xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (33): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ในตอนนี้จะขอกล่าวถึงความเห็นต่างในเรื่องพระราชอำนาจในการออกกฎหมายและพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ.  พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด  ได้ทรงส่งสารไปยังสภาอภิชนและตั้งคำถามเจ็ดข้อเกี่ยวกับคำอภิปรายของ  Lilliehook  ที่สภาอภิชนจะต้องมีคำตอบให้พระองค์

ในสารดังกล่าว พระมหากษัตริย์ทรงถือว่า คำวิจารณ์ในคำอภิปรายนั้นเป็น “การอวดดีอย่างยิ่งและเป็นการโจมตีต่อพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระองค์”  และพระองค์ได้ทรงตั้งถามดังต่อไปนี้

 หนึ่ง  Lilliehook อภิปรายโดยลำพังคนเดียว หรือมีคนอื่นร่วมด้วย

 สอง  สภาอภิชนเห็นด้วยกับคำอภิปรายดังกล่าวนั้นหรือไม่ ?

 สาม สภาอภิชนกำลังอ้างสิทธิ์ที่จะอภิปรายและวิจารณ์ย้อนหลัง “สิ่งที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงทำลงไปและพระองค์ทรงพิจารณาเห็นชอบแล้ว” ใช่ไหม ?
 สี่  มีผู้ใดหรือไม่ ที่มีเจตนาที่จะมัดพระหัตถ์พระมหากษัตริย์ เพื่อที่พระมหากษัตริย์จะไม่สามารถออกกฎหมาย (laws) และระเบียบข้อบังคับ (regulations) ใดๆ ในราชอาณาจักรของพระองค์ และกฎหมายเหล่านี้จะถือว่าไม่ชอบเป็นโมฆะหากไม่มีฐานันดรทั้งสี่ ?

 ห้า พระมหากษัตริย์จะทรงต้องตอบต่อราษฎรของพระองค์ในสิ่งที่พระองค์ทำไป และราษฎรสามารถจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์ได้ ใช่ ไหม ?

ซึ่งคำถามข้อนี้ของพระองค์เป็นคำถามที่พุ่งตรงไปที่แก่นแกนของรัฐธรรมนูญและรูปแบบการปกครอง และข้อความที่ว่า  “มัดพระหัตถ์พระมหากษัตริย์” หรือการอุปมา  “เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์”  ถือเป็นหัวใจสำคัญของวาทกรรมทางการเมืองในสวีเดนที่ถือเป็นข้อความต้องห้ามเพราะมีนัยถึงการไม่ยอมรับอำนาจของพระผู้เป็นเจ้าด้วย ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้

และประเด็นนี้ได้ถูกกล่าวไว้ใน  คำถามข้อที่หก นั่นคือ ราษฎรผู้ใดก็ตามมีสิทธิ์ที่จะตัดสินการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หรือไม่ ? โดยพระราชอำนาจนั้น  “ได้ถูกใช้ไปเพื่อเทิดพระเกียรติในนามของพระผู้เป็นเจ้า และเพื่อผลดีและประโยชน์ที่ดีที่สุดแห่งราชอาณาจักร” 

 เจ็ด  มีผู้ใดหรือไม่ที่มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามว่า กฎหมายดังกล่าวได้ถูกใช้ไปอย่างไร และ  “ชี้นำคนอื่นไปในทางไม่ถูกต้องด้วยบันทึกที่ไร้สาระ หรือไม่พอใจพระมหากษัตริย์และการกล่าวหาที่ไม่เหมาะสม” 

พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้ทรงสรุปและยืนยันว่า การกระทำของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นไปเพื่อ “ความมั่นคงและเพื่อสวัสดิภาพทั้งมวลของราชราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงสิ่งเดียวที่พระมหากษัตริย์ทรงมุ่งหมายและปรารถนา ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เพื่อราษฎรทุกคน”

นอกจากสภาอภิชนแล้ว สารดังกล่าวนี้ได้ถูกส่งไปให้ฐานันดรสามัญทั้งสามด้วย ดังนั้น สภาฐานันดรจึงต้องเผชิญกับคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับอำนาจของสภาฐานันดรที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ด้วย นั่นคือ

 หนึ่ง  สภาจะยืนยันหรือไม่ว่า พวกเขามีสิทธิ์ในขอบเขตหนึ่งใดที่จะจำกัดการกระทำของพระมหากษัตริย์ ?

สอง  ในฐานะที่สภาฐานันดรเป็นตัวแทนของประชาคม จะอ้างสิทธิ์ ที่กฎหมายแห่งแผ่นดินกำหนดให้พวกเขาในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ (the legislative power) ร่วมกับพระมหากษัตริย์ หรือไม่ ?

ในการลงคะแนนเสียงต่อประเด็นดังกล่าว สภาอภิชนมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถลงคะแนนด้วยบัตรเหมือนก่อนหน้านี้ ด้วยพระเจ้าชาร์ลที่สิบเอ็ดทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการลงคะแนนโดยแสดงตัวตน อภิชนส่วนใหญ่ดูจะยอมรับยุทธศาสตร์เพื่อการอยู่รอดจากการหาความคุ้มครองจากพระมหากษัตริย์ที่จะรักษาสถานะอภิสิทธิ์และทรัพย์สินของความเป็นอภิชนของพวกตนมากกว่าที่จะยืนยันสิทธิ์ตามกฎหมายของพวกตน

ขณะเดียวกัน เสียงส่วนใหญ่ในสภาอภิชนก็ไม่ต้องการออกมาปกป้อง Lilliehook ทั้งๆ ที่คำอภิปรายของ Lilliehook เป็นไปเพื่อปกป้องสิทธิ์ในการออกกฎหมายที่เป็นของพวกอภิชนอย่างชัดเจน อีกทั้งการอภิปรายในสภาอภิชนไม่ได้แสดงให้เห็นว่า มีผู้ใดต้องการที่จะปกป้องสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมออกกฎหมายของพวกอภิชนด้วย

ประธานสภาสามัญของทั้งสามฐานันดรต่างออกมาประณามคำอภิปรายของ Lilliehook มีแต่บางคนในกลุ่มอภิชนระดับสูงที่เสี่ยงแก้ข้อกล่าวหาว่า **“Lilliehook พูดไปด้วยเจตนาดี”** และ **“เขาเป็นคนตรง”**
ต่อคำถามที่ว่า ราษฎรสามารถตัดสินการกระทำขององค์อธิปัตย์ของเขาได้หรือไม่นั้น ** P. Sparre** ผู้ที่ได้ชื่อเป็นผู้วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแข็งขันในปี ค.ศ. 1680 ประกาศว่า **“มันเป็นคำถามที่น่ากลัว และคนที่มีความคิดแบบนี้ เป็นคนชั่วร้าย”**

และสุดท้าย บันทึกการประชุมได้สรุปว่า **“ทุกคนมีความเห็นเช่นเดียวกันนั้น” **
ต่อคำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย มีความชัดเจนว่า สภาอภิชนต้องการอ้างในสิทธิ์ในเสียงต่อประเด็นเรื่องการเวนคืนที่เลือกปฏิบัติแต่เฉพาะพวกอภิชน พวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะใช้หลักการของ Lilliehook ที่ได้เคยกล่าวถึงกฎการบริหารราชการแผ่นดินที่ปรับใช้กับคนไม่กี่คนเท่านั้น อันได้แก่ เรื่องการเวนคืนแต่เฉพาะอภิชน โดย Lilliehook ได้กล่าวว่า “ถ้าหากเป็นกฎหมายทั่วไป มันก็จะต้องสื่อสารไปยังทุกๆ ฐานันดรด้วย”

เลขาธิการของสภาอภิชนได้สะท้อนความคิดของพระมหากษัตริย์ที่ปรากฎในสารที่ส่งมายังพวกอภิชน และได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อร่างหนังสือตอบไปยังพระมหากษัตริย์ และได้มีการมีการแนะนำให้ Lilliehook ขอพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ด้วย
คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาได้ร่างหนังสือตอบแล้วเสร็จอย่างรวดเร็วมากจนทำให้นักประวัติศาสตร์พากันตีความว่า เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะได้มีการวางแผนจัดเตรียมกันมาก่อนอย่างดี แต่สิ่งที่ไม่น่าจะอยู่ในแผนก็คือ การอภิปรายตั้งคำถามต่อการใช้กฎหมายเวนคืนที่ผ่านมาและการพาดพิงพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

สิ่งที่น่าจะเป็นการวางแผนมาก่อนอย่างแน่นอนคือ คณะกรรมการร่างหนังสือตอบนั้นได้ทำความชัดเจนแตกต่างระหว่างกฎระเบียบ (regulations) และกฎหมายทั่วไป (general laws) เจือจางลงจนสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติของฐานันดรต่างๆ แทบจะหายไปหมด

แต่ความชัดเจนที่ยังคงอยู่ คือพระมหากษัตริย์สามารถออกกฎระเบียบได้ด้วยเหตุผลของ การเป็น  “คริสเตียนที่ชอบธรรมและเป็นองค์อธิปัตย์ที่เหมาะสม”  ของพระมหากษัตริย์ และเป็นสิ่ง “ไม่สมเหตุสมผล” ที่จะต้องส่งกฎระเบียบ (regulations) ที่ออกโดยพระมหากษัตริย์ไปให้ฐานันดรทั้งสี่พิจารณาขณะเดียวกัน

ถ้าในกรณีที่เป็นกฎหมายทั่วไป (a general law)  “ดังกฎหมายแห่งสวีเดน ที่เป็นเรื่องของราชราชอาณาจักรทั้งมวลและเป็นเรื่องของฐานันดรทั้งสี่โดยรวม”  พระมหากษัตริย์ก็ทรงสามารถออกกฎหมายดังกล่าวและพระองค์จะทรงให้ผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยนักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์เชี่ยวชาญที่พระองค์ได้ทรงเลือกเอง

ขณะเดียวกัน ฐานันดรทั้งสี่ก็มั่นใจด้วยว่า ในฐานะที่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ทรงเมตตาธรรม (a gracious king) พระองค์จะทรงส่งกฎหมายที่พระองค์ออกไปยังฐานันดรทั้งสี่ โดยมีข้อความดังต่อไป

“เพราะมันไม่มีทางเลยที่ านันดรทั้งสี่จะไปกำหนดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพียงได้แต่คาดหวังว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ หากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นการดีและเป็นเวลาที่เหมาะสม ฐานันดรทั้งสี่ก็จะได้รับพระราชทานโอกาส อย่างสำนึกในมหากรุณาธิคุณในฐานะราษฎรที่จงรักภักดี ที่จะนำเสนอความเห็นทั่วไปของพวกเรา

โดยปราศจากซึ่งการความทระนงอวดดีและปราศจากซึ่งความเสียหายแม้แต่น้อยนิดต่อพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของฝ่าละอองธุลีพระบาท”

และในหนังสือตอบดังกล่าวยังได้ยืนยันต่อไปอีกว่า ไม่มีราษฎรผู้ใดจะสามารถตัดสินหรือจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และอภิชนต่างรังเกียจความคิดดังกล่าวไม่ว่า  “เมื่อใด ที่ใด หรือโดยใคร”  ที่แสดงความเห็นแบบนี้ เป็นเรื่องยากที่จะหาถ้อยคำใดในการกราบพระราชทานอภัย แม้ว่าถ้อยคำนั้นสวยหรูสักปานใด และคำตอบของฐานันดรทั้งสี่ได้ถูกรวมเข้าไปในมติข้อสรุปของสภาฐานันดรด้วย
หลังจากที่ Lilliehook ยอมรับผิด เขาก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และอีกหนึ่งปีต่อมา เขายังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับอาวุโสอีกด้วย โดยพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงไม่ถือเป็นความเคืองแค้นส่วนพระองค์ต่อบุคคบที่ยินดีที่จะรับใช้พระองค์

ดังนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นปรากฎการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกร้าวลึกทางอุดมการณ์ในสวีเดนแต่อย่างใด แม้ว่าสภาอภิชนอาจจะอยากที่จะกล่าวอ้างสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมกระบวนการนิติบัญญัติ แต่วพวกเขาก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะโต้แย้งในประเด็นดังกล่าว หลังจากที่สถานะของพระมหากษัตริย์มีความชัดเจน

ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่าการประกาศพระราชสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่ดูมีสีสันเพียงไรโดยสภาฐานันดร จริงๆแล้วก็เป็นเพียงปรุงแต่งที่ส่งผลกระเพื่อมเพียงเล็กน้อยในการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดไม่ได้ทรงหมกมุ่นใส่ใจที่จะยืนยันการมีอำนาจสูงสุด (sovereignty) ของพระองค์ต่อชาติอื่นๆ แต่เมื่อไรก็ตาม ที่ปรากฏให้เห็นว่ามีการท้าทายพระราชอำนาจ พระองค์จะทรงแสดงถึงการทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจอันสูงสุดของพระองค์โดยทันที ดังที่เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของการประชุมสภาฐานันดร ค.ศ. 1682

ถ้าลำดับเหตุการณ์ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า ในปี ค.ศ. 1680 ฐานันดรทั้งสี่ได้ขอให้พระมหากษัตริย์ทรงร่างพินัยกรรม เพื่อกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ และตั้งกติกากำหนดทิศทางสำหรับคณะสำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมา ในปี ค.ศ. 1682 พระมหากษัตริย์และสภาบริหารได้แนะนำต่อฐานันดรทั้งสี่ว่า การสืบราชบัลลังก์จะเป็นไปตามสายบุรุษก่อน แล้วค่อยสายสตรี และในสภาอภิชน ได้มีการลงมติยอมรับโดยการประกาศออกเสียง

ต่อมา สภาบริหารและคณะกรรมาธิการลับ ได้รับแจ้งว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงร่างพินัยกรรมแล้ว แต่พระองค์ทรงขอให้สภาบริหารและคณะกรรมาธิการลับส่งผู้แทนไปเข้าเฝ้าพระองค์ เพราะพระองค์ได้ทรงพบบันทึกการประชุมของสภาฐานันดรในปี ค.ศ. 1660, 1664, และ 1672 ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความถูกต้องชอบธรรมของพินัยกรรมที่พระองค์ทรงร่างขึ้นและพระองค์ทรงต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ให้หมดไป และทุกคนก็เห็นด้วยว่าจะต้องมีการแก้ไขเพื่อให้เกิดความถูกต้อง และพร้อมๆไปกับการเจรจาในประเด็นการเก็บภาษี ผู้แทนจากสภาบริหารและฐานันดรทั้งสี่ได้เริ่มอ่านเอกสารบันทึกการประชุมที่มีปัญหาดังกล่าว

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น