xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (32): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดแห่งสวีเดน ภาพเหมือนโดย DK Ehrenstrahl, 1685; ในปราสาท Gripsholm ประเทศสวีเดน
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไปจากประเด็นความขัดแย้งต่อนโยบายเวนคืนไปสู่ความขัดแย้งเห็นต่างในเรื่องพระราชอำนาจในการออกกฎหมายและพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
 
 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด ทรงยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการลับ โดยมีประเด็นหลักคือพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจทั่วไปที่จะพระราชทาน และเรียกคืน  “โดยไม่ต้องได้ความเห็นชอบและการยอมรับอย่างสมัครใจของฐานันดรโดยทั่วไป หรือฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งโดยเฉพาะ หรือผู้รับผลประโยชน์คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ”  และพระองค์ได้ทรงอ้างข้อความในกฎหมายแห่งแผ่นดินในการสนับสนุนทรรศนะของพระองค์

ประเด็นนี้ได้ก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงทั้งภายในแต่ละฐานันดรและระหว่างฐานันดรต่างๆ และรวมทั้งระหว่างพวกอภิชนกับสภาบริหารด้วย ขณะเดียวกันต่อประเด็นดังกล่าวนี้  Thegner ก็ได้ประสานจัดตั้งรวมสามัญชนต่างๆ พร้อมที่จะสนับสนุนพระมหากษัตริย์อย่างเต็มกำลัง

อย่างไรก็ตาม จุดยืนในประเด็นนี้มีความย้อนแย้งในตัวมันเอง นั่นคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพราชอำนาจในการพระราชทานอภิสิทธิ์ใดๆให้แก่ผู้ใดเป็นการถาวรได้ แต่ขณะเดียวกันก็ทรงสามารถเรียกคืนได้เหมือนการเวนคืนอื่นๆ

พวกอภิชนและสภาบริหารต้องการจะสถาปนาให้การพระราชทานอภิสิทธิ์ที่ถูกต้องของพระมหากษัตริย์เป็นการพระราชทานอย่างถาวร แต่ไม่สามารถหาสาระในกฎหมายแห่งแผ่นดินมาสนับสนุนได้ ทำให้พวกเขาต้องยอมรับว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่จำกัด นั่นคือ จะพระราชทานอย่างไรก็ได้ และจะเรียกคืนก็ได้

แต่พวกอภิชนและสภาบริหารได้ขอทำคำร้องขอเพิ่มว่าพระมหากษัตริย์ควรจะตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์รักษาอภิสิทธิ์ของอภิชนของพระองค์ เพื่อที่พวกอภิชนจะได้สามารถรับใช้พระองค์ได้
 
ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงได้รับคำตอบสองคำตอบทั้งจากสามัญชนและจากพวกอภิชน พระองค์ทรงถามประธานสภาอภิชนว่า ข้อเสนอของทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันหรือไม่ ประธานสภาตอบว่า ต่างแค่การใช้คำ แต่เนื้อหาสาระไม่ต่าง

ทว่า Thegner ผู้ทำหน้าที่ประสานงานกับฐานันดรสามัญชนยืนยันว่า  “ไม่ได้แตกต่างเพียงการใช้คำ แต่มีเนื้อหาสาระที่แตกต่างกันจริงๆ”  

อย่างไรก็ตาม ร่างทั้งสองนี้ มีความเหมือนกันมากกว่าแตกต่าง และเพียงพอที่พระองค์จะทรงรับทั้งสองร่างและเชื่อมโยงทั้งสองเข้าด้วยกันให้เป็นข้อสรุปสุดท้ายของพระองค์ ที่พระองค์จะทรงยืนยันว่า พระราชอำนาจของพระองค์ไม่จำกัด ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า การพระราชทานอย่างถาวรจะต้องเป็นโมฆะเสมอ นั่นคือ ไม่เป็นการถาวร เพราะทรงเรียกคืนได้ เพียงแต่กล่าวไว้ว่า ฐานันดรทั้งสี่ปรารถนาให้การพระราชทานเป็นโมฆะ

จากข้อสรุปดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงสามารถยกเลิกข้อจำกัดของกระบวนการเวนคืนได้อย่างสมบูรณ์
พระองค์สามารถดำเนินการเวนคืนทรัพย์สินและอภิสิทธิ์ต่างๆ ได้ตามที่พระองค์ทรงเห็นว่าจำเป็นเพื่อให้เป็นงบประมาณแผ่นดิน
 
จากข้อสรุปนโยบายเวนคืนเพื่อลดหนี้ของแผ่นดิน จะเห็นได้ว่า พวกอภิชนถูกโจมตีจากสองด้าน นั่นคือ ทั้งจากพระมหากษัตริย์และจากทางฐานันดรสามัญชนที่ Thegner สามารถคุมเสียงได้ แต่พวกอภิชนก็มีความสุขุมพอที่จะไม่ออกมาต่อต้านและยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ก็ต้องกล่าวไว้ด้วยว่า แม้ว่า กฎหมายแผ่นดินจะมีความคลุมเครือและดูเหมือนว่าจะกล่าวไว้ว่า ทรัพย์สินที่พระมหากษัตริย์ทรงได้รับสืบทอดมานั้นเป็นสิ่งที่จะต้องเป็นของพระองค์เสมอ ไม่มีอะไรจะมาพรากจากได้ และพระองค์จะพระราชทานอย่างมีเงื่อนไขเท่านั้น

แม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม พวกอภิชนก็มีเหตุผลที่จะรู้สึกว่า เฉพาะพวกตนที่ถูกหลอกและถูกละเมิด เพราะเป็นที่เข้าใจว่าข้อตกลงในปี ค.ศ. 1680 ที่มีความชัดเจนแน่นอนนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเวนคืนอภิสิทธิ์และทรัพย์สินพวกอภิชนเท่านั้น

พวกเขาจึงต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมโดยยืนยันว่า ฐานันดรนักบวชและฐานันดรพ่อค้าก็ครอบครองอภิสิทธิ์และทรัพย์สินที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์และย่อมจะต้องถูกเวนคืนด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดการโต้เถียงและกล่าวหากันในคณะกรรมาธิการลับ แต่ก็ไม่ได้เกิดผลอะไร

ผู้นำในฐานันดรนักบวชได้แนะนำต่อฐานันดรของตนว่าไม่ควรตอบอะไรต่อการเรียกร้องของพวกอภิชน อีกทั้งพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้ทรงส่งสัญญาณลงมาด้วยว่า พระองค์ไม่ทรงต้องการให้มีการถกเถียงอะไรต่อไปและขอให้ยุติประเด็นดังกล่าวนี้ อันแสดงให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงอยู่ในสถานะของการมีอำนาจเหนือกว่าอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อทั้งสี่ฐานันดรได้พิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการเก็บภาษีเพิ่มพิเศษ (extraordinary taxation) ซึ่งในหลักการถือเป็นการบริจาค (a free gift) จากประชาชน พระมหากษัตริย์ได้ทรงแจ้งต่อ คณะกรรมาธิการลับผ่านประธานสภาถึงจำนวนทรัพย์สินที่แน่นอนที่แต่ละฐานันดรจะต้องเสีย โดยพระองค์ได้ทรงกล่าวว่า  “ฐานันดรทั้งสี่จะไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ พวกเขาจะต้องให้ตามจำนวนที่กำหนดไว้” 

ในที่สุด ฐานันดรทั้งสี่ยินยอมที่จะให้มีการเก็บภาษีพิเศษ แต่ทะเลาะกันอย่างรุนแรงถึงจำนวนที่แต่ละฐานันดรจะต้องเสีย แต่ไม่เคยฉุกคิดเลยว่า พวกเขาอาจจะสามารถตอบปฏิเสธไม่ยอมเสียได้

ต่อไปจะกล่าวถึงสรุปถึง  การเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองและความเหนืออื่นใดของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์สวีเดน 

เหตุการณ์ที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดในที่ประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ. 1682 คือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางรูปแบบการปกครอง ที่มีทั้งส่วนที่เป็นการวางแผนไว้และส่วนที่เป็นความบังเอิญ

โดยเริ่มจากการอภิปรายเกี่ยวกับโครงการของฐานันดรสามัญชนในที่ประชุมสภาอภิชนในวันที่ 4 พฤศจิกายน Anders Lilliehook นักกฎหมายที่มีความสามารถและประสบการณ์ ได้ตั้งคำถามต่อกฎกติกาที่มีอยู่ในขณะนั้นที่เจ้าหน้าที่จะใช้ในการบังคับการเวนคืนทรัพย์สินที่พระมหากษัตริย์เคยพระราชทาน

Lilliehook ได้ถามว่า ได้มีการเสนอกฎหมายนี้ไปยังสภาฐานันดรแล้วหรือไม่ เมื่อคำตอบคือ ยังไม่เคย แต่ได้ใช้กฎหมายนี้เป็นปกติตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา เขาได้กล่าวด้วยเสียงอันดังอย่างไม่พอใจว่า  “พระผู้เป็นเจ้าโปรดคุ้มครองเราจากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ด้วย ถ้ากฎกติกานั้นถือเป็นกฎหมาย (a law) มันจะต้องผ่านการยอมรับจากฐานันดรทั้งสี่ก่อน มิฉะนั้น มันไม่ใช่กฎหมาย” 

และด้วยเหตุผลที่ไม่ทราบชัดเจน Lilliehook ได้โต้แย้งโดยพุ่งเป้าไปที่ พระราชสิทธิ์พิเศษที่มีความสำคัญยิ่งของพระมหากษัตริย์ (a vital royal prerogative) ที่ทำให้เกิดสงสัยได้ว่า ที่ผ่านมา การใช้กฎหมายที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาฐานันดรมาจากการกล่าวอ้างภายใต้พระราชสิทธิ์พิเศษของพระมหากษัตริย์หรือไม่ ?

ต่อจากนั้น ได้มีผู้ไปรายงานคำอภิปรายของ Lilliehook ต่อพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด และพระองค์ทรงเห็นว่า คำวิจารณ์นั้นถือว่ารุนแรงมาก และเป็นการวิจารณ์โดยตรงต่อ  องค์อธิปัตย์ (sovereign)  โดยหนึ่งในราษฎรของพระองค์เอง
*
จากนั้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน พระองค์ได้ทรงส่งสารไปยังสภาอภิชนและตั้งคำถามเจ็ดข้อเกี่ยวกับคำอภิปรายของ Lilliehook ที่สภาอภิชนจะต้องมีคำตอบให้พระองค์

ในสารดังกล่าว พระมหากษัตริย์ทรงถือว่า คำวิจารณ์นั้นเป็น  “การอวดดีอย่างยิ่งและเป็นการโจมตีต่อพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระองค์”  และพระองค์ได้ทรงตั้งถามดังต่อไปนี้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น