xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นายกฯ อิ๊งค์” สืบทอดนิติกรรมอำพราง? “สรรพากร” รับรอง “โมเดลหลบภาษีแห่งชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ “กรมสรรพากร” โดย “นายปิ่นสาย สุรัสวดี” ผู้เป็นอธิบดี จะออกมายืนยันว่า การใช้ “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” หรือ “ตั๋ว PN” ซึ่งย่อมาจาก Promissory Note ที่ระบุว่าจะชำระเงินเมื่อทวงถาม ไม่มีกำหนดจ่ายเงินที่ชัดเจน และไม่มีดอกเบี้ยแม้แต่สลึงเดียวในการซื้อหุ้นจากกงสีจะสามารถทำได้ และมิได้เป็น “การหลบเลี่ยงภาษี” แต่ดูเหมือนว่า พฤติกรรมที่หลายคนใช้คำว่า “ซุกหุ้นภาค 3” จะเกิดคำถามตามมาอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น

ด้วยเห็นว่า เข้าข่ายใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อ “หลบเลี่ยงภาษี” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศไม่สมควรกระทำ

ดังนั้น หลังจากจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จบลงไปแบบสบายๆ “หัวหน้าเท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร จึงประกาศเปิด “ปฏิบัติการโรยเกลือพรรคเพื่อไทย” ในกรณีดังกล่าวเป็นภาคต่อกับสาธารณชนเป็นที่เรียบร้อย

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดว่า การใช้ “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” หรือตั๋ว PN คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้ออกตั๋ว” หรือลูกหนี้ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้รับเงิน” นั้น ทำให้ “พ่อนายกฯ” นายทักษิณ ชินวัตร ถูกยึดทรัพย์มาแล้ว และเป็นคดีที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์การยึดทรัพย์ผู้นำประเทศของไทย ที่รู้จักกันดี คือ “คดีซุกหุ้นภาค 2”

คดีดังกล่าว ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดี หมายเลขแดงที่ อม.1/2553 เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หรือคดียึดทรัพย์นายทักษิณ ชินวัตร 46,737 ล้านบาท ศาลฎีกาฯ เห็นว่า การออก “ตั๋วสัญญาใช้เงิน” ชำระค่าหุ้นมีพิรุธ เป็นการอำพรางการโอนหุ้นชินคอร์ป เพราะสุดท้ายแล้ว หุ้นชินคอร์ป ที่นายทักษิณโอนให้กับบุคคลต่าง ๆ ในครอบครัว ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนายทักษิณ ชินวัตร

คดีนี้ ศาลวินิจฉัยยึดทรัพย์ เมื่อปี 2553

นับเป็นเรื่องใหญ่ของ “ครอบครัวชินวัตร” ที่ไม่น่าจะลืมเลือนได้ง่าย ๆ แต่เหตุไฉน “พ่อนายกฯ” และ “นายกฯ ลูกสาว” กลับเลือกเดินบนเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงซ้ำรอยประวัติศาสตร์ ที่ทำให้สังคมกังขาไม่จบสิ้น

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคประชาชน กรีดเปิดแผลในศึกอภิปรายเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา โดยตั้งประเด็นกล่าวหาน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำนิติกรรมอำพราง มีพฤติการณ์หนีภาษี โดยหลังจากได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2567 นายกฯ ได้โอนหุ้น 2 บริษัท มูลค่า 393.5 ล้านบาท ไปให้แม่และพี่สาว

กล่าวคือ บริษัทอัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ 224.1 ล้านบาท โอนไปให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นแม่ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 และบริษัทประไหมสุหรี พรอพเพอร์ตี้ จำกัด จำนวน 169.4 ล้านบาท โอนให้ น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 คำถามคือ การโอนหุ้นดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี เป็นการให้หรือขายหุ้นกันแน่ เพราะหากเป็นการให้หุ้น แม่และพี่สาวของนายกรัฐมนตรี ต้องจ่าย ‘ภาษีการรับให้’ รวมกันทั้งสิ้น 18.2 ล้านบาท

นายวิโรจน์ ยังเปิดข้อมูลนายกรัฐมนตรี มีพฤติกรรมทำนิติกรรมอำพรางหนี “ภาษีการรับให้” มาตั้งแต่ปี 2559 โดยการเปิดข้อมูลหนี้ของ น.ส.แพทองธาร ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 9 รายการ มูลค่าหนี้สินรวม 4,434.5 ล้านบาท โดยนายกฯ ได้ยื่นเอกสารแนบ 9 แผ่น ดังนี้

พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ (พี่สาว) 4 ฉบับ รวมเป็นเงิน 2,388,724,095.42 บาท ชำระค่าหุ้นบริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด, บริษัท เอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัด และ บริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด โดยจะต้องเสียภาษีอย่างน้อย 118.9 ล้านบาท

พานทองแท้ ชินวัตร (พี่ชาย) 1 ฉบับ เป็นเงิน 335,420,541 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 16.3 ล้านบาท

บรรณพจน์ ดามาพงศ์ (ลุง) 2 ฉบับ เป็นเงิน 1,315,460,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอ ไอ แมนเนจเม้นท์ จำกัด และ บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 65.3 ล้านบาท

บุษบา ดามาพงศ์ (ป้าสะใภ้) 1 ฉบับ เป็นเงิน 258,400,000 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 12.4 ล้านบาท

คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (มารดา) 1 ฉบับ เป็นเงิน 136,517,701.60 บาท ชำระค่าหุ้น บริษัท โอเอไอ คอนซัลแต้นท์ แอนด์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ต้องเสียภาษีอย่างน้อย 5.8 ล้านบาท

หนี้สินของนายกรัฐมนตรี ทั้ง 9 รายการดังกล่าว ไม่ใช่หนี้ในรูปแบบสัญญาเงินกู้ แต่เป็นหนี้ที่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว PN ที่มีเงื่อนไขคือลูกหนี้จะชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้ทวงถาม โดยไม่มีดอกเบี้ย หมายความว่าหนี้สินดังกล่าวข้างต้นเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาจ่ายเงินและไม่มีดอกเบี้ย นายวิโรจน์ จึงตั้งข้อสงสัยว่า นายกรัฐมนตรีใช้ตั๋ว PN สร้าง “หนี้ปลอม” เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนสูงถึง 218.7ล้านบาท ใช่หรือไม่

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร โต้กลับข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นความจริง และได้แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ครบถ้วนตามขั้นตอน การทำธุรกรรมหุ้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2559 จากการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท โดยการซื้อขายผ่านตั๋ว PN ซึ่งยังไม่มีการเสียภาษีเพราะยังไม่มีการชำระเงิน เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีเงินชำระค่าหุ้น ซึ่งแผนชำระเงินรอบแรกจะเกิดขึ้นภายในปีหน้า 2569

คำถามเกิดขึ้นทันทีว่า ถ้าไม่เจอศึกอภิปรายจะมีกำหนดเวลาจ่ายหนี้ค่าหุ้นกันหรือไม่

ในกรณีเช่นเดียวกันนี้ นายวิโรจน์ ชื่นชม นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โอนหุ้นแสนสิริทั้งหมด จำนวนกว่า 661,002,734 หุ้น ให้แก่ลูกสาว ก่อนที่จะเข้ามาทำงานการเมือง โดยเป็นการโอน “โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน” และได้เสีย “ภาษีการรับให้” อย่างครบถ้วนเป็นเงิน 32.05 ล้านบาท โดยลูกสาวของเศรษฐา ในฐานะผู้รับให้ ได้ไปยื่นแบบเสียภาษีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“คุณเศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร ต่างก็เป็นนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย แต่การตัดสินใจในเรื่องการชำระภาษี ช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” นายวิโรจน์ เปรียบเทียบ

และยังตั้งคำถามต่อการออกมาชี้แจงของนายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ผู้ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันว่า การใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ระบุว่าจะชำระเงินเมื่อทวงถาม ไม่มีกำหนดจ่ายเงินที่ชัดเจน และไม่มีดอกเบี้ยแม้แต่สลึงเดียวในการซื้อหุ้นจากกงสีมูลค่า 4,434.5 ล้านบาท นั้นไม่เข้าข่ายหลบเลี่ยงภาษี เป็นการมองเรื่องนี้ชั้นเดียว โดยไม่ได้พิจารณาว่านี่อาจเป็นนิติกรรมอำพรางที่ใช้ในการซื้อหุ้นทิพย์ เพื่อตบตาการได้รับหุ้นมาจากการให้เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีการรับให้ ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ในฐานะผู้รับหุ้นจะต้องเป็นผู้จ่ายภาษีการรับให้

พร้อมกับยกคดีความที่ศาลพิพากษา จำคุกอธิบดีกรมสรรพากร มาเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ ป.ป.ช. ฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร และอดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพวก ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตาม ป.อาญา ม.157 โดยร่วมกันช่วยเหลือบุตรชายและบุตรสาวของอดีตนายกฯ ทักษิณ เลี่ยงเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ในการซื้อหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาในตลาดหุ้น49.25 บาท ถือเป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร ม.39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท โดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

กรณีตั๋ว PN ที่น.ส.แพทองธาร ซื้อ “หุ้นทิพย์” ดังกล่าว เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและมีความเห็นหลากหลาย เช่น นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่องที่นายกรัฐมนตรี ใช้ตั๋ว PN ซื้อหุ้นจากครอบครัวมีคำถามผิดกฎหมายหรือไม่ว่า สรรพากร หรือ ป.ป.ช. จะเป็นผู้ตอบได้ ประเด็นที่ทำให้มีข้อกังขาคือ ทำไมตั๋ว PN ไม่มีการระบุว่าต้องชำระหนี้เมื่อใด แถมไม่มีดอกเบี้ยด้วย เหมือนกับเป็นหนี้เทียม ในทางธุรกิจผิดปกติแน่นอน แต่อาจอธิบายได้ว่าเป็นธุรกรรมภายในครอบครัว ก็ไม่ผิดปกติที่ลูกสาวขอติดเงินไว้ก่อน ส่วนการไม่คิดดอกเบี้ยก็เข้าใจได้ ส่วนจะสมเหตุสมผลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเมื่อจะเคลียร์หนี้ในปีหน้าก็ถือว่าครบถ้วนในการชี้แจง

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ กลับเห็นว่า กรณีเจตนาเป็นตั๋วสัญญาที่ไม่คิดจะใช้เงิน ก็ต้องถือเป็นนิติกรรมอำพราง

อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้ ไม่มีเหตุผลที่วิญญูชนจะเชื่อว่า พี่สาว พี่ชาย ลุง ป้าสะใภ้ จะต้องรีบร้อนขายหุ้นทั้งที่ผู้รับคือ น.ส.แพทองธาร ยังไม่พร้อมจะจ่ายเงิน เรื่องนี้ กรมสรรพากร และ ป.ป.ช. ควรตรวจสอบหุ้นในครอบครองของบุคคลเหล่านี้ว่าได้มาโดยชอบ หรือเป็นขบวนการซุกหุ้นของบุคคลในครอบครัวที่ต้องยึดหรืออายัดหรือไม่ หากมีการทำนิติกรรมอำพราง ความผิดสำเร็จไปแล้ว การเคลียร์หนี้ไม่ได้ทำให้ลบล้างความผิดที่เกิดขึ้นไปแล้ว

เมื่อมีความเห็นแตกเป็นสองฝักสองฝ่าย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็ฟาดต่อว่า มีคนจำนวนไม่น้อยพยายามอธิบายว่า การซื้อหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยใช้ตั๋ว PN ที่ไม่มีกำหนดชำระและไม่มีดอกเบี้ยนั้นเป็นเพียง “การวางแผนภาษี” ที่ไม่ผิดกฎหมาย ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่เมื่อถามกลับว่าใครที่ทำแบบนี้ ปรากฏว่าไม่มีใครกล้าตอบ กล้าแสดงตัว

คำถามคือ ถ้าวิธีการนี้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง จะต้องกลัวอะไร ไม่มีอะไรต้องปิดบัง การไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนว่าใครใช้บ้าง นี่คือสูตรลับเฉพาะของคนบางกลุ่มหรือไม่

หากกรมสรรพากร ยอมรับวิธีการเช่นนี้ โดยไม่ตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เท่ากับเปิดประตูให้ใครก็ตามสามารถขายหุ้นให้ลูกหรือเครือญาติแล้วให้ลูกออกตั๋ว PN แบบไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีกำหนดชำระมาแลกเปลี่ยนแทนการโอนแบบให้โดยตรง และกรมสรรพากร ก็จะไม่มีสิทธิเก็บ “ภาษีการรับให้” อีกต่อไป หรือเก็บได้น้อยลงอย่างมาก หากวิธีการนี้กลายเป็นแบบอย่างจะไม่มีใครโอนทรัพย์สินให้ลูกหลานโดยตรงอีกแล้ว ทุกคนจะขายแล้วเอาตั๋ว PN มาแลก ไม่คิดจะเก็บเงินจริง เพราะตั้งใจยกให้กันอยู่แล้ว

คำถามคือ จะยอมรับเรื่องนี้กันจริงหรือ? ในวันที่ประชาชนต้องเสียภาษีอย่างสุจริต กลับต้องมาเห็นคนบางกลุ่มเดินข้ามช่องว่างของกฎหมายได้อย่างแนบเนียน ด้วยเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อน จนกรมสรรพากรเองยังทำอะไรไม่ได้

เช่นเดียวกับ “รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง” ที่ให้ความเห็นเอาไว้ว่า หากกรมสรรพากรและคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ ถูกต้องต้ามกฎหมายและเหมาะสมตามจริยธรรม ต่อไปการที่จะมีผู้โอนทรัพย์สินให้บุคคลในครอบครัวก็ทำทีเป็นซื้อขาย แล้วทำหนังสือสัญญาใช้เงินที่ไม่มีดอกเบี้ยและไม่ต้องระบุวันจ่ายเงิน(หนังสือสัญญาไม่ต้องจ่ายเงิน) ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายส่งผลให้ภาษีมรดกที่กำหนดให้ผู้รับมรดกจะต้องจ่ายเป็นอันยกเลิกไปโดยปริยาย เท่ากับว่า ฝ่ายบริหารโดยกรมสรรพากรได้ตีความให้กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติบังคับใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ขณะที่ “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบข้อซักถามเรื่องกระทรวงการจะมีการออกมาตรการ เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี โดยใช้ตั๋วสัญญาการใช้เงิน หรือ PN หรือไม่ว่า “เรื่องนี้ขอดูรายละเอียดก่อน” พร้อมกับถามถึงข้อวิจารณ์ที่ว่า ประชาชนฟังการอภิปรายในสภาอาจจะใช้ช่องทางนี้ เพื่อเลี่ยงการชำระภาษีว่า “แล้วมันจะเลี่ยงได้อย่างไร”

ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ปฏิบัติการตามโรยเกลือ “นายกฯ อิ๊งค์” ของนายวิโรจน์เพื่อขอความชัดเจนจากกรมสรรพากรว่าจะมีคำตอบหรือความคืบหน้าอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการให้กรมสรรพากร มีประกาศหรือคำวินิจฉัยที่เป็นลายลักษณ์อักษรต่อกรณีการใช้ตั๋ว PN (ตั๋วสัญญาใช้เงิน) ในการซื้อหุ้น หรือทรัพย์สินอื่นใดว่าพฤติการณ์ใดบ้างที่เข้าข่ายการหลีกเลี่ยงการชำระภาษีการรับให้

และในกรณีที่เจ้าของกิจการต้องการจะโอนหุ้นบริษัทของตนเอง หรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการจะโอนที่ดินของตนเอง ให้กับลูกหลาน พ่อแม่ หรือคู่สมรส หากให้ผู้รับออกตั๋ว PN มาแลกกับการรับหุ้น หรือการรับทรัพย์สินอื่นใด กรมสรรพากรจะไม่พิจารณาว่าเป็นพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงภาษีการรับให้ในทุกกรณี ใช่หรือไม่ หรือมีหลักเกณฑ์ใดบ้าง ที่กรมสรรพากร จะพิจารณาว่าเป็นพฤติกรรมทำนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีการรับให้

กลายเป็นซีรี่ย์ “ซุกหุ้นภาค 3” ที่ชวนติดตามด้วยความระทึก


กำลังโหลดความคิดเห็น