xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไขรหัส “แก้หนี้บัตรเครดิต” ยกใหม่ จ่ายขั้นต่ำ 8% หรือขยับเพิ่ม 10%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่า ถูกจับตามาโดยตลอดสำหรับเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) กรณีการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Payment) ซึ่งมีแนวทางปรับจาก 8% เป็น 10% ในปี 2569 นั้น อาจส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือ “หนี้เสีย” เพิ่มขึ้น ด้วยต้องยอมรับกันกันว่า สัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ปรากฏให้เห็นอย่างที่รัฐบาลว่าไว้ 

ยิ่งพิจารณาตามข้อมูลของ ธปท. ที่ระบุว่า ไตรมาส 1/2567 มีสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ราว 24 ล้านใบ ในจำนวนนี้มีบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 90 วัน หรือเป็นหนี้เสียจำนวนกว่า 1.1 ล้านใบ และมีแนวโน้มหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นจากการผิดนัดชำระที่ยังไม่เกิน 3 เดือนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 32.4% ก็ยิ่งน่าเป็นห่วง

นอกจากนี้ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินปรับสูงขึ้นมาตั้งปลายปี 2566 จนถึงปี 2567 เนื่องมากมาจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตน้อยลงส่งผลให้ลูกหนี้ขาดสภาพคล่อง และค่าครองชีพปรับสูงขึ้นส่งผลให้มีรายได้เท่าเดิมนั้นไม่เพียงพอชำระหนี้กับสถาบันการเงิน

ล่าสุด ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย (TBA) ได้มีการพูดคุยกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไม่เป็นทางการ เรื่องของการขอคงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Payment) ขอให้อยู่ที่ 8% ไปก่อน หลังจาก ธปท. กำหนดนโยบายจะต้องปรับขึ้นเป็น 10% ในปี 2569

 นายอธิศ รุจิรวัฒน์  ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และในฐานะประธานชมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย (TBA) ประเมินว่าสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปัจจุบันค่อนข้างทรงตัว แต่หากมีการปรับชำระขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 10% อาจจะทำให้หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาอยู่

ดังนั้น หากมีการปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้หนี้เสียอาจเพิ่มขึ้นได้ สะท้อนจากการปรับอัตราผ่อนชำระจาก 5% เป็น 8% ซึ่งเห็นผลกระทบต่อหนี้เสียเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567

“หากปรับเพิ่มขึ้นจะเห็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นแน่ๆ โดยเราจะขอเข้าไปพบ ธปท.เดือนหน้า ดังนั้น มองไปข้างหน้า หากคงอัตราผ่อนชำระหนี้เสียบัตรเครดิตของเราจะทรงตัวที่ระดับเดิม 1.1% และระบบน่าจะอยู่ 2.6%” ประธานชมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธปท. มีนโยบายผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตมาแล้ว โดยกำหนดให้ยังคงอยู่ที่ 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

โดยสาเหตุสำคัญของการปรับเพิ่มอัตราชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต ธปท. พิจารณาถึงความสามารถในการจ่ายหนี้บัตรเครดิตของลูกหนี้แต่ละเดือนเทียบกับภาระในระยะยาวเป็นหลัก กล่าวคือ การจ่าย 10 % ทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายหนี้คืนโดยรวมน้อยกว่า ยกตัวอย่างยอดหนี้บัตรเครดิต 30,000 บาท การจ่ายขั้นต่ำที่ 10% จะทำให้ปิดหนี้ได้ภายใน 4 ปี มีภาระรวม 34,542 บาท ขณะที่การจ่ายขั้นต่ำที่ 8% จะทำให้ปิดหนี้ได้ภายใน 5 ปี มีภาระรวม 35,877 บาท

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า สินเชื่อบัตรเครดิตนั้น เป็นสินเชื่อที่ครัวเรือนมีการผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) ต่อสินเชื่อรวมที่สูงถึง 12.58% รองลงมาเป็น สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล

“การเพิ่มขึ้นของ NPLs มาจากรายได้ของแรงงานยังเพิ่มขึ้นไม่มากพอที่จะทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือน และยอด NPLs ลดลง แม้ GDP จะขยายตัว 2-3% รายได้ของแรงงานปรับเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้แรงงานมีภาระที่ต้องใช้หนี้ในแต่ละงวดมากขึ้น จนอาจต้องไปกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่นๆ มาหมุนจ่ายหนี้ ทำให้ปัญหาหนี้สินยังไม่ได้ลดลงได้เร็วในระยะต่อไป” นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคแห่งชาติ(สศช.) ระบุ

กระนั้นก็ดี มีข้อมูลจาก   “บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ”  หรือเครดิตบูโร ด้วยว่า สถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง โดยปัจจัยมาจากการเข้าร่วมโครงการแก้หนี้ของรัฐ อย่าง “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเข้ามาแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ดูแลความเป็นอยู่ของลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น ทว่า ก็มีเสียงสะท้อนว่า ข้อกำหนดในมาตรการบางส่วนเป็นอุปสรรคกับผู้เข้าโครงการฯ ซึ่งเป็นโจทย์ของรัฐในการปรับแนวทางให้ประชาชนเข้าถึงช่องทางแก้หนี้เพื่อบรรลุวัตถุงประสงค์แก้ปัญหาหนี้ได้อย่างแท้จริง

สำหรับภาพรวมของ  ธุรกิจบัตรเครดิต” นั้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี  ประเมินว่า ปี 2568 ต้องเผชิญกับความท้าทายจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า มาตรการ Responsible lending ของแบงก์ชาติที่ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น อย่างไร ตามธุรกิจบัตรเครดิตยังมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเข้ามาของคู่แข่งหน้าใหม่ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทของรัฐบาล

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิต ปี 2568 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ประเมินว่าธุรกิจบัตรเครดิตโตลำบาก เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า GDP โตต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง อีกทั้งยังพบการผิดชำระหนี้มากขึ้และหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พบว่า บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.1% ต่ำกว่าตลาดที่ 2.6% ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.4% ต่ำกว่าตลาดที่ 3.9% ส่วนในปี 2568 นี้ คาดว่าจะดูแล NPL ให้ไม่เกินจากปีก่อนได้ จากที่แบงก์ชาติคงดอกเบี้ยจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต (Min Pay) ไว้ที่ 8%

นายอธิศ รุจิรวัฒน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า ปี 2568 แนวโน้มดูหนักกว่าปี 2567 อีกทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมยังคงเข้มข้นต่อเนื่อง โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งป้าหมายธุรกิจในปีนี้ คาดว่ายอดบัญชีลูกค้าใหม่จะอยู่ที่ 653,000 บัญชี เติบโต 10% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต 431,500 ล้านบาท เติบโต 10% YoY ยอดสินเชื่อใหม่ 108,800 ล้านบาท เติบโต 14% YoY และยอดสินเชื่อคงค้าง 158,500 ล้านบาท เติบโต 8% YoY ผ่านการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan: P-Loan) การปรับปรุงยกเครื่องบัตรเครดิตในพอร์ตใหม่อีกครั้ง

สำหรับปี 2567 ที่ผ่านมา กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มียอดบัญชีลูกค้าใหม่ 594,000 บัญชี เติบโต 6% YoY ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 392,500 ล้านบาท เติบโต 8% YoY ยอดสินเชื่อใหม่ 95,500 ล้านบาท เติบโต 4% YoY และยอดสินเชื่อคงค้าง 146,200 ล้านบาท ถือเป็นการเติบโตที่ดีกว่าตลาด

โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตร พบว่า หมวดใช้จ่ายผ่านบัตรสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ประกันภัย 2. ไฮเปอร์มาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ 3. ปั๊มน้ำมัน 4. ตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ในครัวเรือน และ 5. ช้อปออนไลน์

ส่วนหมวดใช้จ่ายที่มีอัตราเติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ตัวแทนท่องเที่ยว 2. โซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชัน 3. ช้อปออนไลน์ 4. แอปเดลิเวอรี่ และ 5. สุขภาพและความงาม สะท้อนว่า ลูกค้าใช้บัตรเครดิต เป็นบัตรหลักที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

สำหรับการบริหารความเสี่ยงในปี 2568 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยปัจจุบันอัตราการอนุมัติ (Approval Rate) ของบัตรเครดิตอยู่ที่ประมาณ 40% ส่วน P-Loan อยู่ที่ประมาณ 30% และลูกค้าส่วนใหญ่ที่ผ่านการอนุมัติ ยังกระจุกอยู่ในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนเป็นหลัก

 สถานการณ์หนี้บัตรเครดิตเป็นปัญหาทางการเงินของคนไทยจำนวนไม่น้อย หลายคนติดกับดักจ่ายขั้นต่ำอย่างมิรู้จบ โดยมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าเคลียร์หนี้ก้อนนี้เช่นไร

สุดท้าย ธปท. จะคงที่จ่ายขั้นต่ำ 8% หรือ ปรับเพดานเพิ่ม 10% ยังคงต้องติดตามความชัดเจน. 


กำลังโหลดความคิดเห็น