ท่ามกลางสถานการณ์อันน่าหวาดเสียวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หนึ่งในมาตรการที่มีการเรียกร้องจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)” ก็คือ ขอให้รัฐเร่งออกมาตรการให้ “บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)” เป็น “ผู้ค้ำประกันสินเชื่อรถกระบะ” เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและยอดขายที่ถดถอย
เหตุผลที่มุ่งเป้าไปที่ “รถกระบะ” ก็เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกับบรรดาอุตสาหกรรม SMEs รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากด้วยเป็นกลุ่มที่มีรายรับไม่แน่นอน จึงส่งผลต่อการขออนุมัติสินเชื่อ
ขณะเดียวกันก็พบว่า มีรถกระบะจำนวนมากที่มีปัญหาในการผ่อนชำระด้วยรายได้ไม่เหมือนแต่ก่อน ซึ่งถ้าหากมีการปรับโครงสร้างหนี้และมีการเจรจากันก็จะช่วยให้การค้าการขายเดินหน้าต่อไป ขณะที่สถาบันการเงินก็ไม่ต้องแทงเป็นหนี้เสียเหมือนที่ผ่านมา
แต่เหตุผลที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ ตัวเลขยอดขาย “รถเพื่อการพาณิชย์” ในปี 2567 ที่ลดลงอย่างน่าใจหาย กล่าวคือ สามารถจำหน่ายได้ 348,527 คัน ลดลง 27.9% และเมื่อโฟกัสไปที่ “รถกระบะ 1 ตัน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ก็ยิ่งน่าตกใจไปเสียยิ่งกว่า เพราะขายได้แค่ 200,190 คัน หรือลดลงถึง 38.4% เลยทีเดียว
แถมเมื่อเปิดศักราชใหม่ปี 2568 มา ก็มีรายงานว่า ยอดขายรถกระบะก็ยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างอะไรกับปีที่ผ่านมา กล่าวคือ มียอดขายรวมทุกยี่ห้ออยู่ที่ 12,261 คัน ลดลง 17.51% จากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า ถ้าไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือ ในปี 2568 กลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยอาจหดตัว 6.8% ต่อเนื่องจากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัวสูงถึง 38.4% นำโดยรถปิกอัพ ที่มีส่วนแบ่งถึง 85% ของยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์รวม ซึ่งนั่นบ่งชี้ถึงโอกาสที่กลุ่มดีลเลอร์ที่เน้นจำหน่ายรถเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะปิกอัพ มีโอกาสเสียรายได้จากการขายมากกว่ากลุ่มอื่น
นอกจากนั้น การผลิตรถกระบะยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก หากแรงงานมีรายได้และมีกำลังซื้อ ก็จะสามารถไปกระตุ้นการใช้จ่ายในภาครวมของประเทศให้เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้
อธิบายขยายความเพิ่มเติมก็คือ ที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่สุดของ “รถกระบะ” ก็คือ “สถาบันการเงิน” ไม่ปล่อยกู้ เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิด “หนี้เสีย” มากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบ 3 เด้ง
เด้งแรกคือ รถขายไม่ออก
เด้งที่สองคือ กระทบกับผู้ผลิตรวมถึงซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมนี้เป็นลูกโซ่
เด้งที่สามก็คือ เมื่อไม่สามารถซื้อขายได้ บรรดาผู้ประกอบการต่างๆ ก็ไม่มีพาหนะที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ส่งผลไปถึงรถยนต์ที่ปล่อยกู้ไปแล้ว แต่ไม่สามารถผ่อนชำระตามเวลาที่กำหนดได้ ทำให้รถถูกยึดและธุรกิจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
และข้อเรียกเรียกร้องนี้ ก็ได้รับการตอบสนองเป็นที่เป็นเรียบร้อยแล้วจาก “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” โดย “นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มติประชุมการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2568 ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้กระทรวงการคลัง ดำเนินค้ำประกันสินเชื่อรถกระบะ ผ่านกลไกของ บสย.
ดังนั้น หน้าที่ของ บสย.ก็คือ รับบทบาทเป็น “ผู้ค้ำประกัน” ว่า หนี้จะไม่สูญ เพื่อให้สถาบันอนุมัติสินเชื่อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ได้อย่างสะดวกใจมากกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งต่อชีพจรผู้ประกอบธุรกิจและบริษัทรถยนต์ไปในตัว
“นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร” กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่า มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ (บสย. SMEs PICK-UP) กำหนดวงเงินเอาไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วย SMEs กลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อกระบะใหม่ ในการขนส่งสินค้าและธุรกิจค้าขาย เข้าถึงสินเชื่อในระบบผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.
จากการประเมิน คาดว่าสามารถช่วยผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่เข้าถึงสินเชื่อ 12,500 ราย รักษาการจ้างงาน 37,500 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 41,300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นตลาดรถเชิงพาณิชย์ที่ซบเซาให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดปีนี้
โดยมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ จะมีสัดส่วนการให้สินเชื่อสำหรับการเช่าซื้อกระบะเพื่อการพาณิช คือลีสซิ่งของบริษัทรถยนต์ 40% ลีสซิ่งในเครือสถาบันการเงิน 40% ลิสซิ่ง Non-Banks 20%
สิทธิกรอธิบายขยายความเพิ่มเติมว่า ภายใต้กฎหมายของ บสย. สามารถเข้าไปค้ำประกันลีสซิ่งได้อยู่แล้ว แต่ตามประกาศของกระทรวงการคลัง ปัจจุบันยังเข้าไปค้ำได้เฉพาะในลีสซิ่งที่สถาบันการเงินถือหุ้น 50% ก่อน โดยกลไกการค้ำประกันที่เตรียมไว้จะเข้าไปช่วยได้ใน 2 กรณี
กรณีแรกคือ เอสเอ็มอีผ่อนไม่ไหว อาจจะเป็นหนี้เสีย แล้วถูกยึดรถ ยกตัวอย่าง สัญญาเช่าซื้อ 800,000 บาท แต่ผ่อนไปแล้ว 100,000 บาท หากตีราคาขายทอดตลาดจะได้ 400,000 บาท เมื่อหักที่ผ่อนไปแล้ว 100,000 บาท ก็จะเหลือ 300,000 บาท ก็ส่งมาที่ บสย. จะมีมาตรการ บสย. พร้อมช่วย รองรับไว้ให้ ทำให้สามารถผ่อนต่อได้อีก 7 ปี
“แต่เดิมอาจจะผ่อนกับลีสซิ่ง เดือนละ 1 หมื่นบาท พอมาอยู่กับ บสย. งวดผ่อนอาจจะลง เหลือสัก 5-6 พันบาท ส่วนที่เหลือก็จะเป็นสภาพคล่อง ให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องต่อไปได้”
ส่วนกรณีที่ 2 ลูกค้าผ่อนไม่ไหว ติดต่อไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เป็น Pain Point ที่ลีสซิ่งกังวลว่าจะตามตัวลูกหนี้ไม่ได้ ซึ่งหากมีแบบนี้มาก ๆ ก็จะกระทบสภาพคล่องของลีสซิ่ง ดังนั้น กลไกการค้ำประกันของ บสย.ก็เข้าไปช่วยจ่ายเคลมให้ 30-50% ของหนี้
“ถ้าตามตัวไม่ได้ในปีที่ 2 และลีสซิ่งตัดสินใจส่งมาเคลมกับ บสย. จะเคลมได้ 30% จากภาระค้ำประกัน เพราะมองว่ารถยนต์ยังมีมูลค่าสูงอยู่ แล้วเมื่อลีสซิ่งติดตามรถมาได้ ขายได้เท่าไหร่ ก็จะมาหักจากส่วนที่ขายไปแล้ว แล้วส่งมาเคลมที่ บสย. ถ้าตามได้ใน 3 ปี อาจจะเคลมได้ 40% หรือในปีที่ 4-6 อาจจะเคลมได้สูงสุดที่ 50%”
“เราขอฟังความเห็นจากลิสซิ่งก่อน ว่าจะตอบโจทย์หรือปิด Pain Point ของลูกค้า ถ้าต้องการภาครัฐช่วยเหลือในส่วนของงบประมาณสนับสนุนควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ ด้วยกลไกลักษณะแบบไหน โดยคาดว่าก่อนสงกรานต์มาตรการนี้ออกมาให้บริการได้ ซึ่งหวังว่าอยากให้ทันกับงานบางกอก มอเตอร์โชว์ สำหรับวงเงิน 10,000 ล้านบาท น่าจะช่วยได้ประมาณ 1 หมื่นราย ซึ่งเป็นการเริ่มทดลองในเบื้องต้นก่อน” นายสิทธิกรกล่าว
นี่อาจจะเรียกว่า เป็นภารกิจที่น่าสนใจยิ่งของ บสย. ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า การเข้ามาค้ำประกันสินเชื่อรถกระบะตามนโยบายและคำสั่งของกระทรวงการคลังและรัฐบาล จะสามารถต่อลมหายใจของอุตสาหกรรมยานยนต์และผู้ประกอบการได้มากน้อยเพียงใด.