xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เพื่อไทย” ตกเขียว “วัยรุ่นเงินหมื่น” แจกไป มั่วไป ดับฝันจ่ายค่าเทอมไม่ได้ คนเสียภาษี-แบกหนี้เดือด “ถูกทิ้ง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เอาเข้าจริงคือไม่ตรงปกสักเรื่องสำหรับโครงการแจกหมื่นดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้นจนบัดนี้ที่ล่าสุดเข้าเฟส 3 รัฐบาลเพื่อไทยพุ่งเป้าตกเขียวกลุ่มวัยรุ่น 2.7 ล้านคน 2.7 หมื่นล้านบาท ทิ้งกลุ่มใหญ่วัยทำงาน 20-59 ปี ที่เสียภาษีให้รัฐและแบกหนี้เอาไว้ข้างหลัง  

นั่นเพราะว่า เฟส 4 ยังลูกลูกคนไม่แน่ว่าจะมีหรือไม่ แม้ว่า  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะรับปากมั่นเหมาะเงินหมื่นได้ทุกคนแน่ ไม่ต้องห่วง แต่ทาง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แหล่งเงินทำโครงการ กลับบอกว่า ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมอีกที ส่วน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันมีแน่นอน พูดกันไปคนละทิศละทาง พอ ๆ กับความสับสนในเฟส 3 ที่มีข้อถกเถียงกันกว่าจะเคาะออกมา แถมยังมั่วเรื่องเงื่อนไขการใช้เงินอีก

แจกเงินหมื่นเฟส 3 รอบนี้ นายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2568 เคาะกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ อายุ 16-20 ปี ต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ สแกน QR code ณ ร้านค้า ในพื้นที่เขต หรืออำเภอที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ถือว่าเป็นการแจกเงินหมื่นดิจิทัลเต็มรูปแบบครั้งแรก จากสองเฟสก่อนหน้านี้แจกเป็นเงินสดเข้าบัญชีพร้อมเพย์ โดยรัฐบาลวาดหวังสร้างรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตมากกว่า 3% ในปีนี้

นายพิชัย ชุณหวชิร คาดว่า เงินจะถึงมือกลุ่มเป้าหมาย 2.7 ล้านคน วงเงิน 27,000 ล้านบาท ได้ประมาณเดือนมิ.ย.-ก.ค. 2568 ที่เลือกแจกกลุ่มนี้รัฐบาลเห็นว่ามีความเหมาะสม เพราะอยู่ในวัยเรียน สามารถนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นต่อการเรียน ช่วยเหลือพ่อแม่ได้ ส่วนจะมีเฟส 4 กลุ่มอายุ 21-59 ปี หรือไม่นั้น จะพิจารณาตามความเหมาะสมดูช่วงเวลาอีกครั้ง

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า รัฐบาลได้ตัดเงื่อนไขเดิม 2 ส่วน คือ หนึ่ง ตัดรายการสินค้าต้องห้ามออกทั้งหมด ให้ไปกำกับลักษณะร้านค้าที่ไม่ให้เข้าร่วม เช่น ร้านทอง ร้านขายเหล้าโดยเฉพาะ แต่ไม่ได้ห้ามตัวสินค้า เช่น ร้านโชห่วยที่มีสินค้าหลากหลาย สามารถซื้อได้ทุกประเภท และใช้ชำระค่าน้ำประปา ค่าเทอม ได้ด้วย

และ สอง เปิดให้ร้านค้าทุกประเภทถอนเงินสดออกมาได้ ไม่จำกัดเฉพาะร้านที่อยู่ในระบบเสียภาษี เพื่อให้เกิดความสะดวกและเชิญร้านค้าเข้าร่วมโครงการมากขึ้น แต่ยังใช้เกณฑ์ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในอำเภอตามทะเบียนบ้าน และการขึ้นเงินสดต้องเป็นการใช้เงินรอบที่สอง

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฯ มีการแถลงข่าวด้วยกันแท้ ๆ ทั้งนายกรัฐมนตรี ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังทั้งสองคน คือ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ฯลฯ นายจุลพันธ์ ก็พูดชัดว่า เงินแจกรอบนี้ “ใช้ชำระค่าน้ำประปา ค่าเทอม ได้ด้วย”

แต่ในวันถัดมา 11 มี.ค. 2568 ทางนายเผ่าภูมิ และนายจุลพันธ์ ออกมาแก้ข่าวว่า ค่าเทอม ค่าโทรศัพท์มือถือ และค่าบริการต่าง ๆ ถือว่าเป็นค่าบริการ ค่าเทอมก็ถือว่าเป็นการซื้อบริการ เพราะฉะนั้นจะไม่รวมอยู่ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่าไม่ได้ ส่วนเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่บอกว่าสามารถจ่ายค่าเทอมได้ ทางนายจุลพันธ์ ตอบว่า สื่อถามเร็วไปหน่อย ประจันหน้าไปหน่อย เลยตอบว่าจ่ายได้

ส่วนนายพิชัย ตอบคำถามเรื่องการจ่ายค่าเทอม หากเราให้เงินแล้ว ไปจ่ายค่าเทอมนั้น จริง ๆ แล้วพ่อแม่ มีลูกเรียนหนังสือ ปกติถ้ามีเงินไปซื้อของ ก็แปลว่าเงินที่ต้องจ่ายค่าเทอมนั้นก็มากขึ้น มันก็อย่างนั้น อยู่ในก้อนเดียวกัน

เพียงแค่นี้ก็เห็นแล้วว่า แจกไปมั่วไป ดับฝันบรรดาผู้ปกครองที่มีความหวังจะเอาเงินหมื่นที่ได้รับแจกไปจ่ายค่าเทอม แบ่งเบาภาระ ชั่วข้ามคืน พร้อมกับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า จ่ายค่าเทอม ค่าน้ำค่าไฟ ไม่ได้ แต่รัฐบาลกลับยอมรับซื้อบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ หากเป็นร้านค้าโชห่วย หรือร้านค้าที่ขายสินค้าหลากหลาย แต่ร้านที่ขายเหล้าเบียร์โดยเฉพาะ ไม่ได้

สำหรับเฟส 4 กลุ่มคนอายุ 21-59 ปี นั้น นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกาารคลัง ระบุว่าอยู่ในกระบวนการพิจารณา โดยจะต้องเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2568 ส่วนโครงการจะออกมาต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจะพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งงบกระตุ้นเศรษฐกิจในงบกลาง ซึ่งเหลืออยู่ 1.5 แสนล้านบาท หลังแจกเงินดิจิทัลเฟส 3 จะทำให้เหลืองบประมาณ 1.2 แสนล้าน ภายในปีงบประมาณ 2568

การแจกเงินหมื่นกลุ่มวัยรุ่นผ่านแอปฯทางรัฐครั้งแรกในครั้งนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า พรรคเพื่อไทย “ตกเขียว” เจาะฐานเสียงกลุ่มเยาวชนล่วงหน้า เตรียมรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า หากรัฐบาลไม่มีเหตุให้ชิงยุบสภาไปเสียก่อน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้เทคะแนนเสียงให้กับพรรคก้าวไกล ที่นำโดย “หัวหน้าทิม” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิชัย ชุณหวชิร เผ่าภูมิ โรจนสกุลและจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ 3 รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง
ส่วนศึกเลือกตั้งครั้งหน้าผลลัพธ์จะออกมาอย่างที่เพื่อไทยหวังหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันไป เพราะการแจกไปมั่วไป ทำให้พายุหมุนเศรษฐกิจที่ว่าจะเกิดขึ้นเป็นแต่เพียงลมพัดแผ่ว อีกทั้งอีกกลุ่มใหญ่ที่รอแล้วรอเล่า ยังไม่ถึงคิวสักที ก็เริ่มออกอาการเดือดปุด ๆ ขึ้นมาแล้ว

ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มคนทำงานอายุ 21- 59 ปี ถือเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตัวจริง เป็นผู้เสียภาษีให้กับรัฐมากที่สุด และเป็นผู้ที่แบกหนี้ที่รัฐบาลไปกู้เงินมาทำโครงการต่าง ๆ พูดง่าย ๆ คือ เป็นกลุ่มหาเงินเข้าบ้านและรับภาระที่เกิดขึ้นทั้งหมด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับแจกทั้ง 3 เฟส คือ เฟสแรก กลุ่มเปราะบางและผู้พิการ จำนวน 14.5 ล้านคน เฟสสอง กลุ่มผู้สูงอายุ 4 ล้านคน และเฟสสาม กลุ่มวัยรุ่น 2.7 ล้านคน

น.ส.ภิญญาพัชญ์ ศันสนียชีวิน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สะท้อนว่า ความคิดเห็นบนโลกโซเซียลมีการตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่แจกให้ผู้เสียภาษีหลักอย่างกลุ่มวัยทำงานที่เป็นผู้สร้างเศรษฐกิจ และมีภาระค่าใช้จ่ายมากมาย ประชาชนที่เสียภาษีเริ่มรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ลามไปถึงเรื่องการหาเสียงในอนาคต หรือการสร้างฐานเสียง

ทั้งนี้ ประเด็นที่โลกโซเซียลแสดงความเห็น นอกจากจะมีเรื่องความไม่เป็นธรรม “คนทำงานเสียภาษีอย่างเดียว” และ “คนวัยทำงานหาเงินแทบตาย ไม่ได้อะไรเลย” แล้ว ยังตั้งข้อสงสัยในการแจกเงินให้กลุ่มอายุ 16-20 ปี จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ เม็ดเงินที่ได้รับแจกอาจนำไปใช้โดยไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด เช่น ให้ตังค์เด็กไปเติมเกมหรือไง หรือ “แจกกลุ่มที่ไม่เคยเสียภาษีและยังไม่เคยทำงานมาก่อน” รวมทั้งยังเห็นว่าไม่ช่วยสร้างวินัยการเงินให้เด็กวัยรุ่นที่ต้องหาเงินได้ก่อนคิดใช้เงิน

นอกจากนั้น ยังวิจารณ์ความไม่แน่นอนของนโยบายไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ไม่ก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ การทยอยแจกเป็นกลุ่ม ๆ สุดท้ายเป็นเพียงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ผลาญเงินงบประมาณแผ่นดินที่ได้ไม่คุ้มค่า

ทางด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่ารอบนี้เลือกแจกกลุ่มอายุ 16-20 ปี เท่านั้น อาจเป็นเพราะงบประมาณปี 2568 ไม่เพียงพอ และอาจต้องขยายไปถึงงบปี 2569 จึงต้องซอยการแจกเงินหมื่นออกมาเป็นเฟส ๆ รอบนี้เม็ดเงินที่แจกลงไป 2 หมื่นกว่าล้านบาท คงไม่เกิดผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เพราะก่อนหน้านี้ที่แจกไปเงินก้อนใหญ่กว่านี้ยังไม่ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีกระดิกได้ และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะซื้อเสียงล่วงหน้านิวโหวตเตอร์ เพราะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่มีวิจารณญาณมากพอที่จะไม่ถูกซื้อเสียงด้วยเงินหมื่นบาท

มองย้อนกลับไป รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ชูโครงการแจกเงินหมื่นดิจิทัล เป็นเรือธงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน วางไทม์ไลน์การแจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลตเอาไว้เมื่อเดือนเม.ย. 2567 ว่า จะแจกรอบเดียวเท่านั้นผ่านซูเปอร์แอปฯ “ทางรัฐ” ของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ โดยประชาชนได้รับสิทธิ จำนวน 50 ล้านคน ต้องผ่านหลักเกณฑ์หลัก ๆ คือ อายุเกิน 16 ปีขึ้นไป มีรายได้พึงประเมินไม่เกิน 840,000 บาทในปีภาษี 2566 ที่ผ่านมา และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไม่เกิน 500,000 บาท

และมีเงื่อนไขสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่กำหนด ภายในพื้นที่เขตอำเภอตามที่อยู่ในภูมิลำเนา ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นร้านค้าที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ และต้องอยู่ในระบบภาษี เช่น ร้านโชห่วย และร้านสะดวกซื้อ ยกตัวอย่างเช่น 7-Eleven ถือว่าเข้าข่ายเข้าร่วมโครงการนี้ สินค้าที่สามารถใช้จ่ายได้คือของอุปโภค-บริโภคทั่วไป โดยจะยกเว้น สินค้าอบายมุข, น้ำมัน, การให้บริการ และการซื้อของออนไลน์ เป็นต้น กำหนดเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567

รัฐบาลตั้งเป้าใช้เม็ดเงินงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ที่มาจาก 3 ทาง คือ 1) งบประมาณรายจ่ายปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท 2) งบประมาณรายจ่ายปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท และ 3) เงินอีก 172,300 ล้านบาท จะใช้มาตรการ 28 เพื่อกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

แต่เมื่อรันโครงการจริง ไป ๆ มา ๆ สินค้าที่ซื้อได้ก็ปลดล็อคหมด หรือตัดรายการสินค้าต้องห้ามออกทั้งหมด ร้านค้าที่เข้าร่วมก็เปิดกว้างอ้าซ่า

ส่วนที่เป็นปัญหามากสุด คือ งบประมาณสำหรับทำโครงการดึงมาได้เฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และ 2568 ส่วนเงินจาก ธ.ก.ส. ที่จะกู้ยืมมาใช้แจก เอามาไม่ได้เพราะขัดระเบียบข้อกฎหมาย กระทั่งทำให้โครงการแจกเงินหมื่นทำตูมเดียวไม่ได้ ต้องทยอยแจกเป็นกลุ่ม ๆ ไป โดยเฟสแรกกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน (ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ 12.4 ล้านคน และผู้พิการ 2.1 ล้านคน) แจกเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2567 เฟส 2 กลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 4 ล้านคน แจกตอนเดือน ม.ค. 2568 และเฟส 3 กลุ่มวัยรุ่น 2.7 ล้านคน รวม ๆ แล้วยังไม่ครึ่งของกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ 50 ล้านคน

การแจกไปเรื่อยมั่วไปเรื่อยแทนที่จะสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคเพื่อไทย กลายเป็นว่ารัฐบาลเพื่อไทยเลือกที่รักมักที่ชัง อย่างเวลานี้เกิดกระแสกลุ่มคนทำงานจ่ายภาษีไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องรออีกยาวนานแค่ไหนถึงจะได้รับแจกเช่นกลุ่มอื่นบ้าง ก็ไม่มีใครตอบได้ชัดเจนแม้แต่นายกรัฐมนตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น