xs
xsm
sm
md
lg

No Pains, No Gains

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร



เป็นคำพูดง่ายๆ แต่ทำยากมาก โดยเฉพาะคือ ช่วงแรกที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากสาหัส ก่อนจะได้รางวัลตอบแทนมาในภายหลัง

นักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะระดับที่ได้รับรางวัลโนเบลมาแล้ว ต่างตระหนักดีถึงความยากลำบากที่ต้องอดทนฟันฝ่ามาจากการทดลองนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะประสบความสำเร็จ

คำพูดนี้จะได้ยินบ่อยมากในทศวรรษ 1990’s จากวิดีโอการออกกำลังกายอย่างมีวินัย และแพร่ไปทั่วโลกของนักแสดงระดับตุ๊กตาทอง เจน ฟอนดา เพื่อสร้างกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของร่างกายเรา หรือในการลดน้ำหนักตัว ที่ต้องมีวินัยสูงมากทั้งในเรื่องการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างหนักและสม่ำเสมอ…ซึ่งเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่แสนจะเจ็บปวดหรือไม่น่ารื่นรมย์อย่างแน่นอน ก่อนจะสมหวังกับรอบเอวที่ลดลง หรือทำให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างอัศจรรย์ โดยผ่านวิธีที่แสนเจ็บปวด

คำพูดนี้ ถ้าย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของโลก ปรากฏว่า นักปรัชญาเมธี, นักการศึกษา, ปัญญาชน, นักนสพ. และอีกหลายๆ “นัก”...ซึ่งแน่นอนรวมถึงเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายด้านการทดลองว่า ปรากฏการณ์ฟ้าแลบ, ฟ้าร้อง, ฟ้าผ่า มาจากประจุไฟฟ้าที่วิ่งระหว่างก้อนเมฆในช่วงฝนตกฟ้าคะนอง จนกลายเป็น “นักประดิษฐ์” สายล่อฟ้าคนแรกด้วย รวมทั้งเป็น “นักการเมือง” คนสำคัญของเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย และเป็นหนึ่งใน “นักปฏิวัติ” ช่วงสงครามปลดแอกของดินแดนอาณานิคมอเมริกันออกจากประเทศอังกฤษ จนถึงเป็นหนึ่งในผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญอเมริกันที่ได้ใช้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

เขาคือเอกบุรุษ ผู้เป็นทั้ง “นักนสพ.” และเจ้าของกิจการโรงพิมพ์ และนสพ.หลายฉบับทั้งที่รัฐเพนซิลเวเนียและอีกหลายๆ รัฐทางภาคตะวันออกของสหรัฐฯ ในช่วงก่อนและหลังสงครามเพื่ออิสรภาพ...นั่นคือ เบนจามิน แฟรงคลิน

เขาเขียนบทความในนสพ.ของเขาเอง และพร่ำเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมของสังคม จนนำมาสู่การปลดปล่อยทาสของเขาเองด้วย และการสนับสนุนให้กำลังใจบรรดาเหล่าเพื่อนร่วมอาณานิคม (ของอังกฤษ) เพื่อปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมจนทำได้สำเร็จที่มีคำประกาศเอกราชที่เมืองฟิลาเดลเฟียนั่นเอง

ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันก็ได้ยินวลีนี้ถี่ขึ้นๆ จากปากของรมต.คลังคนใหม่แกะกล่อง Scott Bessent จากปากของรมต.พาณิชย์แกะกล่อง Howard Lutnick รวมทั้ง USTR คนใหม่ Jamieson Greer และ ผอ.สภาเศรษฐกิจแห่งชาติคนใหม่ของปธน.ทรัมป์ Kevin Hassert

พวกเขาเหมือนนักร้องในวง Choir ที่มีคอนดักเตอร์ (ผู้ควบคุมวง) ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้ร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “Short-Term PAINS, For Long-Term GAINS” โดยมีการต่อสร้อยขยายความเพิ่มเติมจากคำพูดวลีเดิมเล็กน้อย...หมายถึง Pains หรือความเจ็บปวดที่ชาวอเมริกันจะต้องประสบร่วมกันนี้จะ “สั้น” มากๆ...ซึ่งจะตามมาด้วย “Gains” หรือความมั่งคั่งรุ่งเรืองสุดๆ ที่รออยู่เบื้องหน้า

นั่นคือ โมเดลใหม่สำหรับสหรัฐฯ ที่จะต้องนำตำแหน่งงานด้านการผลิตอุตสาหกรรมกลับคืนมา ทั้งๆ ที่โครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะนี้ได้กลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมด้านการเงินและบริการ “คมนาคมและการขนส่ง” เป็นต้น มีพื้นที่มากกว่าด้านการผลิตหลายเท่าตัว

ค่าแรงที่สหรัฐฯ ก็สูงลิ่ว ที่จะทำให้โรงงานผลิตของสหรัฐฯ ไม่สามารถแข่งขันกับโรงงานผลิตของเม็กซิโก, จีน, เวียดนาม ได้เลย ดังที่โรงงานผลิต Rare Earth และอุปกรณ์สำคัญๆ ที่ใช้ในชิปที่สหรัฐฯ เคยมีส่วนแบ่งตลาดสูงมาก…ในที่สุดก็ต้องล้มหายตายจากไป โดยโบยบินไปผลิตที่จีนจนจีนครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในโลกขณะนี้

แม้แต่ Big Three ยักษ์ 3 ตนที่ผลิตรถยนต์ยี่ห้อของสหรัฐฯ เอง ถึงกับได้อ้อนวอนให้ทรัมป์ยืดเวลาการปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมไปได้อีกเพียง 1 เดือน (จะได้รีบตะลีตะลานสั่งเข้ามามากๆ ก่อนอัตราภาษีนำเข้าใหม่ 25% มีผลบังคับใช้) ก็ยังมาโดนกระทบจากเมื่อวันพุธก่อนหน้าวันปลดปล่อยเพียง 1 อาทิตย์ที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าถึง 25% และกระทบกับ Big Three เพราะได้มีการไปตั้งโรงงานผลิตรถยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ในเม็กซิโก แล้วนำเข้ามาสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลง (ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์) US-M-CA…และคำพูดปลอบใจเพื่อพยุงไม่ให้หุ้นของ Big Three ดิ่งระเนนระนาดว่า ภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% นี้ เพื่อช่วยปกป้อง Big Three เพื่อให้หยุดผลิตรถยนต์ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ให้ขยายงานผลิตในสหรัฐฯ นี้แหละ…จะได้จ้างงานเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ

อนิจจา โรงงานของ Big Three ที่มิชิแกน คงไม่สามารถปรับเปลี่ยนการขยายกำลังการผลิตมาทดแทนโรงงานของตนที่ตั้งที่เม็กซิโกได้ภายในเร็ววันแน่ๆ...จะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตมาทดแทนโรงงานในต่างประเทศ! จะไม่ใช้ Short Term Pains แน่นอน และทำให้หุ้น Big Three ดิ่งเกือบ 2 หลักภายในวันเดียวด้วยซ้ำ

ขณะนี้ มีหลายสถาบันทั้งพวกที่ทำ Survey และบริษัทการเงินชั้นนำ ได้ปรับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และของทั่วโลกเป็นการลดลงจากที่ได้คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้าแผนปรับ Tariffs ของทรัมป์…ถึงขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่การถดถอยในครึ่งปีหลังของปีนี้ หรือในปีหน้าซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้สูงขึ้น (ทั้งธนาคาร Wells Fargo และ Morgan Stanley รวมทั้ง Goldman Sachs)

จะเป็น Short-Term Pains ดังที่จักรพรรดิทรัมป์พร่ำพูดหรือไม่ อีกไม่กี่เดือนคงจะเห็นผล...ดังที่นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่เคยได้รับรางวัลโนเบลที่ยังมีชีวิตอยู่ 16 คน ได้ออกมาคัดค้าน Paradigm ยกเครื่องเศรษฐกิจครั้งนี้ของทรัมป์ ตั้งแต่เขายังหาเสียงว่าจะใช้ Tariffs เป็นตัวสร้างความมั่งคั่งให้กลับคืนมาสู่สหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง

ไม่เพียงเงินเฟ้อที่สหรัฐฯ ที่จะพุ่งขึ้นจากอัตราภาษีนำเข้าที่พุ่งสูงขึ้น แต่ยังมีการปรับลดตำแหน่งงานมากมายในภาครัฐบาล (และภาคเอกชนก็กำลังปรับลดตาม) ที่ทำให้แรงซื้อของผู้บริโภคและความมั่นใจผู้บริโภคจะลดฮวบฮาบตามมาติดๆ ด้วยซ้ำ

แต่อย่างน้อยสหรัฐฯ ก็ยังหาวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจจากการเปลี่ยน Paradigm…แต่สำหรับไทยเรายังไม่มีวี่แววว่าจะเปลี่ยนโมเดลด้านเศรษฐกิจใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนด้านเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชนที่อาจต้องตายหมู่อย่างทันควันโดยไม่รู้ตัว จากการคอร์รัปชันที่มีอยู่ในแทบทุกโครงการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นถนน, สะพาน, ท่อน้ำ, โรงไฟฟ้า, เขื่อน ฯลฯ...และยิ่งถ้ากำลังลุ้นอยากมีโรงงานไฟฟ้าปรมาณูเป็นพลังงานสะอาดโรงแรกของไทย... ลองหลับตานึกดูว่า ถ้าไม่สามารถป้องกันการคอร์รัปชันในการก่อสร้างได้ คราวนี้มันจะยิ่งกว่าตึก สตง.พังครืนลงมาเป็นโศกนาฏกรรมขนาดไหน??


กำลังโหลดความคิดเห็น