ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การรวมร่าง GULF - INTUCH เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่ “กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์” โดยยังคงใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “GULF” มีผลวันที่ 1 เมษายน 2568 การกลับมาในร่างใหม่จะทำให้ฐานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น
โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการควบรวมกิจการตามแผนที่กำหนดไว้
ภายหลังจากการควบรวม GULF และ INTUCH จะใช้ชื่อใหม่ว่า “บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)” มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 14,939 ล้านบาท มูลค่าหุ้นที่ตราไว้(พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยยังคงใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า GULF มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 และจะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งในวันที่ 3 เมษายน 2568
อีกทั้งยังอนุมัติเลือกตั้งกรรมการ GULF รวม 12 คน แบ่งได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก กรรมการ GULF ที่ได้รับแต่งตั้งต่อเนื่องจากบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) คือ นายวิเศษ จูภิบาล, นายปรีดี ดาวฉาย, นายสมประสงค์ บุญยะชัย, นายสารัชถ์ รัตนาวะดี, นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์, นายบุญชัย ถิราติ, น.ส.ยุพาพิน วังวิวัฒน์ และนางโชติกุล สุขภิรมย์เกษม
ส่วนอีกกลุ่มเป็นกรรมการ GULF ที่แต่งตั้งเข้ามาใหม่คือ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ, ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์, นางสิริวิภา สุพรรณธเนศ, นายดิษทัต ปันยารชุน
บล.กสิกรไทย มองว่า GULF จะมีโอกาสเติบโตในระยะยาว โดยโครงการลงทุนในมือมีจำนวนมาก และความสามารถในการควบรวมกิจการ รวมถึงความโดดเด่นในการพัฒนา ยังเป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนการเติบโตของบริษัท หากอิงกับงบการเงินเสมือน ฐานทุนของบริษัทใหม่อาจเพิ่มขึ้นเป็น 3.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทใหม่จะมีการแสดงงบการเงินครั้งแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568
GULF ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding company) ดำเนินธุรกิจ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ธุรกิจดิจิทัล ก่อตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคท 2560 ด้วยราคา IPO ที่ 45 บาท มีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท และแตกพาร์ เป็น 1 บาท เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 มีทุนจดทะเบียน 11,733,149,998 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวนทั้งสิ้น 11,733,149,998 หุ้น ราคาปิดซื้อขายวันสุดท้าย (20 มีนาคม 2568) อยู่ที่ 49.75 บาท
สำหรับ INTUCH ประกอบธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยี และดิจิทัล โดยการถือหุ้นและเข้าไปบริหารงาน (Holding Company) ก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2526 เดิมใช้ชื่อว่า “ชินวัตร คอมพิวเตอร์ เซอร์วิส แอนด์ อินเวสต์เมนต์” จากนั้นในปี 2544 เปลี่ยนชื่อเป็น “ชิน คอร์ปอเรชั่น” และในปี 2557 เปลี่ยนเป็นชื่อที่ใช้ในปัจจุบัน “อินทัช โฮลดิ้งส์”
INTUCH เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2533 ด้วยราคา IPO ที่ 250 บาท มีมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท และได้มีการแตกพาร์ เป็น 1 บาท เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2544 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 3,206,687,685 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญ จำนวนทั้งสิ้น 3,206,687,685 หุ้น ราคาปิดซื้อขายวันสุดท้าย (20 มี.ค.2568) อยู่ที่ 81.50 บาท
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ย้ำว่า ประโยชน์จากการควบรวมกับ INTUCH จะทำให้บริษัทใหม่มีฐานะการเงินที่แข็งแรงขึ้น เนื่องจากบริษัทใหม่จะถือหุ้นโดยตรงใน AIS สัดส่วน 40% ซึ่งสามารถจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาได้ไม่ต่ำกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี กระแสเงินสดและเงินปันผลมากขึ้นกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.8 เท่า จากเดิมไม่เกิน 1.8 เท่า และอันดับเครดิตเรทติ้งจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง จากเดิมที่มีต้นทุนเงินกู้ที่ระดับ 3%
ภายหลังการควบรวมกิจการจะทำให้บริษัทใหม่มี 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ พลังงาน, โครงสร้างพื้นฐาน, ดิจิทัล และ ธุรกิจการลงทุนอื่น ๆ เช่น การลงทุนใน ADVANC และ THCOM โดยบริษัทใหม่จะมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจพลังงานราว 60% ที่เหลืออีก 40% มาจากธุรกิจอื่น
สำหรับแผนลงทุน 5 ปี ของบริษัทใหม่ ตั้งงบไว้ประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนในปี 2568 ราว 20,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เน้นธุรกิจพลังงานสะอาด คิดเป็นสัดส่วน 60-70% ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการรุกธุรกิจดาต้า เซ็นเตอร์ เฟส 2 และ 3 หลังเฟสแรก กำลังผลิต 25 เมกะวัตต์ มีลูกค้าครบแล้ว โดยคาดหวังว่าดาต้า เซ็นเตอร์ จะอยู่ที่ระดับ 200 เมกะวัตต์ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทได้รับการส่งเสริมบีโอไอ ในโครงการดาต้า เซ็นเตอร์ เฟส 2 กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ในนามบริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ 02 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม Gulf, Singapore Telecommunications และ AIS เงินลงทุน 13,480 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
นอกจากนั้น ในปีนี้ บริษัทมีแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าหินกอง และโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ในเครือบริษัทฯ โดยราคานำเข้า LNG ค่อนข้างต่ำ ขณะเดียวกันบริษัทฯอยู่ระหว่างเจรจาทำสัญญานำเข้า LNG ระยะยาว 10 ปี ราวปีละ 2-3ล้านตันภายในปีนี้
สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 2568 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 20-25% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น 1,500 เมกะวัตต์ มาจากโครงการหินกอง (HKP) หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา
ส่วนการลงทุนในการซื้อหุ้น KBANK นั้น นายสารัชถ์ ย้ำว่า เป็นการซื้อเพื่อการลงทุน มีโอกาสการลงทุนได้หมดทั้งซื้อหรือขายขึ้นอยู่ที่ราคา หากราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมาก ๆ ก็คงขาย หากราคาหุ้น ตกมาที่ 90 บาท ก็คงซื้อหุ้นเพิ่มอีก
ถึงแม้นายสารัชถ์ จะย้ำการเข้าถือหุ้นใน KBANK เป็นการซื้อเพื่อการลงทุน แต่บทวิเคราะห์โดย บล.บัวหลวง ชี้ว่า GULF ปัจจุบันถือหุ้น 3.25% ใน KBANK ซึ่งส่งผลให้ตลาดเริ่มคาดเดาว่า GULF อาจมีเจตนาจะทำเช่นเดียวกับที่เคยทำกับ INTUCH แม้ GULF ได้ประกาศต่อสาธารณะว่าการถือหุ้นใน KBANK นี้มีจุดประสงค์เพื่อการซื้อขายและรับเงินปันผลเท่านั้น แต่หาก GULF เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารนั้น จะบ่งชี้ถึงความสนใจทางกลยุทธ์ที่มากขึ้น
จากมุมมองทางการเงิน GULF จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการลงทุนใน KBANK เนื่องจากต้นทุนการเงินที่ลดลงจากการเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิต และฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้นหลังการควบรวมกับ INTUCH ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของ KBANK ทำให้กระแสเงินปันผลที่มั่นคง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของ GULF
โดยที่การถือหุ้น 3.25% ในปัจจุบัน บล.บัวหลวง ประมาณการว่า อาจมีอัพไซด์ประมาณ 1.2% ต่อประมาณการกำไรของ GULF ในปี 2568 ในกรณีที่ดีที่สุด หากว่า GULF สามารถผ่านอุปสรรคด้านกฎระเบียบและซื้อหุ้น 30% ใน KBANK ได้ อัพไซด์ต่อกำไรของ GULF อาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 43%
บทวิเคราะห์ของ บล.บัวหลวง ยังมองว่าเมื่อ GULF ระดมทุน 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขีดความสามารถในการกู้ยืมราว 1 แสนล้านบาท และเมื่อควบรวมกับ INTUCH แล้ว ความสามารถในการก่อหนี้ของ GULF จะเพิ่มขึ้นอีก 5-6 แสนล้านบาท เป็นประมาณ 8 แสนล้านบาท ความสามารถในการกู้ยืมเงินที่ยังมีอีกจำนวนมาก KBANK ไม่น่าจะเป็นเป้าหมายการลงทุนสุดท้ายของ GULF โดยคาดว่า GULF จะมุ่งเป้าไปที่บริษัทที่มี PER ต่ำ, กำไรสม่ำเสมอไม่ผันผวน, และอาจมีผลประโยชน์ร่วมเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม เช่น บริษัทในกลุ่มพลังงานทดแทน, พลังงาน, หรือโครงสร้างพื้นฐาน
นับเป็นการสยายปีกของ GULF ที่ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้