จักรพรรดิทรัมป์เลือกที่จะประกาศรายการเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ชุดใหญ่ในเวลา 4 โมงเย็นของวันพุธที่ 2 เมษายน เพื่อให้แน่ใจว่า ตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์กปิดการซื้อขายไปเรียบร้อยแล้ว เพราะตระหนักดีว่า การประกาศภาษีตอบโต้ทั้งโลก...(Reciprocal Tariffs) ที่ทรัมป์กล่าวหาว่าทั้งโลกได้ปล้นความมั่งคั่งไปจากสหรัฐฯ ตลอด 50 ปี (หลายๆ ปธน.) ที่ผ่านมา...จะขย่มตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 4 กระดานที่นิวยอร์กอย่างแน่นอน...ซึ่งความจริงก็ปรากฏดังคาดคือ การซื้อขายทางออนไลน์หลังตลาดปิดแล้ว ทำให้ดัชนีทั้ง 4 ตัว (ดาวโจนส์, เอสแอนด์พี, แนสแด็ก, รัสเซล) ดิ่งจนน่ากลัวมาก และเมื่อตลาดเปิดซื้อขายในวันพฤหัสฯ ก็ดิ่งในวันเดียวถึง 10% กว่า…ถ้วนทั่ว...และวันศุกร์ก็ยังดิ่งต่อ จนกระดานแนสแด็กดิ่งลงจากจุดสูงสุดใน 2 วันถึง 22%...คือ เข้าสู่ตลาดหมี…ปรับฐานใหญ่
ทำเอารมต.คลัง Scott Bessent ต้องออกมา “อุ้มตลาด” โดยออกตัวว่า “ผมไม่ใช่นักวิเคราะห์ตลาดหุ้น แต่ผมมองว่า ที่ตลาดดิ่งนี้ไม่ใช่เพราะกำแพงภาษีนำเข้าที่ปธน.ทรัมป์เพิ่งประกาศออกมาเลย...ที่แท้เป็นเพราะพวกหุ้นไอทีต่างหาก โดยเฉพาะ MAG-7 หรือยักษ์ 7 ตน ที่หุ้นดิ่งระเนนระนาดมาก่อนแล้ว ก็เพราะราคาหุ้นได้ทะยานทำ New High ทุกวี่ทุกวัน ขณะที่ผลประกอบการจะวิ่งตามราคาหุ้นไม่ทัน-นี่ต่างหาก!!
และรมต.คลังยังสมทบ (ยกย่องทรัมป์) ว่า มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของปธน.ทรัมป์ (ซึ่งตลาดให้สมญาเลยว่าเป็น Trump Tariffs) เป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพราะสหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบจากทั้งโลกมาตลอด
และยังตบท้ายด้วยว่า ถ้าประเทศใดคิดจะตอบโต้กำแพงภาษีของทรัมป์นี้ ก็ขอให้คิดใหม่ดีกว่า...เพราะยิ่งตอบโต้ จะยิ่งทำให้เกิดการตอบโต้กลับ-เป็นการขึ้นบันไดเวียนขึ้นตอบโต้-ไป/มา-ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศนั้นๆ ยิ่งขึ้น
ท่านรมต.คลัง เบสเซนต์ ดูเหมือนจะรู้ใจเจ้านายของเขาดีกว่าใครๆ ในเรื่องหลักการ 3 ไม่ของปธน.ทรัมป์ผู้ก้าวร้าวสุดๆ นั่นคือ ไม่เคยถอย-ไม่เคยทำผิด และไม่เคยขอโทษใครในทุกกรณี
ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก รวมทั้งตลาดทุนทั่วโลกดิ่งลงติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ไม่ใช่เป็นการตอบรับต่ออัตราภาษีตอบโต้ที่ทรัมป์ประกาศ ซึ่งนักวิเคราะห์รวมทั้งซีอีโอของบริษัทใหญ่น้อยทั่วโลก; รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้แสดงอาการตกตะลึงกับอัตราภาษีตอบโต้ที่ทรัมป์เรียกว่า “Tailored Made” Tariffs คือ จัดให้โดยเฉพาะสำหรับแต่ละประเทศแบบตัดเสื้อผ้าที่ต้องพอดีเหมาะกับรูปทรงเจ้าของเสื้อแต่ละคน
แต่เพราะเหล่านักวิเคราะห์ รวมทั้งเหล่าซีอีโอและเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั่วโลกเกิดความไม่แน่ใจขึ้นในการคาดการณ์ถึงอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ว่าจะเป็นอัตราใดกันแน่เนื่องจากทรัมป์ได้มีการชักเข้าชักออก เต้นแทงโก้ ทั้งเดินหน้า, เดินข้างไปมาอยู่หลายระลอก ตั้งแต่เริ่มต้นประกาศเก็บภาษีนำเข้าในรูปแบบต่างๆ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์
ประเทศแรกที่โดนคือ โคลัมเบียที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่เพราะปธน.เปโตรของโคลัมเบีย ไม่ยอมให้เครื่องบินทหารของสหรัฐฯ (ที่นำคนงานโคลัมเบียที่ไม่มีเอกสารและลักลอบทำงานในสหรัฐฯ-ถูกมัดมือมัดเท้าด้วยโซ่ตรวนดั่งอาชญากร-นั่งเครื่องบินมาส่งโคลัมเบีย) ลงจอดที่สนามบินของโคลัมเบียถึงสองเที่ยวบิน-ปธน.ทรัมป์ฟาดฟันลงโทษโคลัมเบีย โดยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากโคลัมเบียทุกรายการเช่น (เป็นน้ำมันดิบ และไม้ตัดดอก) ทันทีสูงถึง 25%...ซึ่งปธน.โคลัมเบียก็ตอบโต้ประกาศขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ทันทีสูง 25% เช่นกัน...ต่อมา ทางโคลัมเบียส่งเครื่องบินของปธน.เองไปรับคนงานกลับมาโคลัมเบีย...และทั้งสหรัฐฯ และโคลัมเบียประกาศเลิกพร้อมๆ กันกับการขึ้นภาษีนำเข้า
เกิดความไม่แน่นอนในอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ก็เพราะจะมีการเจรจาระหว่างประเทศต่างๆ ที่รีบนัดเจรจากับทีมกระทรวงพาณิชย์, USTR, และรวมถึงรมต.คลังของสหรัฐฯ เอง ก็จะเข้าร่วมเจรจาด้วย...ซึ่งปธน.ทรัมป์ได้พูดอย่างผู้ชนะในความสามารถที่ทำให้ผู้นำทั่วโลกหมุนโทรศัพท์มาขอร้องกราบกรานเขา และส่งทีมมาเจรจาที่ทำเนียบขาว จนรมต.เกษตร, รมต.พาณิชย์, รมต.คลัง, USTR ของสหรัฐฯ บอกว่า สายโทรศัพท์ของเหล่ารมต.และปธน.สหรัฐฯ เกือบไหม้ เพราะมีสายด่วนติดต่อเข้ามาอย่างรัวๆ ทีเดียว
ความไม่แน่นอนในอัตราภาษีนำเข้าทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถคาดการณ์ทั้งด้านการผลิต, การตลาด, การขาย ทั้งห่วงโซ่ของด้านดีมานด์และซัปพลาย และนี่คือปัญหาหนักอกหนักใจทั้งภาคธุรกิจ...รวมถึงภาครัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกขณะนี้
จนกว่าการเจรจาต่อรองอัตราภาษีจะจบลง ซึ่งรมต.คลัง เบสเซนต์ พยายามพูดปลอบตลาดทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกว่า น่าจะเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้...แต่ฝ่ายที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าของทำเนียบขาวคือ ดร.ปีเตอร์ นาวาร์โร (คนนี้เคยเป็นอาสาสมัครพีซคอร์ปส์อยู่ไทยสมัยวัยหนุ่มถึง 3 ปี และพูดไทยได้ดี) กลับพูดแบบเหยี่ยวว่า ไม่มีการต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการประกาศอัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐฯ (ที่เขาเป็นโต้โผใหญ่วางแผนและจัดทำขึ้น) จะอยู่แบบถาวร เพราะเป็นการเปลี่ยน Paradigm และเป็นการ Reset ระเบียบการค้าโลกใหม่
คำพูดของรมต.คลัง กลับตรงข้ามกับดร.ปีเตอร์ นาวาร์โร ทีเดียว...ยิ่งสร้างความไม่แน่นอนซ้ำเติมตลาดเงินตลาดทุนยิ่งขึ้น
ประกอบกับจีนมีการตอบโต้แบบต่อต่อตา-ฟันต่อฟัน (หลังศตวรรษแห่งความอดสูที่ผ่านไป...จีนจะไม่ยอมถอยแม้แต่นิ้วเดียว จะสู้จนถึงที่สุด)...และเห็นภาพชัดมากที่การประกาศตั้งกำแพงภาษีนำเข้าแบบล้างแค้น (หรือล้างผลาญ) ของสหรัฐฯ กำลังผลักให้ประเทศต่างๆ หันไปเข้ารวมกลุ่มการค้ากับจีนมากยิ่งขึ้น เพื่อหันเหออกจากตลาดสหรัฐฯ อย่างน้อยก็ในระยะชั่วคราว ก่อนที่จะเห็นภาพชัดขึ้นหลังการต่อรองเรื่องอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ
อีกประการหนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการทั้งที่สหรัฐฯ และทั่วโลก...ที่เกิดความไม่แน่นอนใจว่า บริษัทของตนจะหันไปขยายการลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่โหดมากขณะนี้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าอีก 3 ปีครึ่งข้างหน้า ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การเมืองภายในสหรัฐฯ แล้วเดโมแครตเข้ามามีอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและสภา...กฎหมายต่างๆ ที่ทรัมป์ออกมาแบบ EO (Executive Order) จะไม่ยุติลงหรือ?…แล้วโรงงานต่างๆ ที่หันไปลงทุนในสหรัฐฯ จะมิต้องวิ่งออกจากสหรัฐฯ ไปหาแหล่งผลิตที่ถูกกว่า แบบที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้อีกหรือไม่??
ขนาด สว.จากเท็กซัส...เท็ด ครูซ ยังออกมาเตือนว่า ทรัมป์ทารีฟครั้งนี้ อาจเสี่ยงทำให้พรรครีพับลิกันต้องเสียเสียงข้างมาก ทั้งในสภาฯ และวุฒิสภา ในการเลือกตั้งกลางเทอมนี้ก็เป็นไปได้ทีเดียว