คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน
ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไปจากประเด็นความขัดแย้งต่อนโยบายเวนคืนไปสู่ความขัดแย้งเห็นต่างในเรื่องพระราชอำนาจในการออกกฎหมายและพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1681 สภาบริหารได้ยอมรับ the Declaration of the Estates อย่างเป็นทางการและการกำหนดขอบเขตพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่ปรากฎใน the Declaration of the Estates นั่นคือ พระมหากษัตริย์จะทรงโปรดรับคำแนะนำจากสภาบริหารหรือไม่ตามที่พระองค์เห็นสมควร
ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1681 ได้มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในสภาบริหารหลังจากที่ไม่ได้มีการแต่งตั้งมาเป็นเวลาหลายปี แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งคนของพระมหากษัตริย์เข้าไปดำรงตำแหน่งในสภาบริหาร แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภาบริหารก็ยังไม่ราบรื่น
สภาบริหารยังคงผลักดันเรียกร้องสิทธิ์ในการให้คำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เพราะ พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด (Charles XI) ได้ทรงทำสนธิสัญญาใหม่ในพื้นที่บางพื้นที่และไม่ได้ทรงขอคำแนะนำใดๆ จากสภาบริหาร ส่งผลให้พระองค์ทรงตอบโต้สภาบริหารอย่างรุนแรง โดยทรงมีพระราชดำรัสยืนยันพระราชอำนาจของพระองค์ตาม the Declaration of the Estates ว่า “เราจะประกาศให้โลกรู้ว่า พวกท่าน (สภาบริหาร) ไม่ได้มีส่วนในอำนาจของเราเลยแม้แต่น้อย และท่านเป็นสภาของเรา ที่เราจะปรึกษาหรือไม่ก็ได้ ตามแต่เจตจำนงของเรา”
และหลังจากพระราชดำรัสดังกล่าวนี้ ประเด็นความเห็นต่างระหว่างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กับอำนาจของสภาบริหารก็ได้สิ้นสุดลงในช่วงต้น ปี ค.ศ. 1682
จากนั้นสวีเดนได้เข้าสู่ช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่สภาบริหารแห่งราชอาณาจักร (the Council of State/the Realm) เปลี่ยนเป็นสภาในพระมหากษัตริย์ (the King’s Council)
จากการแต่งตั้งสมาชิกใหม่ในสภาบริหาร ทำให้สภาบริหารประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นคนของพระมหากษัตริย์ ส่วนสมาชิกเก่าที่โดนข้อกล่าวหาการใช้งบประมาณแผ่นดินไม่ถูกต้องจากคณะตุลาการ ทำตระหนักถึงอันตรายมหันต์ที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา และภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้เองที่สมาชิกใหม่ที่เป็นคนของพระมหากษัตริย์ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาบริหารว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนชื่อสภาบริหารจากแต่เดิมที่ใช้ว่า “สภาบริหารแห่งราชอาณาจักร” เป็น “สภาบริหารในพระมหากษัตริย์”
และหลังจากมีการตอบหนังสือกันไปมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1682 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ สภาบริหารได้กล่าวขอพระราชทานอภัยโทษที่ไม่ได้ทำให้สถานะของตนให้ชัดเจนอย่างที่ได้อธิบายไว้ในกฎหมายแห่งแผ่นดิน และในที่สุด ก็นำมาซึ่งการที่สภาบริหารยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขว่า สภาบริหารเป็นสภาในพระมหากษัตริย์ และได้มีการเปลี่ยนชื่อและสถานะของสภาบริหารอย่างเป็นทางการ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้รับการขยายผลไปสู่ การปฏิรูปศาสนาและการสถาปนาราชาธิปไตยสืบสายโลหิต (the hereditary monarchy)
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1682 พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงมีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนคำในบทสวดจากสภาบริหารแห่งราชอาณาจักรเป็นสภาบริหารในพระมหากษัตริย์ และพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “สภาบริหารของเรา เพราะระหว่างเราและราชอาณาจักร ไม่มีผลประโยชน์ที่พิเศษหรือแยกจากกัน จะมีแต่ผลประโยชน์หนึ่งเดียวที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้”
จากพระราชดำรัสในเชิงวาทศิลป์ที่มีกลิ่นอายของสมบูรณาญาสิทธิ์นี้ได้ทำให้ความเข้าใจที่ว่าสภาบริหารมีความเป็นอิสระและร่วมใช้อำนาจกับพระมหากษัตริย์สิ้นสุดลงไปในทันที รวมทั้งการใช้ข้อกล่าวหาของคณะตุลาการกดดันสมาชิกสภาบริหารเดิมให้ต้องยอมจำนนรับสภาวะการสิ้นสภาพอำนาจหน้าที่และความเป็นอิสระที่สภาบริหารเคยมีมาก่อนหน้านี้
โดยประธานคณะตุลาการได้ส่งสัญญาณไปยังสมาชิกสภาบริหารที่โดนข้อกล่าวหาว่า ถ้าพวกเขาสารภาพความผิดและยอมลาออก พระมหากษัตริย์อาจจะทรงเมตตาทุเลาโทษให้พวกเขา
สมาชิกสภาบริหารดังกล่าวได้ส่งร่างหนังสือยอมรับข้อกล่าวหาและสรุปว่า “ดังนั้น ข้าพเจ้าขอความเมตตาต่อความยุติธรรมและข้าพเจ้าจะใช้เวลาที่เหลือนี้อยู่ในประเทศ”
แต่พวกเขาไม่ได้รับการทุเลาโทษแต่อย่างใด เพราะหลังจากลาออกแล้ว พระมหากษัตริย์ได้แสดงความเสียใจและกล่าวว่า “ไม่สามารถยอมให้พวกเขาไม่ต้องจ่ายเงินชดใช้ที่คณะตุลาการได้ตัดสินโทษพวกเขา”
จากการยอมรับสภาพของสมาชิกชุดเดิมในสภาบริหาร ทำให้พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงสามารถสถาปนาสภาบริหารใหม่ที่เป็นของพระมหากษัตริย์ และได้มีการแต่งตั้งคนของพระองค์เข้าไปดำรงตำแหน่งแทนที่ลาออกไปทั้งหมด โดยทุกคนล้วนแต่แข็งขันที่จะรับใช้พระองค์
จากนั้น ได้มีการการขยายพระราชอำนาจและพัฒนาการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินขึ้น
ในปี ค.ศ. 1682 ได้มีการเรียกประชุมสภาฐานันดร ซึ่งรัฐบาลใหม่ของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดหรือ “รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” (the Royal government) ได้มีการเตรียมตัวอย่างระมัดระวังในการก้าวย่างต่อไป โดยเริ่มจากการมีหนังสือจากพระองค์แจ้งไปยังบุคคลในฐานันดรชาวนาที่พระองค์ต้องการให้เข้าร่วมในที่ประชุมสภาฐานันดร ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ให้ถึงเห็นความต้องการที่จะให้ฐานันดรชาวนามีบทบาทมากขึ้นในที่ประชุมสภาฐานันดรต่อจากนี้
ขณะเดียวกัน มีความพยายามที่จะกำหนดบทบาทหน้าที่ของสภาบริหารภายใต้พระมหากษัตริย์ แต่ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแน่นอน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงขอความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอลับ (Secret Propositions) สภาบริหารได้ส่งประธานสภาบริหารที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศไปเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์เพื่อทูลถามว่า “หากพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการอย่างไร สภาบริหารก็จะรับไปปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงปรารถนา”
สิ่งที่เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นชัดเจนที่สุดจากการประชุมสภาฐานันดร ค.ศ. 1682 คือ วิธีการจัดการหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมดในคณะกรรมาธิการลับ และหลังจากที่ได้ข้อสรุปจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการลับแล้ว จะส่งให้ไปที่ประชุมสภาฐานันดรเพื่อให้มีการรับรองอย่างเป็นทางการ
เริ่มจากผู้ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการลับจะต้องได้ผ่านการคัดเลือกลั่นกรองอย่างระมัดระวัง และพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดทรงมีพระราชประสงค์ว่า ในการพิจารณาเรื่องบางเรื่อง จะต้องให้ตัวแทนจากฐานันดรชาวนาเข้าประชุม ที่แต่เดิม ชาวนาจะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมในคณะกรรมาธิการลับ ขณะเดียวกัน ในสภาฐานันดรได้มีผู้ทำหน้าที่ประสานงานกับฐานันดรสามัญชนต่างๆรวมทั้งฐานันดรชาวนาเพื่อร่วมกันกดดันฐานันดรอภิชนในคณะกรรมาธิการลับ
ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการลับขณะนั้น ได้มีการเสนอวาระการประชุมหรือ “ข้อเสนอลับ” ดังต่อไปนี้คือ
หนึ่ง รับรองผลและข้อสรุปของคณะตุลาการ
สอง จัดการหากำลังพลสำหรับการปฏิรูปกองทัพประจำการ
สาม จัดหาทุนในระยะยาวเพื่อให้ได้ดุลกับงบประมาณแผ่นดินและลดหนี้สินของประเทศ
สี่ ให้มีการเก็บภาษีพิเศษในระยะสั้นขึ้นเพื่อใช้สำหรับความจำเป็นเร่งด่วน
ข้อเสนอลับที่เป็นวาระการประชุมข้างต้นส่งผลให้เกิดความกังวลในหมู่พวกอภิชนในที่ประชุมสภาอภิชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์การเวนคืนทรัพย์สินของพวกอภิชนที่เคยเป็นทรัพย์สินพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ในปี ค.ศ. 1680 ที่มีผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจการเมืองของพวกตน พวกอภิชนเหล่านี้ได้มีการจับกลุ่มวิพากษ์ข้อเสนอลับบางข้อในวาระข้างต้น และพวกเขาได้พยายามที่จะรีบหาทางทำอะไรบางอย่างเสียก่อนโดยขอให้ประธานสภาอภิชนให้หลักประกันว่า จะต้องมีการอภิปรายผลการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการลับในที่ประชุมร่วมของทุกฐานันดร และจะต้องมีผู้เข้าประชุมครบองค์ประชุม และมีการลงคะแนนเสียงด้วยบัตรลงคะแนนในกรณีที่สมควร และจะต้องไม่มีมีการบันทึกรายชื่อของผู้อภิปรายและการประชุมจะต้องเป็นไปตามระเบียบ
(โปรดติดตามตอนต่อไป)