ผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในขณะที่ประชาชนคนไทยกำลังให้ความสนใจเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งส่งผลทำให้ “อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)แห่งใหม่”ที่กำลังก่อสร้างและใกล้แล้วเสร็จพังทลายลงมา จนมีผู้บาดเจ็บและล้มหายเป็นจำนวนมาก อยู่ๆ ก็ปรากฏข่าวว่า “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” เร่งผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ...”หรือ “กฎหมายกาสิโน”เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
หนักไปกว่านั้นคือ “ท่านประธานวันนอร์” นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็จัดให้แบบด่วนจี๋ด้วยการบรรจุให้เป็น “วาระพิเศษ” ในวันที่ 3 เมษายน ไม่ใช่วันที่ 9 เมษายนอย่างที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาลเคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้
เป็นสถานการณ์อันรีบเร่งและรีบร้อนจนเกิดคำถามว่า กาสิโนเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือเรื่องสำคัญกับ “รัฐบาล” และ “รัฐสภา” มากมายขนาดนั้นเลยหรือ
ทำให้กระแสต่อต้านดังกระหึ่มมาจากทั่วทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน 100 องค์กรที่ยื่นหนังสือถึง “ท่านประธานวันนอร์” รวมถึงผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องให้ สส. ไม่รับหลักการร่างกฎหมายกาสิโนที่รัฐบาลส่งมายังสภาฯ
ขณะเดียวกันก็ทำให้กระบวนการภาคประชาชนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย ออกมาประกาศจุดยืนเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มเพื่อนมหิดลเพื่อสังคม ชมรมแพทย์อาวุโสและบุคลากรทางการแพทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 163 คน รวมถึงที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา ก็มีมติให้ยุติการนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นวาระเร่งด่วนในวันที่ 3 เมษายน เพราะจะเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงหลายอย่างตามมาเป็นต้น ไม่นับรวมถึงโลกออนไลน์ที่มีการแสดงความคิดเห็นต่อต้านอย่างกว้างขวาง
“นายธนากร คมกฤศ” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยอาการรีบร้อนเร่งรัดจนผิดสังเกต เล่นทีเผลอในยามที่สังคมกำลังเดือดร้อนจากแผ่นดินไหว และต้องการปลอบขวัญกำลังใจ แต่รัฐบาลกลับไม่ยี่หระ ตัดสินใจทำสิ่งที่ฝืนกระแสคัดค้านของสังคม เหมือนไม่รู้ว่าเรื่องใดสำคัญและควรทำอะไรก่อนหลัง
การกระทำครั้งนี้เป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์ อ้างอย่างหนึ่งกระทำอย่างหนึ่ง เสนอหลักการในกฎหมายข้างๆ คูๆ ว่า จะส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่กลับบังคับให้มีกาสิโนอย่างปฏิเสธไม่ได้ พยายามสร้างวาทกรรมลวงให้ประชาชนเบาใจและหลงกล ผลักดันโดยไม่มีความรับผิดชอบเพราะไม่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนเป็นการเห็นแก่ได้ คำนึงถึงแต่เรื่องรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างอับจนปัญญาที่จะหาวิธีอื่นที่สร้างสรรค์ ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาในอนาคต
เช่นเดียวกันกับ “รศ. ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในขณะที่แผ่นดินไหวเพิ่งถล่มอาคาร สตง. ไปเมื่อ 28 มีนาคม 2568 ประชาชนตื่นตระหนกกับโครงสร้างที่พังทลายจากฝีมือผู้รับเหมาจีนไร้คุณภาพ รัฐบาลแพทองธารกลับเลือกที่จะเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. Entertainment Complex เข้าสภา ราวกับว่าการเปิดกาสิโนคือยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างได้
ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนอย่างการทุจริตในโครงการรัฐ หรือการแทรกซึมของ “ทุนจีนเทา” กลับถูกปล่อยให้ลุกลามราวกับเป็นเรื่องปกติ
ที่สำคัญคือ ประชาชนที่ไร้ที่อยู่ จากตึกร้าว หรือคนที่ยังรอการเยียวยาจากภัยพิบัติ คงไม่ได้อยากรู้สึก “บันเทิง” กับการที่รัฐบาลมัวแต่ฝันถึงลาสเวกัสเมืองไทย แทนที่จะซ่อมแซมชีวิตที่พังพินาศของพวกเขา
“การที่รัฐบาลเร่งรัดร่างกฎหมายกาสิโน โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านจากภาคประชาสังคมกว่า 100 องค์กรที่ยื่นหนังสือถึงสภาเมื่อ 2 เมษายน 2568 เป็นการตบหน้าประชาชนอย่างแรง ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้สนใจฟังความเห็นของคนที่เดือดร้อนจริง ๆ แต่เลือกที่จะเอาใจกลุ่มทุนและนักลงทุนต่างชาติและบริหารแบบนี้ต่อไป ก็อย่าแปลกใจถ้าประชาชนจะหมดศรัทธาและลุกขึ้นมาทวงความยุติธรรมด้วยตัวเอง”อาจารย์พิชายว่าไว้
แต่ประเด็นที่โดนใจคนเป็นอย่างมาก มาจากความเห็นของ “รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์” ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันแห่ง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่า “ย้อนกลับไปดูรอบบ้านเราก่อน กาสิโนรอบบ้านเราเจ๊งระเนระนาด แล้วก็กลายเป็นแหล่งของการหลอกลวงเพื่อนบ้านและย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ตรงแถวสระแก้วก็เป็นปัญหาเดียวกัน กลายเป็นว่าในพื้นที่ตึกที่สร้างเป็นกาสิโนมีแค่บางชั้นที่ให้บริการกาสิโน เดี๋ยวนี้ถ้าเป็นออนไซต์ก็น้อยมาก กลายเป็นออนไลน์ และบางชั้นกลายเป็นสถานที่สำหรับศูนย์แห่งการฉ้อโกงหลอกลวงทั้งหลาย”
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับปัญหา “ระบบเตือนภัย” หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวซึ่งดำเนินไปอย่างล่าช้า ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลแพทองธารถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะมัวแต่มะงุมมะงาหรากว่าจะรู้คำตอบว่า ต้นสายปลายเหตุเกิดจากอะไร จนมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า “เตือนภัยแผ่นดินไหวช้า เดินหน้ากาสิโนไว”
โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อเกี่ยวกับความล่าช้าในการสรุปข้อความที่จะส่ง และขั้นตอนการส่งข้อความที่โยงใยกับหลายหน่วยงาน ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับคำเตือนจากหน่วยงานภาครัฐ
เช่นเดียวกับระบบ Cell Broadcast ที่ใช้ในการส่งข้อความสั้นพร้อมกันไปยังผู้ใช้โทรศัพท์เหมือนกับที่หลายประเทศใช้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ที่คุยกันตั้งแต่ปีมะโว้ก็เพิ่งเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างก่อนหน้าเกิดเหตุแผ่นดินไหวและตึกถล่มนี่เอง
ยิ่งเมื่อประเทศต้องมาเจอกับโจทย์ใหญ่และกระทบกับเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศ “มาตรการภาษีใหม่” ออกมาเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยไทย จะถูกเก็บภาษีต่างตอบแทน 37% ก็ยิ่งปลุกเร้ากระแสความไม่พอใจรัฐบาลแพทองธารให้ขยายวงออกไปอีก
“นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้ในบางช่วงบางตอนว่า “รัฐบาลครับ เรื่องนี้มันสำคัญกว่ากาสิโน...มาก ๆ เลยนะครับ”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูประเทศไทย ,ศปปส. ,กองทัพธรรม นำโดยนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือคปท. และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน เดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว
นายจตุพรกล่าวปราศรัยอย่างดุเดือดว่า “แทนที่จะรวมหัวใจส่งกำลังใจไปให้เจ้าหน้าที่ที่ตึก สตง.แห่งใหม่ ซึ่งกำลังค้นหาร่างผู้ติดอยู่ในอาคาร แต่กลับเอาบ่อนก่อน เมื่อคืนสหรัฐฯ ก็ขึ้นภาษีประเทศไทยอีก... แน่จริงก็เอาเข้าวันนี้เลย”
ขณะที่ในสภาเองก็เกิดความวุ่นวายเมื่อพรรคเพื่อไทยซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักในการเร่งผลักดันกฎหมายกาสิโนจากกระแสค้านที่ดังกระหึ่มไปในทุกทิศทุกทาง ด้วยการยื่นญัตติเสนอให้เลื่อนร่างกฎหมายกาสิโนออกไปเป็นเป็นสัปดาห์หน้า แต่ฝ่ายค้านโดยพรรคประชาชนแสดงความไม่เห็นด้วย อาทิ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ระบุว่าร่างกฎหมายไม่มีรายงานศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบเพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องแซงคิวร่างพ.ร.บ.อื่น ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวมีความเห็นต่างเยอะ ทำไมถึงคุยหลังเรื่องแผ่นดินไหวไม่ได้
ส่วน “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน บอกว่า “ผมได้ขอให้มีการอภิปรายถึงเหตุผลในการเลื่อน พ.ร.บ. Entertainment Complex ขึ้นมาก่อน เพื่อให้พรรคเพื่อไทยได้อธิบายกับสังคมว่า อะไรคือความจำเป็น ที่ต้องลัดคิวกฎหมาย Entertainment Complex แซงการพิจารณากฎหมายฉบับอื่น ส่วนพวกผมก็จะได้ให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วย แต่ปรากฎว่าพรรคเพื่อไทยเสนอปิดไม่ให้มีการอภิปราย การไม่อภิปรายถึงเหตุผลใดๆ ก็ถือว่าพรรคเพื่อไทยได้ตอบสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
ทว่า หลังการถกเถียงก็เป็นที่ยุติ โดยมีการเลื่อนพิจารณาร่างกม.กาสิโนออกไปเป็นวันที่ 9 เมษายนเหมือนเดิม ซึ่งเห็นได้ชัดว่า พรรคเพื่อไทยเต้นเป็นเจ้าเข้าเกี่ยวกับเรื่องนี้
นอกจากนั้น เมื่อไปดูในเพจเฟซบุ๊กของพรรคเพื่อไทยเองก็มีการชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวเป็นการใหญ่ โดยขึ้นข้อความว่า “หยุดบิดเบือน! ไม่มีการเลื่อน Entertainment Complex ก่อน “แผ่นดินไหว” พร้อมกับมีคำอธิบายเป็นคุ้งเป็นแคว ซึ่งก็มีผู้ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก
ด้าน “ท่านประธานวันนอร์” ที่ถูกโจมตีอย่างหนัก ก็รู้งานด้วยการออกมาบอกว่า “เมื่อคณะรัฐมนตรีส่งมาเป็นเรื่องด่วน ก็ต้องบรรจุเข้าระเบียบวาระตามข้อบังคับ ส่วนการเสนอเลื่อนหรือไม่เป็นเรื่องของวิป และเป็นมติของที่ประชุมซึ่งสามารถจะเลื่อนได้”
เช่นเดียวกับตัว “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คงจะรับรู้ถึงสัญญาณไม่ค่อยดีก็ออกตัวว่า “เรื่องนี้ไม่รีบ ให้เป็นกระบวนการของสภาฯ ไป แต่ว่าในพรรคร่วมรัฐบาลที่คุยกันนั้น ก็คุยกันอยู่เรื่อยๆอยู่แล้ว ถ้ามีในส่วนที่อยากจะปรับหรืออะไรนั้นก็คุยในรายละเอียดกัน ไม่มีหายไป ก็อัปเดตกันเรื่อยๆ”
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องผ่านสภาฯ ก่อนปิดสมัยประชุมนี้เลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เดี๋ยวให้เขาไปคุยกันก่อนว่าจะอย่างไรได้บ้าง เพราะตอนนี้ยังไม่ได้คุยแบบลงรายละเอียด แต่ก็ได้คุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในภาพรวม”
...งานนี้เห็นได้ชัดว่า ร่าง กม.กาสิโนเป็นเรื่องด่วนสำหรับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจริงถึงได้บรรจุเข้ามาเป็นวาระพิเศษ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านด่านไปได้ โดยเฉพาะกระแสต้านจากนอกสภา
และสมมติว่าอาศัย “พวกมากลากไป” ในชั้น สส. แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในชั้น “วุฒิสภา(สว.)” เพราะถึงแม้ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “ค่ายสีแดง” กับ “ค่ายสีน้ำเงิน” จะบรรเทาเบาบางลงไป และ “สว.สายสีน้ำเงิน” บางส่วน “ย้ายค่าย” แต่ใครจะไปรู้ว่า เมื่อถึงวันจริง ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างที่ “ดีล” กันไว้
คำถามมีอยู่ว่า การรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดย “แพทองธาร ชินวัตร” พยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ทั้งที่ไม่ได้หาเสียงไว้ และไม่ได้ระบุไว้ในนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา มุ่งหวังเพียงแค่การหารายได้ในยามที่รัฐบาลมีปัญหาเรื่องงบประมาณ หรือกำลังทำตามใบสั่งของใครหรือไม่?