xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รื้อใหญ่ “บำนาญประกันสังคม” ระบบ CARE เป็นธรรม รับเงินเพิ่ม รวม 4 กองทุนแค่ขยับแต่ยังไม่ “เขยื้อน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  แรงหนุนของกระแสสังคมบวกกับแรงฟาดของ “ไอซ์ - รัชนก ศรีนอก” สส.กทม. พรรคประชาชน สร้างความเปลี่ยนแปลงและแรงกระเพื่อมใหญ่ในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะการใช้ปรับมาใช้ “ระบบ CARE” ที่คิดรายได้เฉลี่ยตลอดอายุการทำงานมาเป็นฐานคำนวณบำนาญชราภาพ แทนแบบเดิม ซึ่งใช้เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หรือ 5 ปี ก่อนเกษียณเป็นฐานคำนวณ ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39 เพิ่มมากขึ้น 

บำนาญชราภาพของมนุษย์เงินเดือน ทั้งผู้ใช้แรงงาน พนักงานออฟฟิศ ที่ถูกบังคับส่งประกันสังคมมาค่อนชีวิต ถือเป็นแหล่งรายได้สุดท้ายสำหรับหล่อเลี้ยงวัยหลังเกษียณ แม้ไม่ได้มากมายแต่ถือว่ามากกว่า  “เงินคนแก่” ที่รัฐบาลจ่ายให้เริ่มต้นจากเดือนละ 600 บาทและขยับเพิ่มตามช่วงอายุ ดังนั้น จึงมีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกันตนมาตลอดให้ปรับแก้สูตรคำนวณบำนาญชราภาพใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
โดยเฉพาะผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่เปลี่ยนไปเข้ามาตรา 39 แล้วเงินบำนาญชราภาพหดหายไปเหลือไม่กี่ตังค์

สาเหตุที่หลายคนเลือกต่อประกันสังคมโดยเข้า ม. 39 คือจ่ายเองเป็นผู้ประกันตนแบบสมัครใจ แม้ว่าจะออกจากงานและออกจาก ม. 33 แล้ว เพราะต้องการใช้สิทธิคุ้มครอง 6 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยเฉพาะสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมต่อเนื่อง แลกกับบำนาญที่ถูกลดลง

อย่างที่  นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี  กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน หนึ่งในบอร์ดประกันสังคม บอกว่า หลายคนที่ซึมเศร้า หลายคนที่ติดเตียงอยู่โรงพยาบาล หลายคนต้องให้คีโมรักษามะเร็ง การปรับสูตรใหม่นี่คือจุดเริ่มต้นคืนความเป็นธรรมให้กับชีวิตของคนธรรมดา

ปัญหาของผู้ประกันตน ม.39 ยังมีอีกเรื่องคือ การขาดส่งเงินสมทบจนถูกตัดสิทธิผู้ประกันตน ซึ่งมีการเรียกร้องให้นิรโทษกรรมคืนสิทธิแล้วหลายครั้งแต่เรื่องยังเงียบหาย

ทั้งนี้ ในวันที่บอร์ดประกันสังคม (สปส.) ประชุมเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน รวมถึงมวลชนจำนวนมากต่างปักหลักรอฟังผลการประชุมที่อาคารสำนักงานใหญ่ประกันสังคมอย่างคับคั่ง และผลประชุมที่ออกมาก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง

 นางมารศรี ใจรังสี เลขาธิการ สปส. และนายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ตัวแทนบอร์ดฝ่ายผู้ประกันตน ร่วมแถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบรับหลักการปรับสูตรบำนาญให้กับผู้ประกันตน ทั้ง ม.33 และม. 39 จากนี้ไปจะเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ ระยะเวลา 90 วัน โดยทำควบคู่กับการปรับเพดานค่าจ้างในวันที่ 1 ม.ค. 2569 จะเป็นกระบวนการที่สอดรับกันพอดี

สำหรับกลุ่มที่เกษียณอายุไปแล้ว ได้รับผลการปรับสูตรด้วย คนที่ได้รับบำนาญอยู่แล้วถ้าได้ลดลงจะพิจารณาให้ได้เท่าเดิม หากรับน้อยอยู่แล้วจะให้ได้รับเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีผู้ประกันตนรับบำนาญอยู่ 8 แสนคน และทยอยเพิ่มปีละประมาณ 1 แสนคน ยืนยันว่าผู้ประกันตนตาม ม. 33 และ ม.39 จะได้รับความเป็นธรรม

 สูตรใหม่นี้ สำหรับผู้ประกันตน ม. 33 จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแผนการปรับฐานเพดานค่าจ้างปี 2569 เพดานใหม่เริ่มต้นที่ 17,500 บาทขึ้นไป และอาจได้สูงสุดที่ 23,000 บาท โดยเพดานค่าจ้างที่ปรับใหม่ จะนำมาคำนวณเพิ่มบำนาญทันทีหลังสูตร CARE ประกาศบังคับใช้ 

นายษัษฐรัมย์ กล่าวว่า การปรับสูตรใหม่ จะทำให้ผู้ประกันตนตาม ม.33 กว่า 3 แสนคน มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 พันบาท นี่คือความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้น แต่ยังไม่จบแค่นี้ การต่อสู้ของกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้าเพื่อผลักดันความเป็นธรรมให้เดินหน้าต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือประมาณ 1 ปี

มาทำความรู้จักกับระบบ CARE หรือ Career Average Revalued Earnings ที่จะนำมาใช้ในการคำนวณบำนาญชราภาพใหม่ แทนระบบเดิมที่เรียกว่า Final Average Earnings (FAE) ซึ่งใช้เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หรือ 5 ปี ก่อนเกษียณเป็นฐานคำนวณ

ระบบ CARE มีการนำมาใช้ในหลายประเทศที่ระบบบำนาญก้าวหน้า เช่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ระบบนี้จะคำนวณเงินบำนาญจากรายได้เฉลี่ยตลอดระยะการทำงานทั้งหมด ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ประกันตนเรียกร้องมานานกว่า 20 ปี เนื่องจากระบบ FAE ถูกมองว่าไม่เป็นธรรมกับผู้มีรายได้สูงในช่วงต้นหรือกลางชีวิตทำงานแต่ลดลงในช่วงท้าย หรือผู้ที่เปลี่ยนสถานะจาก ม. 33 ไปเป็น ม. 39 ซึ่งฐานเงินสมทบต่ำกว่า กว่าจะเคาะจบสูตรนี้ สปส. ทำงานร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อแก้โจทย์ใหญ่ดังกล่าว

 จุดเด่นของระบบ CARE อยู่ที่การสะท้อนฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนได้ดีกว่า และช่วยลดภาระกองทุนประกันสังคมในระยะยาว โดยกระจายการคำนวณให้สมดุลตลอดอายุการทำงาน และยังปรับให้เหมาะสมกับผู้ประกันตนทุกมาตรา โดยเฉพาะ ม.39 ที่ถูกจำกัดฐานเงินสมทบที่ 4,800 บาท ซึ่งได้บำนาญน้อยเกินไป แต่ระบบ CARE ต้องใช้ระบบฐานข้อมูลที่แม่นยำเพื่อติดตามรายได้ทั้งชีวิต ผู้ที่มีเงินเดือนสูงในช่วงท้ายอาจได้บำนาญน้อยกว่าระบบเดิม เพราะระบบใหม่นำเงินเดือนทั้งหมดมาคิดคำนวณ 



สมมุติ นาย ก. ทำงานมา 20 ปี เงินเดือน 15 ปีแรก ได้เงินเดือน ๆ ละ 7,500 บาท ส่วนเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายก่อนอายุ 55 ปี ได้รับ 15,000 บาท หากเป็นระบบเดิมที่เอาเงินเดือน 5 ปีสุดท้ายมาคิดคำนวณ นาย ก.จะได้เงินบำนาญชราภาพ เดือนละ 3,000 บาท

แต่ระบบ CARE ให้เอาเงินเดือนทั้งหมดมารวมกัน หารด้วยจำนวนปีที่ทำงานทั้งหมด จะได้เงินเดือนเฉลี่ย 9,375 บาท โดยคิดจาก (7,500 x 15 ปี) + (15,000 x 5 ปี) หารด้วย 20 ปี

ตามสูตร 15 ปีแรก (180 เดือนแรก) คิด 20% ให้นำ 9,375 มาคิด จะได้เงินบำนาญส่วน 15 ปีแรกเป็นเงิน 1,875 บาท และตามสูตรเมื่อส่งมากกว่า 15 ปี (เดือนที่ 181 เป็นต้นไป) คิด 1.5% x จำนวนปีที่ส่งเกิน x เงินเดือนเฉลี่ยที่คำนวณได้ จะได้เงินบำนาญส่วนที่ส่งเกิน 1.5% x 5 ปี x 9,375 = 703.125 บาท สรุป จะได้เงินบำนาญชราภาพเดือนละ 1,875 + 703.125 = 2,578 บาท ตลอดชีวิต ซึ่งน้อยกว่าระบบเดิม

เวลานี้ สำนักงานประกันสังคม กำลังปรับฐานเงินเดือนตามอัตราเงินเฟ้อปัจจุบัน หากผู้ประกันตนมีเงินเดือนน้อยในช่วงปีแรก ๆ เช่น เงินเดือน 7,500 บาท เมื่อปรับขึ้นตามเงินเฟ้อปัจจุบันเงินเดือนก็จะปรับสูงขึ้น ซึ่งตัวเลขที่ปรับใหม่จะนำมาคิดคำนวณบำนาญชราภาพ

การปรับเปลี่ยนสูตรคำนวณใหม่ครั้งใหญ่นี้ สิ่งที่ สปส. ต้องเตรียมพร้อมรองรับคือ ปัญหาการเปลี่ยนผ่านจากสูตรเก่าไปสูตรใหม่ที่จะยุ่งยากไม่น้อย เพราะมีความสลับซับซ้อน ผู้ประกันตนอาจไม่เข้าใจ อีกทั้งยังอาจมีผู้ตกหล่น ซึ่ง สปส. ต้องบริหารจัดการให้ดีและทั่วถึง

อย่างไรก็ดี ถือเป็นชัยชนะก้าวสำคัญของบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้ง และการขับดันของพรรคประชาชนที่ได้ใจผู้ใช้แรงงาน มนุษย์เงินเดือนไปเต็ม ๆ ซึ่ง นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ชี้ว่าเป็นการเดินตามก้าวที่วางไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกันตน โดยเฉพาะตามมาตรา 39 และมาตรา 33 ส่วนหนึ่งที่สูญเสียเงินค่าจ้างในช่วงท้ายของการสมทบ

สำหรับก้าวต่อไปที่ผลักดันต่อ คือ  ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่  ที่จะทำให้ประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ภายใต้ระบบราชการที่ทำให้การได้รับสิทธิประโยชน์และการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์มีความล่าช้า ผลสำเร็จของการปรับเปลี่ยนระบบคำนวณบำนาญชราภาพใหม่เกิดขึ้นได้ เพราะเสียงของประชาชน สื่อ และนักการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน และบอร์ดที่มาจากการเลือกตั้ง จึงขอให้จับตาว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะให้ยกเลิกการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจะผ่านการพิจารณาของ ครม.

สำนักงานประกันสังคม เผยจำนวนผู้ประกันตน 3 มาตรา มาตรา 33 มาตรา 39 และ มาตรา 40 ประจำเดือน ก.พ. 2568 ยอดรวม อยู่ที่ 24,776,234 ราย ขณะที่ข้อมูลเดือนมี.ค. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 24,633,584 คน โดยผู้ประกันตน มาตรา 33 ลูกจ้างในสถานประกอบการ จำนวน 12,057,371 ราย, ผู้ประกันตน มาตรา 39 ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ จำนวน 1,707,832 ราย, ผู้ประกันตน มาตรา 40 ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 11,011,031 ราย


ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมาที่กระทรวงการคลัง มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลของสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทยครั้งแรก ภายหลัง “แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ดพิจารณาค่ารักษาพยาบาล เป็นประธานการประชุม และกรรมการเข้าร่วมครบองค์ประชุมทั้ง 22 คน

 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะกรรมการ และเลขานุการร่วมคณะกรรมการชุดนี้ เปิดเผยถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการนำเสนอข้อมูลของระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยทั้ง 4 ระบบ ประกอบด้วย  ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบการดูแลพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)  ที่หน่วยงานที่บริหารจัดการและรับผิดชอบได้นำเสนอข้อมูล เพื่อให้ได้เห็นถึงจุดเด่นของแต่ละระบบที่ให้บริการสุขภาพกับประชาชน และจะได้เปรียบเทียบจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละระบบ พร้อมกันนี้ ยังได้เสนอ 8 มาตรการที่จะใช้เป็นกรอบการทำงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งภายใต้ 8 มาตรการ จะมีอนุกรรมการ 2 ชุด มาขับเคลื่อน

โดยชุดแรก อนุกรรมการฝ่ายวิชาการ มี นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นประธาน จะทำหน้าที่ลงรายละเอียดการทำงานของ 8 มาตรการ และ ชุดที่ 2 คือ ชุดขับเคลื่อน มี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธาน ซึ่งจะมีตัวแทนจากหน่วยบริการ และองค์ประกอบต่างๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาร่วมทำงานและขับเคลื่อน




อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ขอให้เร่งรัด 2 มาตรการสำคัญ เพื่อให้ขับเคลื่อนก่อน ได้แก่ 1.เรื่องงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในภาพรวมของประเทศ จะมีแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมอย่างไร และ 2.เรื่องการนำเข้ายามาใช้ในระบบสุขภาพ ซึ่งอยากให้มีการหารือและประชุมร่วมกันในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาระบบยา โดยเฉพาะแนวทางที่เป็นไปได้หรือไม่ ในการใช้ชื่อยาเป็นชื่อสามัญแทนชื่อการค้า ซึ่งอาจทำให้ประเทศลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ พร้อมทั้งให้มีแนวทางผลิตยา และการลงทุนด้านยาในประเทศ รวมถึงการรวมกลไกการซื้อยาเวชภัณฑ์แต่ละระบบ ที่จะรวมกันได้หรือไม่ เพื่อให้มีอำนาจการต่อรองราคายาที่ดีมากขึ้น

“ ในปี 2567 จากข้อมูลที่นำเสนอเข้ามาในที่ประชุม พบว่ารัฐบาลใช้งบประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ไปกับ 4 ระบบบริการสุขภาพ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนการเติบโตของงบในส่วนนี้ พบว่าเติบโตร้อยละ 11 ต่อปี ซึ่งเติบโตมากกว่าจีดีพีประเทศที่อยู่ที่ร้อยละ 2 – 2.5 ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้กังวล และต้องยอมรับว่าอาจต้องมีการพิจารณาในเรื่องการใช้งบด้านการรักษาพยาบาล

“นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการพูดถึงประเด็นการปรับสิทธิประโยชน์สุขภาพขั้นพื้นฐานบนมาตรฐานเดียวของทุกระบบบริการสุขภาพเช่นกัน แต่ต้องบอกว่า สถานะตอนนี้ทุกสิทธิการรักษา และทุกระบบบริการสุขภาพในขณะนี้ ขอให้มีการคงไว้แบบเดิมก่อน แต่ในอนาคต ประชาชนที่จะเข้ามาในสิทธิสุขภาพต่างๆ ของแต่ละกองทุน อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมไปถึงปรับระบบให้กับคนที่ใช้สิทธิเดิมด้วย ก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน”นพ.จเด็จกล่าว

...ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่า ทั้งหลายทั้งปวง ล้วนแต่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และออกมาส่งเสียงเพื่อปกป้องสิทธิ


กำลังโหลดความคิดเห็น