xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แกะรอย “วิมานหนาม” ในป่าสงวนฯ รุกฆาต! ทุนจีนรุกป่าปลูกทุเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ย้อนรอย “ทุนจีนรุกคืบปลูกทุเรียน” ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตปฏิรูปที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ “กรมป่าไม้” เปิดปฏิบัติการ “พิทักษ์ผืนป่าตะวันออก” รุกฆาตยึดคืนพื้นที่ป่า จ่อปรับเพิ่มโทษสกัดมิให้ลุกลามขยายวงกว้าง รวมถึงปัญหา “ล้งจีน” ครองตลาด 90% ชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทย 1.5 แสนล้านบาท 

ข้อมูลจาก ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ระบุว่าตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2568 ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย กรณีการบุกรุก ยึดถือครอบครอง เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตมาอย่างต่อเนื่อง โดยจากการที่ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบในหลายพื้นที่ พบว่าบางส่วนมีการอ้างเอกสารสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน บางส่วนอ้างหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

และบางส่วนเป็นพื้นที่ที่มีการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาลในรูปแบบแปลงรวม นโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) แต่ถูกเปลี่ยนมือในอยู่ใน กลุ่มนายทุนจีน  จนเกิดกรณีปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกทุเรียนในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออก

ที่ผ่านมา มีการแจ้งความกล่าวโทษไปแล้วจำนวนหนึ่ง อาทิ คดีการตรวจยึดพื้นที่ เนื้อที่ 1,848 ไร่ 3 งาน 4 ตารางวา ซึ่งอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจันทร์ตาแป๊ะ และป่าเขาวังแจง เนื้อที่ 1,785 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง เนื้อที่ 62 ไร่ 3 งาน 74 ตารางวา บ้านสุขใจ หมู่ที่ 7 ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และบ้านชำตาเรือง หมู่ที่ 7 ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี, คดีตรวจยึดพื้นที่ เนื้อที่ 105 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ซึ่งอยู่ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง บ้านเขาฆ้อง หมู่ที่ 5 ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการขยายผลการตรวจสอบพบว่าขบวนการกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าแบบผิดกฎหมาย บางแปลงคดีมีกลุ่มนายทุนชาวจีนอยู่เบื้องหลัง ย้อนกลับไป 28 ม.ค. 2568 มีการตรวจสอบพื้นที่เกือบ 1,800 ไร่ ในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว และ อ.เขาเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ซึ่งมีเบาะแสว่าเป็นของกลุ่มทุนจีนและคนไทยต้องการพื้นที่ไปทำสวนทุเรียนแบบแปลงใหญ่




ล่าสุด 13 มี.ค.68 ชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีกลุ่มนายทุนที่เข้าครอบครองและบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติตกพรม ต.บ่อเวฬุ อ.ขลุง จ.จันทบุรี พบพื้นที่บุกรุกจำนวนกว่า 919 ไร่ เพื่อปลูกทุเรียนและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ รวมกว่า 12,000 ต้น พร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้าง ทั้งถนนคอนกรีต และอาคารต่าง ๆ รวมถึงการสร้างบ่อน้ำขนาดใหญ่ ที่รองรับการทำสวนอย่างเป็นระบบ โดยพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินรัฐที่ถูกบุกรุกและถือครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เบื้องต้นยืนยันว่าผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยและเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่

โดยมีการขยายผลสอบสวนและสืบสวนต้องตรวจสอบ ย้อนดูเส้นทางตั้งแต่การปรับพื้นที่ ปลูกทุเรียน และเอกสารสิทธิที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแหล่งซื้อขายยาฆ่าแมลง และกระบวนการทำสวนจากร้านขายสินค้าเกษตร เพื่อดำเนิคดีต่อไป รวมทั้ง มีขยายผลการสอบสวนไปยัง จ.ตราด และ จ.เลย มีขบวนการบุกรุกลักษณะเดียวกัน โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่า และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งพบข้อมูลมีการจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐด้วย

สำหรับสถานการณ์ทุนจีนรุกป่าปลูทุเรียน จากการตรวจสอบและการสืบสวนของ กมธ.การยุติธรรมและการกฎหมาย วุฒิสภา พบการกระทำผิดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับนักการเมือง และอดีตนักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้ง กลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่ต้องการมากวาดซื้อที่ดินทำเลสวย เหมาะต่อการปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการทำสวนทุเรียนแปลงขนาดใหญ่นับพันไร่จากกลุ่มทุนจีนร่วมกับคนไทย

เกิดกรณีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าที่ได้รับจากนโยบายแก้ไขปัญหาของรัฐนำ   “ที่ดิน คทช.”  ไปขายแลกเงิน ซึ่งที่ดิน คทช. มีการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในรูปแบบแปลงรวม เป็นการแจกโดยไม่ให้กรรมสิทธิ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่ม หรือชุมชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คทช. ตั้งแต่ปี 2558 - 2565 สามารถจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนทั่วประเทศพื้นที่เป้าหมาย 1,491 พื้นที่ ใน 70 จังหวัด ใน 9 ประเภทที่ดิน เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร และป่าชายเลน

โดยกรมป่าไม้ มอบที่ดินให้ สคทช.จำนวน 7.2 ล้านไร่ เพื่อให้เกษตรกรทำกิน ซึ่งตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่ คทช. กำหนดสามารถถือครองที่ดินได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่เกินรายละ 20 ไร่ ซึ่งที่ดินจาก คทช. ไปแล้ว นำไปซื้อขายเปลี่ยนมือถือว่าผิดวัตประสงค์ชัดเจน และเกษตรกรต้องถูกยึดพื้นที่คืน และจะไม่ได้สิทธิใดๆ อีกเลย

 นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทิดสกุล  สส. พรรคประชาชน สัดส่วนเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง วิพากษ์ปรากฎการณ์ทุนจีนรุกป่าปลูกทุเรียน จากกรณีปรากฏเป็นข่าว ทุนจีนกว้านซื้อที่ดิน คทช. หรือ บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกทุเรียน ข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีนายทุนไทยไปรวบรวมและกว้านซื้อที่ดินรวมกันเป็นผืนใหญ่จากชาวบ้าน ตั้งแต่ก่อน ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนจัด คทช. แล้วค่อยนำไปขายต่อให้แก่นายทุนจีน

ปัจจุบันเกิดปัญหาการขายที่ดินที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิให้นายทุนต่างชาติกระจายไปหลาย โดยเฉพาะขายให้นายทุนจีนปลูกทุเรียนหรือทำล้งทุเรียน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ในพื้นที่ระยอง จันทบุรี ตราด สงขลา นครศรีธรรมราช กระบี่ และยะลา เป็นภาพสะท้อนปัญหากลไกภายใต้ระบบราชการของกรมป่าไม้ไม่สามารถรับมือกับปัญหานายทุนรุกพื้นที่ป่าได้

ไม่ว่าจะเป็นนายทุนไทยหรือนายทุนจีน และสะท้อนไปยังรัฐบาลไทยที่ไม่สามารถจัดทำระบบกำกับที่ดินในเขตป่าที่มีประสิทธิภาพและสังคมยอมรับได้ ทำให้รัฐไม่สามารถรับมือกับปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและปัญหาที่ดินหลุดมืออย่างเป็นระบบได้

ปัจจัยเอื้อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ประกอบไปด้วย

 ประการแรก พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ยังไม่ตอบโจทย์   นโยบายที่รัฐบาลใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่มติ ครม. 26 พ.ย. 2561 ต่อมาก็มี พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ออกมารองรับ หากแต่การดำเนินการมีความคืบหน้าน้อย กล่าวคือ แม้เนื้อหาของ พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ดีสำหรับให้รัฐบาลออกนโยบายหรือมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรทับซ้อนกับที่ดินของรัฐ แต่ปัญหาคือนโยบายหารือมาตรการของรัฐบาลที่ใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ในมติ ครม. 26 พ.ย. 2561 (หรือที่เรียกว่า คทช.) ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ ฝ่ายราชการทำงานล่าช้ามาก โดยปริมาณที่ดินทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาตทั่วประเทศมีทั้งหมด 12.5 ล้านไร่ มีผู้เดือดร้อนอย่างน้อย 19,576 หมู่บ้าน แต่รัฐตั้งเป้าหมายดำเนินการเพียง 5.5 ล้านไร่ ถึงกระนั้นปัจจุบันสามารถส่งมอบที่ดิน คทช. ให้ชาวบ้านได้เพียงประมาณ 85,000 ราย ใน 378 พื้นที่ เนื้อที่ 698,142 ไร่ คิดเป็นเพียงร้อยละ 5 ของพื้นที่เป้าหมายทั้งหมดเท่านั้น

 ประการที่สอง กลไกบริหารจัดการที่ดินทับซ้อนกับเขตป่าไร้ประสิทธิภาพ แม้กรมป่าไม้จะทำงานมานาน แต่ระบบฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินรายแปลงหรือรายชุมชนไม่มี บางพื้นที่มีไม่ครบ สำหรับพื้นที่ที่ได้จัดทำแล้วส่วนใหญ่แผนที่แนวเขตไม่ถูกต้อง อีกทั้งสาระบบเอกสารไม่ได้ถูกจัดการอย่างเป็นระบบ หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีความพร้อม ทำให้ไม่สามารถจัดทำเอกสารหรือจดทะเบียนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้แก้ราษฎรได้ นอกจากยังไม่มีกลไกตรวจสอบ กำกับ ติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตรวจสอบการรุกล้ำแนวเขตที่ดิน แต่จะต้องรอให้คนร้องเรียนมา หรือรอคำสั่งให้เดินทางลงที่ไปตรวจสอบ

 และประการที่สาม ระบบตรวจสอบการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ไร้ประสิทธิภาพ กลไกระบบราชการของกรมป่าไม้มีประสิทธิภาพน้อย  ทำให้ไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าได้จริง ตลอดเวลาที่ผ่านมากรมป่าไม้และกรมอุทยานจะอ้างเสมอว่าไม่มีกำลังคนพอ ไม่มีเงินงบประมาณดำเนินการ หากเกิดปัญหาก็อ้างไม่มีอำนาจ ทั้งที่ในแต่ละปีได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นมาได้รับงบประมาณรวมกันประมาณปีละ 15,000 ล้านบาทต่อปี

นายเลาฟั้ง สส. พรรคประชาชน กล่าวเสนอแนวทางในการแก้ปัญหานายทุนจีนรุกที่ป่าปลูกทุเรียนที่รัฐบาลไทยต้องพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากการปัญหาการทุจริตในองค์กรของกรมป่าไม้ให้ได้เสียก่อน จากนั้นต้องปรับปรุงเนื้อหาของมติ ครม. 26 พ.ย. 2561 ใหม่ ให้มีเนื้อหาที่เป็นธรรม สอดคลองและเท่าทันกับเศรษฐกิจและสังคมของชนบทไทยและตลาดโลก ซึ่ง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 10 (4)

ตลอดจนต้องเร่งจัดทำเอกสารรับรองสิทธิเพื่อควบคุมและบริหารจัดการที่ดินในเขตป่า และตั้งกลไกบริหารงานและจัดทำสาระบบที่ดิน เช่น การออกเอกสารหลักฐาน การโอนเปลี่ยนมือตามเงื่อนไข การอนุญาต เป็นต้น เพื่อให้การทำหลักฐาน การเปลี่ยนมือและการใช้ที่ดินอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ และข้อสำคัญต้องเข้มงวดกับบริษัทเอกชนสัญชาติอื่นไม่ให้ถือครองที่ดินในเขตป่าซึ่งกฎหมายห้ามไว้ และห้ามมิให้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวทำ


 งานวิจัย “การครอบครองที่ดินข้ามพรมแดนของทุนจีน กรณีสวนทุเรียนในภาคตะวันออกของประเทศไทย จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด” โดย Land Watch Thai และ EEC Watch เผยทุนจีนพยายามควบคุมกลไกการตลาดทุเรียนไทยทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำ (ผู้ผลิต) กลางน้ำ (ล้งรับซื้อผลผลิต) ถึงปลายน้ำ (ตลาดปลายทาง) ส่งผลทำให้ภาคเกษตรกรรมทุเรียนในภาคตะวันออกของไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการรุกคืบของทุนจีนที่เริ่มต้นจากการควบคุมการส่งออก และขยายอิทธิพลสู่การครอบครองที่ดินเพื่อผลิตทุเรียนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแหล่งผลิตทุเรียนหลักของไทย 

งานวิจัยฯ เปิดเผยการเข้ามาของทุนจีนในตลาดทุเรียนไทยเริ่มต้นในปี 2560 โดยนักธุรกิจชาวจีนเริ่มเข้ามาตั้ง “ล้ง” หรือ “โรงคัดบรรจุ”  เพื่อส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน ซึ่งในช่วงแรกจะเข้ามาสั่งซื้อจากพ่อค้าคนกลางคนไทยก่อน เมื่อเห็นว่าได้กำไรดีมาก จึงเริ่มเข้ามาซื้อที่ดินตั้งล้งและเป็นเจ้าของกิจการ รวมถึงเริ่มซื้อที่ดินโดยผ่านนายทุนไทยทำสวนทุเรียนเอง

 อ้างอิงข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบว่า เดือน พ.ค. 2567 มีจำนวนโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) ที่ส่งออกไปจีนรวมทั่วประเทศ จำนวน 2,122 ราย โดยในสามจังหวัดพื้นที่กรณีศึกษามีจำนวน 988 ล้ง และเฉพาะ จ.จันทบุรี มีจำนวนมากถึง 909 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2559 ที่มีเพียง 122 ราย 

แม้ปรากฎรายชื่อผู้ประกอบการเป็นสัญชาติไทยหรือบริษัทไทย แต่ในความเป็นจริงเจ้าของล้งเป็นกลุ่มนายทุนจีนครองสัดส่วนกว่า 90% ของจำนวนล้งทั้งหมด เป็นภาพสะท้อนทุนจีนใช้นอมินีไทยในการดำเนินธุรกิจอย่างกันแพร่หลาย

ต่อมาในช่วงปี 2564 ทุนจีนได้ขยายการลงทุนในธุรกิจส่งออกทุเรียน โดยการกว้านซื้อสวนทุเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อการส่งออกผลผลิตทุเรียนไปจีน และทำสวนทุเรียนเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับให้ทัวร์จีนเข้ามาเที่ยวชม กิน พักแรม ในสวนทุเรียน โดยมีกลยุทธ์ในการเลือกทำเลดีที่ดินใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น อ่างเก็บน้ำหรือริมคลองขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอำเภอแก่งหางแมว นายายอาม ท่าใหม่ และเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

งานวิจัยฯ เปิดเผยว่า ทุนจีนมักหลีกเลี่ยงการซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดหรือ น.ส.3 เนื่องจากมีราคาแพง แต่จะเน้นซื้อที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ซึ่งมีราคาถูกกว่า โดยเฉพาะในอำเภอแก่งหางแมว ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ

 วิธีการถือครองที่ดินของทุนจีน ประกอบด้วย 3 รูปแบบหลัก 1.การใช้นอมินีคนไทยถือครองที่ดินแทน 2. การแต่งงานกับผู้หญิงไทยและให้เป็นผู้ถือครองที่ดิน และ 3.การแปลงสัญชาติจากจีนมาเป็นไทย 

กระบวนการซื้อที่ดินของทุนจีน มักซื้อผ่านนายหน้าซึ่งเป็นผู้นำท้องถิ่น อาทิ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ฯลฯ เนื่องจากรู้จักพื้นที่และเจ้าของที่ดินเป็นอย่างดี โดยจะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 3,000 - 5,000 บาทต่อสัญญา และมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์จากการซื้อขายที่ดินระหว่างนายหน้าด้วยกัน

นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า พื้นที่ อ.หางแมว จ.จันทบุรี ทุนจีนเข้ามาซื้อที่ดินในสัดส่วนประมาณ 20 - 30% จากผู้ที่เข้ามาซื้อที่ดินในพื้นที่ทั้งหมด โดยราคาที่ดินเปล่าอยู่ที่ไร่ละแสนบาท ส่วนสวนทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้วราคาสูงอยู่ที่ประมาณ 3 - 5 แสนบาทต่อไร่ และยังพบสวนทุเรียนของทุนจีนในพื้นที่อื่นๆ ของ จ.จันทบุรี อาทิ อ.เขาคิชฌกูฏ อ.มะขาม และ อ.นายายอาม ซึ่งมีการตรวจพบแปลงสวนทุเรียนขนาดใหญ่กว่า 100 ไร่ขึ้นไป โดยสวนทุเรียนของทุนจีนมักมีลักษณะเฉพาะ เช่น มีป้ายรูปหมูภาษาจีนติดไว้หน้าสวน มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีบ้านคนอยู่อาศัย และมีการใช้เทคโนโลยีการเกษตรมากกว่าสวนทุเรียนทั่วไป เช่น การใช้โดรนฉีดพ่นยา การใช้สปริงเกอร์ฝอยรดน้ำทั้งวัน

ส่วนในพื้นที่ จ.ระยอง มีการตรวจพบสวนทุเรียนของทุนจีนใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เขาชะเมา อ.แกลง และ อ.วังจันทร์ โดยพบมากที่สุดที่ อ.เขาชะเมา เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และที่ดินมีราคาถูก และพื้นที่ จ.ตราด พบการทำสวนทุเรียนที่เข้าข่ายผิดกฎหมายและเป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ภูเขา และแหล่งน้ำ ใน 2 ลักษณะ คือ การทลายภูเขาติดต่อกันหลายลูกเพื่อทำเป็นขั้นบันไดปลูกทุเรียน และการทำสวนทุเรียนบนเกาะที่ยื่นเข้าไปในอ่างเก็บน้ำและบนภูเขาริมอ่างเก็บน้ำ

ทั้งนี้ การครอบครองที่ดินข้ามพรมแดนของทุนจีนส่งผลกระทบในวงกว้าง จากการศึกษาพบว่าผลกระทบของการรุกคืบของทุนจีนมีหลายมิติ ในด้านการตลาด ผู้ประกอบการล้งไทยรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ทุนจีนพยายามจะควบคุมกลไกการตลาดทุเรียนในทุกขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันมีทุเรียนนำเข้าจีนเป็นพันตู้คอนเทนเนอร์ (หนึ่งตู้ประมาณ 18 ตัน) ต่อวัน โดยมีค่าใช้จ่ายต่อตู้ประมาณ 2 ล้านบาท แล้วแต่ราคาทุเรียน ตั้งแต่ 1.5 – 3 ล้านบาทต่อตู้ ซึ่งสะท้อนมูลค่ามหาศาลของตลาดทุเรียนที่ทุนจีนกำลังผูกขาด

 ที่น่ากังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สวนทุเรียนของทุนจีนมีการใช้น้ำและสารเคมีอย่างเข้มข้น โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรรอบข้าง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งบนดินและแหล่งน้ำ นอกจากนี้ ยังพบการบุกรุกพื้นที่ป่าและเขตชลประทานเพื่อทำสวนทุเรียน โดยเฉพาะที่ จ.ตราด ทั้งนี้ การทำการเกษตรที่ขาดความรับผิดชอบของทุนจีน เสี่ยงทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ 

งานวิจัยฯ บ่งชี้วิกฤตการรุกป่าปลูกทุเรียนของทุนจีนต้องเร่งแก้ไข มิเช่นนั้น ล้งไทยซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 10% จะต้องหายไป เพราะที่ผ่านมาแทบไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากรัฐบาล ต่างจากล้งจีนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอย่างเต็มที่ทั้งเรื่องเงินทุนและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ และหากรัฐบาลไทยปล่อยให้ทุนจีนควบคุมกลไกตลาดทุเรียนทั้งระบบ อาจนำไปสู่การสูญเสียความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรไทยในระยะยาว




สำหรับท่าที่ของภาครัฐต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น  นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้ นายสุรชัย อจลบุญ  อธิบดีกรมป่าไม้ ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธาน คทช. จังหวัด ให้ตรวจสอบที่ดินทำกิน ซึ่งกรมป่าไม้สำรวจ และให้ คทช. นำไปจัดสรรให้แก่ชาวบ้านเพื่อใช้เป็นที่ดินทำกิน หากตรวจพบว่าทำผิดเงื่อนไขของ คทช. ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น

“หากพบว่าที่ดิน คทช. ถูกนำไปใช้ผิดเงื่อนไข หรือผิดวัตถุประสงค์ อาจพิจารณานำพื้นที่ดังกล่าว กลับมาเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์แบบอื่น เช่น นำกลับมาฟื้นฟูให้กลายเป็นป่าหรือพัฒนาให้เป็นป่าชุมชน”

ขณะที่ นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ร่วมแถลงข่าวการแก้ปัญหาโอนสิทธิ์ซื้อขายเปลี่ยนมือพื้นที่ดำเนินการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) เผยเบื้องต้นมีการดำเนินตรวจยึดพื้นที่และแจ้งความดำเนินคดี กรณีที่ดิน คทช. ที่กรมป่าไม้มอบให้กับ สคทช. ไปใช้ในโครงการ คทช. ในภาคตะวันออก ที่มีการโอนสิทธิ์ซื้อขายเปลี่ยนมือโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาระยะยาว เดิมเกษตรกรทำผิดเงื่อนไข ทำได้เพียงแค่ยืดคืนพื้นที่คืนรัฐ แต่ยังไม่มีบทลงโทษเหมือนกับการรุกป่าสงวนแห่งชาติ หรือป่าอนุรักษ์ จึงอยู่ระหว่างหารือทาง สคทช.ว่าอาจเพิ่มเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ กำหนดบทลงโทษที่เข้มข้นสำหรับเกษตรกรที่ได้สิทธิที่ดิน คทช.เพื่อไม่ให้ทำผิดเงื่อนไขซ้ำ

รวมทั้งยังประสานสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ในการใช้ดาวเทียมตรวจสอบที่ดินแปลงใหญ่ที่ส่งมอบให้ คทช. ไปแล้ว 7.2 ล้านไร่จาก 12 ล้านไร่ โดยจะนำร่องฉะเชิงเทรา และจันทบุรีที่พบถูกนำที่ดินไปซื้อขายเปลี่ยนมือมากกว่า 1,000 ไร่ และให้เจ้าหน้าที่ลงกราวด์เช็กสำรวจพื้นที่อีกครั้ง

 สุดท้าย กรณีการรุกป่าสร้าง “วิมานหนาม” ของ “ทุนจีน” เป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องเฝ้าติดตาม นอกจากปฏิบัติการพิทักษ์ป่าคืนพื้นที่ป่า รัฐบาลไทยจะดำเนินการกอบกู้สถานการณ์อย่างไร หากปล่อยให้ทุนจีนควบคุมกลไกตลาดทุเรียนทั้งระบบพังแน่. 


กำลังโหลดความคิดเห็น