xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (31): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

สิ่งที่เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นชัดเจนที่สุดจากการประชุมสภาฐานันดร ค.ศ. 1682 คือวิธีการจัดการหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมดในคณะกรรมาธิการลับ และหลังจากที่ได้ข้อสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการลับแล้ว จะส่งให้ไปที่ประชุมสภาฐานันดรเพื่อให้มีการรับรองอย่างเป็นทางการ

เริ่มจากผู้ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการลับจะต้องได้ผ่านการคัดเลือกลั่นกรองอย่างระมัดระวัง และพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงมีพระราชประสงค์ว่า ในการพิจารณาเรื่องบางเรื่อง จะต้องให้ตัวแทนจากฐานันดรชาวนาเข้าประชุม ที่แต่เดิม ชาวนาจะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมในคณะกรรมาธิการลับ ขณะเดียวกัน ในสภาฐานันดรได้มีผู้ทำหน้าที่ประสานงานกับฐานันดรสามัญชนต่างๆรวมทั้งฐานันดรชาวนาเพื่อร่วมกันกดดันฐานันดรอภิชนในคณะกรรมาธิการลับ

ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการลับขณะนั้น ได้มีการเสนอวาระการประชุมหรือ  ข้อเสนอลับ ดังต่อไปนี้คือ

หนึ่ง รับรองผลแลข้อสรุปของคณะตุลาการ

สอง จัดการหากำลังพลสำหรับการปฏิรูปกองทัพประจำการ

สาม จัดหาทุนในระยะยาวเพื่อให้ได้ดุลกับงบประมาณแผ่นดินและลดหนี้สินของประเทศ

สี่ ให้มีการเก็บภาษีพิเศษในระยะสั้นขึ้นเพื่อใช้สำหรับความจำเป็นเร่งด่วน 
ข้อเสนอลับที่เป็นวาระการประชุมข้างต้นส่งผลให้เกิดความกังวลในหมู่พวกอภิชนในที่ประชุมสภาอภิชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์การเวนคืนทรัพย์สินของพวกอภิชนที่เคยเป็นทรัพย์สินพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ในปี ค.ศ. 1680 ที่มีผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจการเมืองของพวกตน พวกอภิชนเหล่านี้ได้มีการจับกลุ่มวิพากษ์ข้อเสนอลับบางข้อในวาระข้างต้น และพวกเขาได้พยายามที่จะรีบหาทางทำอะไรบางอย่างเสียก่อนโดยขอให้ประธานสภาอภิชนให้หลักประกันว่า จะต้องมีการอภิปรายผลการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการลับในที่ประชุมร่วมของทุกฐานันดร และจะต้องมีผู้เข้าประชุมครบองค์ประชุม และมีการลงคะแนนเสียงด้วยบัตรลงคะแนนในกรณีที่สมควร และจะต้องไม่มีมีการบันทึกรายชื่อของผู้อภิปรายและการประชุมจะต้องเป็นไปตามระเบียบ
ข้อเสนอลับที่ได้รับการพิจารณาเป็นอับดับแรกคือ  การระดมกำลังพลกองทัพบก  มีการประกาศในที่ประชุมคณะกรรมาธิการลับว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพะราชประสงค์ที่จะตั้งทหารราบให้เป็นกองพันเป็นจำนวน 1200 คนโดยมีฐานอยู่ตามจังหวัดต่างๆ โดยมีการถามคณะกรรมาธิการลับถึงวิธีที่ดีที่สุดในการระดมกำลังทพล ในที่ประชุมได้มีผู้เสนอวิธีการดังต่อไปนี้คือ
 หนึ่ง ให้ฐานันดรต่างๆเปิดให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจอย่างเสรีที่จะเกณฑ์คนที่จำเป็น

สอง พระมหากษัตริย์ทรงสามารถเจรจาทำสัญญาข้อตกลงกับชาวนาในแต่ละจังหวัด ชาวนาที่ที่มีที่นาของตนเองจะสามารถรวมตัวกันและรับจัดหาทหารเพื่อแลกกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารอย่างถาวร สำหรับข้อเสนอนี้จะทำให้ชาวนาทุกคนมีส่วนร่วมบนฐานที่เท่าเทียมกัน  

ข้อเสนอข้อที่สองนี้ถูกโจมตีจากพวกอภิชน ด้วยเหตุผลที่ว่า วิธีการดังกล่าวนี้เป็นการทำลายอภิสิทธิ์พื้นฐานของพวกอภิชน นั่นคือ สิทธิ์ของผู้เช่าที่ดินของพวกอภิชนและความรับผิดชอบต่อการเกณฑ์ทหารที่จะได้รับการเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าชาวนาที่เช่าที่ที่เป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และเสียภาษีให้พระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่านั้น ภายใต้ระเบียบการเกณฑ์กำลังพลที่เป็นอยู่ อภิชนเป็นผู้ที่ตัดสินใจว่า ใครควรจะถูกเกณฑ์ ซึ่งถือเป็นอาวุธอันทรงพลังของพวกอภิชนในการควบคุมปกครองชาวนา จากความไม่พอใจของพวกอภิชน ทำให้มีการส่งเรื่องกลับไปฐานันดรชาวนาและสภาอภิชน

มีการอภิปรายถกเถียงกันในที่ประชุมสภาอภิชนในวันที่ 16 ตุลาคม และผู้แทนของคณะกรรมาธิการลับได้แจ้งว่าได้หารือกับสภาบริหารมาแล้วและแนะนำต่อที่ประชุมสภาอภิชนว่า  “ควรปล่อยให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้วินิจฉัยของพระองค์ที่จะให้มีการเกณฑ์ทหารด้วยวิธีการอย่างไร โดยไม่ต้องมีการเรียกประชุมสภาฐานันดร”

ปรากฏว่า ทุกคนในที่ประชุมสภาอภิชนเห็นด้วยว่าต้องมีการเกณฑ์กำลังพล แต่บางคนเห็นว่า ความจำเป็นในการเกณฑ์กำลังพลเป็นเหตุผลสำคัญที่จะต้องมีการเรียกประชุมสภาฐานันดรและมีข้อเสนอว่า การยอมให้เป็นพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์นั้นควรจะต้องมีการจำกัดระยะเวลา ไม่ใช่ให้พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยไปตลอด โดยควรจะกำหนดไว้ภายในสี่ปี ขณะเดียวกัน ก็มีสมาชิกสภาอภิชนที่เห็นว่าควรจะให้มีการเรียกประชุมสภาฐานันดรเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวนี้

แต่สมาชิกอภิชนระดับล่าง (Class III) ได้โต้กลับไปว่า สำหรับพวกเขา การให้ที่ประชุมสภาฐานันดรเป็นผู้พิจารณาตัดสินเรื่องนี้เป็นอะไรที่อันตรายสำหรับพวกเขา พวกเขายินดีที่จะให้พระมหา กษัตริย์ทรงมีอิสระในเรื่องนี้ จากความเห็นที่แตกต่างกันนี้ มีการเรียกร้องให้มีการลงคะแนนโดยใช้บัตรลงคะแนน แต่ประธานสภาอภิชนยืนยันว่า ใครที่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชวินิจฉัยอย่างอิสระในการเกณฑ์ทหารแต่อยู่ภายในระยะเวลาที่จำกัด ขอให้ออกเสียงโดยการลุกขึ้นยืน แต่ปรากฏว่า ไม่มีใครลุกขึ้นยืน

ในเวลาเดียวกันนั้น   Thegner ได้เข้าเฝ้าและหารือกับพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด (Charles XI) หลังจากนั้น เขาได้ประสานงานจัดตั้งเสียงของฐานันดรสามัญชนทั้งสามเพื่อประกาศสนับสนุนการเกณฑ์กำลังพลในระบบที่พระมหา กษัตริย์ทรงสามารถเจรจาทำสัญญาข้อตกลงกับชาวนา โดยให้ผู้เช่าที่ดินของอภิชนมีส่วนร่วมสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกัน

เมื่อผู้แทนของฐานันดรชาวนาได้เข้ามายังที่ประชุมอภิชน ประธานสภาได้ถามว่า พวกชาวนากำลังจะยกเลิกอภิสิทธิ์ของอภิชนหรืออย่างไร และพวกชาวนาตอบกลับว่า การเลือกวิธีการทำสัญญากับพระมหากษัตริย์ เป็นการทำตามพระราชประสงค์ของพระองค์

จากคำตอบกลับดังกล่าวของชาวนาทำให้สภาอภิชนต้องกลับมาพิจารณาใหม่ และตัดสินใจยอมให้พระมหากษัตริย์เลือกวิธีการที่พระองค์ทรงพอพระราชหฤทัย
พวกอภิชนไม่กล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ แต่พวกเขาได้ร่างคำประท้วงไปยังพระมหากษัตริย์โดยชี้ว่า การตัดสินใจของพวกสามัญชนถือเป็นละเมิดอภิสิทธิ์ของพวกเขา อย่างไรก็ตามในหนังสือประท้วง ไม่ได้มีการลงชื่ออภิชนแต่ละคน เมื่อประธานสภาอภิชนได้นำหนังสือไปกราบบังคมทูล และพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงทอดพระเนตรเห็นว่า ไม่มีการลงนาม ทรงแสดงความไม่พอพระทัยและแนะนำให้ประธานสภาแจ้งแก่สภาอภิชนว่า อย่าได้ส่งบันทึกที่ไม่มีการลงนามมาอีก
จะเห็นได้ว่า ต่อปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรอบแรกนี้ พระมหากษัตริย์ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงการมีพระราชอำนาจเหนือกว่าของพระองค์ ขณะเดียวกัน พวกอภิชนได้เปิดเผยให้เห็นการแตกแยกในพวกตน อันได้แก่ ความเห็นต่างระหว่างอภิชนระดับล่างและระดับสูง และความไม่กล้าที่จะเผชิญหน้ากับพระมหากษัตริย์ และยอมจำนนต่อการขับเคลื่อนการจัดตั้งเสียงของฐานันดรสามัญชนโดย Thegner

ต่อไปคือ  ประเด็นการขยายการเวนคืนเพื่อลดหนี้ของราชอาณาจักร 

ในการขยายการเวนคืนเพื่อลดหนี้ของราชอาณาจักร ก็ได้ใช้แบบแผนเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในการระดมกำลังพล การเวนคืนดังกล่าวนี้มุ่งไปที่การระดมทรัพยากรธรรมชาติ Thegner ผู้ประสานสามัญชนและอาร์คบิชอบแห่งฐานันดรนักบวชได้ทำงานร่วมกัน และได้รับมอบจากพระมหากษัตริย์ในการคัดเลือกชาวนาที่จะไปเป็นผู้แทนร่วมประชุมในคณะกรรมาธิการลับ

ในวันที่ 31 ตุลา ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการลับ Thegner ได้กล่าวแนะนำโครงการชื่อ  “eleven-point”  ที่ริเริ่มโดยพวกสามัญชน โดยเฉพาะจากฐานันดรชาวนา โครงการนี้เรียกร้องให้มีการติดตามอย่างแข็งขันต่อบรรดาผู้ถูกตัดสินลงโทษโดยคณะตุลาการและให้มีการขยายการเวนคืนโดยยกเลิกระดับรายได้ 600 dsm ที่เป็นข้อยกเว้นในปี ค.ศ. 1680 พวกอภิชนได้แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อโครงการดังกล่าว และเรียกร้องให้ปิดการประชุมทั้ง ๆที่ฐานันดรของตนกำลังอภิปรายอยู่
ต่อมาได้มีการเปิดการอภิปรายในสภาอภิชนวันที่ 4 พฤศจิกายน และลงความเห็นว่า พวกอภิชนตั้งใจที่จะเข้าไปในประชุมในคณะกรรมาธิการลับโดยไม่ให้มีการจดบันทึกการอภิปราย และพระมหากษัตริย์ได้ทรงส่งหนังสือมายังประธานสภาอภิชน โดยเตือนพวกอภิชนว่า ควรจะพิจารณเรื่องดังกล่าวนี้ในที่ประชุมร่วมสี่ฐานันดร อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมสภาอภิชน พวกอภิชนได้เริ่มอภิปรายอย่างยืดเยื้อเกี่ยวกับโครงการของสามัญชน และประเด็นหลักได้กลายเป็นว่า พวกเขาควรต่อต้านโครงการดังกล่าวโดยอาศัยพื้นฐานกฎหมายตามข้อสรุปของสภาฐานันดร ค.ศ. 1680 ที่กำหนดให้มีข้อสงวนในการเวนคืนและกำหนดไว้ว่าจะไม่มีข้อเสนอขยายการเวนคืนอีก ?

 อภิชนส่วนหนึ่งสนับสนุนประเด็นนี้ บางกลุ่มเห็นว่ามันอันตรายและ “เราไม่ควรโต้เถียงกับพระมหากษัตริย์” 

ต่อมาในวันที่ 13 พฤศจิกายน ประธานสภาอภิชนได้นำสารจากพระมหากษัตริย์โดยมีความว่า สภาอภิชนจะต้องตัดสินใจ และพระองค์ทรงต้องการให้มีการลงคะแนนแบบขานชื่อ เพื่อจะได้ทราบว่าใครสนับสนุนอะไร ประธานสภาแนะนำพวกอภิชนว่า วิธีการที่ดีในการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของพวกเขาคือการยอมตามดีกว่ายืนกรานต่อสู้บนสิทธิตามกฎหมายที่ออกมาในปี ค.ศ. 1680

 ในที่สุด พวกอภิชนยอมจำนน และมีผู้นำอภิชนบางคนกล่าวว่า เรายอมจำนน เพราะเราเข้าใจว่าเป็นพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในประเด็นเกี่ยวกับข้อเสนอให้มีการติดตามอย่างแข็งขันต่อบรรดาผู้ถูกตัดสินลงโทษโดยคณะตุลาการและให้มีการขยายการเวนคืนโดยยกเลิกระดับรายได้ 600 dsm ที่เป็นข้อยกเว้นในปี ค.ศ. 1680 พระมหากษัตริย์ทรงชนะในประเด็นดังกล่าวนี้ 

ต่อมา ได้มีการแจ้งต่อฐานันดรต่างๆว่า พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงรับรู้ว่า สามัญชนและอภิชนมีความเห็นต่างในประเด็นเกี่ยวกับขอบเขตพระราชอำนาจในการพระราชทานหรือเรียกคืนของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น พระองค์จึงทรงยื่นคำถามไปยังคณะกรรมาธิการลับ ประเด็นหลักคือ พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจทั่วไปที่จะพระราชทาน และเรียกคืน  “โดยไม่ต้องได้ความเห็นชอบและการยอมรับอย่างสมัครใจของฐานันดรโดยทั่วไป หรือฐานันดรใดฐานันดรหนึ่งโดยเฉพาะ หรือผู้รับผลประโยชน์คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ”  และพระองค์ได้ทรงอ้างข้อความในกฎหมายแห่งแผ่นดินในการสนับสนุนทรรศนะของพระองค์
ประเด็นนี้ได้ก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงทั้งภายในแต่ละฐานันดรและระหว่างฐานันดรต่างๆ และรวมทั้งระหว่างพวกอภิชนกับสภาบริหารด้วย ขณะเดียวกันต่อประเด็นดังกล่าวนี้ Thegner ก็ได้ประสานจัดตั้งรวมสามัญชนต่างๆพร้อมที่จะสนับสนุนพระมหากษัตริย์อย่างเต็มกำลัง

อย่างไรก็ตาม จุดยืนในประเด็นนี้มีความย้อนแย้งในตัวมันเอง นั่นคือ พระมหากษัตริย์ทรงมีพราชอำนาจในการพระราชทานอภิสิทธิ์ใดๆให้แก่ผู้ใดเป็นการถาวรได้ แต่ขณะเดียวกันก็ทรงสามารถเรียกคืนได้เหมือนการเวนคืนอื่นๆ

พวกอภิชนและสภาบริหารต้องการจะสถาปนาให้การพระราชทานอภิสิทธิ์ที่ถูกต้องของพระมหากษัตริย์เป็นการพระราชทานอย่างถาวร แต่ไม่สามารถหาสาระในกฎหมายแห่งแผ่นดินมาสนับสนุนได้ ทำให้พวกเขาต้องยอมรับว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไม่จำกัด นั่นคือ จะพระราชทานอย่างไรก็ได้ และจะเรียกคืนก็ได้ แต่พวกอภิชนและสภาบริหารได้ขอทำคำร้องขอเพิ่มว่าพระมหากษัตริย์ควรจะตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์รักษาอภิสิทธิ์ของอภิชนของพระองค์ เพื่อที่พวกอภิชนจะได้สามารถรับใช้พระองค์ได้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น