื่อขอเลิกบริษัทอยู่ในการพิจารณาของศาล และตลอดระยะเวลาของการยุติสัญญาจนถึงการยื่นขอยกเลิกบริษัทฯ เนสท์เล่ ได้ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดไม่ให้ได้รับผลกระทบ

หลังจากนั้น ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2568 นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัท QCP ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ จำนวน 2 คดี และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ต่อมา เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย โดยที่เนสท์เล่ยังไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว แต่เนสท์เล่ก็ให้ความเคารพต่อกฎหมายและได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฉบับนี้

เนสท์เล่ได้ออกหนังสือแจ้งลูกค้า อันได้แก่ ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่าง ๆ ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ให้รับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแจ้งว่าบริษัทฯ จะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากร้านค้าเหล่านี้ได้ โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะแจ้งให้ทราบภายหลัง ในช่วงเวลาระหว่างนี้ ร้านค้าปลีกที่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอยู่ในร้าน ยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ

เนสท์เล่ แถลงว่า มีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นจากคำสั่งศาลนี้ ซึ่งจะส่งผลในการสูญเสียรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อย รวมทั้งร้านกาแฟขนาดเล็ก รถเข็นขายกาแฟที่จะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจำหน่ายและการปรับเปลี่ยนสูตรการชงและวัตถุดิบที่ใช้ ยังอาจส่งผลต่อรสชาติที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ประจำวันของผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้

อีกทั้งยังส่งผลต่อการขาดรายได้ของพนักงานของลูกค้าและคู่ค้าซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่ของเนสกาแฟที่เคยสามารถจัดส่งวัตถุดิบต่าง ๆ ให้กับเนสกาแฟแต่ต้องหยุดชะงักลง รวมไปถึงเกษตรกรไทยผู้เพาะปลูกกาแฟและเกษตรกรโคนมไทย จะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตเพื่อเป็นวัตดุดิบให้เนสกาแฟ เนื่องจากคำสั่งศาลห้ามผลิต และว่าจ้างผลิต เนสกาแฟในประเทศไทย

ในทุก ๆ ปี เนสกาแฟ รับซื้อเมล็ดกาแฟดิบพันธุ์โรบัสต้าในปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดที่ปลูกได้ประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทยและผู้บริโภคในตลาดส่งออกของเนสกาแฟ จะไม่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟดื่ม

เนสท์เล่ จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในการแก้ไขสถานการณ์นี้ และกำลังดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อการพิจารณาคำร้อง

ด้าน **“นายวิทยากร มณีเนตร”** อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้มีการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้ากาแฟอย่างใกล้ชิด แม้ว่ากาแฟไม่ใช่รายงานสินค้าในบัญชีควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ แต่เพื่อดูแลปัญหาปากท้องประชาชน กรมจึงต้องตรวจสอบเรื่องนี้ โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมออกตรวจสอบปริมาณและราคากาแฟในตลาด รวมถึงมีการกักตุนสินค้าหรือไม่ ทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านจำหน่ายปลีกต่างๆ ซึ่งได้รับรายงานจากการตรวจสอบของกรมเอง พบว่ายังมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ และมีการจำหน่ายในราคาปกติ

โดยเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมามีการประชุมหารือกับผู้ค้าปลีกค้าส่งและห้างท้องถิ่น เพื่อติดตามสต๊อกสินค้า ปริมาณการขาย และราคาจำหน่าย ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้ประกอบการค้าส่ง ระบุว่ามีการส่งของตามปกติ และไม่มีการชะลอการขายแต่อย่างใด ในส่วนของสต๊อกสินค้ายังมีปริมาณเพียงพอต่อการจำหน่าย และในส่วนของผู้ค้าปลีกก็ยืนยันว่ายังมีสินค้าสำหรับจำหน่าย และไม่มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันมีการสั่งซื้อกาแฟแบรนด์อื่นที่มีคุณภาพและมาตรฐานหลายยี่ห้อเข้ามาเพิ่มเติม และทางห้างฯ มีการจัดรายการโปรโมชันส่งเสริมการขาย อาทิ ลดราคาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้กาแฟแบรนด์ดังกล่าวจะมีสัดส่วนการตลาดที่สูงกว่าแบรนด์อื่น แต่ปัจจุบันตลาดสินค้ากาแฟมีการแข่งขันสูงทั้งด้านคุณภาพและด้านราคา ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ ซึ่งจากการจำหน่าย พบว่าผู้บริโภคก็ตอบรับสินค้าในแบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้น

ด้าน “บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSSIA” วิเคราะห์กรณีดังกล่าวว่า เป็น sentiment บวกต่อคู่แข่ง อาทิ CBG ,SAPPE, TACC (แต่ผลบวกจริงค่อนข้างจำกัด เพราะสัดส่วนรายได้ไม่เยอะ) หลังมีข้อพิพาทกับพันธมิตรเดิม QCP ที่ได้ยุติสัญญาร่วมทุน (ถือหุ้นคนละ 50%) เมื่อ 31 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ Nescafe ถือเป็นผู้นำในตลาดกาแฟสำเร็จรูปในไทย หากพิจารณามูลค่าตลาดกาแฟทั้งประเทศไทยราวปีละ 6 หมื่น ลบ. แบ่งเป็น กาแฟในบ้าน 3.3 หมื่นล้านบาท และกาแฟนอกบ้าน 2.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับตลาดกาแฟในบ้าน แบ่งเป็น กาแฟ 3 in 1 (สัดส่วน 49% ของกาแฟในบ้าน) ซึ่ง Nescafe มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 มากกว่า 50%, กาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม (สัดส่วน 31%) มูลค่าราว 1.4 หมื่นล้านบาท ผู้นำอันดับ 1 คือ Birdy (52%) รองมาคือ Nescafe (37%) และอันดับ 3 คือ CBG (สัดส่วนราว 2-3%), กาแฟผงสำเร็จรูป (สัดส่วน 14%) Nescafe ก็มีขายสินค้ากลุ่มนี้ ให้ร้านกาแฟต่างๆ หุ้นในตลาดที่มีรายได้ใน segment นี้คือ TACC และกาแฟสุขภาพ (6%) อันดับ 1 คือ Naturegift (30%), เพรียว (แบรนด์ของ SAPPE) สัดส่วน 20% และ Nestcafe (10%)

เบื้องต้น FSSIA มองว่าผลกระทบแท้จริงโดยรวมอาจไม่มาก เพราะสัดส่วนรายได้กาแฟของแต่ละบริษัทไม่มาก และปัจจุบัน Nestle อยู่ระหว่างชี้แจงชั้นศาล โดยระบุว่าจะกลับมาให้เร็วที่สุด

กล่าวสำหรับเนสท์เล่นั้น จำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่าง ๆ ในประเทศไทยมานานกว่า 130 ปี และได้ลงทุนกว่า 22,800 ล้านบาทในประเทศไทยในระหว่างปี 2561-2567 โดยเนสท์เล่ยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

เนสท์เล่ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเวเวย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุม 185 ประเทศทั่วโลก พนักงานเนสท์เล่กว่า 277,000 คน มีผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้คนและสัตว์เลี้ยงครอบคลุมในทุกช่วงวัย มากกว่า 2,000 แบรนด์ โดยแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก เช่น เนสกาแฟ เนสเปรสโซ ไมโล แม็กกี้ ตลอดจนแบรนด์ที่เป็นที่ชื่นชอบในท้องถิ่นอย่าง ตราหมี หรือมิเนเร่

ข้อพิพาทระหว่างเนสท์เล่กับตระกูลมหากิจศิริ ส่งผลสะเทือนต่อการดำเนินธุรกิจกาแฟที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด มหาศาลในแต่ละปี

บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท มีผลประกอบการ ปี 2566 รายได้รวม 17,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.4% จากปี 2565 ส่วนกำไรสุทธิ 3,067 ล้านบาท ลดลง 9.8% จากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,403 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิสูงสุดในปี 2564 อยู่ที่ 3,704 ล้านบาท ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในปี 2566 เพิ่มขึ้น 3.7% ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของรายได้ ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานลดลงเป็น 3,831 ล้านบาท จาก 4,254 ล้านบาทในปี 2565

โครงสร้างผู้ถือหุ้น QCP มีผู้ถือหุ้น 6 ราย ได้แก่ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ถือหุ้น 41.80% (20.9 ล้านหุ้น), เนสท์เล่ เอส.เอ สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้น 30.00% (15 ล้านหุ้น), วิโทรปา เอส.เอ สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ถือหุ้น 19.00% (9.5 ล้านหุ้น), นางสุวิมล มหากิจศิริ ถือหุ้น 5.00% (2.5 ล้านหุ้น), นายประยุทธ มหากิจศิริ ถือหุ้น 3.20% (1.6 ล้านหุ้น), บริษัท เนสท์เล่เทรดดิ้ง ประเทศไทย จำกัด ถือหุ้น 1.00% (0.5 ล้านหุ้น)

คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วย 7 คน ได้แก่ นายประยุทธ มหากิจศิริ, นางสุวิมล มหากิจศิริ, นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ, นางสาวอุษณา มหากิจศิริ, นายรามอน เมนดิวิล กิล, พันตำรวจโทกรวัชร์ ปานประภากร และนายสุวิทย์ คำดี

 คอกาแฟต่างลุ้นหนักว่าข้อพิพาทของคู่ค้า จะทำให้เนสกาแฟ แบรนด์ที่นิยมกันเป็นอันดับหนึ่งขาดตลาดหรือร้านค้าจะฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะโดนหางเลขไปด้วยหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาดูแลใกล้ชิดตลอดห่วงโซ่การผลิตและจัดจำหน่าย แม้ว่ากาแฟจะไม่ใช่สินค้าควบคุมก็ตามที 


กำลังโหลดความคิดเห็น