ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตลาดหุ้นที่ซบเซามานานเสมือนได้น้ำทิพย์ชโลม เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันทีในวันที่ 26 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจโตต่ำกว่าที่ประเมินไว้
มติของ กนง.ครั้งนี้ ยังต่อลมหายใจผู้ประกอบการรายย่อยที่แบกต้นทุนดอกเบี้ยสูงจากยอดคงค้างหนี้สะสมอยู่ที่ 3.15 ล้านล้านบาท ให้บรรเทาเบาลง
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงมติของ กนง. ที่เห็นควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกกดดันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันจากสินค้านำเข้าที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศ ที่มีแนวโน้มขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว และการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวได้จากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีและเกษตรแปรรูปเป็นหลัก ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เพื่อให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน
สำหรับเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ กนง. เตรียมจะปรับประมาณการ โดยคาดลงมาอยู่เหนือ 2.5% เล็กน้อย จากระดับเดิมที่คาดจีดีพีจะโต 2.9%
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามภาคการผลิตที่อาจถูกกดดันต่อเนื่อง โดยเฉพาะ SMEs ที่เผชิญปัญหาความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงผลกระทบจากนโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากให้น้ำหนักมากกว่ากับการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มทรงตัวจากราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนภาวะการเงินยังตึงตัว สินเชื่อ SMEs โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างยังหดตัวต่อเนื่อง สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากครัวเรือนมีภาระหนี้สินสูง รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยเห็นควรให้ติดตามแนวโน้มการขยายตัวและคุณภาพสินเชื่อกลุ่มเปราะบาง
นายสักกะภพ เชื่อว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ จะสามารถรองรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ในระดับหนึ่ง และยืนยันว่ายังไม่ใช่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง และการที่ กนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพราะถูกแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง หรือภาคเอกชน แต่ กนง. ประเมินจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ก่อนหน้าที่จะมีการประชุม กนง. หนึ่งวัน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2568 มีมติส่งหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย ครม.ขอให้ ธปท.พิจารณาข้อกังวลของครม.ถึงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน โดยต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ที่ 1 – 3% จึงหวัง กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังและมุ่งหวังจะเป็นตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองการลดดอกเบี้ยครั้งนี้มาจากเศรษฐกิจไทยไม่ขยายตัวตามคาดจึงต้องการแรงส่งจากมาตรการทางการเงิน และ กนง.ห่วงภาคการผลิตโดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีนที่ทะลักเข้ามากระทบ SMEs ที่แข่งขันไม่ได้ รวมทั้งเงินเฟ้อต่ำ ภาวะการเงินตึงตัว หนี้ครัวเรือน ดังนั้นการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาและไม่น่าทำให้หนี้กลับมาเพิ่มขึ้นได้เหมือนที่กังวล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ว่าจะช่วยลดต้นทุนการเงินให้กับผู้ประกอบการที่แบกรับดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งจากข้อมูลหนี้ภาคธุรกิจ SMEs ณ ไตรมาส 4/2567 มียอดคงค้างหนี้สะสมอยู่ที่ 3.15 ล้านล้านบาท และยังจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งมีผลเชิงบวกต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค และทำให้ค่าบาทอ่อนเป็นผลดีต่อการภาคการส่งออกของไทย
ขณะเดียวกัน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย มองบวกต่อการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในเวลาที่กำลังซื้อภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และลดภาระต้นทุนของภาคเอกชน เพิ่มสภาพคล่องให้ครัวเรือนและธุรกิจ แต่ที่อยากเห็นตามมาคือ มาตรการช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
หลังจาก กนง.หั่นดอกเบี้ยนโยบาย นับเป็นเรื่องที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้ตลาดหุ้นในภาคบ่ายของวันที่ 26 ก.พ. โดยดัชนีหุ้นเด้งขึ้นมาถึง 22.15 จุด ซึ่ง ณ เวลา 15.07 น. อยู่ที่ระดับ 1,228.46 จุด เพิ่มขึ้น 22.07 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 1.83% จากปิดตลาดก่อนหน้า ในระหว่างวันดัชนีแกว่งตัวในกรอบ 1,208.97-1,232.63 จุด มีมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 45,417.32 ล้านบาท
ทว่า ในวันถัดมา 27 ก.พ. 2568 ดัชนีหุ้นไทย (SET) พลิกจากแดนบวกปรับตัวลงแรง 14.50 จุด มาที่ 1,216.64 จุด ในช่วงเช้าโดยเป็นการร่วงลงตามตลาดภูมิภาคจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยและนโยบายภาษีของทรัมป์
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด มองการที่ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างแรงเซอร์ไพรส์ตลาดมาก ปัจจัยดังกล่าวทำให้เซนติเมนท์ตลาดหุ้นไทยเป็นบวกขึ้นมาทันที หนุนให้บรรยากาศในการลงทุนระยะสั้นดีขึ้น โดยเฉพาะในหน้าหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ ค้าปลีก โรงไฟฟ้า และไฮยิลด์ ที่ได้รับอานิสงส์จากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้
เช่นเดียวกันกับ นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่มองการลดดอกเบี้ยของ กนง. เป็นการเซอร์ไพร์สตลาด ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นที่ได้รับประโชน์จากต้นทุนการเงินที่ลดลง เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มลีสซิ่ง กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เป็นปัจจัยบวกระยะสั้นที่ช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นที่ซบเซามานาน ส่วนมาตรการปลุกชีพตลาดให้พลิกฟื้นอย่างยั่งยืนนั้น ทาง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยถึงความคืบหน้าในการออกมาตรการหนุนตลาดทุนว่า ภายในเดือนมี.ค. 2568 คลังจะออกกองทุนใหม่เพื่อให้มีการโยกกองทุนเพื่อการออมระยะยาว (LTF) มาอยู่ในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) คาดว่าการโยกเม็ดเงินจาก LTF เข้ามา Thai ESG กว่า 1.8 แสนล้านบาท จะช่วยชะลอแรงขายและทำให้นักลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อไป
เวลานี้นักลงทุนที่ซื้อกองทุนรวมระยะยาว (LTF) สะสมมาตั้งแต่ยุคตลาดขาขึ้นต่างชอกช้ำสุด ๆ เพราะเมื่อครบกำหนดถึงเวลาขายในปีนี้ตลาดหุ้นกลับซบเซาอย่างหนัก โจทย์ใหญ่จะถือต่อหรือพอแค่นี้ หรือจะรอโยกเข้ากอง Thai ESG ที่จะตั้งใหม่ ยืดเวลา ลดขาดทุน ล้วนแต่วังเวง
นับจากต้นปี 2568 เป็นต้นมา ผู้ถือกองทุน LTF จำนวนไม่น้อยที่เลือก “ขายทิ้ง” เพราะไม่แน่ใจว่าหากยังถือต่อจะยิ่งขาดทุนลึกลงไปกว่านี้หรือไม่ เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณว่าตลาดหุ้นจะโงหัวขึ้นจากหุบเหวแต่อย่างใด การแห่ขาย LTF ยิ่งกดดันให้ตลาดหุ้นทรุดหนักลงไปอีก
ก่อนหน้านี้ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส รายงานว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) เปราะบางนับจากต้นปี 2568 ถึงวันที่ 10 ก.พ. 2568 ปรับตัว -9.6% หรือ Market Cap หายไป 1.6 ล้านล้านบาท หากเทียบกับประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯโดยตรง อย่างเช่น จีน เม็กซิโก และแคนาดา กลับสวนทาง คือสร้างผลตอบแทนเป็นบวกในปีนี้ทั้งสิ้น
เอเชีย พลัส วิเคราะห์ว่า SET Index ที่ลงมาแรงและเร็ว อาจเกิดจากนักลงทุนกังวลต่อแรงขาย LTF ที่เร่งตัวขึ้น สะท้อนจากข้อมูลสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) ยอด LTF ในเดือน ม.ค. 2568 ลดลง 3.14 หมื่นล้านบาท หรือ 14.5% เหลือ 1.88 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี (เฉลี่ย 10 ปี เดือน ม.ค. AUM (สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ) ลดลง 8,000 ล้านบาท) ส่งผลให้นักลงทุนเทขาย LTF และนักลงทุนทั่วไปขายหุ้นและไม่กล้าซื้อหุ้น
แต่หากพิจารณามูลค่า LTF ในปัจจุบันอยู่ที่ 1.88 แสนล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนแค่ 16% ของกองทุนรวมหุ้นไทย และยังเป็นสัดส่วนเล็ก ๆ ของเม็ดเงินที่หมุนเวียนใน SET หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.2% ของ Market Cap ของ SET ในปัจจุบัน ต่างกับปี 2562 ที่ LTF เคยมีมูลค่า AUM สูงถึง 4.16 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของกองทุนรวมหุ้นไทย แต่ความกังวลแรงขาย LTF ที่ 1.88 แสนล้านบาท ที่มีสัดส่วนเล็ก ๆ กับตลาด กลับเกิดความเสียหายกับตลาดหุ้น ทำให้ Market Cap หายไปแล้วกว่า 1.6 ล้านล้านบาท
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ให้ตัวเลขว่า กองทุน LTF ที่ครบกำหนดมีมูลค่าคงค้างในระบบ 2.3 แสนล้านบาท หากนักลงทุนซื้อ LTF ตอนปี 2562 ผลตอบแทนยังขาดทุน เพราะตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างมาก โดยปี 2562 ตลาดหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1,600 จุด เมื่อเทียบกับ SET Index ในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1,300 จุด หากขายกอง LTF จะขาดทุนประมาณ 20%
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยเปิดปี 2568 มาถือว่าต่ำสุดในรอบ 9 ปี อัตราส่วนราคาตลาดของหุ้น (P/BV) อยู่ที่ 1.34 เท่า ในเชิงสถิติถือว่าต่ำ 1 SD ซึ่งปกติแล้วจะเกิดเฉพาะช่วงวิกฤต เช่น วิกฤต Dot-Com, วิกฤตซับไพรม์, วิกฤตโควิด แต่ในปัจจุบันไม่ได้เกิดวิกฤต แต่ Valuation ต่ำกว่าวิกฤตแล้ว
เอเชีย พลัส แนะนำว่านักลงทุนควรถือต่อก่อน เนื่องจาก SET Index กำไรยังอยู่ในระดับปกติ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี มีโอกาสที่จะโตต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะขาดทุนน้อยลงจาก Valuation ปัจจุบันที่ถูกมาก ไม่สอดคล้องกับผลประกอบการที่ทำได้ โดยประเมิน SET Index ช่วงกลางปีอยู่ที่ 1,521 จุด และท้ายปีที่ 1,587 จุด
ขณะที่ บล.กสิกรไทย ระบุยอดขายกองทุน LTF ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีประมาณ 15,000 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่เดือน ม.ค. จะอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากอิงจากต้นทุนค่าเฉลี่ยหากขาย LTF ตอนนี้จะขาดทุนประมาณ 15%
ในปีนี้ บล.กสิกรไทย มอง SET Index จะปิดที่ 1,520 จุดได้ หากนักลงทุนจะขาย LTF อาจจะรอขายช่วงที่ SET Index ปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 1,400-1,450 จุด อาจจะเป็นช่วง Cut Loss ผลตอบแทนขาดทุนที่ต่ำกว่า
ด้าน บลจ.ทิสโก้ มองผลตอบแทน LTF ทั้งอุตสาหกรรมยังติดลบ ส่วนกอง LTF ของทิสโก้ ผลตอบแทนเป็นบวกแต่ไม่ได้สูงมากนัก และสภาพตลาดหุ้นในเวลานี้ยังไม่ใช่จุดที่น่าขาย ส่วนการขาย LTF ส่วนหนึ่งนักลงทุนน่าจะย้ายไปลงในกองทุน Thai ESG แต่คงไม่ช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นได้มากนัก เนื่องจากกองทุน Thai ESG ครึ่งหนึ่งน่าจะลงทุนในตราสารหนี้
ในปี 2568 ตลาดหุ้นไทยถูกจัดอันดับเป็นตลาดหุ้นที่แย่ที่สุดในโลก ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด สวนทางกับตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ปัจจัยที่กดดันให้หุ้นตกต่ำเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไม่เติบโต และมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างประเทศหมดความมั่นใจ และเทขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อ รวมยอดเทขายหุ้นทิ้ง ถอนเงินกลับบ้านประมาณ 3.5 แสนล้านบาท
แรงขายหุ้นของต่างชาติยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่แรงซื้อในประเทศอ่อนล้า หรือหมดกำลังซื้อ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ช้อนซื้อหุ้นมาตลอด ยอดซื้อหุ้นสะสมรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 7 แสนล้านบาท และอยู่ในฐานะที่แบกหุ้นต้นทุนสูงไว้
นักลงทุนในตลาดหุ้น ตัวเลขล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.96 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดขาดทุนย่อยยับ เพราะราคาหุ้นดิ่งลงจนสร้างจุดต่ำสุดในรอบหลายปี นับวันเจ๊งยับเพิ่มขึ้นโดยที่รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ไม่สนใจใยดี หรือไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะพลิกตลาดหุ้นให้กลับฟื้นคืนมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ระหว่างที่ นายกฯ แพทองธาร แถลงภายหลังประชุม ครม. นักข่าวก็ยิงคำถามกรณีตลาดหุ้นดิ่งหนักลงไปถึง 1,200 จุดแล้ว รัฐบาลมีแนวทางจะปลุกตลาดหุ้นขึ้นมาอย่างไรบ้าง นายกฯ ได้หันมายิ้มฟังคำถามพร้อมพยักหน้า ก่อนเดินออกไปโดยไม่ตอบคำถามใด ๆ
ตลาดหุ้นไทยจึงได้แต่วังเวงกันต่อไป