ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นประเด็นร้อนสุดวายป่วง เมื่อ “PETA” และ “Born Free” คู่หูองค์กรพิทักษ์สัตว์ประกาศ “แบนหมูเด้ง” ฮิปโปโปเตมัสแคระดาวเด่นแห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี โดยรณรงค์ห้ามนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษไม่ให้เดินทางมาเที่ยวสวนสัตว์ ชี้สัตว์ป่าควรอยู่ในป่าธรรมชาติ อีกทั้งยังปั่นกระแส “บอยคอต (Boycott) กะทิไทย” ตีตราทารุณกรรมสัตว์ใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” อีกด้วย
แน่นอน สิ่งที่สังคมไทยตั้งคำถามคือ ทั้งสององค์กรพิทักษ์สัตว์อย่าง “PETA” และ “Born Free” นั้น มีแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมพิทักษ์สัตว์อย่างสุดโต่งเกินความพอดี หรือไม่ อย่างไร
โดยเฉพาะ PETA(พีต้า) องค์กรที่มีจุดประสงค์เพื่อพิทักษ์สิทธิของสัตว์ ซึ่งมีการแสดงพฤติกรรมเรียกร้องต่อประเด็นต่างๆ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงตรรกะผิดเพี้ยน ยกตัวอย่างเช่น การรณรงค์ไม่ให้เรียกสัตว์ว่า “มัน” หรือกา “แบนเกมโปเกมอน” เพราะมองว่าเป็นเกมที่เอาสัตว์มาต่อสู้กัน หรือการเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนสำนวนที่มีความหมายที่แสดงถึงการทารุณกรรมสัตว์ เป็นต้น
ขณะที่ BORN FREE (บอร์น ฟรี องค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าระดับโลก ซึ่งมีแนวคิดหลักคือ สัตว์ป่าควรเป็นสัตว์ป่า ไม่ควรจะถูกกักขังในรูปแบบกรง หรือแม้กระทั่งในสวนสัตว์ และไม่ควรถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการแสดงความบันเทิง โดยมีการรณรงค์ปกป้องสัตว์ป่าจากการกักขังด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ธงแดง” (Red flag) ปักหมุดสถานที่ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสวนสัตว์ต่างๆ เพื่อเป็นการรณรงค์ไม่ให้ไปท่องเที่ยว
และคราวนี้ทั้งสององค์กรพุ่งเป้ามาที่ “ประเทศไทย” เป็นกรณีพิเศษ
เริ่มจาก “ปรากฎการณ์หมูเด้ง” ลูกฮิปโปฯ แคระสุดน่ารักดาวเด่นแห่งสวนสัตว์เขาเขียว จ.ชลบุรี ผู้สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก โดยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศทั้งในเมืองไทยและต่างชาติ เดินทางมาเที่ยวชมดู “หมูเด้ง” สัมผัสความดีดดิ้นแสนซนของอย่างล้นหลาม ชนิดที่เรียกว่ากู้วิกฤตสวนสัตว์จนสร้างเงินสะพัดให้สวนสัตว์เปิดเขาเขียวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวหลายสิบล้านบาท
ล่าสุด “PETA” และ “Born Free” ได้ออกมารณรงค์ “แบนหมูเด้ง” ห้ามนักท่องเที่ยวอังกฤษไม่ให้เดินทางมาดูฮิปโปแคระและห้ามไม่ให้มาเที่ยวสวนสัตว์ของไทย เพราะมองว่ากระแสความโด่งดังของฮิปโปฯ แคระจะเป็นภัยต่อสวัสดิภาพความเป็นอยู่ในฐานะสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ จากการที่มีอาจนักท่องเที่ยวมือบอนปาขวดน้ำ สิ่งของ หรือส่งเสียงดังเพื่อเรียกความสนใจให้เจ้าหมูเด้งปรากฎตัวเพื่อถ่ายรูป
แถลงการณ์ของ PETA โจมตีสวนสัตว์เขาเขียว จ.ชลบุรี ว่าไม่ได้มาตรฐาน โดยระบุว่า “...หมูเด้งคงจะต้องตายอยู่ในนั้น หมูเด้งรู้จักเพียงแต่คอกที่แห้งแล้งปราศจากพืชผล และหมูเด้งยังปราศจากโอกาสที่จะมีประสบการณ์ในพื้นที่กว้างของถื่นที่อยู่ตามธรรมชาติที่แท้จริงในแอฟริกาตะวันตก...”
และกล่าวอ้างความว่า “สวนสัตว์เปิดเขาเขียวอ้างเพาะพันธุ์สัตว์ป่าในที่กักขังเพื่อการอนุรักษ์ แต่ขอให้พูดความจริง ธุรกิจเพื่อการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเหล่านี้ห่างไกลจากถิ่นเกิดตามธรรมชาติของพวกมันและขังสัตว์เหล่านี้ในฐานะนักโทษเพื่อผลกำไร”
โดยก่อนหน้านี้ PETA ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กวิจารณ์สวนสัตว์เมืองไทย เปิดประเด็นว่ามีการนำสัตว์ป่าหาใกล้สูญพันธุ์ฮิปโปฯ แคระมาหากำไรเกินควร และชี้ว่าบ้านของฮิปโปฯ แคระควรอยู่ในป่าธรรมชาติ รวมทั้ง รณรงค์บอยคอตสวนสัตว์ที่กักขังสัตว์ป่า
ขณะที่ Born Free ออกแถลงการณ์เรียกร้องนักท่องเที่ยวและสาธารณชนไม่ให้สนับสนุนสัตว์ป่าที่โดยกักขังอย่าง ปลุกกระแส “แบนหมูเด้ง” รณรงค์ไม่ให้ไปเที่ยวชมยังสวนสัตว์ ไม่ให้กดไลค์หรือกดแชร์ทางโซเชียลมีเดีย เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการอนุรักษ์ถิ่นที่ของสัตว์ป่าให้อยู่นตามธรรมชาติในป่า
จากกระแส “แบนหมูเด้ง” ที่ปลุกปั่นโดยองค์กรพิทักษ์ข้ามชาติ โดยอ้างว่าสวนสัตว์เปิดเขาเขียวนำ “หมูเด้ง” มาโชว์ตัวจัดแสดงเป็นการหากินกับสัตว์ ทรมานสัตว์ และสภาพที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะนั้น นายณรงวิทย์ ชดช้อย ผู้อำนวยการสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ได้ออกมายืนยันว่าสวนสัตว์มีมาตรฐานในการดูแลสัตว์ทุกตัว ส่วนมาตรการในการดูแล “หมูเด้ง” ทางสวนสัตว์จะมีทีมแพทย์เข้ามาตรวจเช็กสุขภาพประจำทุกวัน โดยจะทำงานร่วมกับพี่เลี้ยง เพื่อตรวจเช็กการเจริญเติบโตของฮิปโปฯ แคระ ซึ่งสัตว์ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีสวัสดิภาพที่ดี รวมทั้งมีการตรวจประเมินสุขภาพสัตว์จากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมตรวจสอบ
ทั้งนี้ ทางสวนสัตว์มีภารกิจหลักๆ 4 ด้าน คือ การอนุรักษ์ วิจัยสัตว์ ให้การศึกษา และพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งในส่วนของเรื่องการอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีภารกิจในเรื่องของการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าทั้งในเขตและนอกเขตอาศัย เพื่อนำกลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
ยกตัวอย่างเช่นการปล่อยนกกระเรียนและวัวแดง คืนสู่ธรรมชาติ หรือแม้แต่นกกระสาคอขาว ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่ จ.บุรีรัมย์ และล่าสุดจากการติดตามทราบว่านกชุดที่ปล่อยไปนั้น ได้ออกลูกตามธรรมชาติได้แล้ว
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสัตว์ป่าของสัวนสัตว์มีการฝึกอบรมด้านสวัสดิภาพสัตว์เป็นประจำทุกปี อีกทั้งยังมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สำหรับพื้นที่ที่อยู่ของ “หมูเด้ง” มีการจัดพื้นที่ที่คล้ายกับถิ่นที่อยู่เดิมของฮิปโปฯ แคระ ซึ่งแตกต่างจากฮิปโปฯ ธรรมดาที่มักใช้ชีวิตในแม่น้ำหรือทะเลสาบ โดยเฉพาะช่วงที่ “หมูเด้ง” ยังเป็นลูกอ่อนจึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละวันเพื่อลดความเครียดของหมูเด้ง รวมทั้งทางเลือกเปิดบริการกล้องถ่ายทอดสดออนไลน์เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามความน่ารักของหมูเด้งได้จากที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางมาเยือนสวนสัตว์เปิดเขาเขียว
อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้มีนักท่องเที่ยวเข้าชม “หมูเด้ง” แล้วกว่า 800,000 คน ณ ขณะนี้ หมูเด้ง อายุ 7 เดือนแล้วแต่ยังคงคาเรตเตอร์ความน่ารักแสนซนครองใจนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้มอบประกาศเกียรติคุณและโล่เกียรติคุณแก่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เนื่องจาก “ปรากฎการณ์หมูเด้ง” สร้างคุณประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ทำให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ยอมเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาประเทศไทย เพื่อมาดู “หมูเด้ง" ไม่ต่ำกว่า 10,000 คนต่อวัน สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล
ขณะที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันอีกเสียงว่าทางสวนสัตว์ให้การดูแลสัตว์ป่าดีทุกประการ ทั้งสวัสดิการ ที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม และสุขภาพของสัตว์ และเรียกร้องให้ PETA มาดูข้อเท็จจริง ฮิปโปแคระแม้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ก็จริง แต่ประเทศไทยก็เพาะพันธุ์ได้มาก โดยเฉพาะแม่ของหมูเด้งที่มีลูกมาแล้วถึง 7 ตัว ส่วนจะมากที่สุดในโลกหรือไม่นั้น ต้องตรวจสอบสถิติ พร้อมย้ำว่าสวนสัตว์ของประเทศไทยดูแลสัตว์ถูกสุขลักษณะ และมีการพัฒนาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา
ขณะที่สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ชี้แจงเพิ่มเติมว่าสวนสัตว์เขาเขียวมีมาตรการดูแลสัตว์ที่ได้มาตรฐาน และเน้นย้ำบทบาทของสวนสัตว์ในการอนุรักษ์และวิจัยพันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงการปล่อยสัตว์กลับสู่ธรรมชาติ เช่น โครงการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยและนกกระสาดำที่สวนสัตว์เขาเขียวมีการปล่อยสู่ธรรมชาติมาแล้วอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างประชากรสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในไทยให้ฟื้นคืนสู่ถิ่นเดิมอีกครั้ง
อีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน กรณี “บอยคอตกะทิจากเมืองไทย” นื่องจากเกิดการทารุณกรรมสัตว์ใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์ PETA รณรงค์มาตลอดหลายปี ล่าสุด ทำกิจกรรมสุดป่วนบุกไปหน้าสถานทูตไทยในกรุงลอนดอน กระทำการเทน้ำกะทิราดตัว เพื่อเรียกร้องให้ทั่วโลกบอยคอตกะทิจากเมืองไทย โดยพร้อมระบุว่าเป็นการทรมานลิงเก็บมะพร้าว นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในไทยและต่างชาติ
การขับเคลื่อนของ PETA ในประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปปี 2020 ทาง PETA กล่าวหาว่า สวนมะพร้าวหลายแห่งในประเทศไทยใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าว ซึ่งเข้าข่ายเป็นการทรมานสัตว์ โดยส่งผลให้ร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของอังกฤษแบนสินค้าที่แปรรูปจากมะพร้าวไทย อาอิ กะทิสำเร็จรูป น้ำมันมะพร้าวจากไทย ฯลฯ โดยเก็บออกจากชั้นวางจำหน่ายเพื่อร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านการใช้แรงงานลิงในอุตสาหกรรมมะพร้าวของประเทศไทย รวมทั้งมีการเรียกร้องไปยังรัฐบาลอังกฤษให้หาทางออกที่เหมาะสม เพื่อกดดันให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยยุติการใช้แรงงานลิง
ประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยอย่างหนัก ซึ่ง PETA มองว่าไทยเป็นชาติเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังใช้สัตว์ในกิจวัตรประจำวันเพื่อหาผลประโยชน์ทางการเงิน เช่น การใช้ลิงเก็บมะพร้าว การใช้ช้างเพื่อการท่องเที่ยว การแสดงโชว์เสือ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน ในอังกฤษ ออกมาชี้แจงทันทีว่า อุตสาหกรรมมะพร้าวไทยใช้แรงงานมนุษย์เท่านั้น ส่วนการใช้ลิงในสวนภาคใต้เป็นเรื่องระดับท้องถิ่นไม่ใช่ระดับอุตสาหกรรม ยืนยันว่าผู้ผลิตกะทิไทยรายใหญ่ของประเทศไม่มีการใช้ลิงในกระบวนการผลิต
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจ้งข้อเท็จจริงว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการใช้ลิงเก็บมะพร้าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการท่องเที่ยว ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมไม่มีการใช้ลิงมาเก็บมะพร้าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ เกษตรกรไทย ตลอดจนคนไทยด้วยกัน ต่างก็ทราบกันดีว่า การใช้ลิงเก็บมะพร้าวเกิดขึ้นแค่ในระดับท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมายาวนานถึงร้อยปี และส่วนใหญ่จะอยู่กันแบบครอบครัว
ขณะที่เกษตรกรเจ้าของสวนมะพร้าวตอบโต้เป็นเสียงเดียวกันว่าสำหรับคนไทย ลิงเก็บมะพร้าว คือภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานับร้อยปี การตีตรากล่าวหาว่าทารุณกรรมลิงเช่นนี้ไม่ยุติธรรม เพราะชาวสวนเลี้ยงเปรียบเสมือนครอบครัวรักเหมือนลูก
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกกะทิรายใหญ่ของโลก ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกกะทิไปยัง 131 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 12,064 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.85% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกกะทิสำเร็จรูปของไทยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 93.13% โดยมูลค่าการส่งออกกะทิสำเร็จรูปอินทรีย์ปี 2567 เพิ่มขึ้น 36.83% มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 70.5% เนเธอร์แลนด์ 10.43% และสวิตเซอร์แลนด์ 6.21%
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามอธิบายต่อประเด็นดังกล่าว ไม่มีการทารุณกรรมสัตว์เพื่อนำใช้อุตสาหกรรมมะพร้าว แต่องค์กร PETA มีความเชื่อฝังหัวว่ากะทิไทยผลิตมาจากแรงงานลิงโดยใช้วิธีทรมานสัตว์ มีการรณรงค์ปลุกปั่นกระแสประเด็นมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนล่าสุด PETA ปลุกแคมเปญบอยคอตกะทิจากเมืองไทยอีกครั้ง
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ซึ่งถ้าหากมีการทารุณกรรมลิง เพื่อใช้เก็บมะพร้าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ยืนยันอีกครั้งว่าอุตสาหกรรมกะทิไทยรายใหญ่ของประเทศไทยไม่มีการใช้ลิงในกระบวนการผลิต และเรื่องของลิงเก็บมะพร้าวเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ถูกนำมาใช้ในระดับอุตสาหกรรม
กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนการขับเคลื่อนอย่างสุดโต่งของเหล่าองค์กรพิทักษ์สัตว์ข้ามชาติ อย่างน้อยก็คงสะท้อนให้ทั่วโลกตระหนักการเรียกร้องสิทธิเพื่อสัตว์ป่าต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ตลอดจนการเรียนรู้และยอมรับวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่แตกต่าง.