xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชายแดน “ไทย-เขมร” คุกรุ่นต่อเนื่อง ทหารแขมร์เปิดปฏิบัติการยั่วยุเต็มพิกัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทหารเขมรไม่พอใจ ชี้หน้าทหารไทย หลังสั่งรื้อเปล-เพิงพัก สร้างรุกล้ำใกล้หลักเขตแดนที่ 36
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ใครที่ติดตามสถานการณ์ชายแดนระหว่าง “ไทย-กัมพูชา” ก็รับรู้ได้ว่า อยู่ในภาวะตึงเครียดมาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุ “พลจัตวาเนี๊ยะ วงศ์” ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 42 ภาคทหาร 4 ประเทศกัมพูชา และคณะของภรรยา พากันมาทำกิจกรรมที่ปราสาทตาเมือนธม ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา 

ด้วยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ดูเหมือนว่า  “ทหารแขมร์”  จะออกอาการไม่พอใจและมักจะปฏิบัติการณ์ยั่วยุมาอย่างต่อเนื่อง แม้ระดับบนของทั้งสองประเทศจะพยายามปั้นหน้ารักษาสัมพันธไมตรีต่อกันไว้ก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นเหตุเพลิงไหม้ศาลาตรีมุขที่ช่องบก รอยต่อไทย-ลาว-กัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กัมพูชาเข้ายึดครอง และมีการตัดลวดหนาม ที่ทางฝั่งไทยวางเอาไว้ และมีการระดมกำลังทหารและประชาชนขึ้นมาเที่ยวบนปราสาทอย่างผิดสังเกต

นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว สัญญาณแปลกๆ ที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือ การที่ “พลเอก เตีย เซรย ฮา” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ขอเลื่อนการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา(GBC : General Border Committee)) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพวันที่ 21 มีนาคมนี้ ออกไปก่อน เนื่องจากติดภารกิจต้องไปร่วมงานกับ “สมเด็จฯ ฮุนเซน”

ด้วยก่อนหน้านี้ นายภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย ให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้เวทีนี้ในการเคลียร์ปัญหาเรื่องปราสาทตาเมือนธม

ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์กันให้ฝ่ายความมั่นคงว่าอาจเป็นเพราะสถานการณ์ชายแดนตึงเครียด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาจึงยังไม่อยากมาไทยในช่วงนี้ ที่สำคัญคือ เมื่อต้นเดือนมีนาคม พลเอก เตีย เซรยฮา ก็ลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เยี่ยมปลอบขวัญทหารกัมพูชา นำเสบียงไปให้ และขึ้นมาบนปราสาทตาเมือนธม พร้อมกำลังทหารจำนวนมาก

ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ เป็นการเดินทางที่เกิดหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ศาลาตรีมุขศาลาสันติภาพ ที่ช่องบก รอยต่อไทย-กัมพูชาอีกด้วย

อย่างไรก็ดี นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไร ทางกัมพูชาได้แจ้งมาว่าจะขอเลื่อนการประชุมในช่วงระหว่างวันที่ 23 -25 มีนาคม แต่ตนเองติดประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงขอเลื่อนออกไป ซึ่งคาดว่าน่าจะได้มีการประชุมในช่วงต้นเมษายนนี้

เรื่องร้อนล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปรากฏว่า มีทหารกัมพูชาสร้างเพิงที่พักในพื้นที่ห้ามใช้ประโยชน์ ตาม MOU 2543 ที่จังหวัดสระแก้ว โดยปรากฏเป็นคลิปการโต้เถียงระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา หลังทหารไทยแจ้งให้ทหารกัมพูชารื้อเพิงพัก แต่ทหารกัมพูชาไม่ยอม

“พลตรีวินธัย สุวารี” โฆษกกองทัพบก ชี้แจงว่า เป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 เวลา 10.30 น. บริเวณพื้นที่ชายแดน บ้านคลองแผง ตำบลทัพเสด็จ อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ตรงข้ามกับบ้านบันเตียเมียนริด ตำบลโคกละเมียด อำเภอทมอพวก จังหวัดบันเตียเมียนเจย

สืบเนื่องจากฝ่ายทหารไทย โดยหน่วยเฉพาะกิจตาพระยา (ฉก.ตาพระยา) ได้ทำการลาดตระเวนพื้นที่ และพบว่ามีทหารกัมพูชาเข้าไปผูกเปลและสร้างเพิงพักอยู่ท้ายแปลงการเกษตร ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายได้มีข้อตกลงร่วมกันไว้ว่า ห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์

ทหารไทยจึงได้เดินทางเข้าไปพูดคุยและทักท้วงกับทหารกัมพูชาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณจุดตรวจการณ์ โดยขอความร่วมมือไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว และให้รื้อถอนเพิงพักที่ทหารกัมพูชาได้สร้างไว้บริเวณท้ายแปลงการเกษตร ใกล้หลักเขตแดนที่ 36 ออก

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน หน่วยเฉพาะกิจตาพระยาได้ดำเนินการทำหนังสือประท้วงต่อฝ่ายกัมพูชาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว

ต่อมานายภูมิธรรมได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่ามองประเด็นเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องน่ากังวลใจเกินไป ปัญหาชายแดนเป็นเรื่องที่คุยกันไม่จบ ทั้งพื้นที่บนบกและพื้นที่ทางทะเล เพราะใช้แผนที่คนละฉบับ ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ขีดเส้นพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งมีพื้นที่ที่ทับกัน ยังไม่มีความชัดเจน และอยู่ระหว่างการเจรจา ไม่ว่าจะเป็นชายแดนไทย-เมียนมา ชายแดนไทย-ลาว ก็มีปัญหายืดเยื้อ เช่นเดียวกับ ชายแดนไทย-กัมพูชา

ดังนั้น พื้นที่ล้ำกันไปมา ให้เจรจาด้วยสันติวิธี ซึ่งความอดทนอดกลั้นของแต่ละประเทศ มีไม่เท่ากัน เพราะต่างฝ่ายต่างมองว่า เป็นพื้นที่ของตัวเอง จึงจำเป็นต้องใช้การเจรจาอย่างสันติวิธี พื้นที่ไหนมีปัญหาแล้วคุยกันยังไม่ได้ ก็ต้องหยุดเอาไว้ก่อน

หากรุกล้ำเข้ามาก็ต้องพูดคุยกัน ใช้ความอดทนอดกลั้นแก้ปัญหา ไม่อยากให้ไปขยาย เพราะเรื่องนี้มีทางออก2 แนวทางเท่านั้น คือเจรจาโดยสันติวิธี และต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใคร และเคลื่อนกำลังออกมา เพื่อเข้ายึดพื้นที่ ก็จะนำไปสู่สงคราม และใช้ความรุนแรง ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น

“ต้องเจรจากันต่อ ผ่านคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางหาทางออก ตนมองว่ายังไม่ซีเรียสอะไร ระดับผู้นำของรัฐบาลยังพูดคุยกันได้”นายภูมิธรรมกล่าว

เมื่อถามว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ห้ามใช้ประโยชน์ตาม MOU43 แต่ทหารกัมพูชาได้ละเมิดโดยการไปสร้างเพิงที่พักถือเป็นการยั่วยุหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อย่าไปมองว่าเป็นการยั่วยุ เพราะจะทำให้เกิดสงครามมีการรบกัน

“ เราปกป้องอธิปไตยของเรา แต่ไม่อยากให้ไปถึงการสู้รบ เพราะความสูญเสียจะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนี้ตลอด เมื่อรุกล้ำเข้ามาเราก็จะทำหนังสือประท้วงและมีการเจรจาผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ แต่ถ้ายอมรับกันไม่ได้ก็ให้หยุดประเด็นพิพาทกันไว้ก่อน จะไม่หยิบยกคุยกัน อยากให้ระมัดระวังในเรื่องนี้เพราะสงครามไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใคร มีแต่การทำร้ายชีวิตและทรัพย์สิน อย่ามองไปไกลถึงขนาดว่าเป็นการยั่วยุ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของอารมณ์คน เพราะมีความคิดที่แตกต่างกัน อารมณ์ก็จะรุนแรง”
เมื่อถามว่า แต่ละฝ่ายต้องอดทนอดกลั้นต่อข้อพิพาทตามแนวชายแดนไทน-กัมพูชา ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนเรียกร้องกับทุกภาคส่วน เรื่องปัญหาข้อพิพาทว่าให้ใช้ความอดทนอดกลั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดก็ตาม เช่น ทะเลจีนใต้ การสู้รบยูเครน -รัสเซีย การสู้รบอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ให้ใช้การเจรจาอย่างสันติวิธี ไม่อยากให้เกิดสงคราม เรามีจุดยืนชัดเจนในเรื่องนี้ ไม่อยากให้ไปไกล

ขณะที่  “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร”  นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ทางกองทัพดูแลอยู่แล้ว เป็นเรื่องระหว่างกองทัพกับกองทัพคุยกัน ตัวนายกรัฐมนตรีของสองประเทศยังไม่ได้คุยกันเรื่องนี้

ด้าน “นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต  ของกัมพูชาย้ำว่าข้อพิพาทชายแดนไม่ควรแก้ไขด้วยกำลังทหาร เพราะจะทำให้เกิดความสูญเสียต่อทั้งสองฝ่าย และยังเน้นย้ำว่าการเจรจาทางเทคนิคและโดยสันติ เช่นที่รัฐบาลได้ดำเนินการในอดีตเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดเพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน

เหตุเพลิงไหม้ศาลาตรีมุขที่ช่องบก รอยต่อไทย-กัมพูชา
 แต่คำยืนยันที่หนักแน่นและมีน้ำหนักที่สุดมาจาก  “นายทักษิณ ชินวัตร” พ่อของนายกรัฐนตรีไทย ที่กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ตามจริงแล้วกัมพูชากับไทยค่อนข้างจะมีความชัดเจนในเรื่องสนธิสัญญา ต่างคนต่างยอมรับซึ่งกันและกันอยู่ ถ้าไม่ไปหวั่นไหว การนำเสนอของฝ่ายค้าน เพราะบางทีฝ่ายค้านทางกัมพูชา ก็มักจะยุให้ตีกัน ดังนั้น อย่าไปหวั่นไหว ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไร

ที่สำคัญคือ นายทักษิณยืนยันว่า “นายกฯ ของทั้ง 2 ประเทศ” สามารถพูดคุยกันได้

“พ่อกับพ่อเพื่อนกัน ลูกกับลูกเพื่อนกัน” และ “ไม่มีปัญหาเรื่องการส่งต่อจากเจเนอเรชั่นพ่อไปยังลูก”

 อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่ปะทุคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องติดตามกันต่อไปว่า เรื่องนี้จะดำเนินไปอย่างไร ด้วยมีหลายฝ่ายมองว่า เป็นหนึ่งใน “ดีลแลกประเทศ” ที่ไม่อาจกระพริบตาได้เช่นกัน. 


กำลังโหลดความคิดเห็น