ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นย่างก้าวสำคัญว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนของเด็กในประเทศไทย สำหรับ “พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2568” หรือ “กฎหมายห้ามตีเด็ก” ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป และคุ้มครองตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงอายุ 20 ปี
ที่สำคัญคือ ถือเป็น Hot Issue ที่ได้รับความสนใจในสังคมไทยอย่างมาก เพราะการปรับแก้กฎหมายใหม่ย้อนแย้งกับค่านิยมการเลี้ยงลูกของคนไทยอันสะท้อนผ่านสำนวนโบราณ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับค่านิยมสังคมไทยให้เลี้ยงบุตรหลานเชิงบวก ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งมีส่วนสร้างบาดแผลในหัวใจเด็ก แต่จะสื่อสารโดยไม่ใช้ความรุนแรง พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล เนื่องจากสังคมยุคใหม่เล็งเห็นว่าการตีไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเสมอไป
อีกทั้งการทำโทษโดยการตีอาจเป็นวิธีการที่สร้างความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นกับเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยไม่มีสิ่งใดพิสูจน์ได้ว่าการทำโทษลักษณะนี้จะทำให้เด็กเติบโตมาเป็นคนดี ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันการลงโทษเด็กถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก
รวมทั้งสอดรับกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (The United Nations Convention on the Rights of the Child, หรือ UNCRC) ตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 196 ประเทศทั่วโลก ร่วมลงนามรับรองและให้สัตยาบันเอาไว้
ประเด็นสำคัญ มาตรา 1567(2) กำหนดให้ ผู้ใช้อำนาจปกครอง มีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน หรือปรับพฤติกรรม โดยไม่ต้องทำทารุณกรรมหรือทำร้ายด้วยความรุนแรง ต่อร่างกายและจิตใจหรือกระทำโดยมิชอบ หมายถึงผู้ปกครองมีสิทธิสั่งสอนลูกจริง แต่ไม่สามารถใช้ความรุนแรง ทางกายวาจา ทารุณกรรม การกระทำมิชอบ เช่น ด้อยค่า ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเด็ก
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.พรรคประชาชน เปิดเผยว่าหากตีความตามกฎหมายแบบ 100 % หมายความว่าพ่อแม่ผู้ปกครองห้ามเฆี่ยนตีบุตรหลานโดยเด็ดขาด และให้ใช้การว่ากล่าวตักเตือนแทน เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนสภาพจิตใจเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ
ประเด็นสำคัญในทางปฏิบัติกฎหมายไม่ได้ต้องการเอาผิดพ่อแม่ผู้ปกครอง หากเป็นการกระทำที่พลั้งมือ เผลอตีบุตรหลานด้วยความรัก อยากให้ได้ดิบได้ดี แต่หากเกิดการร้องเรียนเข้ามาก็ต้องมาสืบเจตนาต่อไป โดยเฉพาะกรณีพ่อแม่ผู้ปกครองทำร้ายร่างกายบุตรหลานจนเกินขอบเขต ถึงขั้นเลือดตกยางออก ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางร่างกาย กรณีแบบนี้จะเป็นหน้าที่ของประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 กำกับดูแลอีกขั้น
อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของกฎหมายห้ามตีเด็ก เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนว่าไทยไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กทุกกรณี สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งรัฐภาคี หลังประกาศใช้กฎหมายประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 67 ของโลกที่มีกฎหมายห้ามตีเด็ก และจะเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายยุติความรุนแรงต่อเด็ก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้มีการออกกฎหมายและประกาศห้ามตีเด็กเป็นประเทศที่ 66 ของโลก และถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่ น.ส.ภัสริน รามวงศ์ สส.พรรคประชาชน เปิดเผยว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสังคมที่ปลอดภัยเน้นการเลี้ยงลูกเชิงบวกอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก โดยมีการปรับแก้ถ้อยคำที่เปิดช่องโหว่ให้สามารถทารุณกรรมเด็ก ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสังคมที่ปลอดภัย
กฎหมายห้ามตีเด็กจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์การเลี้ยงดูเด็กเป็นการเลี้ยงลูกเชิงบวกอันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก โดยเน้นเด็กเป็นศูนย์กลางของครอบครัว และยึดหลักการ The Best Interest of The Child บิดามารดาและผู้ปกครองในการอบรมเลี้ยงดูอย่างสร้างสรรค์ปราศจากความรุนแรง และเน้นการปกป้องคุ้มครองเด็กในทุกมิติ
อย่างไรก็ดี การแก้กฎหมายมาตราเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างครบวงจร ดังหนั้น เป็นภารกิจของรัฐในการสร้างกลไกส่งเสริมให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ เข้าถึงการศึกษาที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจที่เหมาะสม รวมทั้ง ส่งเสริมสวัสดิการที่อำนวยให้บิดามารดาสามารถเข้าถึงการให้บริการเลี้ยงดูเด็กที่มีคุณภาพได้อย่างครบวงจร เช่น การจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เพียงพอ การลาคลอด และลางานเลี้ยงดูบุตรที่เหมาะสม ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความเป็นอยู่ของครอบครัวในทุกระดับ
ขณะเดียวกัน การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเชิงบวกจะช่วยสร้างความเข้าใจในครอบครัวว่าความรัก ความเคารพ และการสื่อสารคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก เป็นรากฐานของสังคมที่เอื้ออาทรและลดความรุนแรงลงได้
อย่างไรก็ดี หากตีความตามกฏหมายไม่ได้หมายความว่าห้ามตีบุตรหลายเสียทีเดียว ดร.นัดดาภา จิตต์แจ้ง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยเกี่ยวกับกฎหมายห้ามตีเด็กเป็นการแก้คำจำกัดความในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ใช้กันมากว่า 80 ปี ให้แคบลง จากเดิมที่ระบุว่า “ให้ลงโทษบุตรหลานตามสมควร” เปลี่ยนเป็น “ห้ามทารุณกรรม ทำร้ายความรู้สึก”
ด้าน นายชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่าการประกาศใช้กฎหมายห้ามการทารุณกรรมหรือห้ามตีเด็ก จะช่วยให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลงได้ โดยพิจารณาจากผลการศึกษาจากงานวิจัยจำนวนมากระบุตรงกันว่าการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว เป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้เกิดพฤติกรรมเก็บกดและเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า การกระทำความรุนแรงไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม จะส่งผลกระทบต่อจิตใจและพฤติกรรมของเด็กในอนาคต
จากการศึกษาวิจัยพบว่า เด็กที่เคยถูกกระทำความรุนแรงภายในครอบครัว เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีแนวโน้มที่จะชอบใช้ความรุนแรงเช่นเดียวกับที่ตนเองเคยถูกกระทำ นอกจากนั้นยังพบว่า ฆาตกรต่อเนื่องหลายคนเคยมีประสบการณ์ฝังใจจากการถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวและเคยถูกกระทำทารุณกรรมในวัยเด็ก ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายห้ามการทารุณกรรมหรือห้ามตีเด็ก จะช่วยให้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวลดลง
“สมัยก่อนพ่อแม่ผู้ปกครองอาจมีแนวคิดว่าการเลี้ยงดูด้วยไม้เรียว ดังคำสุภาษิตโบราณที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” นั้น จะทำให้ลูกหลานได้ดีเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองก็ได้ดีเพราะไม้เรียวเช่นกัน แต่ปัจจุบันมีมุมมองและความเชื่อจากคนอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มองว่าการเลี้ยงดูลูกแบบไม่ต้องตี ไม่ต้องใช้ความรุนแรงก็ทำให้ลูกประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ทุกวันนี้พัฒนาการทางสังคมก้าวหน้าไปมาก การตีหรือการลงโทษเด็กอาจเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยเป็นสิ่งที่ผิดปกติสำหรับเด็กยุคนี้ ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างเห็นด้วยกับแนวคิดนี้และมีการออกกฎหมายบังคับที่ชัดเจน” นายชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภา กล่าว
สรุปว่ากฏหมายไม่ได้ห้ามตีเด็กหลายเสียทีเดียว พ่อแม่ผู้ปกครองยังตีบุตรหลานเป็นการสั่งสอนด้วยความรักปราถนาดีได้แต่ต้องไม่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งหากเกิดการร้องเรียนก็ต้องมาสืบเจตนาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายต่อไป.