xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การทับซ้อนและพลวัตของการเมืองสามรูปแบบในสังคมไทย: ชนชั้นนำ บ้านใหญ่ และพลเมือง (3) / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา นอกเหนือจากอิทธิพลของการเมืองแบบชนชั้นนำแล้ว โครงสร้างอำนาจทางการเมืองของไทยยังถูกกำหนดโดยปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่าง “การเมืองแบบชนชั้นนำ” และ “การเมืองแบบบ้านใหญ่” (Big House Politics)

ทั้งสองกลุ่มมีบทบาทสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ทางอำนาจ รวมทั้งควบคุมและจำกัดขอบเขตการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในสังคมไทย ในขณะที่ชนชั้นนำไทยประกอบด้วยกลุ่มอำนาจทางทหาร ข้าราชการระดับสูง และทุนผูกขาดที่ควบคุมโครงสร้างอำนาจรัฐ บ้านใหญ่ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลระดับจังหวัดและท้องถิ่นกลับทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการรวบรวมฐานเสียง สนับสนุนความมั่นคงทางการเมืองในพื้นที่ และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงกับชนชั้นนำระดับชาติ

การเมืองแบบบ้านใหญ่ เป็นระบบการเมืองที่มีรากฐานในโครงสร้างอำนาจแบบอุปถัมภ์ โดยมีตระกูลการเมืองหรือกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางอำนาจในการควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการเมืองในพื้นที่ ตระกูลเหล่านี้สร้างเครือข่ายทางสังคมผ่านความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ระบบเครือข่ายธุรกิจ และการอุปถัมภ์ทางการเมือง ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถรักษาอำนาจและอิทธิพลในระดับจังหวัดและท้องถิ่นได้อย่างยาวนาน

โครงสร้างดังกล่าวอาศัยการควบคุมทรัพยากรและงบประมาณในท้องถิ่นเป็นเครื่องมือในการสร้าง “บุญคุณส่วนตัว” ซึ่งนำไปสู่การได้รับการสนับสนุนทางการเมืองในลักษณะของฐานเสียงถาวร มากกว่าการส่งเสริมบทบาทของประชาชนในฐานะพลเมืองผู้มีสิทธิที่เท่าเทียมกัน

ในเชิงโครงสร้างอำนาจ การเมืองแบบบ้านใหญ่และชนชั้นนำมีความสัมพันธ์ที่พึ่งพิงซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติทางการเมือง หรือช่วงที่ชนชั้นนำเผชิญกับแรงกดดันจากขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน พรรคการเมืองใหม่ และกลุ่มพลเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิ

ชนชั้นนำจึงใช้บ้านใหญ่เป็นเครื่องมือในการควบคุมพื้นที่ท้องถิ่น ลดทอนอิทธิพลของขบวนการเคลื่อนไหวที่ท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิม และประกันความมั่นคงทางการเมืองในระดับชาติ

  ตัวอย่างสำคัญคือบทบาทของบ้านใหญ่บุรีรัมย์ และบ้านใหญ่ชลบุรี ในการสนับสนุนพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักในการจัดตั้งรัฐบาลที่ชนชั้นนำกำกับอยู่เบื้องหลัง ในการเลือกตั้งปี 2562 และ 2566 บ้านใหญ่สามารถระดมฐานเสียงในท้องถิ่นให้กับพรรคการเมืองเหล่านี้ เพื่อค้ำจุนรัฐบาลที่สนับสนุนชนชั้นนำได้สำเร็จ

แม้จะมีความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านใหญ่และชนชั้นนำก็แฝงด้วยความตึงเครียด ชนชั้นนำจำนวนไม่น้อยมีทัศนะเชิงลบต่อบ้านใหญ่ โดยเฉพาะพฤติกรรมการซื้อเสียง การใช้ระบบอุปถัมภ์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และการผูกขาดทรัพยากรสาธารณะ พฤติกรรมดังกล่าวถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อความพยายามสร้างภาพลักษณ์  “คุณธรรมและศีลธรรม” ของชนชั้นนำ โดยเฉพาะในเวทีระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาล

ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการแจกเงินและสิ่งของเพื่อแลกกับคะแนนเสียงของบ้านใหญ่ในหลายจังหวัด ถูกวิจารณ์ว่าเป็น  “การบ่อนทำลายประชาธิปไตย” และส่งผลกระทบต่อความชอบธรรมของระบอบการเมืองไทยโดยรวม

แม้จะมีความไม่ไว้วางใจ แต่พันธมิตรระหว่างบ้านใหญ่กับชนชั้นนำยังคงดำรงอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีการต่อรองตำแหน่งทางการเมืองและการแบ่งปันทรัพยากรอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญ การควบคุมงบประมาณพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น และการได้สัมปทานโครงการขนาดใหญ่

พรรคภูมิใจไทยยุคปัจจุบันในฐานะพรรคการเมืองที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับบ้านใหญ่บุรีรัมย์สามารถควบคุมกระทรวงสำคัญหลายกระทรงเช่น มหาดไทย ศึกษาธิการ และใช้กลไกราชการท้องถิ่นขยายอำนาจไปยังจังหวัดอื่น ๆ ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ตอกย้ำระบบ “พันธมิตรผลประโยชน์” ที่มีเงื่อนไขและการต่อรองสูงระหว่างบ้านใหญ่และชนชั้นนำ

 การเลือก ส.ว. ปี 2567 สะท้อนความร่วมมือเชิงโครงสร้างระหว่างบ้านใหญ่กับชนชั้นนำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่ม “ส.ว.สีน้ำเงิน” ซึ่งมีฐานเสียงสำคัญในจังหวัดบุรีรัมย์ และอีกหลายจังหวัดที่บ้านใหญ่มีบทบาทครอบงำ กลุ่ม ส.ว. เหล่านี้ไม่เพียงแต่มีอิทธิพลในการถ่วงดุลและควบคุมการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการคานอำนาจพรรคการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม

บ้านใหญ่ในฐานะพันธมิตรของชนชั้นนำ ยังมีบทบาทสำคัญในการขัดขวางกฎหมายที่มีเป้าหมายปฏิรูปโครงสร้างกองทัพ เช่น ร่างพระราชบัญญัติโอนคดีทุจริตของทหารจากศาลทหารไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และพรรคร่วมรัฐบาลแบบบ้านใหญ่ก็มีบทบาทในการคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลเรื่อง  “เสถียรภาพและความมั่นคง” การไม่สนับสนุนกฎหมายปฏิรูปกองทัพและการต่อต้านการลดบทบาทอำนาจพิเศษของทหารในระบบยุติธรรม เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความร่วมมือระหว่างบ้านใหญ่และชนชั้นนำในการรักษาโครงสร้างอำนาจเดิม

ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองแบบบ้านใหญ่และชนชั้นนำในไทยเป็นทั้ง  “กลไกค้ำจุนอำนาจ” และ “อุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย” โดยกลุ่มบ้านใหญ่มีบทบาทสำคัญในการระดมฐานเสียงและควบคุมพื้นที่ท้องถิ่น ในขณะที่ชนชั้นนำใช้กลไกจากบ้านใหญ่เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเมืองและป้องกันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ความร่วมมือนี้แม้จะมีความไม่ไว้วางใจและความขัดแย้ง แต่ก็ยังดำเนินไปบนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมและเป็นสถาบันอย่างแท้จริง

 เหตุผลในการอ้างความชอบธรรมของการเมืองแบบบ้านใหญ่

การเมืองแบบบ้านใหญ่มีระบบการสร้างความชอบธรรมที่ซับซ้อน โดยสร้างรากฐานอำนาจผ่านหลายมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ ดังนี้

1. เหตุผลเชิงบุญคุณและการตอบแทน

ระบบบุญคุณและการตอบแทนเป็นรากฐานสำคัญของการเมืองแบบบ้านใหญ่ การที่บ้านใหญ่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างยาวนานส่วนหนึ่งมาจากการสร้างความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณและมีพันธะทางใจที่ต้องตอบแทน บ้านใหญ่มักใช้ทรัพยากรของตนช่วยเหลือประชาชนในเรื่องปากท้องและความเดือดร้อนเฉพาะหน้า เช่น การช่วยงานศพ งานแต่งงาน หรืองานบุญประเพณีการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน การช่วยเหลือหางานหรือตำแหน่งในระบบราชการหรือธุรกิจของตระกูล

ความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการสงเคราะห์ธรรมดา แต่ถูกทำให้กลายเป็น “บุญคุณ” ที่ผูกมัดความรู้สึกผู้รับในระยะยาว ปรากฏการณ์นี้ว่า “การเมืองของผู้อุปถัมภ์” (Politics of Benefactor) ซึ่งบุญคุณถูกใช้เป็นเครื่องมือในการระดมคะแนนเสียงและความสนับสนุนทางการเมือง

ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านใหญ่กับประชาชนในพื้นที่เป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่เท่าเทียม ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีทรัพยากรจำกัดได้รับความช่วยเหลือที่เห็นผลทันที ในขณะที่บ้านใหญ่ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองที่ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงอำนาจและทรัพยากรของรัฐในระยะยาว ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าหลายเท่า สิ่งที่น่าสนใจคือความไม่เท่าเทียมนี้ถูกปกปิดด้วยภาษาและพิธีกรรมของ “น้ำใจ” “ความเอื้ออาทร” และ “ความกตัญญู” ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจถูกทำให้ดูเป็นธรรมชาติและชอบธรรม ปรากฏการณ์นี้เป็น "การครอบงำทางอุดมการณ์" ที่ทำให้ผู้คนยอมรับความสัมพันธ์แบบไม่เท่าเทียมว่าเป็นเรื่องปกติ

2. เหตุผลแห่งความมั่นคงในพื้นที่

บ้านใหญ่มักนำเสนอตนเองในฐานะ “ผู้รักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในพื้น”ที่ ซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่อีกรูปแบบหนึ่ง บ้านใหญ่มักควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจท้องถิ่นในหลายด้าน เป็นเจ้าของธุรกิจหลักในพื้นที่ เช่น โรงสี โรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ควบคุมการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการในท้องถิ่น มีบทบาทในการจัดสรรงบประมาณพัฒนาพื้นที่ผ่านตำแหน่งทางการเมือง มีอิทธิพลต่อตลาดแรงงานท้องถิ่น ด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจเหล่านี้ บ้านใหญ่สามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง และกระจายผลประโยชน์บางส่วนให้กับประชาชน (แม้จะไม่เท่าเทียม) ทำให้พวกเขาสามารถอ้างความชอบธรรมจากการเป็น “ผู้พัฒนาท้องถิ่น” ผู้นำมาซึ่ง “ความเจริญ”

บทบาทบ้านใหญ่ที่สำคัญอีกประการคือ การตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงท้องถิ่นกับรัฐส่วนกลาง สามารถดึงงบประมาณและโครงการพัฒนาจากส่วนกลางมาสู่พื้นที่ได้ เนื่องจากมีเครือข่ายและอิทธิพลทางการเมืองระดับชาติ ดังในจังหวัดสุพรรณบุรี และบุรีรัมย์ บ้านใหญ่อาศัยตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติในการดึงงบประมาณมาพัฒนาพื้นที่ เช่น ถนน เขื่อน โรงเรียน โรงพยาบาล สนามกีฬา ซึ่งกลายเป็นความชอบธรรมในการครองอำนาจ

มากไปกว่านั้น บ้านใหญ่มักมีบทบาทในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ ทั้งข้อพิพาทระหว่างประชาชน หรือความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐ โดยใช้เครือข่ายอิทธิพลและความสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ บทบาทนี้บ้านใหญ่จะแสดงตนเองเป็น “คนกลางแห่งอำนาจ” (Power broker) ซึ่งทำให้บ้านใหญ่กลายเป็นที่พึ่งของประชาชนในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่

3. เหตุผลทางวัฒนธรรมและความเป็นท้องถิ่น

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้บ้านใหญ่ดำรงอยู่ได้คือการผูกโยงตนเองเข้ากับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้การสนับสนุนบ้านใหญ่กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นท้องถิ่น บ้านใหญ่มักนำเสนอตนเองว่าเป็น “ลูกหลานบ้านนี้” หรือ “คนในพื้นที่” ที่เข้าใจปัญหาและวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นดีกว่า “คนนอก” หรือเจ้าหน้าที่รัฐจากส่วนกลาง การนำเสนอภาพลักษณ์เช่นนี้สร้างความไว้วางใจและความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันกับประชาชนในพื้นที่ ทำให้การสนับสนุนบ้านใหญ่กลายเป็นการสนับสนุน “คนบ้านเดียวกัน”

บ้านใหญ่มักเป็นผู้สนับสนุนหลักของประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น เป็นเจ้าภาพจัดงานบุญประเพณีสำคัญ บริจาคเงินสร้างหรือบูรณะวัด โบสถ์ มัสยิด หรือศาสนสถาน สนับสนุนกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม เช่น การละเล่นพื้นบ้าน ดนตรีท้องถิ่น อุปถัมภ์ทีมกีฬาท้องถิ่น การอุปถัมภ์เหล่านี้ไม่เพียงสร้างบุญคุณต่อชุมชน แต่ยังเชื่อมโยงตัวตนของบ้านใหญ่เข้ากับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านบ้านใหญ่กลายเป็นการท้าทายอัตลักษณ์ท้องถิ่นไปโดยปริยาย

นอกจากเหตุผลทั้งสามข้างต้นแล้ว บ้านใหญ่มักมีการสร้างและเผยแพร่เรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติตระกูลที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น การเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ การต่อสู้ปกป้องท้องถิ่นในอดีต หรือความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าเหล่านี้ช่วยสร้างความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ให้กับตระกูลและตำแหน่งทางสังคมของพวกเขา

ปรากฏการณ์นี้เป็นการสร้างวาทกรรม “การเมืองของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” เพื่อครอบงำและหล่อหลอมการรับรู้และความรู้สึกของคนในพื้นที่ต่อตระกูลบ้านใหญ่ สิ่งสำคัญที่ควรเข้าใจคือเหตุผลในการดำรงอยู่ทั้งสามประการของบ้านใหญ่ไม่ได้แยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่มีการผสมผสานและเสริมแรงซึ่งกันและกัน

•ความสัมพันธ์เชิงบุญคุณ (เหตุผลที่ 1) มักถูกนำเสนอผ่านภาษาของความเป็นท้องถิ่นและวัฒนธรรม (เหตุผลที่ 3) เช่น การช่วยเหลือในฐานะ “พี่น้องร่วมท้องถิ่น”

•การรักษาเสถียรภาพในพื้นที่ (เหตุผลที่ 2) มักถูกแสดงออกผ่านการอุปถัมภ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น (เหตุผลที่ 3)

•ความเป็นท้องถิ่น (เหตุผลที่ 3) ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้กับการผูกขาดอำนาจและทรัพยากรในพื้นที่ (เหตุผลที่ 2)

ด้วยการผสมผสานเหตุผลทั้งสามประการอย่างแยบยลนี้ บ้านใหญ่จึงสามารถสร้างระบบความชอบธรรมที่ซับซ้อนและมีหลายชั้น ซึ่งยากต่อการท้าทายหรือเปลี่ยนแปลง


ในปัจจุบัน บ้านใหญ่ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่มีการปรับตัวเพื่อดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองดังนี้

1. การปรับตัวเข้าสู่การเมืองสมัยใหม่ บ้านใหญ่หลายแห่งปรับตัวจากการเป็นเพียงหัวคะแนนท้องถิ่นมาเป็นผู้นำพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มีนโยบายและอุดมการณ์ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบจารีต

2. การผสมผสานความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เข้ากับระบบราชการสมัยใหม่ บ้านใหญ่ยังคงรักษาความสัมพันธ์แนวดั้งเดิมกับประชาชนผ่านการช่วยเหลือ การบริจาค หรือการประสานงานด้านสาธารณูปโภค แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมต่อและแทรกซึมในระบบราชการและการบริหารส่วนท้องถิ่นในลักษณะกึ่งเป็นทางการ เช่น การมีสมาชิกครอบครัวดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคู่กับการมีสายสัมพันธ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือข้าราชการระดับสูง

3. การใช้เทคโนโลยีและสื่อสมัยใหม่เพื่อเสริมสร้างอิทธิพล บ้านใหญ่ในยุคดิจิทัลมีการประยุกต์ใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการสื่อสารนโยบาย สร้างภาพลักษณ์ และรักษาความสัมพันธ์กับประชาชน เช่น การถ่ายทอดสดกิจกรรม การตอบโต้เสียงวิจารณ์ หรือการใช้เพจชุมชนเพื่อกระจายข่าวสาร มีการใช้เฟซบุ๊กและการสื่อสารออนไลน์เพื่อรักษาฐานเสียงและขยายบทบาทในระดับชาติ

การเมืองแบบบ้านใหญ่อาศัยชุดเหตุผลที่ซับซ้อนในการสร้างความชอบธรรมและดำรงอยู่ ทั้งเหตุผลเชิงบุญคุณและการตอบแทน เหตุผลแห่งความมั่นคงในพื้นที่ และเหตุผลทางวัฒนธรรมและความเป็นท้องถิ่น เหตุผลเหล่านี้ไม่ได้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่มีการผสมผสานและเสริมแรงซึ่งกันและกัน ทำให้ระบบบ้านใหญ่มีความซับซ้อนและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง การทำความเข้าใจเหตุผลในการดำรงอยู่ของการเมืองแบบบ้านใหญ่จึงไม่เพียงช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองในท้องถิ่นไทย แต่ยังช่วยให้เข้าใจความท้าทายในการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นและระดับชาติของไทยอีกด้วย


(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)


กำลังโหลดความคิดเห็น