ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม เกิดความสูญเสีย บาดเจ็บ ล้มตาย โดยประเมินค่าไม่ได้ แต่อาฟเตอร์ช็อกที่ตามมาสร้างความหวาดผวาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะบริษัทก่อสร้างจากจีน China Railway No.10 Engineering Group หรือ ไชน่า เรลเวย์ฯ คู่ค้าบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ ที่สร้างตึกสตง. กวาดงานก่อสร้างหน่วยงานรัฐจำนวนมาก ทำได้มาตรฐานสักกี่มากน้อย จะสุ่มเสี่ยงเกิดเหตุซ้ำรอยตึก สตง. หรือไม่
คำถามที่สำคัญและท้าทายรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่เพิ่งไปจิ้มก้องรัฐบาลจีนเมื่อไม่นานมานี้คือ จะกล้าเดินหน้าตรวจสอบ และเอาผิดบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจด้านการก่อสร้างยักษ์ใหญ่ระดับโลกของรัฐบาลจีน อย่างจริงจังสมราคาคุยหรือไม่ และจะกล้าขึ้นแบล็กลิสต์บริษัทที่สร้าง “ตึกกากเต้าหู้” หรือไม่ **
ลุยสอบ “นอมินีกลุ่มทุนจีน”
ในขณะที่การขุดค้นหาผู้รอดชีวิตและร่างที่ฝังอยู่ใต้ซากตึกสตง.ทำงานแข่งกับเวลา บรรดา “นักขุด” ในโลกโซเซียล รวมทั้งสื่อต่าง ๆ ทั้งไทยและเทศ ต่างร่วมขุดคุ้ยบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างตึก สตง. กันขนานใหญ่ เผยให้เป็นผลงานความอื้อฉาวที่กลุ่มบริษัทนี้ถูกตรวจสอบจากหลายประเทศทั่วโลก
ปมประเด็นที่ถูกตรวจพบก็คือ บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ หรือ ซีอาร์อีซี นัมเบอร์เทน (ไทย) มีโครงการก่อสร้างหน่วยงานรัฐหลายสิบแห่ง มูลค่ารวมกว่า 7 พันล้านบาทในมือ รวมถึงการก่อสร้างตึก สตง. ด้วย แต่ผลประกอบการของบริษัทกลับขาดทุนอย่างไม่น่าเชื่อ โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2566 บริษัทขาดทุนสุทธิถึง 199.66 ล้านบาท จากรายได้เพียง 206.25 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวมกว่า 354.95 ล้านบาท
แถมบริษัทยักษ์ใหญ่มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทแห่งนี้ ยังตั้งอยู่ในตึกซอมซ่อและมีผู้ถือหุ้นคนไทยที่ไม่รู้ประสีประสาในงานวิศกรรมก่อสร้างเลย คือนายโสภณ มีชัย ถือหุ้น 40.8% นายประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 10.2% และนายมานัส ศรีอนันท์ ถือ 3 หุ้น หรือ 0.00%
กล่าวสำหรับนายโสภณ มีชัยนั้น มีประวัติเป็นพนักงานทั่วไปของบริษัทขายยางรถยนต์และล้อแม็กซ์ เป็นกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย ตรวจสอบไม่พบประวัติเกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรมหรือรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แต่กลับเป็นกรรมการ 4 บริษัทเครือข่ายทุนจีน
ส่วนนายประจวบ ศิริเขตร ค้นไม่พบประวัติการทำงานในอินเตอร์เน็ต แต่ถือครองหุ้นใน 5 บริษัท เช่นเดียวกับ นายมานัส ศรีอนันต์ ที่ถือหุ้นเพียง 3 หุ้นนั้น กลับเป็นกรรมการอีก 9 บริษัท
เป็นที่มาของคำถามที่ว่า ผู้ถือหุ้นคนไทย 3 รายดังกล่าว เป็น “นอมินีของกลุ่มทุนจีน” ที่อยู่เบื้องหลังหายนะครั้งนี้ใช่หรือไม่
นอกจากบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 แล้ว ยังมีอีก 2 บริษัทที่ปรากฏชื่อคนไทย 3 คน ซึ่งถือหุ้นในไชน่า เรลเวย์ฯ ไปร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย และเข้าไปจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐ นั่นคือ บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีนายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 52.1% นายประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 27.9% และนายบิงลิน วู สัญชาติจีน ถือหุ้น 20% โดยเป็นคู่สัญญากับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 3 สัญญา วงเงินรวม 69 ล้านบาท
และ บริษัท สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด มีนายประจวบ ศิริเขตร เถือหุ้น 10% นายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 48% บิงลิน วู สัญชาติจีน ถือหุ้น 42% เป็นคู่สัญญากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการจ้างเหมาซ่อมรถยนต์ อย่างน้อย 6 สัญญา รวมวงเงิน 341,489 บาท
ใครคือ “บิงลิน วู”? เพจ CSI LA อ้างอิงเพจ รู้ทันจีน ว่า บิงลิน วู กำลังถูกจับตาว่าอาจอยู่เบื้องหลัง “ตึกเต้าหู้” ในไทย ชื่อของเขาถูกพูดถึงมากขึ้นหลังเหตุตึกสำนักงาน สตง. ถล่ม ล่าสุดมีคนตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทนำเข้าและส่งออกยางรถยนต์ เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา ซึ่ง พลเอก ภัสสร อิศรางกูร ณ อยุธยา เคยยิงตัวตายในปี 2566 คือสำนักงานที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายของ บิงลิน วู
บิงลิน วู เป็นนักธุรกิจเชื้อสายจีน ผู้สร้างอาณาจักรโลจิสติกส์ในไทย เชื่อมโยงกับสมาคมรวมชาติจีน-ไทย มีบทบาทในองค์กรจีนโพ้นทะเลที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีชื่อในงานรัฐบาลจีนหลายเวทีระดับนานาชาติ และเคยวิ่งถือคบเพลิงโอลิมปิก ปี 2008 ในนาม “ตัวแทนชาวจีนรักชาติ”
วันนี้ บิงลิน วู จึงเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่ควรถูกตรวจสอบในเครือข่ายทุนจีน และโครงการก่อสร้างหลายแห่งในไทย
ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมารับลูกนายกฯ เข้าตรวจสอบ พร้อมเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบ มีนิติบุคคล 2 รายที่เกี่ยวข้องคือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด มีชาวจีนถือหุ้นสัดส่วน 49% และมีความเชื่อมโยงกับอีก 13 บริษัท และบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด มีชาวจีนถือหุ้น 80% มีความเชื่อมโยงกับอีก 24 บริษัท รวมทั้งหมดเป็น 37 บริษัท ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ ได้ส่งมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินการต่อแล้ว
นอกจากนั้น ยังตรวจพบด้วยว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และเครือข่าย รับงาน 26 โครงการ โดยบางส่วนมีการทิ้งงาน และหากพบความผิดปกติอาจพิจารณาขึ้นบัญชีดำ (Black List) บริษัทที่เกี่ยวข้องต่อไป
พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงกรณีรับคดีอาคารสตง. ถล่มเป็นคดีพิเศษว่า มีมูล เพราะธุรกิจการก่อสร้างส่วนใหญ่นิติบุคคลก็จะอนุญาตให้จดทะเบียนคนต่างด้าวไม่เกินร้อยละ 49 และคนไทยร้อยละ 51 ก็ต้องพิสูจน์ว่าคนไทยเป็นนอมินีหรือถือหุ้นแทนหรือไม่ เบื้องต้นพบว่า ผู้ถือหุ้นคนไทยสถานภาพไม่สอดคล้องกับการจะมาถือหุ้นในธุรกิจบริษัทใหญ่ได้ ยังมีหลักฐานการลงนามเอกสารเซ็นสัญญากิจการร่วมค้าต่าง ๆ คนต่างด้าวดูมีอำนาจครอบงำกิจการ
“คนไทยกลุ่มนี้ยังถือหุ้นกับบริษัทอื่นไม่ต่ำกว่า 3 บริษัทในเครือจากทั้งหมด 13 บริษัท โดยจะต้องตรวจสอบเส้นทางการจดทะเบียน ประกอบธุรกิจ กรรมการผู้ถือหุ้น และตรวจสอบย้อนหลังเกี่ยวกับกลุ่มบริษัทที่ได้งานประมูลโครงการภาครัฐและอื่น ๆ ว่าเข้าข่ายฮั้วประมูลหรือไม่ ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการสืบสวนเบื้องต้นแล้วพร้อมประสานข้อมูลร่วมกัน” อธิบดี ดีเอสไอ กล่าว
สรุปก็คือ เหตุการณ์ตึก สตง. ถล่มครั้งนี้ มีกลุ่มบุคคลที่ต้องถูกสอบสวนให้สิ้นสงสัยอีกหลายชุด นับตั้งแต่คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทที่ปรึกษาที่ทำการออกแบบ กลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้าผู้รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ควบคุมการก่อสร้าง คณะกรรมการตรวจรับงานก่อสร้าง บริษัทผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานที่นำมาก่อสร้าง บริษัทรับเหมาช่วงหรือซับคอนเทรกเตอร์
รู้จัก บิ๊กเบิ้ม China Railway Group
สำหรับเป้าใหญ่ที่ต้องตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น เพราะเป็นต้นตอของหายนะและความสูญเสียอันใหญ่หลวงในครั้งนี้ ก็คือ ทำไม “ไชน่า เรลเวย์ฯ” ถึงได้งานก่อสร้างโครงการของหน่วยงานรัฐมากมายหลายสิบแห่ง
จากการคุ้ยแคะของนักขุดในโลกโซเซียลและสื่อต่าง ๆ พบว่า บริษัทแม่ในจีนที่ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด คือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป หรือ CREC10 สำนักที่สิบของการรถไฟจีน ปัจจุบันปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นบริษัทย่อยในเครือ ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป (China Railway Group Limited – CREC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลจีน
CREC มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่มาก ดำเนินธุรกิจในหลากหลายสาขา ทั้งการสำรวจและออกแบบทางวิศวกรรม งานก่อสร้าง การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาแหล่งทรัพยากรและเหมืองแร่ รวมถึงการลงทุนทางการเงินและธุรกิจอื่น ๆ
China Railway Group ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Fortune Global 500 (บริษัทขนาดใหญ่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งทั่วโลก) ติดต่อกันเป็นเวลา 17 ปี โดยในปี 2565 บริษัทอยู่ในอันดับที่ 34 ของ Fortune Global 500 และอยู่ในอันดับที่ 5 ของ 500 องค์กรชั้นนำของจีน ไม่เพียงเท่านั้น China Railway Group ยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงอีกด้วย
ทั้งนี้ China Railway Group และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชัน คอร์โปเรชัน - CRCC ทั้งสองถือเป็นหัวหอกสำคัญในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ BRI ของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง
อ้างอิงจาก CGTN เครือข่าย China Global Television Network รายงานวันที่ 19 ต.ค 2023 ว่านับตั้งแต่โครงการ BRI เริ่มต้นขึ้น บริษัท CRCC มีส่วนอย่างแข็งขันในกรอบงาน BRI ในโครงการทางรถไฟหลายสิบประเทศทั่วโลก ซึ่งนำมาสู่การก่อสร้างเส้นทางรถไฟไม่ต่ำกว่า 12,000 ก.ม.
ข้อมูลจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ ไชน่า เรลเวย์ ระบุว่า บริษัทมีรากฐานมานานกว่าร้อยปี เริ่มจากการจัดตั้งสำนักก่อสร้างและสำนักออกแบบ ภายใต้กระทรวงการรถไฟของจีน เมื่อปี 1950 จนกระทั่งในปี 2007 ได้เริ่มจัดตั้งเป็น China Railway Group Limited (CREC) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง แต่ในปี 2017 บริษัทได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นรัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลจีนทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อเป็น China Railway Engineering Co., Ltd.
ในประเทศจีน CREC เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟมากกว่า 2 ใน 3 ของทั้งประเทศ รวมถึง 90% ของทางรถไฟระบบไฟฟ้า, 1 ใน 8 ของทางด่วนทั้งหมด และ 3 ใน 5 ของโครงการรถไฟฟ้าในเมือง
เจอแบล็กลิสต์ อื้อฉาวทั่วโลก
ภายใต้ความยิ่งใหญ่กลุ่มไชน่า เรลเวย์ฯ กลับสร้างผลงานความอื้อฉาวไปทั่วทั้งโลก รวมทั้งภายในประเทศจีนเองด้วย โดยบริษัทในเครือ China Railway Group ถูกตรวจสอบและถูกกล่าวหาหลายโครงการ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานการดำเนินงาน การบริหารจัดการที่บกพร่อง และพฤติกรรมส่อทุจริต
บริษัทในเครือที่ไปทำธุรกิจในต่างประเทศ เคยมีกรณีอื้อฉาวเรื่องการทุจริตวัสดุก่อสร้าง และรับสินบน ดังเช่น บริษัท China Railway Tunnel Group (CRTG) ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสสองคนได้รับโทษจำคุกและปรับเงินจากศาลจีนในข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐบาลสิงคโปร์ ตามรายงานสำนักข่าวซินหัว และในเดือนธ.ค. 2023 อดีตหัวหน้าของ China Railway Corporation ถูกปรับเงินจากข้อหารับสินบนจากการตัดสินของศาลประชาชนระดับกลางในมณฑลส่านซี
ยังมีเหตุการณ์อื้อฉาวโด่งดังทั่วโลกที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2560 สะพานซิกิริ (Sigiri) มูลค่าราว 11.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสะพานมิตรภาพจีน-เคนยา พังถล่มระหว่างก่อสร้าง มีคนงานบาดเจ็บอย่างน้อย 27 คน ทำให้บริษัท China Overseas Engineering Group Co. Ltd. หรือ COVEC ในเครือ CREC ซึ่งเป็นผู้รับเหมาร่วมต้องแสดงความรับผิดชอบและสร้างสะพานขึ้นใหม่
นอกจากคุณภาพการก่อสร้างมีปัญหา บริษัทในกลุ่ม CREC ยังถูกกล่าวหาพัวพันกับการทุจริต และฮั้วประมูลโครงการรัฐ
อ้างอิงจาก dialogo-americas สื่อด้านความมั่นคงในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน ภายใต้กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา รายงานวันที่ 28 มี.ค 2024 ว่า คณะกรรมาธิการยุโรป EC ได้เปิดทำการสอบสวนว่าบริษัทรถไฟจีน China Railway Rolling Stock Corporation หรือ CRRC ใช้แผนประกวดต่ำกว่าราคากลางจากการที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีน จนทำให้สามารถเสนอราคาประกวดได้ต่ำสุดหรือไม่ และพบปัญหาลามไปทั่วหลายประเทศในแถบนั้น
รายงาน ยังระบุว่า รัฐบาลเปรู ได้สั่งระงับสัญญามูลค่ารวม 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ให้กับบริษัท ไชน่า เทียซีจู ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (CTCEG) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ทันเนล กรุ๊ป หลังพบพฤติกรรมฮั้วประมูล และมีข้อสงสัยจ่ายสินบนให้อดีตเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งการระงับสัญญามูลค่า 87 ล้านดอลลาร์ในโครงการปรับปรุงถนนระหว่างเมืองฮวนกาเวลิกาและอายากูโช รวมถึงสัญญาโครงการน้ำดื่มและปรับปรุงท่อระบายน้ำในเมืองปิอูราและกัสตียา มูลค่า 153 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนั้น China Railway Group ยังมีรายงานเกี่ยวข้องกับอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกสหรัฐฯ จับตา ตามรายงานของรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2018 ระบุว่า บริษัท China Railway Engineering Corp กำลังจะก่อสร้างเส้นรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 415 กม. เชื่อมระหว่างกรุงเตหะรานและอิสฟาฮานโดยผ่านกอม ส่วนบริษัทแม่คือ China Railway Construction Corp หรือ CRCC เปิดเผยในช่วงนั้นว่า 1 ในบริษัทลูกชนะสัญญา 3.53 พันล้านหยวน ในการสร้างทางรถไฟระหว่างเคอร์มานชาห์( Kermanshah) และโคสราวี (Khosravi)
ในปี 2562 ธนาคารโลก ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการเงิน ประกาศระงับสิทธิกลุ่มบริษัทรัฐวิสาหกิจจีน ได้แก่ CRCC บริษัทแม่ของ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 และบริษัทในเครืออีก 730 แห่ง ไม่ให้เข้าร่วมประมูลโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารโลกเป็นเวลาเก้าเดือน เนื่องจากธนาคารโลก ตรวจสอบพบข้อมูลเท็จในเอกสารประมูลโครงการก่อสร้างทางหลวงของประเทศจอร์เจีย
สื่อต่างประเทศ รายงานโดยอ้างอิงจากสำนักงานหอจดหมายเหตุสหรัฐฯ (US National Archives and Records Administration) ว่า ประธานาธิบดี ทรัมป์ สมัยแรก ขึ้นบัญชีดำบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรักชัน คอร์โปเรชัน CRCC (China Railway Construction Corporation) เป็นการอาศัยอำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯตามคำสั่ง Executive Order 13959 ลงนามเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ปี 2020
คำสั่งประธานาธิบดีหมายเลข 13959 ของทรัมป์ 1.0 นั้นสั่งห้ามพลเมืองสหรัฐฯลงทุนในบริษัทจีน จำนวน 31 บริษัท โดยเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกองทัพจีน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ China Railway Construction Corporation หรือ CRCC
ลุ้นระทึก 13 โครงการ ไชน่า เรลเวย์ฯ ก่อสร้างในไทย
ส่วนในประเทศไทย ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้ร่วมมือกับกลุ่มทุนไทยในรูป “กิจการร่วมค้า” เข้าประมูลงานภาครัฐ ในช่วงปีงบประมาณ 2562 – 2565 รวม 14 แห่ง รวมมูลค่าประมาณ 7.2 พันล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ 2,136 ล้านบาท
2.ที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานนราธิวาส วงเงิน 639 ล้านบาท
3.โครงการเคหะชุมชน จังหวัดภูเก็ต โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) วงเงิน 343 ล้านบาท
4.อาคารเรียน โรงเรียนวัดอมรินทราราม โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วงเงิน 160 ล้านบาท
5.อาคารคลังพัสดุ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โดยคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี วงเงิน 146 ล้านบาท
6.หอพักนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต วงเงิน 132 ล้านบาท
7.ศูนย์ราชการจังหวัดแพร่ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 540 ล้านบาท
8.อาคารศูนย์ฝึกกีฬามวยมาตรฐานระดับสากล สนามกีฬาหัวหมาก โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กทท.) วงเงิน 608 ล้านบาท
9.อาคารชุดพักอาศัยข้าราชการตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 โดยสำนักงานศาลยุติธรรม วงเงิน 386 ล้านบาท
10.อาคารศูนย์บริการลูกค้า อบรมสัมมนา อาคารสำนักงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงิน 210 ล้านบาท
11.อาคารกองบังคับการ กรมพลาธิการทหารเรือ โดยกองทัพเรือ วงเงิน 179 ล้านบาท
12.อาคารที่ทำการ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ วงเงิน 716 ล้านบาท
13. อาคารสถาบันวิชาการ กฟภ. จ.นครปฐม วงเงิน 606 ล้านบาท
14.อาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ 9 ชั้น รพ.สงขลาฯ วงเงิน 426 ล้านบาท
โครงการเหล่านี้โดยเฉพาะตึกสูง คงต้องลุ้นระทึกกันว่าจะมีปัญหาตามมาหรือไม่
ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า ITD - CREC No.10 ยังปรากฎเป็นผู้รับเหมา ในสัญญาจ้างก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยผลงานก่อสร้าง ณ เดือน ม.ค. 2568 มีความก้าวหน้า 5.470% ล่าช้า 10.360% (แผนงาน 15.830%)
ขณะที่ เพจ CSI LA ชี้ว่า ยังมีโครงการหอพักบุคลากรทางการแพทย์ ม.แม่ฟ้าหลวง วงเงิน 468 ล้านบาท ผู้ชนะประมูล คือ “กิจการร่วมค้า ทีพีซี” ซึ่งใช้ที่อยู่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 กรุงเทพฯ ที่ตั้งเดียวกับบริษัท China Railway No.10 (ประเทศไทย)
ความใหญ่ของ ไชน่า เรลเวย์ กรุ๊ป จึงท้าทายความกล้าหาญของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นอย่างยิ่งว่า จะกล้าลงดาบเหมือนที่หลายประเทศทั่วโลกตรวจสอบ โดยไม่หวั่นต่ออิทธิพลและอำนาจของ “ลูกพี่จีน” หรือไม่