ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จับตาสถานการณ์ปัญหายาเสพติดสูตรผสมในกลุ่มวัยรุ่นนิยม “กินโปร” หรือการนำยา “โปรโคดิล” (Procodyl) รวมทั้ง ยา “ทรามาดอล” (Tramadol) ซึ่งเป็นยาจำพวกแก้แพ้ แก้ไอ แก้ปวด ฯลฯ หาซื้อได้ไม่ยากตามร้านขายยาทั่วไป มีการลอบจำหน่ายแม้มีการควบคุมโดยรัฐ มาผสมเครื่องต่างๆ อาทิ “น้ำอัดลม” หรือ “น้ำกระท่อม” ออกฤทธิ์มึนเมาเคลิบเคลิ้ม ส่งผลต่อสุขภาพรุนแรงถึงเสียชีวิต
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดเหตุวัยรุ่นชาย อายุ 21 ปี เสียชีวิตภายในห้องพักพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีสาเหตุมาจากการ “กินโปร” ทำให้สังคมหันมาสนใจสถาการณ์สารเสพติดสูตรผสมชนิดนี้อีกครั้ง ซึ่งต้องบอกว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมมาอย่างยาวนาน
ในกลุ่มวัยรุ่นวัยอยากรู้อยากลองนิยม "กินโปร" ซึ่งเป็นการนำยา “โปรโคดิล(Procodyl)” ตัวยาที่มีส่วนประกอบของโปรเมทาซีน (Promethazine) มาผสมเครื่องดื่มต่างๆ หรือยา “ทรามาดอล(Tramadol)” และตัวยาอื่นๆ มักนำมาเป็นส่วนผสมเครื่องดื่มจนเกิดกลายเป็นสารเสพติดที่ทำให้เกิดอาการมึนเมาเคลิบเคลิ้มคล้ายดื่มแอลกอฮอล์
กล่าวสำหรับ “โปรโคดิล (Procodyl)” เป็นยาแผนปัจจุบันชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มยาต้านฮีสตามีนหรือยาแก้แพ้ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไอ จาม น้ำมูกไหล ผื่นคัน ที่เกิดจากภูมิแพ้ ตลอดจนอาการเมารถ เมาเรือ เป็นตัวยาออกฤทธิ์กล่อมประสาท บรรเทาอาการปวด คลื่นไส้ อาเจียน นิยมใช่ในช่วงก่อนและหลังผ่าตัด เป็นตัวยาที่มีประโยชน์อย่างมากในทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน มีโทษมหันต์อันตรายถึงชีวิตหากใช้ผิดวัตถุประสงค์ผสมเป็นสารเสพติด
รูปแบบของ “โปรโคดิล” หรือที่เรียกว่า “ยาโปร” มีอยู่หลากหลายทั้งชนิดเม็ดชนิดน้ำและอื่นๆ แต่ที่นิยมและสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป คือ รูปแบบของยาน้ำรสหวาน โดยส่วนใหญ่จะนำมาผสมน้ำอัดลมต่างๆ หรือน้ำกระท่อม ดื่มกินจนเกิดอาการมึนเมาเคลิบเคลิ้ม ทั้งนี้ หากนำผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือตัวยาอื่นๆ จะเสริมฤทธิ์ของยาให้รุนแรงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว
พฤติกรรมการ “กินโปร” ของกลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งนั้นเกิดจากความอยากรู้อยากลอง การชักชวนในกลุ่มเพื่อน การเข้าสังคม รวมทั้ง ค่านิยมมองว่าการใช้สารเสพติดเป็นเรื่องเท่ โดยมีปัจจัยเสริมคือตัวยาที่นำมาผสมเครื่องดื่มหาซื้อง่ายตามร้านขายยาทั่วไปและราคาไม่แพง
ในเมืองไทย “โปรโคดิล” จัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่าด้วยมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาที่มีโปรเมทาซีนเป็นส่วนประกอบ กำหนดให้ร้านขายยาแผนปัจจุบันจำหน่ายได้เดือนละไม่เกิน 300 ขวดต่อร้าน และขายได้ไม่เกิน 3 ขวดต่อคน ปริมาณรวมไม่เกิน 180 มิลลิลิตร โดยต้องมีเภสัชกรเป็นผู้ควบคุม และหลีกเลี่ยงการจ่ายยาให้กับบุคคลที่อาจนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำและปรับ หรืออาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต
สำหรับตัวยาอีกชนิดที่นิยมนำมาเป็นผสมเป็นสารเสพติด คือ “ทรามาดอล (Tramadol)” เป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ออกฤทธิ์คล้ายกับมอร์ฟีนแต่เบากว่า หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปจะบรรจุอยู่ในแคปซูลสีเขียวเหลือง โดยใช้บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรงในผู้ที่มีอาการปวดแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง เช่น อาการปวดหลังผ่าตัด อาการปวดจากกระดูกหัก บาดแผล โรคมะเร็ง ข้อเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ปวดกระดูกและกล้ามเนื้อ ฯลฯ
โดยที่ผ่านมามีการปรับสถานะของ “ทรามาดอล” จาก “ยาอันตราย” เป็น “ยาควบคุมพิเศษ” หมายความว่า จะจำหน่ายได้ก็ต่อเมื่อมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น และห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 17 ปีในทุกกรณี
โดยยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์เกือบทุกชนิดมีความเสี่ยงในการเสพติดสูง เพราะยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มสุขเช่นเดียวกับ ฝิ่น หรือ เฮโรอีน ที่ทำผู้ใช้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย อยากใช้ซ้ำจนนำไปไปสู่การเสพติด
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้ข้อมูลว่ายาทรามาดอลเป็นยาอันตรายที่ใช้ในกรณีมีอาการปวดรุนแรง ซึ่งการนำยาทรามาดอลมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ง่วงซึม หากได้รับยาเกินขนาด ระบบหัวใจและหลอดเลือดจะล้มเหลว เกิดอาการชัก และระบบหายใจทำงานช้าลงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้น การใช้ยาทรามาดอลจึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น และเป็นยาที่กำหนดให้ขายในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตและต้องมีเภสัชกรแนะนำการใช้ยา โดยไม่จ่ายยาให้กับผู้ที่ไม่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และจ่ายในปริมาณที่เหมาะสมไม่เกิน 20 เม็ดต่อครั้ง และห้ามจำหน่ายให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี
ทั้งนี้ หากร้านขายยาใดฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย รวมทั้งพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตขายยาเป็นเวลา 120 วัน สำหรับเภสัชกรที่ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพ จะส่งเรื่องให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาพักใช้หรือเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ
แม้มีข้อกำหนดบทลงโทษชัดเจน แต่ในปัจจุบันยังคงพบมีการนำ “ยาทรามาดอล” หรือ “ยาเขียวเหลือง” มาใช้เพื่อให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมา
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยรายงานว่าพบการลักลอบขายยาทรามาดอลในร้านที่ไม่มีเภสัชกร ตลอดจนมีการลักลอบผลิตยาปลอมออกมาขายเพื่อหวังผลนำไปประกอบเป็นยาเสพติดอื่น
ด้วยเหตุนี้ทำให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้มีแนวทางควบคุมกำกับและเห็นว่าควรมีการควบคุมให้สั่งจ่ายโดยแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น ล่าสุด อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็น จนถึงวันที่ 6 มี.ค. 2568 ในการออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาควบคุมพิเศษ ฉบับที่...(ยาทรามาดอล tramadol ตำรับยาเดี่ยว ชนิดรับประทาน) โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่าน เว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย
ทั้งนี้ อย. มองว่าตัวเลขของคนที่จำเป็นต้องใช้ยายาทรามาดอลจริงๆ น่าจะอยู่ที่โรงพยาบาลจึงเป็นที่มาของแนวทางดังกล่าว สถานการณ์ที่ผ่านมาเกิดการลอบขายให้กลุ่มวัยรุ่นขายให้กลุ่มคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ซึ่งมีการจับกุมร้านขายยาพักใช้ใบอนุญาตเดือนละ 3-4 ราย
อย่างไรก็ตาม สมาคมร้านขายยา คัดค้านต่อการยกระดับสั่งจ่าย “ยาทรามาดอล” ให้เฉพาะแพทย์ในโรงพยาบาลเป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น โดย ภก.ชยินท์ จตุรพรประสิทธิ์ นายกสมาคมร้านขายยา ได้ออกจดหมายเปิดผนึก ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการ และผู้เกี่ยวข้อง ขอคัดค้านการยกระดับยาทรามาดอล ให้สามารถสั่งจ่ายได้เฉพาะแพทย์ในสถานพยาบาล
โดยเนื้อหาสรุปความได้ว่าเกรงเรื่องผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยาของประชาชนในหลายประการ ดังนี้ 1. เพิ่มภาระให้แก่โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ 2. กระทบต่อผู้ป่วยที่จําเป็นต้องใช้ยาทรามาดอล ยาทรามาดอลเป็นยาที่จําเป็นสําหรับผู้ป่วยบางกลุ่ม ต้องเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลทุกครั้ง ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวก 3. การลดทอนบทบาทของร้านขายยาและเภสัชกร ในร้านขายยามีบทบาทสําคัญในการให้คําแนะนําและสั่งจ่ายยาทรามาดอลอย่างเหมาะสม และ 4. ความเสี่ยงในการใช้ยาไม่ถูกต้องหรือแสวงหายา โดยผิดกฎหมาย
และเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาทางเลือกที่สมดุลระหว่างการกํากับดูแลการใช้ยาอย่างเหมาะสมและการอํานวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ดังนี้ การออกมาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นสําหรับร้านขายยา โดยกําหนดให้ร้านขายยาสามารถสั่งจ่ายยาทรามาดอลภายใต้หลักเกณฑ์ที่กําหนด และกําหนดให้เภสัชกรที่สั่งจ่ายยาทรามาดอลต้องบันทึกข้อมูลการจ่ายยา และใช้ระบบติดตามเพื่อลดความเสี่ยงของการใช้ยาในทางที่ผิด
อย่างไรก็ดี สมาคมร้านขายยาสนับสนุนให้มีการออกใบสั่งยาที่สามารถนําไปใช้ได้ทั้งในโรงพยาบาลและร้านขายยาที่ได้รับการรับรอง เพื่อช่วยลดภาระของโรงพยาบาลและอํานวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย
ถึงตรงนี้ ต้องบอกว่า สถานการณ์ยาเสพติดสูตรผสมที่แพร่ระบาดวัยรุ่นเป็นโจทย์ข้อยากของรัฐ เป็นประเด็นใหญ่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด.เพราะแม้จะมีการควบคุมสักเพียงใด ก็ยังคงมีการลักลอบซื้อขายนำตัวยาเหล่านี้ไปผสมเครื่องดื่มต่างๆ อย่างแพร่หลาย