ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไทยจะเอาอะไรไปแลกในการเจรจากับสหรัฐฯ จะยอมเปิดตลาดนำเข้าถั่วเหลือง-ข้าวโพดจีเอ็มโอ - หมูเร่งเนื้อแดง - ยาแพงที่มีสิทธิบัตร เพิ่มการซื้อก๊าซฯ-น้ำมัน และฝูงบินจากโบอิ้ง ตามแนวทาง“More for Less – Less for More” เพื่อลดแรงกระแทกจากการสูญตลาดส่งออกไปสหรัฐฯ หลายแสนล้าน ใช่หรือไม่ แล้วประชาชนคนไทยที่จะได้รับผลกระทบถ้วนหน้าจะยอมรับได้ไหม เป็นโจทย์ที่ยากยิ่งสำหรับรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่อยู่ในอาการพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกในเวลานี้
เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนกันไปทั้งโลก เมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าครั้งใหญ่ โดยกำหนดภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% กับสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลก และบังคับใช้ภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) เพิ่มเติมกับประเทศที่สหรัฐฯเห็นว่ากีดกันการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งประเทศไทย เจอเข้าเต็มเปาในอัตรา 36% ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ในโลก และชาติอาเซียน ซึ่งเป็นรองจากกัมพูชา 49% และเวียดนาม 46%
อย่างไรก็ดี แม้มาตรการที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 9 เม.ย. 2568 จะถูกเลื่อนออกไปอีก 90 วัน ตามการประกาศของ “ทรัมป์” ก่อนหน้าที่จะถึงเส้นตายไม่ถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งสร้างความปวดหัวไปทั่วทั้งโลก แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการ “ต่อลมหายใจ” ให้ “รัฐบาลแพทองธาร” ออกไปได้อีกพักใหญ่เพื่อหาแนวทางการรับมือกับการแก้ปัญหาอันใหญ่หลวงนี้
5 กลุ่มสินค้ากระทบหนักสุด
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุ 5 สินค้าหลักที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ประกอบด้วย 1)เครื่องโทรศัพท์และส่วนประกอบ (รวมสมาร์ทโฟน) 2)เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ 3)ยางล้อรถยนต์ 4)เซมิคอนดักเตอร์ (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กึ่งตัวนำ) และ 5)หม้อแปลงไฟฟ้า สอดรับกับโครงสร้างสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและยานยนต์ ควบคู่สินค้าเกษตรแปรรูป
ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด มีมูลค่าส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ปี 2567 ดังนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ประมาณ 350,000 ล้านบาท, เครื่องโทรศัพท์ และส่วนประกอบ (รวมสมาร์ทโฟน) ประมาณ 175,000 ล้านบาท, ผลิตภัณฑ์ยาง (เช่น ยางล้อรถยนต์)157,841 ล้านบาท, ยางพารา (วัตถุดิบยางธรรมชาติ) 18,640 ล้านบาท, เซมิคอนดักเตอร์ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หม้อแปลงไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้า มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท, อัญมณีและเครื่องประดับ ประมาณ 69,217 ล้านบาท, เครื่องปรับอากาศ, รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงข้าวหอมมะลิไทย ประมาณ 30,000 ล้านบาท (850,000 ตัน)
ไทยส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ คิดเป็น 8.2% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และในจำนวนนี้พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงถึง 42.9% ส่วนโทรศัพท์และส่วนประกอบ พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ 58.5% เช่นเดียวกันกับยานยนต์และชิ้นส่วน ที่พึ่งตลาดสหรัฐฯเป็นหลัก ทำให้สินค้ากลุ่มนี้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เจอภาษีน้อยกว่า 10%
แม้ว่าไทยจะส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯไม่มากนัก แต่มูลค่าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ส่งไปสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก การปรับขึ้นภาษีทำให้ราคาชิ้นส่วนจากไทยสูงขึ้น สหรัฐฯ อาจหันไปซื้อชิ้นส่วนจากที่อื่นแทน ส่งผลให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนของไทยอาจต้องลดกำลังการผลิตลง และอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานถ้าคำสั่งซื้อชะลอตัวลงมาก
ข้าวหอมมะลิ - ยางพารา - ทุเรียน น่าห่วง
สำหรับสินค้าเกษตร เช่น ยางพาราและข้าว แม้มูลค่าไม่สูงเป็นอันดับต้น ๆ แต่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรไทย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดสำคัญและราคาสินค้าอาจปรับตัวลดลงอย่างมากหากส่งออกได้น้อยลง
นายชูเกียรติ โอภาสวงษ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย อธิบายว่า ข้าวหอมมะลิไทยจะมีราคาขายปลีกในสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทันที ซึ่งแพงกว่าข้าวหอมเวียดนามมาก แม้เวียดนามโดนภาษี 46% ที่สูงกว่าไทย แต่เนื่องจากต้นทุนข้าวเวียดนามต่ำกว่า โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 600-700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวเวียดนามแทน
ในทำนองเดียวกัน สับปะรดกระป๋อง ไทยก็จะเสียเปรียบฟิลิปปินส์ที่โดนภาษีน้อยกว่า ทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เลือกซื้อจากฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น
ภาคเกษตรของไทย จึงเสี่ยงได้รับผลกระทบทั้งจากราคาสินค้าที่ตกต่ำลงในประเทศและการสูญเสียตลาดส่งออกบางส่วน ซึ่งกระเทือนต่อรายได้เกษตรกรและแรงงานในภาคเกษตรแปรรูป โดยโรงงานแปรรูปอาจลดโอทีหรือชะลอรับซื้อผลผลิต
การขึ้นภาษีครั้งนี้ ส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงผ่านการส่งออกที่ลดลง และทางอ้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ รวมถึงการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้น
ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์ว่า การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีครั้งนี้ จะทำให้อัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริงของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเป็น 18-22% และกดดันทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการค้าโลกอย่างมาก โดยไทยถูกขึ้นภาษีสูงถึง 36% จัดอยู่ในอันดับที่ 20 จาก 185 ประเทศที่เจอมาตรการนี้ และเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 16% ซึ่งเป็นผลจากที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยในระดับสูงนั่นเอง
SCB EIC เตือนว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบรุนแรง เนื่องจากสหรัฐฯ เป็น ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย คิดเป็น 18.3% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดปี 2024 หรือประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในไทย (gross domestic product : GDP)
สำหรับผลกระทบทางตรง สินค้าจากไทยจะมีราคาแพงขึ้นทันทีในตลาดสหรัฐฯ จากภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ซื้อสหรัฐฯหันไปซื้อจากประเทศอื่นที่ภาษีน้อยกว่า เช่น กรณีข้าวหอมมะลิของไทย ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นทันที 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้แพงกว่าข้าวเวียดนามมาก หรือยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่คู่แข่งอย่างมาเลเซียเจอภาษีน้อยกว่า จะแย่งส่วนแบ่งตลาดของไทย เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรมหลายชนิดที่สินค้าจากคู่แข่งราคาถูกกว่า ภาคส่งออกไทยจึงเสี่ยงต่อการสูญเสียคำสั่งซื้อและส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อย่างรวดเร็ว
ส่วนผลกระทบทางอ้อม การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยชะลอตัว ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยจะลดลง โดยไทยส่งออกไปจีน อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้ต่างเจอกำแพงภาษีในอัตราสูงเช่นกัน (จีน กว่า 54%, ญี่ปุ่น 24%, สหภาพยุโรป 20%)
ทั้งนี้ จีนเป็นผู้นำเข้าผลไม้และอาหารจากไทยรายใหญ่ หากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงผู้บริโภคก็จะซื้อสินค้านำเข้าน้อยลง ซึ่งเมื่อปี 2567 ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนมากถึง 97.4% และเมื่อทุกประเทศต่างเร่งหาตลาดใหม่ จะทำให้การแข่งขันในตลาดส่งออกอื่น ๆ รุนแรงขึ้น เพราะมีสินค้าจากหลายชาติทะลักเข้าไปขายแข่งกันมากขึ้น จะยิ่งกดดันการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม
วิจัยกรุงศรี ระบุ การถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สูงเกินคาดที่ 36% อาจส่งผลให้การส่งออกไทยปีนี้ไม่เติบโต เฉลี่ยทั้งปี 2568 อาจเติบโตใกล้ 0% หากไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาลดภาษี
สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ สินค้าที่ผลกระทบสูง ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ยางรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และถุงมือยาง เนื่องจากสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าในอัตราต่ำ และสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกหลัก
ส่วนผลกระทบปานกลาง เช่น ยางพารา ข้าว รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องประดับ สิ่งทอและเสื้อผ้า พลาสติก อุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ และเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งจะส่งต่อผลกระทบไปยังห่วงโซ่อุปทานการผลิต และกระทบต่อการจ้างงาน
วิจัยกรุงศรี ประเมินผลกระทบโดยอาศัยแบบจำลอง Global Trade Analysis Project (GTAP) พบว่า การขึ้นภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะทำให้การส่งออก และ GDP ของไทยในระยะกลางถึงยาวลดลง -2.6% และ -0.11% ตามลำดับ ผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจยิ่งซ้ำเติมภาคการผลิตสำคัญของไทย และกดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงปานกลางให้ยิ่งอ่อนแอลง
คาดสูญเสีย 8 แสนล้าน - “แพทองธาร” โม้ไม่กระทบจีดีพี
กระทรวงพาณิชย์ ประเมินก่อนหน้านี้ว่า หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้ไทยที่ 11% จะทำให้การส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูญเสียมูลค่าประมาณ 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หากไทยไม่ดำเนินการใด ๆ แต่เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้ไทยที่ 36% คาดว่าความเสียหายจะสูงถึง 25,000-26,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 880,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ทั้งปี 2567 ที่ประมาณ 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.83 ล้านล้านบาท
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (UTCC) ประเมินว่า มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์ 2.0 จะทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของไทยหดตัวลงประมาณ 359,104 ล้านบาท และฉุด GDP ไทยให้ลดลงราว 1.93% จากเดิม หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อทั้งปี และประเมินอาจหดตัวลงทันทีราว 3 แสนล้านบาท
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ประเมินว่ามาตรการภาษีครั้งนี้จะทำให้มูลค่าการส่งออกของ SMEs ไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2568 ลดลงถึง 1,128 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 38,300 ล้านบาท และจะกดให้ GDP ของกลุ่ม SME ลดลง 0.2% จากที่คาดว่าจะโต 3.5%
สินค้าของ SMEs จำนวนมากอยู่ในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมใหญ่ เช่น ชิ้นส่วน, วัตถุดิบ ย่อมถูกซ้ำเติมเมื่ออุตสาหกรรมใหญ่ชะลอตัว อีกทั้งยังมีการส่งออกโดยผู้ประกอบการรายย่อยบางส่วนที่ขายสินค้าเฉพาะทางไปสหรัฐฯ เช่น สินค้าไลฟ์สไตล์, เสื้อผ้า, อาหารเฉพาะกลุ่ม จะเผชิญยอดสั่งซื้อที่หดตัวและอาจต้องลดพนักงานหรือหันไปพึ่งตลาดออนไลน์ในประเทศอื่นแทน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยืนยันว่าจะพยายามเจรจาเพื่อลดผลกระทบ โดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงหลังทรัมป์ ขึ้นภาษีว่า “ไม่ต้องตื่นตระหนก” เพราะรัฐบาลเตรียมมาตรการรองไว้แล้ว ทั้งการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า และการตั้งทีมเจรจาต่อรอง และมั่นใจว่า “การขึ้นภาษีครั้งนี้จะไม่ทำให้ GDP ไทยชะงัก” หากไทยสามารถหาข้อยุติที่เหมาะสมร่วมกับสหรัฐฯ ได้ทันเวลา
รัฐบาลไทยได้จัดตั้ง “คณะทำงานไทยแลนด์” นำโดยเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน และมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นแกนหลัก ในการประสานเจรจาทั้งระดับเจ้าหน้าที่และระดับนโยบายกับทางการสหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรี เน้นว่าแนวทางปัจจุบันคือ “More for Less – Less for More” หมายถึง การเจรจาต่อรองให้ได้ผลประโยชน์มากขึ้นแทนการปะทะ และยืดหยุ่นปรับลดบางอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่า ไม่ได้ต้องการตอบโต้หรือทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง
ด้าน ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า นายกรัฐมนตรี ควรต้องนำทัพเจรจาด้วยตนเอง เพื่อแสดงความจริงจังที่จะรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างเต็มที่
นอกจากการเจรจาระดับทวิภาคีกับสหรัฐฯ ไทยยังแสวงหาความร่วมมือในกรอบพหุภาคีเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง โดย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ (สรท.) แนะให้ไทยใช้แนวทาง “ASEAN+” เพื่อเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ พร้อมจับมือประเทศคู่ค้าสำคัญอื่น ๆ ในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ที่ต่างได้รับผลกระทบ เพื่อร่วมกดดันผ่านกลไกองค์การการค้าโลก (WTO) โดยสหภาพยุโรป ออกมาระบุว่ามี “แผนตอบโต้ที่แข็งแกร่ง” หากการเจรจากับสหรัฐฯ ล้มเหลว
จับตายาแพง - หมูเร่งสารเนื้อแดง - จีเอ็มโอ ทะลัก
คู่ขนานกับการเจรจา รัฐบาลได้วางมาตรการปรับสมดุลการค้าเพื่อบรรเทาความไม่พอใจของสหรัฐฯ และลดแรงกดดันต่อสินค้าไทย นั่นคือ การประกาศแผนจะนำเข้าสินค้าสำคัญจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เครื่องบินพาณิชย์ และสินค้า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ เป็นต้น
สำหรับสินค้าหลักของสหรัฐฯ ที่ไทยอาจต้องเปิดตลาดให้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน อาทิ หมวดสินค้าเกษตร เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, ถั่วเหลือง, ข้าวสาลี, เนื้อวัว, เนื้อสุกร, ผลไม้สด (แอปเปิล, เชอร์รี) ซึ่งเป็นจุดแข็งของสหรัฐ แต่มักติดอุปสรรคทางเทคนิคในไทยอย่างเรื่องมาตรฐาน, ศุลกากร, ความปลอดภัยอาหาร และไทยมีมาตรการกีดกันหลายรายการ เช่น พืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) และมาตรฐานสุขอนามัย
หมวดพลังงาน เช่น LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว), ถ่านหิน, น้ำมันดิบ โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ ต้องการตลาดใหม่ในเอเชีย ขณะที่ไทยนำเข้าจากหลายประเทศแต่ยังเปิดรับ LNG เพิ่มขึ้นได้
เครื่องบิน/ชิ้นส่วน Boeing aircraft, เครื่องยนต์, อะไหล่ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นแหล่งผลิตใหญ่ โดยไทยมีการจัดซื้อเครื่องบิน Boeing อยู่แล้ว และที่ผ่านมาไทยเคยจัดซื้อ Boeing 787 อีกทั้งวางแผนซื้อเพิ่ม
หมวดเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีชีวภาพ ยารักษาโรค, อุปกรณ์การแพทย์, วัคซีน สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยเปิดตลาดยานำเข้า ลดกฎควบคุมราคา ขณะที่ไทยมีระบบควบคุมราคายา และมีนโยบายสนับสนุนยาชื่อสามัญ (Generic)
หมวดเครื่องจักรและเทคโนโลยีขั้นสูง เครื่องจักรกล, อุปกรณ์ AI, ซอฟต์แวร์ โดยสหรัฐฯต้องการขยายการค้าเทคโนโลยีในเอเชีย และไทยมีการนำเข้าในระดับหนึ่ง แต่ยังมีภาษีและกฎระเบียบจำกัด
อย่างไรก็ดี มีสินค้า “อ่อนไหว” ที่ไทยลังเลจะเปิดตลาดให้สหรัฐฯ นั่นคือ ข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) ซึ่งไทยห้ามนำเข้าและปลูกข้าวโพด GMO ทำให้สหรัฐฯไม่พอใจ รวมถึง เนื้อสัตว์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือฮอร์โมน ที่ไทยมีข้อห้ามหรือควบคุมเข้มเช่นเดียวกับยุโรป และยาแพงที่มีสิทธิบัตร ที่สหรัฐฯต้องการให้ไทยใช้ “สิทธิบัตรยา” อย่างเข้มงวด และหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตร (Compulsory License)
เวลานี้ รัฐบาลไทย แสดงท่าที “ยืดหยุ่น” ในบางรายการ เช่น จะเพิ่มการนำเข้า LNG และเจรจานำเข้าน้ำมัน/เชื้อเพลิงจากสหรัฐฯ เพิ่ม ส่วนเครื่องบิน Boeing จะไม่ยกเลิกดีลการบินไทย (787 รุ่นใหม่ 45 ลำ) ส่วนสินค้าเกษตร มีแนวโน้มผ่อนคลายบางส่วน เช่น อนุญาตให้นำเข้าข้าวโพด/ถั่วเหลืองเพิ่มสำหรับป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว เงินลงทุน ความผันผวนของสินทรัพย์ และความเชื่อมั่น เริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้น โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ที่เคยจะลงทุนในไทยก็อาจจะทบทวน
ดังนั้น ทางออกของไทย ต้องเตรียมการ 5 ด้าน เริ่มต้นด้วยการเจรจากับสหรัฐฯ และระหว่างเจรจาก็ต้องหาวิธีรักษา Momentum เศรษฐกิจ พร้อมกับเตรียมรับมือสินค้าจากจีนจะทะลักเข้ามา ลดการพึ่งพาตลาดส่งออกไปสหรัฐฯ ให้เหลือ 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 18% และวางสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจสหรัฐฯ-จีน ให้ดี ทางรอดของไทยคือการเจรจาด้วยความตั้งใจอย่างจริงจัง เพราะเป้าหมายของสหรัฐฯ คือต้องการให้ไทยเปิดตลาด ได้แก่ กลุ่มยานยนต์, มอเตอร์ไซด์, เนื้อหมู, เนื้อไก่, ไวน์, เบียร์ ,เหล้า, เสื้อผ้า, ยา, เครื่องใช้ต่าง ๆ
ประชาชนคนไทย จะไหวกันไหม แรงกระแทกครั้งนี้จะมีผู้เหลือรอดจากสงครามการค้ากันสักกี่มากน้อย อีกไม่นานคงได้รู้กัน