xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทัวร์ลง “สตง.” เต็มคาราเบล ตรวจ “คนอื่น” ไม่ตรวจ “ตัวเอง”? อาคารถล่ม “ผิดปกติ” เค้นปม “ฮั้ว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทั้งๆ ที่ “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)” เป็นเจ้าของอาคารที่ถล่มลงมาจากมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่สังคมรู้สึกรับไม่ได้ก็คือ “ปฏิกิริยา” ที่แสดงความรับผิดชอบมี “น้อยถึงน้อยมาก” กระทั่งมีการขุดคุ้ยและตั้งคำถามสารพัดสารพัดเอากับหน่วยงานแห่งนี้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานว่า บุคลากรของ สตง.มีมากมายถึงขนาดต้องสร้างอาคารที่สูงถึงกว่า 30 ชั้นเชียวหรือ หรือเรื่องใหญ่กับกรณี “ความโปร่งใส” ในการก่อสร้างอาคาร เพราะแม้เหตุแผ่นดินไหวจะทำให้อาคารหลายแห่งทั่วประเทศที่กำลังก่อสร้างได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ถึงกับพังถล่มลงมาทั้งตึกแบบตึก สตง.

ที่สำคัญคือ ที่ผ่านมา สตง.เองก็ให้ความสำคัญในการตรวจสอบ “งบก่อสร้าง” ของทุกหน่วยงานภาครัฐ โดยมีการตั้ง “สำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่” ขึ้นมาเป็นการเฉพาะอีกต่างหาก แล้วทำไมจึงไม่พบ “ความผิดปกติ” กับการก่อสร้างอาคารของตัวเอง

เหมือนดังที่ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า สิ่งที่พุ่งเป้าในการสืบสวนสอบสวนเป็นพิเศษก็คือเรื่องการ “ฮั้วประมูล” เพราะเบื้องต้นเห็นว่าต่ำกว่าราคากลางเพียง 1% เท่านั้น ปกติการประมูลที่ไม่มีการแข่งขัน ควรต่ำกว่า 10-15%

หรือที่ “มานะ นิมิตมงคล” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT บอกว่า ตามปกติแล้ว เมื่อมีการเข้าร่วม “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” รัฐจะอนุญาตให้เข้าไปสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ขั้นตอนของการเขียนข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อป้องกันการล็อกสเปก การฮั้วประมูล และการตั้งงบประมาณสูงเกินจริง แต่โครงการนี้ ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรฯ เพื่อได้ทำหน้าที่หลัง สตง. คัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้รับเหมาโครงการดังกล่าวมีการหยุดงานเป็นช่วง ๆ ในช่วงแรก และเมื่อทำงานต่อก็ทำอย่างล่าช้ามาก ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ได้ทักท้วงมาโดยตลอด จนเมื่อเดือนมกราคม 2568 สตง.ถึงแสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้าง

ทั้งนี้ หลังจากตึกถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมาจากหน่วยงานแห่งนี้อย่างที่ควรจะเป็น กระทั่งเวลาผ่านไป 2 วันคือวันที่ 30 มีนาคม สตง.จึงได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงเหตุการณ์ตึกถล่ม โดยมีเนื้อหาโดยสังเขปว่า

“...สตง.ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ และจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข พร้อมชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็วต่อไป”

“กรณีที่มีข่าวเรื่องการปรับแก้ไขแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลง เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ทั้งหมดเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ และไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด สตง.ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรวจสอบได้

“สตง.ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้าง โดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ เป็นต้น จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท ต่ำกว่า ราคากลางทั้งสิ้น 386.15 ล้านบาท” เอกสารข่าว สตง.ระบุตอนหนึ่ง

แต่ดูเหมือนว่า จะเป็นเอกสารแถลงการณ์ที่ไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นในสายตาของประชาชนสักเท่าไหร่ เพราะไม่อาจให้คำตอบอันน่าพึงพอใจกับสังคมได้ว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานที่ว่าไว้ ทำไมอาคารที่กำลังก่อสร้างอื่นๆ ถึงไม่พัง

สำหรับรายละเอียดการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เอกสารข่าวของ สตง.เปิดเผยว่า “บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด” เป็นผู้ออกแบบด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2561

ส่วนกระบวนการก่อสร้างอาคาร ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท และได้ดำเนินการเบิกจ่ายมาแล้วทั้งสิ้น 22 งวด เป็นจำนวนเงินที่เบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท

เซ็นสัญญาก่อสร้างในยุคที่ “นายประจักษ์ บุญยัง” เป็นผู้ว่า ส่วนผู้ว่าคนปัจจุบันขณะที่อาคารถล่มก็คือ “นายมณเฑียร เจริญผล”

ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่า สตง.คนที่เซ็นสัญญาก่อสร้าง

มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่า สตง.คนปัจจุบัน
อดีตผู้ว่าประจักษ์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 หลังเหตุการตึก สตง.แห่งใหม่ ถล่มผ่านไป 2 วัน โดยยืนยันว่า การว่าจ้างดังกล่าวโปร่งใส ทำตามระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายในการประมูลการก่อสร้างอาคารของรัฐ ด้วยวิธี E-bidding ซึ่งกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี กับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้เสนอราคามาต่ำกว่าราคากลาง และเสนอมาราคาต่ำสุดจึงมีการตกลงสัญญาว่าจ้างให้ก่อสร้างตึก สตง.

“หลังเกิดเหตุการณ์ก็รู้สึกตกใจ เสียใจมาก ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ผมก็พร้อมที่จะชี้แจงกับคณะกรรมการที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยตั้งขึ้นมา เรียกมาเมื่อใดก็พร้อมไปชี้แจงทันทีเพราะทุกอย่างทำตามระเบียบขั้นตอนทุกอย่างในการประมูล ก็พร้อมให้ข้อมูลตอบคำถามทุกอย่าง แต่ตอนนี้คงรอให้สตง.มีการแถลงข่าวหรือออกเอกสารข่าวชี้แจงอย่างเป็นทางการออกมาก่อน” อดีตผู้ว่า สตง.กล่าว

หนักไปกว่านั้นคือเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาได้มีการเผยแพร่ “จดหมายเวียนภายใน สตง.” ที่ลงนามโดย “ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” คนปัจจุบัน และปรากฏในไลน์กลุ่มขององค์กร หลุดออกมาสู่สายตาของสาธารณชน และมีข้อความในทำนองตัดพ้อต่อว่า ถึงความไม่เป็นธรรมที่ สตง.ต้องเผชิญในขณะนี้ มีใจความว่า

“สูดลมหายใจลึกๆ กุมมือกันให้แน่น และก้าวไปพร้อมๆ กัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของเราเคยประสบมา เหตุการณ์นี้นอกจากทำให้ความฝันของเราในการมีบ้านหลังใหม่ ที่รอคอยกันมาอย่างยาวนาน พังลงต่อหน้าต่อตาแล้ว ยังส่งผลถึงความน่าเชื่อถือถือ ศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิที่ร่วมกันสั่งสมกันมา โดยยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ซ้ำร้ายยังเกิดเหตุการณ์ต่อเนื่อง ที่ทำให้หลายคนอยู่ในภาวะวิตกกังวล สับสน ไม่มั่นใจ ในความปลอดภัยทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต

แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หลายคนอยากให้มันเป็นเพียงแค่ฝันร้าย แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรได้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน มองไปข้างหน้าเพื่อก้าวข้ามช่วงเวลาที่หนักหน่วงและเลวร้ายนี้ไปด้วยกัน

กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจะอดทน อดกลั้น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการตอบโต้กับผู้ที่มีความเห็นในเชิงลบ คิดซะว่าเป็นเรื่องปกติของหน่วยงานสาธารณะอย่างเรา ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งที่เรายึดถือจนกลายเป็นดีเอ็นเอของคนตรวจเงินแผ่นดินอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้

และเมื่อความจริงทุกอย่างถูกทำให้ปรากฏเราจะมีความพร้อมเพื่อร่วมกัน เรียกทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งความน่าเชื่อถือ ศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิซึ่งเป็นของเราอยู่แล้วกลับคืนมา เราจะใช้การทำงานเป็นเครื่องพิสูจน์ เราจะร่วมกันดูแลบ้านหลังเดิมของพวกเราให้คงเป็นบ้านที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เราจะไม่ละทิ้งความฝันในการสร้างบ้านหลังใหม่เพื่ออนาคต

และวันนี้ เราจะสูดลมหายใจลึกๆ กุมมือกันให้แน่น และก้าวไปพร้อมๆ กัน……..”

“นายมณเฑียร เจริญผล” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ยอมรับว่า เป็นเอกสารจริง แต่เป็นเอกสารเวียนให้คนภายใน ไม่ได้ให้ประชาชนภายนอก เป็นแค่การสื่อสารกับบุคลากรของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีเจตนาเพื่อให้กำลังใจกันและกัน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่น อยากให้บุคลากรสงบ ไม่ตอบโต้

“นางอังคณา นีละไพจิตร” สมาชิกวุฒิสภา โพสต์แสดงความคิดเห็นต่อจดหมายเวียนดังกล่าวเอาไว้อย่างหนักหน่วงว่า “อยากคิดว่าแถลงการณ์ฉบับนี้เป็น April fool ผลกระทบร้ายแรงที่ สตง. พูดถึงในแถลงการณ์นี้ เป็นแค่การถูกทำลายความฝันในการมีบ้านหลังใหม่ และการถูกตั้งคำถามและตรวจสอบจากสังคม ซึ่ง สตง. อาจไม่เคยเผชิญมาก่อน แต่การถูกทำลายฝันของ สตง. คงเทียบไม่ได้กับความบีบคั้นหัวใจของเกือบ 80 ครอบครัวที่ความหวังในการค้นหาคนรักกำลังเลือนลงทุกชั่วโมง ทุกวินาที เพราะบ้านที่พังลงสามารถสร้างใหม่ได้ แต่ชะตากรรมของคนที่ยังอยู่ใต้ซาก

และชีวิตของครอบครัวพวกเขาอีกมากมาย เป็นความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก สตง. ควรคิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น และคิดถึงตัวเองให้น้อยลง ควรออกมาชี้แจงทุกเรื่องที่สังคมสงสัย ยอมรับความจริง และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายด้วยความถ่อมตน สตง. ควรระลึกว่าเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีสามารถสร้างใหม่ได้ แต่ชีวิตของคนที่สูญหาย และชีวิตของคนอีกมากมายที่ต้องเผชิญกับความเศร้าโศก และความทุกข์ทรมานทางจิตใจ ไม่อาจที่จะฟื้นคืนได้”

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ได้มีการลบข้อความดังกล่าวออกไปแล้ว เนื่องจากภาษาและอารมณ์ที่สื่อสารออกมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก

และในวันถัดมาคือวันที่ 2 เมษายน เพจของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปลิวหายไปแล้ว อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับ สตง. ได้ที่เว็บไซต์ https://www.audit.go.th/

หนักไปกว่านั้นก็คือ เฟซบุ๊กเพจ “ชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย” ได้โพสต์เอกสาร ซึ่งอ้างเป็นตรวจราคาครุภัณฑ์ อาคาร สตง. ระบุ ราคาเก้าอี้ห้องประชุม อยู่ที่ตัวละ 97,900 บาท พร้อมแนบลิ้งก์รายละเอียดโครงการแบบฉบับเต็มๆ

จากข้อมูลที่แนบมานั้น เป็นแบบแสดงรายการปริมาณงาน และราคา งานเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว ในโครงการก่อสร้างที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ส่วนเก้าอี้ไม้บีช หุ้มหนังแท้นำเข้าจากอิตาลี จะถูกนำไปใช้ในห้องประชุมพิธีการชั้น 4 และห้องประชุมบอร์ดชั้น 11 จำนวน 1 ตัว (ต่อห้อง) โดยตั้งราคาไว้ที่ต่อหน่วย 97,900 บาท

นอกจากนั้นยังมีเก้าอี้อีกชุด ระบุว่าจะถูกนำไปใช้ในห้องประชุมพิธีการชั้น 4 และห้องประชุมบอร์ดชั้น 11 โดยเป็นเก้าอี้ไม้ประดู่หุ้มหนังแท้ นำเข้าจากอิตาลี จำนวน 28 ตัว(ต่อห้อง) ราคาต่อหน่วย 48,400 บาท รวมถึงเอกสารอ้างเป็นตรวจราคาครุภัณฑ์ อาทิ พรมทอมือ Nylon ผืนละ 165,000 บาท โต๊ะกลมทานอาหารของผู้ว่าการ สตง.และประธาน คตง. ตัวละ 90,000 บาท ตามเอกสารจัดซื้อ 5 ตัว อีกทั้งพรมผืนละ 110,000 บาท

หลังจากโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตเป็นอย่างมาก หลายเสียงคอมเมนต์ อาทิ งบตึก1,000ล้าน ตกแต่ง1,000ล้าน แล้วมั้งแบบนี้ , ยุบเถอะ องค์กรนี้ ตรวจเป็นแต่ท้องถิ่นเล็กๆ ถ้าตัวเองปฏิบัติเคร่งครัดว่าไปอย่าง,นี่คือหน่วยงานที่คอยไล่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน หน่วยงานราชการทั่วประเทศ โอ้ว รอบหน้าไม่ต้องมาแล้วนะ ตรวจกันเองไปก่อนเลย, มาตรวจอาหารกลางวันเด็กหัวละ 22 บาท ต้องให้ได้ทั้งข้าวและผลไม้ และต้องครบ 5หมู่ เด็กต้องกินอิ่ม สามารถเติมได้ ค่าอาหารทั้งปียังไม่ได้ค่าเก้าอี้เลยคร้าบ , ให้คนอื่นประหยัดงบแผ่นดิน แต่ตัวเอง 555, เก้าอี้ราคาหลักพัน นี่มันนั่งกันไม่ได้เหรอครับ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีเปิดเผยเอกสารค่าเช่ารถยนต์ประจำตำแหน่งของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปี 2564 – 2569 (5 ปี) รวมวงเงินทั้งสิ้น 37,344,000 บาท ซึ่งก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่มไปทั้งประเทศเลยทีเดียว

กระนั้นก็ดี นอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับการก่อสร้างอาคาร สตง.แล้ว เรื่องก็ยังลุกลามบานปลายไปยังการก่อสร้างอาคารของหน่วยราชการต่างๆ อีกหลายต่อหลายแห่ง เพราะปรากฏว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง ทั้งที่เสร็จแล้วและกำลังก่อสร้าง ซึ่งหลายอาคารก็ตรวจพบร่องรอยชำรุดให้เห็น ทำให้ต้องเร่งตรวจตรากันจ้าละหวั่นด้วยเกรงว่า จะเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นได้

เรียกว่า “น้ำลดตอผุด” และ “ประเทศกรูมี” จริงๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น