"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
การเมืองแบบบ้านใหญ่ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่หล่อเลี้ยงระบบอุปถัมภ์ทางการเมืองในระดับท้องถิ่นและระดับชาติในประเทศไทย ฐานอำนาจของกลุ่มบ้านใหญ่ไม่เพียงแต่จำกัดอยู่ในแวดวงการเลือกตั้งหรือพื้นที่ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปถึงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
ฐานอำนาจเหล่านี้ทำให้บ้านใหญ่สามารถรักษาและต่อยอดอิทธิพลของตนได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ฐานอำนาจที่สำคัญ 3 ประการของการเมืองแบบบ้านใหญ่ ได้แก่ การควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การมีเครือข่ายอุปถัมภ์ที่เข้มแข็ง และความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐและชนชั้นนำระดับชาติ
ประการแรก การควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เป็นฐานอำนาจที่สำคัญที่สุดของบ้านใหญ่ ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย บ้านใหญ่มีบทบาทในการเข้าถึงและควบคุมงบประมาณของรัฐที่จัดสรรเพื่อพัฒนาโครงการในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างถนน ระบบชลประทาน โครงการพัฒนาการเกษตร หรือโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ทั้งนี้เพราะบ้านใหญ่ส่วนใหญ่มักมีบทบาทในการกำหนดหรือแทรกแซงกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายผ่านตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในสภาท้องถิ่นหรือแม้แต่ในระดับรัฐสภา
นอกจากนี้ ตระกูลบ้านใหญ่หลายกลุ่มยังมีฐานธุรกิจที่เข้มแข็ง เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติ (เหมืองแร่ ป่าไม้ และประมง) และธุรกิจพลังงาน ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถควบคุมระบบเศรษฐกิจในพื้นที่และใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างอิทธิพลและการสนับสนุนจากประชาชน
ตัวอย่างเช่น ตระกูลชิดชอบในจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งมีบทบาททั้งในธุรกิจคมนาคม การท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นที่ช่วยสร้างอำนาจทางการเมืองในระดับชาติของพวกเขาด้วย
การควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจทำให้บ้านใหญ่สามารถทำหน้าที่เสมือน “รัฐภายในรัฐ” โดยมีอำนาจในการจัดสรรและอนุมัติการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ท้องถิ่น ซึ่งสร้างการพึ่งพิงและความผูกพันระหว่างประชาชนกับบ้านใหญ่ในระยะยาว
ประการที่สอง การมีเครือข่ายอุปถัมภ์ที่เข้มแข็ง บ้านใหญ่สร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ที่มีความแน่นหนาและยืดหยุ่น ครอบคลุมผู้นำชุมชน ข้าราชการท้องถิ่น กลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจ และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ โดยอาศัยระบบอุปถัมภ์ที่ดำรงอยู่ทั้งในรูปแบบเป็นทางการ เช่น การมอบตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่เป็นทางการ เช่น การให้เงินช่วยเหลือรายบุคคล การสนับสนุนทุนการศึกษา หรือการช่วยเหลือกรณีประสบปัญหาเฉพาะหน้า เช่น น้ำท่วม หรือการเจ็บป่วยในครอบครัว
เครือข่ายอุปถัมภ์จะทำให้ประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือมีความภักดีในระยะยาวแก่บ้านใหญ่ ซึ่งจะแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง และทำให้บ้านใหญ่สามารถควบคุมทิศทางทางการเมืองในระดับท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการระดมฐานเสียงในพื้นที่โดยใช้โครงข่ายผู้นำชุมชนและกลไกของรัฐในการระดมการสนับสนุนในการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ
เช่น ตระกูลบ้านใหญ่ในชลบุรีซึ่งสร้างเครือข่ายการสนับสนุนผ่านการควบคุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการดำเนินธุรกิจสำคัญในพื้นที่ กล่าวได้ว่า ระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ทำให้การเมืองแบบบ้านใหญ่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะอำนาจของบ้านใหญ่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคการเมือง แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและผลประโยชน์ที่จัดสรรผ่านเครือข่าย
ประการที่สาม ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างบ้านใหญ่กับชนชั้นนำระดับชาติและรัฐส่วนกลาง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับฐานอำนาจของบ้านใหญ่ บ้านใหญ่มักจะมีบทบาทเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับพรรคการเมืองหลักหรือกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลในระดับชาติ ผ่านการสนับสนุนในทางการเมืองหรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น การให้การสนับสนุนรัฐบาลที่มีความสัมพันธ์กับทหาร หรือการสนับสนุนกฎหมายและนโยบายที่เอื้อต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่
บ้านใหญ่บางกลุ่มยังได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรี หรือคณะกรรมาธิการในรัฐสภา ซึ่งทำให้สามารถกำหนดทิศทางนโยบายและควบคุมทรัพยากรของรัฐในระดับประเทศเพื่อนำกลับไปสนับสนุนเครือข่ายในพื้นที่ของตนเอง
การผนึกกำลังระหว่างบ้านใหญ่และชนชั้นนำระดับชาติสร้างโครงข่ายอำนาจที่ครอบคลุมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งป้องกันและสกัดกั้นการเมืองแบบพลเมืองที่พยายามท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิม ตัวอย่าง การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในปี 2567 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองไทยที่ยังคงถูกครอบงำโดยชนชั้นนำและกลุ่มบ้านใหญ่
การเลือก สว. ปี 2567 รูปแบบของระบอบประชาธิปไตยเชิงพิธีกรรม (Procedural Democracy) ที่ขาดสาระสำคัญของประชาธิปไตยที่แท้จริง นั่นคือการมีส่วนร่วมโดยเสรีของประชาชนและการตรวจสอบการสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือก กระบวนการเลือกตั้ง ส.ว. ชุดใหม่ถูกกำหนดให้เป็นระบบ "เลือกกันเอง" ระหว่างผู้สมัคร 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งถูกออกแบบมาโดยมีเจตนาให้สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจและความเป็นตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วน แต่ในทางปฏิบัติ กลับถูกกลุ่มบ้านใหญ่และชนชั้นนำทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง จัดตั้ง และใช้เป็นกลไกในการรักษาสภานะและอำนาจของพวกเขา
จะเห็นได้ว่า การเมืองแบบบ้านใหญ่ไม่ได้ดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่มีฐานอำนาจที่ซับซ้อนและครอบคลุมหลายมิติ โดยอาศัยการควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การสร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ที่เข้มแข็ง และการเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐและชนชั้นนำระดับชาติ ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้บ้านใหญ่สามารถรักษาอำนาจได้อย่างมั่นคงในระยะยาว แม้จะมีแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือการเติบโตของขบวนการประชาธิปไตยจากภาคประชาชน
บทบาทของประชาชนในการเมืองแบบบ้านใหญ่
ในระบบการเมืองแบบบ้านใหญ่ ประชาชนไม่ได้มีบทบาทเชิงรุกในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิและเสรีภาพในการกำหนดนโยบายหรือควบคุมตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่กลับถูกกำหนดบทบาทในกรอบของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่เน้นความพึ่งพิงและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เป็นหลัก บทบาทของประชาชนภายใต้โครงสร้างการเมืองนี้สามารถจำแนกได้เป็น 3 ลักษณะหลัก ดังนี้
1. ผู้รับความช่วยเหลือ (Recipients)
ในระบบบ้านใหญ่ ประชาชนมักถูกทำให้เป็น “ผู้รับ” ความช่วยเหลือจากบ้านใหญ่ในหลายรูปแบบ ทั้งในด้านการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ เช่น การมอบเงินช่วยเหลือในยามประสบภัยพิบัติ การให้ทุนการศึกษาแก่บุตรหลาน หรือแม้แต่การช่วยเหลือในการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐ เช่น การรักษาพยาบาล หรือการขอใช้สิทธิ์ในสวัสดิการต่าง ๆ
บทบาทผู้รับนี้ถูกหล่อหลอมผ่านวัฒนธรรมทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนมองว่าบ้านใหญ่เป็น “ผู้มีบุญคุณ” ซึ่งการได้รับความช่วยเหลือไม่ใช่สิทธิที่ประชาชนพึงมีจากรัฐ แต่เป็น “ความกรุณา” หรือ “ความเอื้ออาทรส่วนตัว” ของตัวแทนบ้านใหญ่ สิ่งนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กลายเป็นพันธะสัญญาที่มีนัยทางจิตวิทยาและศีลธรรมมากกว่าความสัมพันธ์เชิงสิทธิพลเมือง ตัวอย่างเช่น ตระกูลชิดชอบในบุรีรัมย์ที่มักมอบทุนการศึกษาและจัดโครงการพัฒนาท้องถิ่นเป็นการตอบแทนต่อการสนับสนุนทางการเมืองจากชาวบ้านในพื้นที่
2. ผู้เป็นฐานเสียง (Vote Banks)
ประชาชนในระบบบ้านใหญ่ยังทำหน้าที่เป็น “ฐานเสียง” หรือ “Vote Banks” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนทางการเมืองที่สามารถถูกระดมเพื่อเพิ่มจำนวนคะแนนเสียงให้กับบ้านใหญ่ในการเลือกตั้งทุกระดับ ตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงการเลือกวุฒิสภา การทำหน้าที่เป็นฐานเสียงไม่ได้เป็นเพียงการใช้สิทธิเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุปถัมภ์ที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างเป็นระบบ เช่น การซื้อเสียงโดยตรง การให้เงินอุดหนุนก่อนวันเลือกตั้ง หรือการให้ของขวัญและผลตอบแทนอื่น ๆ ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมา
3. ผู้อยู่ใต้การคุ้มครอง (Protectees)
ในระบบการเมืองแบบบ้านใหญ่ ประชาชนยังมีบทบาทในฐานะ “ผู้อยู่ใต้การคุ้มครอง” (Protectees) ซึ่งสะท้อนผ่านวาทกรรมของ “ลูกพี่-ลูกน้อง” หรือ “ผู้ปกครอง-ผู้ใต้ปกครอง” บ้านใหญ่ทำหน้าที่เสมือน “เจ้าพ่อ” หรือ “ผู้คุ้มครอง” ที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง และความปลอดภัยในพื้นที่ที่ตนเองควบคุม รวมถึงการประสานผลประโยชน์ระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ตำรวจหรือหน่วยงานราชการอื่น ๆ
บทบาทดังกล่าวทำให้บ้านใหญ่ได้รับการยอมรับในฐานะกลไกที่ช่วยประสานงานและเจรจาข้อพิพาทในท้องถิ่น เช่น การจัดการข้อพิพาทด้านที่ดิน หรือความขัดแย้งในชุมชน โดยประชาชนยอมรับและเชื่อมั่นในบทบาทของบ้านใหญ่ในการรักษาระเบียบสังคมท้องถิ่น มากกว่าการพึ่งพากลไกทางกฎหมายหรือระบบราชการ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือการที่ตระกูลบ้านใหญ่ในบางจังหวัดมีบทบาทในการดูแลการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากส่วนกลางที่อาจขัดต่อผลประโยชน์ของท้องถิ่น
บทบาทของประชาชนในระบบบ้านใหญ่เป็นการลดทอนศักยภาพของพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีความหมายและมีสิทธิเท่าเทียม ระบบอุปถัมภ์ที่เข้มแข็งสร้างพลวัตทางการเมืองที่มีลักษณะเป็น “ประชาธิปไตยแบบพึ่งพิง” (Dependent Democracy) ซึ่งประชาชนพึ่งพาผู้อุปถัมภ์มากกว่าการยึดมั่นในหลักสิทธิและความเสมอภาคตามระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนี้ ระบบนี้ยังส่งผลต่อการผลิตซ้ำโครงสร้างอำนาจเดิมที่ขัดขวางการพัฒนาแนวคิด “พลเมืองที่มีสิทธิ” (Rights-bearing Citizens) ซึ่งเป็นฐานรากของประชาธิปไตยสมัยใหม่ ปัญหานี้ส่งผลให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยยังคงเผชิญอุปสรรคสำคัญจากระบบบ้านใหญ่ที่ดำรงอยู่ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
กล่าวได้ว่าภายใต้ระบบบ้านใหญ่ ประชาชนถูกจัดให้อยู่ในสถานะผู้รับการอุปถัมภ์ มากกว่าการเป็นเจ้าของสิทธิพลเมือง การเลือกตั้งกลายเป็นกลไกของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์มากกว่ากระบวนการแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างเสรี และระบบคุ้มครองของบ้านใหญ่ช่วยรักษาความมั่นคงในพื้นที่ท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันกลับขัดขวางการพัฒนาโครงสร้างประชาธิปไตยที่เปิดกว้างและเท่าเทียม
จากบริบทดังกล่าว จึงเห็นได้ว่ากระบวนการทางการเมืองภายใต้ระบบบ้านใหญ่สะท้อนรูปแบบการดำเนินกิจกรรมทางอำนาจที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากการเมืองแบบพลเมืองที่เน้นสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ระบบดังกล่าวจึงไม่เพียงส่งผลต่อวิธีการแสวงหาอำนาจในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อคุณภาพของประชาธิปไตยในระดับประเทศโดยรวมอีกด้วย เพราะการเมืองแบบบ้านใหญ่จะมองการเมืองเป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจ เน้นการ เลือกตั้งเป็นหลัก รวมทั้งการระดมทรัพยากรและเครือข่ายในช่วงเลือกตั้ง
การเมืองแบบบ้านใหญ่มองการเมืองเป็นเรื่องของ การแข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจหรือตระกูลการเมืองเพื่อแย่งชิงอำนาจและทรัพยากร มากกว่าการแข่งขันด้านนโยบายหรืออุดมการณ์ การแข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจในการเมืองแบบบ้านใหญ่มักนำไปสู่การแบ่งขั้วและความขัดแย้งในท้องถิ่น โดยประชาชนถูกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายตามการสังกัดกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ การแข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจในระบบบ้านใหญ่มักไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่หรือกลุ่มที่มีแนวคิดแตกต่างเข้ามามีบทบาทในการเมืองท้องถิ่น มีลักษณะของการปิดกั้นและการผูกขาดโดยกลุ่มอำนาจเดิม ทำให้การเมืองท้องถิ่นขาดพลวัตและความหลากหลาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับรากหญ้า
การเมืองแบบบ้านใหญ่มักให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง มากกว่ากระบวนการทางการเมืองอื่น ๆ โดยมองว่าการเลือกตั้งเป็นเป้าหมายหลักและเป็นช่วงเวลาสำคัญของการทำงานทางการเมือง มีวงจรการทำงานที่มุ่งเน้นการชนะการเลือกตั้งเป็นหลัก โดยการทำงานทางการเมืองในช่วงระหว่างการเลือกตั้งมักเป็นไปเพื่อรักษาและขยายฐานเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป มากกว่าการทำงานเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเ ช่น การมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตรวจสอบการใช้อำนาจ และการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
การลดทอนประชาธิปไตยให้เหลือเพียงการเลือกตั้งทำให้บ้านใหญ่สามารถผูกขาดอำนาจทางการเมืองได้ หากสามารถควบคุมกระบวนการเลือกตั้งและระดมคะแนนเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตยอื่น ๆ
การระดมทรัพยากรและกระชับความเข้มแข็งของเครือข่ายในช่วงการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเมืองแบบบ้านใหญ่ บ้านใหญ่จะมีการระดมทรัพยากรทั้งในรูปของเงินทุน แรงงานทางการเมือง และเครือข่ายความสัมพันธ์เพื่อปฏิบัติการในช่วงการเลือกตั้ง โดยทรัพยากรเหล่านี้ถูกแปลงเป็นคะแนนเสียงผ่านกลไกต่าง ๆ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย การระดมทรัพยากรในการเมืองแบบบ้านใหญ่มีลักษณะของการลงทุนทางการเมือง ที่มุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและโครงการของรัฐหลังการเลือกตั้ง
การใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการเลือกตั้งทำให้การเมืองในระบบบ้านใหญ่มีลักษณะของการเมืองเชิงธุรกิจ ที่มีการลงทุนและการคำนวณผลตอบแทน มากกว่าการเมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาของประชาชน
การเมืองแบบบ้านใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการซื้อเสียงในรูปแบบต่าง ๆ การซื้อเสียงในการเมืองแบบบ้านใหญ่มีหลายรูปแบบ ทั้งการให้เงินโดยตรง การให้สิ่งของ การจัดเลี้ยง การสัญญาว่าจะให้ตำแหน่งหรือโครงการ ไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือในกิจกรรมชุมชนหรือการช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน การซื้อเสียงในระบบบ้านใหญ่ไม่ได้เป็นเพียงการทุจริตการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมและการพึ่งพาในระบบการเมืองท้องถิ่น ซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง
การซื้อเสียงไม่เพียงแต่ทำลายความชอบธรรมของระบบการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังบิดเบือนการทำหน้าที่ของผู้แทนและการกำหนดนโยบายสาธารณะด้วย เมื่อนักการเมืองได้รับเลือกตั้งด้วยการซื้อเสียงและการอุปถัมภ์ พวกเขามักให้ความสำคัญกับการตอบแทนผู้สนับสนุนและการหาผลประโยชน์คืนมากกว่าการทำหน้าที่ผู้แทนของประชาชนทั้งหมด ซึ่งทำให้นโยบายและการใช้ทรัพยากรสาธารณะถูกบิดเบือนไปเพื่อประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่มมากกว่าส่วนรวม
กล่าวโดยสรุป การเมืองแบบบ้านใหญ่คือเครื่องจักรทางอำนาจที่ผนวกรวมการควบคุมเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ และการเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น เพื่อสร้างและสืบทอดอิทธิพลทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ภายใต้ระบบนี้ ประชาชนถูกจำกัดให้อยู่ในบทบาทของผู้พึ่งพา มากกว่าการเป็นพลเมืองผู้ทรงสิทธิ ทำให้กลไกประชาธิปไตยอย่างการเลือกตั้ง กลายเป็นเพียงสนามแข่งขันของการลงทุน การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ และการช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มตระกูล มากกว่าการเป็นพื้นที่ของการมีส่วนร่วม เสรีภาพ และการต่อรองอย่างเท่าเทียม
ด้วยลักษณะของการเมืองที่ยึดโยงกับความสัมพันธ์เฉพาะบุคคล มากกว่าหลักสิทธิและกฎหมาย การเมืองแบบบ้านใหญ่จึงไม่เพียงขัดขวางการเติบโตของสำนึกพลเมืองเท่านั้น แต่ยังสร้างวงจรการเมืองที่จำกัดพลวัต ลดทอนความหลากหลาย และปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว อำนาจของบ้านใหญ่จึงไม่ใช่เพียงผลพวงของวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือพฤติกรรมของประชาชน หากแต่เป็นผลผลิตของโครงสร้างอำนาจที่รัฐเองก็มีส่วนร่วมในการหล่อเลี้ยงและสถาปนา
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการผูกขาดอำนาจของบ้านใหญ่ เราก็เห็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นจากระดับรากหญ้า ประชาชนบางส่วนเริ่มตั้งคำถามต่อระบบอุปถัมภ์ที่ไม่เท่าเทียม และเรียกร้องพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างและโปร่งใสยิ่งขึ้น ความตื่นตัวนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของ “การเมืองแบบพลเมือง” ซึ่งเน้นสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง
สัปดาห์ถัดไปของบทความนี้จะวิเคราะห์ “การเมืองแบบพลเมือง” ซึ่งไม่ใช่ในฐานะอุดมคติที่ห่างไกลจากความเป็นจริงทางการเมือง แต่ในฐานะกระบวนการที่อาจเป็นทั้งทางเลือกและทางออกของประชาธิปไตยไทย ที่ยังติดหล่มอยู่ในวังวนของระบบบ้านใหญ่และการเมืองแบบอุปถัมภ์
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)