ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่าเป็นประเด็นร้อนสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุเกิดจาก Online Dating ไล่ตั้งแต่เรื่องราวของ “หมอหาร กับ อดีตภรรยา” เรื่องราวของหนุ่มโปรไฟล์ดีดีกรีนายแพทย์ ผู้มีนิสัยมัธยัสถ์ หารค่าใช้จ่ายทุกอย่างกับคู่เดทจนเปลี่ยนสถานะคู่ชีวิต ก่อนเลิกลาเพราะความขัดแย้งในครอบครัว ซึ่งจุดแตกหักคือเหตุการณ์รุนแรงพาแม่บุกบ้านอดีตภรรยาแย่งลูก
และที่เป็นประเด็นร้อนแรงแบบสุดๆ คือ กรณี “นายฮอต ไฮโซเก๊” หรือ “นายธัญเทพ ศิริทรัพย์เดชากุล” สร้างโปรไฟล์หรูระดับเทพบุตรหลอกนักแสดงสาว “คะน้า – ริญญารัตน์ วัชรโรจน์สิริ” ถึงขั้นจะแต่งงานด้วย สุดท้ายกลายเป็น “ไฮโซกำมะลอ” พฤติกรรมแอบอ้างเบื้องสูง มีรถนำขบวน แอบอ้างผู้ใหญ่คนสำคัญในวงการการเมือง ฯลฯ หลังดาราออกมาแฉจนเรื่องราวบานปลาย มีผู้เสียหายแสดงตัวหลายราย ถูกดำเนินคดีหลายฐานความผิด เบื้องต้นข้อหา “ยักยอก” และ “ฉ้อโกง” ซึ่งจะมีการขยายผลข้อหาอื่นๆ ต่อไป
กรณี “ไฮโซเก๊” และ “คะน้า” เป็นเรื่องที่คนไทย “พร้อมใส่ใจ” กันทั้งประเทศ โดยทั้งคู่พบกับผ่าน Coffee Meets Bagel หรือ CMB ซึ่งเป็นเดทที่คัดคนมาให้โดยเฉพาะ ผ่านอัลกอริทึมอัจฉริยะคัดกรองคู่แมทช์อย่างพิถีพิถัน ทุกๆ เที่ยงวัน ผู้ใช้จะได้รับการแนะนำคู่แมทช์ที่เรียกว่า “bagels” ซึ่งคัดสรรโดยที่พิจารณาทั้งภูมิหลัง การศึกษา อาชีพ ความสนใจ และเพื่อนที่มีร่วมกัน ถ้าสนใจก็กด “ไลค์” สานสัมพันธ์กันต่อ หากไม่สนใจก็ปล่อย “ผ่าน” ไป
สำหรับ Coffee Meets Bagel พัฒนาแอปอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมียอดแมตช์เกิน 150 ล้านคู่ ทำรายได้ปีละ 36 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าบริษัททะลุ 150 ล้านดอลลาร์ โดยธุรกิจของ CMB เป็นแบบ freemium ที่ให้ดาวน์โหลดและสมัครใช้งานฟรี แต่ผู้ใช้สามารถซื้อ “coffee beansW สกุลเงินเสมือนในแอปเพื่อปลดล็อกบริการพรีเมียมต่างๆ ได้ โดย CMB เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในหลายประเทศ รวมถึงฮ่องกงและสิงคโปร์ในเอเชีย แต่ผู้ใช้จากทั่วโลกสามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนได้
อย่างไรก็ดี Online Dating เป็นวัฒนธรรมการหาคู่ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบในการพบปะของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ Tinder แอปพลิเคชันหาคู่ยอดนิยม เผยเทรนด์การเดตปี 2568 : ยุคของความจริงใจและชัดเจน โดยปัจจุบันคนโสดออกเดทด้วยแนวคิดใหม่ที่มีความชัดเจนมากขึ้น มองหาความสัมพันธ์ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง รู้สึกได้ถึงความจริงใจ และอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น
เคิร์สตี้ ดันน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารในประเทศไทยของ Tinder เปิดเผยว่าจากการสำรวจของ Tinder ผู้ใช้งานที่อยู่สถานะโสด ในกลุ่มวัยหนุ่มสาว หรือ Gen Z มีมากถึง 88% ในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลการเดทผ่านแอปกับเพื่อนและครอบครัวถึง 75% และโอบรับความหลากหลายทางเพศมากถึง 73% เพื่อค้นหาความชอบและรสนิยมของอีกฝ่ายที่ตรงกัน และรองลงมาคือกลุ่ม Gen Y
สำหรับเทรนด์การเดท ปี 2568 คนโสดเริ่มเปิดใจยอมรับและมีความตั้งใจในการหาคู่มากยิ่งขึ้น โดยกล้าที่จะเปิดเผยสิ่งที่ตัวเองต้องการและกล้าปฏิเสธสิ่งที่คิดว่าไม่ใช่ การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ที่โดดเด่นในปีนี้ คือ ความสัมพันธ์ ชัดแบบตะโกน (Loud Looking) โดยคนโสดขยับขึ้นมานั่งแท่นเก้าอี้ผู้กำกับกำหนดการออกเดทของตัวเองอย่างชัดเจนและกล้าที่จะบอกว่าตัวเองนั้นต้องการอะไร
ทั้งนี้ Tinder พบว่ามีการระบุข้อความว่า “กำลังมองหา...” ในหน้าประวัติส่วนตัวบน Tinder ในปี 2567 โดยผู้ใช้ Tinder คนไทยมีการเปิดเผยเรื่องที่ต้องการมากที่สุด คือ หาคนรักจริงหวังแต่ง ใน Dating Goal กว่า 57% และ 55% ระบุถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ตนเองต้องการด้วยการเลือกความสัมพันธ์แบบมีคู่คนเดียวสะท้อนให้เห็นการมองหาความสัมพันธ์ระยะยาว
“จากผลสำรวจคน Gen Z ในไทยยังพบอีกว่า หน้าโปรไฟล์ของการหาคู่ การมีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และให้ความสำคัญกับเรื่องการให้เกียรติว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด และรูปแบบในการแสดงความรักที่ต้องการ คือ การกระทำที่เอาใจใส่ เพราะในปี 2567 คนโสดหลายคนต้องเผชิญกับสภาวะสมมติฐาน ซึ่งทำให้เกิดการตีความที่ผิดพลาด เช่น ตีความสัญญาณธงเขียวว่าเป็นสัญญาณธงแดงที่อันตราย เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ผู้หญิง 65% คิดว่าผู้ชายส่วนใหญ่ต้องการความสัมพันธ์แบบชั่วข้ามคืน แต่มีผู้ชายเพียง 29% เท่านั้นที่บอกว่าความสัมพันธ์แบบนั้นเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ ดังนั้นในปี 2568 ความสัมพันธ์ชัดแบบตะโกน จึงเปิดโอกาสให้กับการหาคู่เดทจนไม่เหลือที่ว่างสำหรับสัญญาณที่เงียบอย่าง สถานะคนคุยอีกต่อไป” เคิร์สตี้ ดันน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการสื่อสารในประเทศไทยของ Tinder กล่าว
ทั้งนี้ เกณฑ์การเลือกคู่เดท คนโสดให้ความสำคัญกับ ความน่าเชื่อถือ 40% เสน่ห์ทางกายภาพ 35% ค่านิยมร่วมกัน 31% ความพร้อมทางอารมณ์ 30% และความสนใจที่คล้ายกัน 28% ขณะที่พฤติกรรมที่ทำให้ความสัมพันธ์จบลงเร็วที่สุดคือ ความไม่สะอาด 50% ความหยาบคาย 44% การพูดถึงแฟนเก่าบ่อยเกินไป 34% นอกจากนี้ 22% ดูเรื่องความมั่นคงทางการเงิน ต้องการคู่ที่จัดการเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวได้ดี โดยไม่ปล่อยให้เรื่องงานมากระทบกับเวลาส่วนตัวและความสัมพันธ์
บทความเรื่อง “Algorithmic Dating – ความโดดเดี่ยวของผู้คนในแอปหาคู่” โดย ศุภณัฐ ศักดิ์ประเสริฐ เผยแพร่ผ่านสำนักยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อน (cts.chula.ac.th) สะท้อนความเปลี่ยวเหงาของคนในยุคดิจิทัล ระบุว่าสาเหตุของปรากฏการณ์ความโสด-เหงา-อ้างว้างนี้ อาจเกิดจากพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปจากการมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีหรือแอปหาคู่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริธึม และด้วยธรรมชาติของสังคมออนไลน์ที่หมุนไปด้วยความเร็วสูงทำให้คู่แมชจะมาพบเจอกันในชีวิตจริงจึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้
ทั้งนี้ แอปพลิเคชันสำหรับการเดตบนโลกออนไลน์ได้ปฏิวัติการติดต่อพบปะของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง เทคโนโลยีทำให้ปฏิสัมพันธ์นั้นง่ายขึ้นด้วยการปัดซ้าย-ขวา เพื่อจับคู่ สนทนา หรือวิดีโอคอลกันเพื่อหาคนรักหรือเพื่อน ขณะเดียวกัน มีการเพิ่มขึ้นของคนโสดที่เหงาหรือโดดเดี่ยวทั้งๆ ที่ก็อยู่บนโลกออนไลน์นี้เช่นเดียวกันกับหลายคน
การทำงานของอัลกอริธึมแอปฯ หาคู่ เชื่อมโยงกับกระบวนการทางจิตวิทยาอีก 2 ประการที่สามารถอธิบายที่มาของพฤติกรรมนี้ได้ดังต่อไปนี้ ประการแรก คือ การปัดที่มากเกินไปเป็นการเสริมแรงโดยปราศจากความเสี่ยง จากมุมมองจิตวิทยาการเรียนรู้แบบ Pavlovian กล่าวถึงพฤติกรรมเสพติดไว้ว่า “พฤติกรรมใดที่ทำแล้วได้การเพิ่มคุณค่าในตนหรือส่งเสริมอารมณ์ให้ดีขึ้นย่อมเป็นตัวเสริมแรงทางบวก” และเนื่องจากการปัดให้ความพึงพอใจแก่ผู้ใช้ในรูปแบบของการแมช และ ประการที่สอง คือ การหวังผลสูงสุด ผู้ใช้งานมีแนวโน้มที่จะหาตัวเลือกให้มากที่สุดแม้จะเจอตัวเลือกที่ดีพอแล้ว ยิ่งมีตัวเลือกเยอะ เราก็ยิ่งหาตัวเลือกมากขึ้น ในที่นี้ก็คือการปัดต่อไปเรื่อยๆ นั่นเอง
“สิ่งที่ตามมาของผู้ที่มีพฤติกรรมการปัดที่มากเกินไปก็คือ เพื่อมีตัวเลือกที่มากขึ้นก็สัมพันธ์กับความกลัวการเป็นโสดที่มากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากการมีตัวเลือกจำนวนมาก ผู้ใช้งานจะเริ่มรู้สึกว่าพวกเขาจะต้องกลั่นกรองโปรไฟล์แต่ละคนให้ถี่ถ้วนขึ้นและตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออก พฤติกรรมแบบนี้เองที่เป็นแรงกดดันให้ผู้ใช้งานว่าต้องหาคู่ให้ได้ และไปกระตุ้นการตอกย้ำตัวเองหากหาคู่ไม่สำเร็จ”
สุดท้าย การใช้เวลากับแอปหาคู่ที่เต็มไปด้วยการปัดที่มากเกินไปแบบนี้ก็นำมาซึ่งความกลัว และในท้ายที่สุดก็เกิดเป็นความโดดเดี่ยวในที่สุด อาจมองได้ว่า “แอปหาคู่เป็นตัวร้ายที่ทำให้เราโดดเดี่ยว” แต่หากเรารับมือกับมันอย่างรู้เท่าทัน มันจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีคุณภาพในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า Online Dating เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวงเหยื่อ โดยมีเป้าหมาย อาทิ หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน (Hybrid scam) หลอกให้รักแล้วกดลิงก์/ดาวน์โหลดแอปรีโมท (Remote access scam) ทำการดูดเงินในบัญชี และหลอกให้รักแล้วแบล็กเมล์ (Sextortion) ขู่กรรโชกทางเพศ เป็นต้น
ศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยสถิติตัวเลขคดีหลอกให้รักและโอนเงินออนไลน์ (Romance scam) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 พบว่ามีคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ Romance scam จำนวน 3,323 คดี มีความเสียหายมากกว่า 1,154 ล้านบาท คิดเฉลี่ยความเสียหายคดีละประมาณ 34,752 บาท นับว่าเป็นการสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์
ดังนั้น คงต้องบอกว่า “Online Dating” ตาดีได้ – ตาร้ายเสีย.