xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เซเลนสกี” เข้าตาจน! ประเคน “แร่ธาตุหายาก” ให้สหรัฐฯ แม้ไร้สัญญาค้ำประกันความอยู่รอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารภายในห้องทำงานรูปไข่ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 25 ก.พ.
 สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อย่างเข้าสู่ปีที่ 4 เมื่อวันจันทร์ (24 ก.พ.) ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบากของฝ่ายเคียฟ หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ บีบให้ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ต้องยอมรับข้อตกลงให้สหรัฐฯ เข้าถึงทรัพยากรแร่ธาตุอันมหาศาล โดยอเมริกาเองก็ไม่รับปากว่าจะค้ำประกันความมั่นคงให้กับยูเครนด้วย 

ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าว เนื้อหาของร่างข้อตกลงที่คาดว่าจะมีการลงนามในสัปดาห์นี้ไม่ได้เอ่ยถึงการค้ำประกันความมั่นคงใดๆ ต่อยูเครนหรือคำมั่นสัญญาว่าจะส่งอาวุธให้อย่างต่อเนื่อง แต่ระบุเพียงว่า สหรัฐฯ นั้นต้องการให้ยูเครน “เป็นชาติที่มีอิสระ มีอธิปไตย และมีความมั่นคงปลอดภัย”

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า สหรัฐฯ และยูเครนยังอยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขว่าด้วยการสนับสนุนอาวุธในอนาคต

ทรัมป์กล่าวต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบขาวว่า เซเลนสกีต้องการมาที่วอชิงตันในวันศุกร์ที่ 27 ก.พ. เพื่อลงนาม  “ข้อตกลงที่สำคัญมาก”  โดยความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้นำทั้งสองเพิ่งจะปะทะคารมกันอย่างรุนแรงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

“ผมได้ยินว่าเขาจะมาในวันศุกร์ (27)” ทรัมป์กล่าวและว่า “แน่นอนผมก็ไม่ขัดข้องถ้าเขาจะมา และเขาอยากจะลงนามร่วมกับผม”

ทั้งนี้ การได้เข้าพบ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาวยังถือเป็นโอกาสให้ เซเลนสกี ได้พูดจาเกลี้ยกล่อมขอการสนับสนุนโดยตรงจากผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งเคยออกมากล่าวหาอย่างผิดๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเคียฟเป็นฝ่าย  “เริ่มเปิดสงคราม”  กับรัสเซีย

เจ้าหน้าที่ยุโรปต่างสับสนงุนงงงไปตามๆ กันเมื่อทรัมป์ตัดสินใจเปิดเจรจากับรัสเซียเพียงลำพังที่ซาอุดีอาระเบีย โดยไม่ให้ยูเครนและยุโรปได้มีส่วนร่วม แถมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอเมริกายังออกมาประกาศแบบแบเบอร์ว่าความมั่นคงของยุโรปไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ อีกต่อไป

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ให้สัมภาษณ์ในวันจันทร์ (24) ว่า รัสเซียไม่ได้คัดค้านการมีส่วนร่วมของยุโรปในกระบวนการเจรจาสันติภาพ ทว่าในเบื้องต้นรัสเซียต้องการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับสหรัฐฯ พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมทรัมป์ว่าเข้ามาจัดการความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน “ด้วยเหตุด้วยผล” และไม่ใช้อารมณ์

 ทรัมป์มองว่าข้อตกลงแร่ธาตุครั้งนี้เป็นการ “ใช้คืน” ความช่วยเหลือนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ อนุมัติให้เคียฟในยุครัฐบาล โจ ไบเดน และยังบอกด้วยว่ายูเครนจำเป็นต้องมี “กองกำลังรักษาสันติภาพ” หากว่ามีการบรรลุข้อตกลงยุติสงครามกันได้ ขณะที่รัฐบาลยุโรปบางชาติก็เสนอตัวแล้วว่าพร้อมที่จะส่งทหารเข้าไปช่วยรักษาสันติภาพในยูเครน 

  ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย

 ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน
 ผู้นำสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (24) ว่า ปูติน “เปิดกว้าง” สำหรับการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ แต่เจ้าหน้าที่รัสเซียรีบออกมาแย้งทันควันว่า มอสโกรับไม่ได้กับแนวคิดในการส่งกองกำลังจากชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เข้าไปในยูเครน โดย เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ก็ได้ชี้แจงจุดยืนนี้ให้สหรัฐฯ ทราบแล้วตั้งแต่ตอนพูดคุยกันที่ริยาด

“ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ ลาฟรอฟ ได้แสดงจุดยืนของเราเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว ผมไม่มีอะไรที่จะกล่าวเพิ่มเติม ก็ขอไม่แสดงความคิดเห็นแล้วกัน” ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินกล่าว

ลาฟรอฟ ย้ำเตือนกับสหรัฐฯ ว่ามอสโกมองสิ่งดังกล่าวเป็น “ภัยคุกคามโดยตรง” ต่ออธิปไตยของรัสเซีย ต่อให้ทหารนาโตเหล่านั้นจะปฏิบัติภารกิจภายใต้ร่มธงอื่นๆ ก็ตาม

การที่ทรัมป์รีบร้อนผลักดันข้อตกลงสันติภาพเพื่อจบสงคราม รวมถึงท่าทีของเขาที่กระตือรือร้นอยากกลับไปสานสัมพันธ์กับรัสเซียอีกครั้ง ทำให้พันธมิตรในยุโรปหวั่นวิตกว่าการอ่อนข้อให้มอสโกเช่นนี้อาจกระทบกระเทือนถึงความมั่นคงของยูเครนและยุโรปทั้งหมด และยังทำให้บริบทด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกพลิกผันอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
 
สัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์วิจารณ์เซเลนสกี ว่าเป็น “ผู้นำเผด็จการ” ที่ครองอำนาจอยู่เกินวาระโดยไม่ยอมจัดการเลือกตั้ง พร้อมเตือนให้รีบทำข้อตกลงจบสงครามกับรัสเซียก่อนที่จะสูญเสียบ้านเมือง ซึ่งคำพูดเช่นนี้ก็ทำให้ผู้นำยูเครนยัวะจัดจนออกมาตอกกลับว่า ทรัมป์ กำลังตกอยู่ท่ามกลาง “ฟองสบู่แห่งข้อมูลบิดเบือน” ของรัสเซีย 

ข้อตกลงว่าด้วยแร่ธาตุจะเปิดทางให้สหรัฐฯ สามารถเข้าถึงทรัพยากรแร่มีค่าในยูเครน โดยแหล่งข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องในร่างข้อตกลงแล้ว และเสนอให้ผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายลงนาม

“เรากำลังจะทำตามสิ่งที่เราพูด เราต้องการความมั่นคงปลอดภัย... ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันกำลังจะได้เงินของพวกเขากลับคืน และจะมากขึ้นอีก” ทรัมป์กล่าว

 รัฐบาลเคียฟระบุว่ายูเครนมีแหล่งแร่ธาตุ 22 ชนิดจากทั้งหมด 34 ชนิดที่สหภาพยุโรปยกให้เป็น “แร่ธาตุสำคัญยิ่งยวด” รวมถึงแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง โลหะผสมที่มีแร่เหล็กเป็นส่วนประกอบ (ferroalloy) โลหะมีค่าที่ไม่มีแร่เหล็กเป็นส่วนประกอบ และแร่หายากหรือที่เรียกกันว่า “แรร์เอิร์ธ” ด้วย

นอกจากนี้ ยูเครนยังมีแหล่งสำรองกราไฟต์ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของปริมาณกราไฟต์ที่มีอยู่ทั่วโลก 

เซเลนสกี เคยปฏิเสธไม่ยอมเซ็นร่างข้อตกลงฉบับก่อนหน้านี้ซึ่งสหรัฐฯ เรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรแร่ธาตุในยูเครนถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ โดยยูเครนโต้แย้งว่าอเมริกาไม่ได้จ่ายเงินสนับสนุนยูเครนมากถึงขนาดนั้น อีกทั้งร่างข้อตกลงก็ไม่ได้พูดถึงการค้ำประกันความมั่นคงให้กับยูเครนเลย

  ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กางแผนที่แหล่งแร่ธาตุต่างๆ ในยูเครน ระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.

ชาวยูเครนร่วมกันจุดเทียนรำลึกถึงทหารที่สละชีพเพื่อปกป้องประเทศชาติจากการรุกรานของรัสเซีย เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ.
ภายใต้เงื่อนไขของร่างข้อตกลงฉบับปัจจุบัน สหรัฐฯ และยูเครนจะมีการตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนบูรณะฟื้นฟู (Reconstruction Investment Fund) เพื่อเก็บรวบรวมและนำเม็ดเงินรายได้จากทรัพยากรในยูเครน เช่น แร่ธาตุ ไฮโดรคาร์บอน และอื่นๆ ที่ขุดสำรวจได้ ไปลงทุนต่อ

ยูเครนจะจ่ายสมทบกองทุนนี้ 50% จากรายได้ที่หักค่าดำเนินการแล้วจนกว่าจะครบ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สหรัฐอเมริการับปากจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินในระยะยาวเพื่อทำให้ยูเครนกลับมา “มีเสถียรภาพและเจริญรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจอีกครั้ง”

 เมื่อถามว่ายูเครนจะได้อะไรบ้างจากข้อตกลงแร่ธาตุฉบับนี้? ทรัมป์ก็อ้างถึงความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ ให้ไปแล้ว 350,000 ล้านดอลลาร์ "แล้วก็ยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์อีกมากมาย รวมถึงสิทธิในการต่อสู้” 

สก็อตต์ แอนเดอร์สัน นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลจากสถาบันบรุกกิงส์ ชี้ว่าแม้ข้อตกลงแร่ธาตุจะดูเหมือนเป็นการ  “ปล้น” ยูเครนกลายๆ ในสายตาชาวโลก แต่ก็มีความจำเป็นหากว่า เซเลนสกี หวังที่จะซื้อใจทรัมป์ และพวกนักการเมืองสายรีพับลิกันในสหรัฐฯ

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับมองไม่น้อยก็คือท่าทีของประธานาธิบดีปูติน ที่ออกมายื่นข้อเสนอต่อสหรัฐฯ เกี่ยวกับโอกาสในการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจเพื่อร่วมกันสำรวจทรัพยากรแรร์เอิร์ธในรัสเซีย ซึ่งผู้นำหมีขาวยืนยันว่า “มีมากกว่าในยูเครนเสียอีก” 

“ผมก็อยากจะซื้อแร่ธาตุจากดินแดนรัสเซียด้วยเหมือนกันถ้าเราทำได้... นั่นก็คือแรร์เอิร์ธ พวกเขาต่างมีแรร์เอิร์ธคุณภาพดีเหมือนกัน ทั้งรัสเซียและยูเครน” ทรัมป์กล่าว พร้อมระบุว่าการทำข้อตกลงจะเป็นประโยชน์กับทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียN

ปัจจุบันจีนควบคุมการผลิตและส่งออกโลหะแรร์เอิร์ธถึง 95% ของโลก ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมหลายด้านตั้งแต่กลาโหมเรื่อยไปจนถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค และนั่นทำให้หลายประเทศพยายามที่จะสำรวจและดึงทรัพยากรแร่ธาตุของตนเองออกมาใช้บ้าง

ในส่วนของรัสเซียก็มีแหล่งสำรองโลหะแรร์เอิร์ธมากเป็นอันดับ 5 ของโลกตามข้อมูลจากสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) โดยเป็นรองเพียงจีน บราซิล อินเดีย และออสเตรเลีย

USGS ประเมินว่า รัสเซียมีแหล่งสำรองแรร์เอิร์ธอยู่ประมาณ 3.8 ล้านเมตริกตัน ในขณะที่มอสโกออกมาให้ตัวเลขแรร์เอิร์ธของตนเองสูงกว่านั้น

 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของรัสเซียระบุว่า รัสเซียมีแหล่งสำรองโลหะแรร์เอิร์ธ 15 ชนิดรวมทั้งหมดถึง 28.7 ล้านตันตามข้อมูล ณ วันที่ 1 ม.ค. ปี 2023 และตัวเลข 3.8 ล้านนั้นหมายถึงแหล่งสำรองที่กำลังถูกพัฒนาหรือพร้อมสำหรับการพัฒนาแล้ว 

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ได้สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกด้วยการโหวตคัดค้านญัตติประณามสงครามที่รัสเซียรุกรานยูเครนในเวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันจันทร์ (24) และแม้ญัตติดังกล่าวจะยังคงผ่านที่ประชุมด้วยเสียงสนับสนุน 93 งดออกเสียง 65 และโหวตโนอีก 18 ทว่ามอสโกและวอชิงตันก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (UNSC) ยอมรับร่างมติที่สหรัฐฯ เสนอซึ่งแสดงจุดยืน “เป็นกลาง” ในความขัดแย้งนี้

ด้านธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คณะกรรมาธิการยุโรป และรัฐบาลยูเครน ได้เผยแพร่ผลการประเมินค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจยูเครนจากผลลัพธ์การรุกรานของรัสเซียตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 524,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเกือบ 3 เท่าตัวของผลผลิตทางเศรษฐกิจ (economic output) ของยูเครนโดยประเมินในปี 2024

 ตัวเลขนี้ถือว่าเพิ่มขึ้นกว่า 7% จากวงเงิน 486,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่เคยประเมินไว้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว โดยพบว่าที่อยู่อาศัย การคมนาคมขนส่ง พลังงาน การค้า และการศึกษา เป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และเฉพาะการเก็บกวาดเศษซากความเสียหายก็คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเกือบ 13,000 ล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว 


กำลังโหลดความคิดเห็น