xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงเวลาเช็กบิล “ซิน เคอ หยวน สตีล” ขาใหญ่เหล็กทุนจีนที่ “ไม่ธรรมดา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เรื่องคุณภาพเหล็กตกสเปก นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องตรวจสอบ หลังตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหว โดยเหล็กที่มีปัญหาชี้เป้าไปยังบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ทุนจีนรายใหญ่ที่เข้ามาสร้างอาณาจักรผลิตเหล็กในไทย และเปิดศึกไฝว้ท้าทายอำนาจรัฐมาตลอด 

“...แค่เห็นผมก็อึ้งแล้วครับ...”   นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตอบคำถามถึงข้อกังวลเรื่องเหล็กไม่ได้มาตรฐาน ในวันที่ลงตรวจสอบจุดเกิดเหตุตึก สตง.ถล่ม เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2568 และเก็บตัวอย่างเหล็กไปตรวจสอบที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

ผลตรวจสอบเหล็กที่ออกมา พบว่า เหล็กที่นำมาตรวจสอบ 28 ท่อน 7 ประเภท 7 ไซส์ ได้มาตรฐาน 15 ท่อน ประเภท 5 ไซส์ ไม่ได้มาตรฐาน 13 ท่อน 2 ประเภท 2 ไซส์ คือ ไซส์ 20 มิลลิเมตร และ 32 มิลลิเมตร ทั้ง 2 ไซส์ มาจากบริษัทเหล็กเดียวกัน ซึ่งเป็นบริษัทที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้สั่งปิดช่วงเดือน ธ.ค.2567 เนื่องจากจำหน่ายเหล็กไม่ได้มาตรฐาน

นายเอกนัฏ โพสต์ถึงผลตรวจสอบเหล็กดังกล่าวว่า “ขณะที่ฟังแถลงแล้วผมยังงงเอง ขอสรุปที่ได้รับรายงานว่า…มีตัวอย่างเหล็กสองประเภทที่ตรวจสอบแล้วตํ่ากว่าที่มาตรฐานกำหนด คือเหล็กข้ออ้อย ไซส์ 20 และ ไซส์ 32 เป็นของยี่ห้อเดียวกันครับ #จะกลัวอะไรกันนักหนา …..

สำหรับตัวอย่างเหล็กสองประเภทที่ตํ่ากว่าที่มาตรฐานกำหนด คือ เหล็กข้ออ้อย ไซส์ 20 และ ไซส์ 32 เป็นของยี่ห้อเดียวกัน นั่นคือ SKY ชื่อย่อของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของกลุ่มทุนจีน

 ที่สำคัญคือ เมื่อ “รมต.ขิง-เอกนัฏ” โพสต์ในทำนองจะกลัวอะไรนักหนา สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลคับประเทศไทยของ ซิน เคอ หยวน สตีล ในระดับที่ไม่ธรรมดา  

ล่าสุด นายเอกณัฏซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ (บอร์ดบีโอไอ) ประกาศเตรียมจะเสนอคณะกรรมการบีโอไอ พิจารณาถอนสิทธิประโยชน์การลงทุนของ ซิน เคอ หยวน

 น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขยายความว่า ชิ้นส่วนเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน ได้แก่ เหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. มีมวลน้ำหนักเหล็กเบากว่ามาตรฐาน และเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มม. ไม่ได้มาตรฐานค่าความสามารถในการต้านแรงดึง เหล็กที่นำมาตรวจสอบเป็นการสุ่มตรวจ และผลตรวจสอบนี้ต้องรอ สมอ. ยืนยันอีกครั้ง หลังจากนี้ สมอ.จะไปนำตัวอย่างเหล็กมาตรวจสอบเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ จะไปดูว่าเหล็กที่ไม่ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบครั้งนี้ เป็นเหล็กที่ผลิตระหว่างบริษัทถูกสั่งปิดหรือไม่ อย่างไร ต้องตรวจสอบเชิงลึกกันอีกครั้ง หากพบมีการลักลอบนำเหล็กไม่ได้มาตรฐานออกมาใช้ ก็จะถูกดำเนินคดีต่อไป แต่แม้เหล็กที่ตรวจสอบไม่ได้มาตรฐานบางส่วน แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้อาคาร สตง.พังลงมา

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งปิดโรงงานของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2567 เนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายโรงงาน และผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. กระทรวงฯ จึงยึดอายัดเหล็กทั้งหมดไว้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2568 จำนวน 2,441 ตัน มูลค่ากว่า 49.2 ล้านบาท พร้อมเรียกคืนเหล็กจากท้องตลาดที่ผลิตจากบริษัทฯ พร้อมกับดำเนินคดีกับบริษัทฯ

ถัดมา เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 ได้มีการลงพื้นที่ลุยตรวจโรงงาน ซิน เคอ หยวน สตีล ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เพื่อตรวจสอบว่าลักลอบประกอบการหรือไม่ เพราะใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั้งที่ปิดโรงงาน รวมทั้งเช็กเหล็กที่ยึดอายัด พร้อมเก็บตัวอย่างเหล็กส่งตรวจเทียบเหล็กตึก สตง. ถล่มอีกครั้ง

การลุยตรวจโรงงานซินเคอหยวนครั้งนี้ น.ส.ฐิติภัสร์ มีข้อถกเถียงกันเล็กน้อยกับตัวแทนบริษัทฯ ที่ไม่ยอมรับการตรวจสอบคุณภาพเหล็ก ที่สถาบันเหล็กกล้าฯ ตรวจสอบออกมา

นอจากนั้น ยังได้ตรวจพบการลักลอบจัดเก็บฝุ่นแดง ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายไว้ในโรงงานกว่า 43,000 ตัน จากที่แจ้งเก็บกักฝุ่นแดงที่เกิดจากเตาหลอมเหล็กก่อนโรงงานถูกสั่งปิดเพียงปีละ 2,245 ตันเท่านั้น และในปี 2567 บริษัทฯ ไม่มีรายงานการกักเก็บฝุ่นแดงแต่อย่างใด กระทรวงฯ จึงสั่งให้บริษัทฯ ชี้แจงภายใน 7 วัน

ปัญหาเรื่องคุณภาพเหล็กที่สังคมมีข้อกังขา ทำให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการตรวจสอบเหล็กไม่ได้มาตรฐานที่ใช้ก่อสร้างตึก สตง. ว่า กระจายไปยังโครงการอื่น ๆ ด้วยหรือไม่

กล่าวสำหรับบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด นั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2554 ทุนจดทะเบียน 1,530 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีโรงงานผลิตเหล็กที่ผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานขั้นต้นและขั้นกลาง ตั้งของโรงงานและบริษัทอยู่ที่อ.บ้านค่าย จ.ระยอง บนเนื้อที่ 134 ไร่

 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด คือ นายเจี้ยนฉี เฉิน (สัญชาติจีน) ถือหุ้น 64.91% (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2567) ผู้ถือหุ้นรายอื่น ได้แก่ นายจิโรจน์ โรจน์รัตนวลี, นายวิรุฬห์ สุวรรณนทีกุล และนายซู่หยวน หวัง โดย นายเจี้ยนฉี เฉิน, นายสู้ หลงเฉิน และ นายสมพัน ปันแก้ว เป็นกรรมการบริษัท 

งบการเงินของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ในปี 2566 มีสินทรัพย์ 8,630 ล้านบาทหนี้สิน 2,690 ล้านบาท รายได้รวม 16,328 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 772.32 ล้านบาท

สำหรับ “ซิน เคอ หยวน สตีล” มีบริษัทเครืออีกแห่งคือ บริษัท ซิน เคอ หยวน จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2562 ทุนจดทะเบียน 6 พันล้านบาท ทำธุรกิจผลิตเหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่นๆ ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง มีกรรมการ 3 คน คือ  นายสู้ หลงเฉิน, นายเหลินจง เฉิน และ นายสมพัน ปันแก้ว 

รายชื่อ 5 ผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ ม.ค. 2568 ประกอบด้วย  นายเฉิน เจี้ยนฉี ถือหุ้นใหญ่สุด 73.63% นายชวู้หยวน หวง 5.12% นายจิโรจน์ โรจน์รัตนวลี 5% นายวิรุฬห์ สุวรรณนทีกุล 5% นายจื่อเจีย เฉิน 2%  

งบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2566 สินทรัพย์รวม 14,887ล้านบาท หนี้สินรวม 9,196 ล้านบาท รายได้รวม 320 ล้านบาท รายจ่ายรวม 86 ล้านบาท กำไรสุทธิ 234 ล้านบาท

นายเฉิน เจี้ยนฉี หรือ “เจี้ยนฉี เฉิน” ผู้ถือหุ้นใหญ่ในเครือซิน เคอ หยวน ยังเป็นกรรมการบริษัทอีก 3 แห่ง คือ บริษัท ซิน เส้า หยวน จำกัด ทำธุรกิจผลิตเหล็กกล้า และเหล็กมูลฐานอื่น ๆ, บริษัท เจิ้นหวา อินเตอร์เนชั่นแนล ทัวริซึ่ม และเทรดดิ้ง จำกัด จำหน่ายยาสูบซิการ์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบริษัท ไทยอินเตอร์สตีล จำกัด เลิกกิจการแล้ว

นายเฉิน เจี้ยนฉี ยังถือหุ้นในบริษัทอีก 2 แห่ง คือ บริษัท ซิน เส้า หยวน จำกัด วัตถุประสงค์ การผลิตเหล็ก และเหล็กกล้าขั้นมูลฐานอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (ถือ 48%) และ บริษัท เอเชีย สเตป (ไทยแลนด์) จำกัด วัตถุประสงค์ รับจ้างเย็บชุดชั้นใน (ถือ 35.39%)

ชื่อชั้นของ ซิน เคอ หยวน สตีล นอกจากจะมีปัญหาเรื่องการผลิตไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน กระทั่งนำไปสู่การสั่งปิดโรงงานแล้ว โรงงานยังเคยเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ ส่วน ซิน เคอ หยวน ที่ อ.ปลวกแดง เคยเกิดเหตุพังถล่ม เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย เป็นชาวจีน 1 ราย และเมียนมา 6 ราย

การมาของทุนเหล็กจีน ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กของไทยซวนเซหนัก ทั้งต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากเหล็กของทุนจีนที่ตั้งฐานผลิตในไทย และการทุ่มตลาดของเหล็กราคาถูกจากจีนที่หันมาส่งออกเหล็กมากขึ้น เนื่องจากภาคก่อสร้างในจีนหดตัวลง

นับตั้งแต่ปี 2567 จนบัดนี้ “ชุดตรวจการสุดซอย” ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินคดีกับโรงงานเหล็กไปแล้ว 7 ราย และยึดอายัดเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานไปประมาณ 361 ล้านบาท โดย 7 โรงงานดังกล่าว เป็นของบริษัททุนจีน 100% จำนวน 2 ราย บริษัทร่วมทุนไทย-จีน 3 ราย และบริษัทไทยที่มีผู้ประกอบการเชื้อชาติจีนที่ได้สัญชาติไทย จำนวน 2 ราย

 นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.จังหวัดระยอง พรรคประชาชน โพสต์ถึงเรื่องแปลก ๆ ของ ซิน เคอ หยวน ที่กลไกคณะกรรมาธิการฯ สส. ทำให้ได้คำตอบว่ามา ทั้ง ซิน เคอ หยวน สตีล (บ้านค่าย) และ ซิน เคอ หยวน (ปลวกแดง) จ้างคนไทยรวมสองแห่งเพียงแต่ 9.4% ที่เหลือเป็นจีน พม่า กัมพูชา ลาว โรงงานที่บ้านค่าย หลอมเหล็กด้วยเทคโนโลยีเก่า มลพิษเพียบ คนร้องเรียนเต็ม มีนายทหารเกษียน ยศนาวาอากาศโท เป็นที่ปรึกษา

และนับแต่ ซิน เคอ หยวน มาตั้ง โรงงานเหล็กไทยเจ๊งบาน ส่วนคุณภาพเหล็กมาตรฐานได้ไหม ไม่รู้ แต่กำไรเละเทะ และที่สำคัญนี่ไม่ใช่โรงงานเดียวที่มีปัญหา ตอนนี้มีเป็นร้อย ๆ แห่ง เฉพาะระยอง ทุนจีนกำลังแห่มาลงทุน ขนคนจีนฟรีวีซ่ามาเป็นหมื่น สร้างตึกอยู่กันเอง มีนายหน้าจัดการทุกอย่างตั้งแต่ขายที่ จัดหาแรงงาน ร้านจีนมีทุกแบบ โอนเงินไปพวกโอนกลับจีนได้เลย ภาษีไม่ต้องเสีย ทั้งหมดที่ว่ามาคือส่วนหนึ่งของ #นิคม0เหรียญ

 ไม่เพียงแต่น่าหวั่นว่าคุณภาพเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน จะทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยตึก สตง.ถล่มหรือไม่ การมาของทุนจีน #นิคม0เหรียญ กำลังกินทุนไทยและแผ่นดินไทย 


กำลังโหลดความคิดเห็น