ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” เจอโจทย์ใหญ่และร้ายแรงที่สุดในการเป็น “นายกรัฐมนตรี” หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาประกาศ “มาตรการภาษีใหม่” ออกมาเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 2เมษายน 2568 และถือเป็น “แผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจ” ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่า 8 ริคเตอร์เลยทีเดียว
กล่าวคือรีดภาษีพื้นฐาน 10% กับสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ และเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นไปอีกกับบรรดาประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ (Reciprocal Tariff) ซึ่งอัตราภาษีจะแตกต่างกันออกไป โดยประเทศในเอเชียได้รับผลกระทบหนักที่สุด
การขึ้นภาษีพื้นฐานจะมีผลหลังเที่ยงคืนวันที่ 5 เมษายนนี้ ส่วนภาษีปรเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จะเริ่มมีผลวันที่ 9 เมษายน
มาตรการรีดภาษีอย่างครอบคลุมครั้งนี้ สั่นสะเทือนไปทั่วทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทย ด้วยสหรัฐฯ ถือเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลก และได้ก่อแรงสั่นสะเทือนแก่ตลาดการเงินและภาคธุรกิจทั้งหลายที่พึ่งพิงข้อตลงการค้าต่างๆนานา ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่แล้ว
“นี่คือการประกาศเอกราชของเรา” ทรัมป์กล่าว ณ กิจกรรมหนึ่ง ณ สวนกุหลาบของทำเนียบขาว พร้อมระบุด้วยว่า “นี่เป็นมาตรการที่เข้าใจง่ายมากๆ และไม่มีอะไรเข้าใจง่ายไปกว่านี้แล้ว คือการต่างตอบแทน หมายถึงประเทศอื่นทำกับอเมริกาเท่าไหร่ เราก็จะหั่นครึ่งจากที่เขาเก็บ แล้วทำกลับไปเหมือนกัน”
ในตารางของทำเนียบขาว รายชื่อประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี ปรากฎชื่อประเทศไทยว่า จะถูกเก็บภาษีต่างตอบแทน 37% เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่า อัตราภาษีที่ไทยเก็บสหรัฐฯ โดยคำนวณจากการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน และกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี สูงถึง 72%
กล่าวเฉพาะในเอเชีย มีหลายประเทศที่เผชิญอัตราภาษีสหรัฐฯ ทั้งในอัตราที่มากและน้อยกว่าไทย ยกตัวอย่างเช่น กัมพูชา 49% ลาว 48% เมียนมา 44% ศรีลังกา 44% เวียดนาม 45% อินโดนีเซีย 32% ไต้หวัน 32% ปากีสถาน 29% อินเดีย 26% ญี่ปุ่น 24% มาเลเซีย 24% บรูไน 24% ฟิลิปปินส์ 17% สิงคโปร์ 10%
ส่วน “จีน” นั้นหนักสุดที่ 54% (รวมภาษีเฟนทานิล 20%) ที่เคยโดนไปก่อนหน้านี้
นักวิเคราะห์ระบุว่ามาตรการนี้ “แย่กว่าที่เคยกลัวมาก” ส่งผลให้ดัชนีหุ้นอ้างอิงปรับตัวลดลง 2% หรือมากกว่านั้น และมีความเสี่ยงสูงที่พันธมิตรการค้าของสหรัฐฯ จะตอบโต้
อย่างไรก็ตาม แคนาดาและเม็กซิโก ชาติคู่หูการค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งถูกรีดภาษี 25% ไปแล้วกับสินค้าหลายประเภท จะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ขณะเดียวกันมาตรการรีดภาษีตอบโต้ ยังไม่บังคับใช้กับสินค้าบางรายการ ในนั้นรวมถึงทองแดง, ยา, เซมิคอนดัคเตอร์, ไม้แปรรูป, ทองคำ, พลังงานและแร่บางชนิดที่หาไม่ได้ในสหรัฐฯ
หลังจากคำแถลง ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งปิดช่องโหว่ทางการค้า ยกเลิกกฎ de minimis ซึ่งเป็นกฎที่กำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการนำเข้าสินค้าโดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งในปัจจุบันสหรัฐฯ อนุญาตให้สินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้าหากสั่งสินค้าไม่เกิน 800 ดอลลาร์ต่อวัน คำสั่งนี้ครอบคลุมสินค้าจากจีนและฮ่องกง
ขณะที่ “สก็อตต์ เบสเซนต์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ เรียกร้องให้ประเทศคู่ค้าของสหรัฐ “หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการตอบโต้" และหันมาเจรจากันแทน
“เป็นผมจะไม่พยายามตอบโต้” เบสเซนต์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กทีวีเมื่อวันพุธ “ตราบใดที่คุณไม่ตอบโต้ นี่คือตัวเลขสูงสุด”
สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ที่สุด ปี 2567 ไทยส่งออกไปยังสหรัฐ 5.49 หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็น 18.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และไทยเกินดุลกรค้ากับสหรัฐมากกว่า 3.6 หมื่นล้านเหรียญเลยทีเดียว
“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า งานแรกของรัฐบาลคือต้องไปตรวจสอบว่า การคำนวณจากการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน และกำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่สูงถึง 72% นั้นมาจากไหน
“Trump เล่นคิดว่าไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ (รวม nontariff barriers) 72%! ทั้งๆที่ค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าแค่ประมาณ 10% แปลว่าเขาคิด value ของ nontariff barrier เยอะมาก หรือไม่ก็ focus ตรงสินค้าที่เราคิดภาษีเขาเยอะๆ เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย หรือไม่ก็เขียนผิด” ดร.พิพัฒน์ ระบุในโพสต์
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ยังระบุสามทางเลือก ได้แก่ “สู้” แบบ แคนาดา ยุโรป หรือแบบจีนคือ “หมอบ”โดยเจรจาหาทางลงที่สหรัฐฯ พอใจ เช่นปรับลดภาษี ยอมเปิดตลาด ไปจนถึงนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และ “ทน” ถ้าไทยหาทางออกไม่ได้
ขณะที่ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต อดีตผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีและภาคการเงินระดับโลก และนักคิดนักเขียน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า รัฐบาลอเมริกาเพิ่งประกาศกำแพงภาษีครั้งใหญ่ที่เปรียบเสมือนเป็น ‘แผ่นดินไหว’ ช็อกการค้าไปทั้งโลกก็ว่าได้
ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่า จำเป็นต้องมี War Room ทีมพิเศษที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนเตรียมรับมือเรื่องนี้ และให้เป็นเรื่องเร่งด่วนพิเศษ ธุรกิจต่างๆเองก็คงต้องเตรียมรับมือแรงกระแทกและปรับกลยุทธ์หาโอกาสในวิกฤตเช่นกัน เพราะช็อคครั้งนี้อาจไม่ใช่กระแทกระยะสั้นแต่จะมีผลปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจการค้าโลกระยะยาวด้วย
“ยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายอย่าง เช่นว่ากำแพงภาษีทั้งหมดนี้เจรจาได้แค่ไหน แต่ความไม่แน่นอนนี่เองก็จะทำให้ธุรกิจต่างๆทั่วโลกต้องหยุดเพื่อรอดู ปรับแผน มีผลลบกับเศรษฐกิจการลงทุนทันที ...ผมเชื่อว่านี่คือ ‘แผ่นดินไหว’ ทางการค้าโลกที่มีผลกระทบต่อไทยอย่างมาก (และมากกว่าที่คนส่วนใหญ่เคยคิดกัน) แน่นอน”ดร.สันติธารระบุ
ด้าน “รศ. ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นในมิติทางเศรษฐกิจและการเมืองว่า การที่สหรัฐฯ กำหนดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% จะส่งผลกระทบต่อไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะการส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะราคาสินค้าไทยในตลาดสหรัฐจะแพงขึ้นทันที ทำให้แข่งขันกับประเทศอื่นที่เสียภาษีต่ำกว่าลำบาก
ขณะเดียวกันบรรดาโรงงานที่ผลิตเพื่อส่งออกอาจต้องลดกำลังการผลิต หรือปิดกิจการ SMEs ขนาดเล็กที่เปราะบางอาจล้มละลาย คนตกงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม สวนทางกับภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่จะสูงขึ้น
ด้านนักลงทุนที่ตั้งฐานในไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐ อาจย้ายไปประเทศอื่น เช่น เวียดนามหรือสิงคโปร์ ส่งผลให้ไทยเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุนและรัฐบาลอาจต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเพิ่มภาระหนี้
ที่สำคัญคือเมื่อเศรษฐกิจถดถอย การจ้างงานหดตัว และประชาชนเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบในชีวิตประจำวัน ความไม่พอใจอาจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหากรัฐบาลถูกมองว่าให้ความสำคัญผิดจังหวะ เช่น ดันกาสิโน ในช่วงที่ประชาชนกำลังลำบาก
“สรุปคือ ภาษี 36% นี้ไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่เป็นตัวเร่งที่อาจสะเทือนทั้งระบบเศรษฐกิจไทย และกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”อาจารย์พิชายว่าไว้
เช่นเดียวกับ “นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไทยต้องยอมเปิดตลาดการค้าของตัวเองต่อสหรัฐให้มากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตร (เช่น หมูเนื้อแดง) สินค้าอุตสาหกรรมหนัก (เครื่องจักร อาวุธสงคราม) การเปิดเสรีด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการร่วมเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงทางทหาร ที่ต้องมีมากขึ้น จะติ๊ดชึ่งทำตัวเป็นกลางรอเก็บกินอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว กระนั้นก็ต้องประเมินผลกระทบทั้งได้และเสียให้ดี
นอกจากนั้นต้องเร่ง แสวงหาเพื่อนร่วมปัญหา เจรจาเพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างไทยและประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เพื่อชดเชยตลาดสหรัฐที่กำลังจะหดตัว
เร่งลดการขาดดุลการค้ากับจีนให้ได้ กำแพงภาษีระหว่างไทยกับจีนต้องมีมากขึ้น เพราะจากนี้ไทยจะเกินดุลการค้าสหรัฐน้อยลง (ที่ผ่านมาได้การเกินดุลจากสหรัฐชดเชยกับที่ขาดดุลจากจีน) หากไม่ลดการขาดดุลการค้ากับจีนลงมาในวันนี้ อนาคตก็เตรียมขาดดุลมโหฬาร และไทยจะเข้าสู่สภาวะล้มละลายจนเจ๊งเหมือนอย่างที่หลายประเทศที่พึ่งพาจีนกันเป็นหลักได้เจอกันมา
“ผลกระทบต่อ GDP หนักแน่ เอาแค่ที่เคยประเมินไว้ถ้าโดน 15% จะกระทบกับ GDP 1.5% เท่านี้ก็หนักละ นี่มาเจอ 36% ยิ่งหนักเข้าไปกันใหญ่ แต่คงไม่ถึงเกิน 2% หรือถึงขั้นกระทบรุนแรง 3.6% ตามบัญญัติไตรยางศ์ ...”ประกิตแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ไทยได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีล็อตแรกมาแล้ว โดยสินค้าที่เจอหนักคือ กลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียม ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา เหล็กขึ้นจากภาษี 0 -12.5 % เป็น 25 % อลูมิเนียมจาก 0-6.25. % เป็น 25 %
พร้อมทั้งคาดว่าสหรัฐฯ จะมีการปรับขึ้นภาษีไทยอีก 2-3 รายการ คือ สินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ อาจปรับภาษีนำเข้าเป็น 25 % , ยา ,ไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีรอบใหม่นั้น สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การออกมาตรการ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ โดยไทยถูกกำหนดภาษีในอัตราร้อยละ 37 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568 อาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ
เครื่องโทรศัพท์ รวมถึงสมาร์ทโฟนและเครื่องโทรศัพท์อื่น ๆ (สัดส่วนร้อยละ 12.5 ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ รวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม (ครองส่วนแบ่งอันดับ 2) (ร้อยละ 46)
เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (สัดส่วนร้อยละ 11.1 ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ รวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 4 (ร้อยละ 46)
ยางรถยนต์ (สัดส่วนร้อยละ 6.4 ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ รวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 5 (ร้อยละ 46)
เซมิคอนดักเตอร์ (สัดส่วนร้อยละ 4.5 ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ รวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 (ร้อยละ 46)
หม้อแปลงไฟฟ้า (สัดส่วนร้อยละ 3.8 ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ รวม) อย่างไรกตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 5 (ร้อยละ 46)
ดังนั้น จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ “รัฐบาลแพทองธาร” ต้องแก้ไขสถานการณ์ให้ทันท่วงที ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้สัมภาษณ์ยืนยันแล้วว่า “ไม่ต้องเป็นห่วง” เพราะเตรียมมาตรการรับมือแน่น ทั้งปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า-ตั้งทีมเจรจา โดยเชื่อว่า จะยังสามารถต่อรองได้และจะไม่ให้กระทบกับหมาย GDP ที่กำหนดเอาไว้