ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ที่ว่าการแก้ไขปัญหาไฟใต้มองเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ และจะให้จบในปี 2569 เป็นแค่คำคุยโวเท่านั้น เพราะยังหาความชัดเจนอันใดมิได้ ยังไม่นับคำขอโทษที่ว่างเปล่าไร้ความหมายในกรณีตากใบ
ส่วนบทบาท “พรรคประชาชาติ” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นที่รู้กันดีว่า ทริปทักษิณล่องชายแดนใต้ครั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตหัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นผู้วางโปรแกรมออนทัวร์ โดยทุกจุดที่นายทักษิณไปเยือนนั้นเป็นฐานเสียงของพรรคประชาชาติ และล้วนแต่มีหัวคะแนนของ “วันนอร์ – ทวี” มาต้อนรับร่วมกับภาคส่วนราชการ
เริ่มจากไปพบปะพี่น้องชาวไทยพุทธที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ก่อนจะไปกล่าวคำขอโทษและขออภัยต่อชาวมุสลิม ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส, อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และสุดท้ายมาจบที่บ้านศรียะลา ของ “วันนอร์” ก่อนบินกลับกรุงเทพฯ
ไฮไลท์ทริปล่อง 3 ชายแดนใต้ นราธิวาส, ปัตตานี และยะลา ในหนึ่งวัน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2568 ของนายทักษิณ ในรอบ 20 ปี จึงมีจุดโฟกัส 3 เรื่องใหญ่ คือ
หนึ่ง - การขีดเส้นจบปัญหาชายแดนใต้ในปี 2569 จะจบแบบไหน อย่างไร
สอง - คำขอโทษของนายทักษิณ ต่อความผิดพลาด ที่สะท้อนถึงความไม่จริงใจและไร้ความหมาย
และสาม - อนาคตข้างหน้าของพรรคประชาชาติ จะรุ่งหรือร่วง หลังการโหนทักษิณ รวมถึงภาพนายวันนอร์ ไหว้สวยรับนายทักษิณขณะเยือนบ้านใหญ่ศรียะลา ซึ่งใคร ๆ ก็มองว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
ขีดเส้นจบปีหน้า น่าห่วงจบอย่างไร?
การกำหนดไทม์ไลน์ที่จะยุติสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้จบภายในปี 2569 ที่นายทักษิณลั่นวาจาไว้ชัดเจน นำมาซึ่งคำถามจาก ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ว่า ท่าทีดังกล่าวถือว่ามีความน่ากังวล เพราะจากคำว่าจะจบปัญหาภายในปีหน้าของอดีตนายกฯ ทักษิณ นั้น ทำให้มีคำถามตามมาว่าจะจบอย่างไร
ดร.ชญานิษฐ์ชี้ว่า ปัญหาควรจะต้องจบด้วยวิธีการทางการเมือง ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นทางออกที่ยั่งยืน เราคงไม่อยากให้มันจบด้วยการปราบปราม ที่อาจทำให้เงียบสงบได้แต่ไม่ได้ทำให้ปัญหาจบลง รัฐบาลควรเร่งตั้ง “คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากคณะพูดคุยสันติสุขฯ ชุดเก่าสิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
นักวิชาการจาก มธ. ยังตั้งคำถามหลังจากนายทักษิณกล่าวขออภัยต่อประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดว่า รัฐบาลและนายทักษิณ ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียนจะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรต่อไป ทั้งการจัดสรรทรัพยากร การจัดการกับกฎหมายพิเศษที่ยังบังคับใช้อยู่ในพื้นที่ คดีความทางการเมืองต่าง ๆ ไปจนถึงมิติการพัฒนา ซึ่งล้วนเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีการถอดบทเรียน เพราะเรื่องนี้สำคัญไม่เพียงแค่ชาวบ้านในพื้นที่ แต่รวมถึงคนไทยทุกภูมิภาคที่ต้องไปเสียชีวิตที่นั่น บวกกับงบประมาณที่ทุ่มเทไปกว่า 5 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2547 – ปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน นายรอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน มองว่า การกล่าวย้ำหลายครั้งของนายทักษิณ ถึงเรื่องการพูดคุยสันติภาพและทิศทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ภายใต้กรอบคิดและยุทธศาสตร์ใหม่นั้น ยังมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน และแม้จะเน้นย้ำว่าภายในปีนี้จะเห็นสัญญาณเชิงบวก และปัญหาจะต้องจบภายในปี 2569 แต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะผลักดันและขับเคลื่อนไปอย่างไร กรณีการปัดฝุ่นนำคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 กลับมาใช้ก็ระบุเพียงแค่ว่าเป็นแนวทางที่ต้องมีการหารือกันอีก
ทั้งยังมีคำถามว่า การสร้างมุ่งความร่วมมือในพื้นที่นั้นจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อมีนิติสงครามและการฟ้องร้องปิดปากที่ยังดำเนินอยู่
ส่วนความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านที่แม้จะระบุว่าผู้นำหลายประเทศได้แสดงเจตจำนงในการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอดีตรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนบรรดาผู้นำเหล่านั้นจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างไร
“คำถามก็คือคำว่าจบในความหมายนี้คืออะไร สิ่งนี้ยังคงคลุมเครือ ซึ่งอาจจะสะท้อนความไม่จริงใจ หรือไม่มีเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้จริง ๆ” นายรอมฎอน สะท้อน
นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการทบทวนการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหาภาคใต้ฉบับใหม่ว่า ยุทธศาสตร์ใหม่มีหลายประเด็น โดยเฉพาะการนำผู้เห็นต่างกับเข้าสู่สังคม คล้ายกับนโยบาย 66/23 ยืนยันไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่จะใช้การเมืองนำการทหาร
คำขอโทษที่ว่างเปล่า ไร้ความหมาย
การเดินทางไปเยือนจังหวัดชายแดนใต้ครั้งแรกในรอบ 20 ปี ของนายทักษิณ พร้อมการเอ่ยคำขอโทษต่อความผิดพลาดในทำงานระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย เพราะนายทักษิณ และรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ไม่เคยคิดจะแก้ไข “ความผิดพลาด” มากมายที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสหลายครั้งหลายครา
ที่ชัดเจนที่สุดคือรัฐบาลเพื่อไทย ปล่อยให้ “คดีตากใบหมดอายุความ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2567” โดยไม่นำพาต่อความอยุติธรรมทั้งหลายที่เหยื่อทั้ง 78 ชีวิตไม่เคยได้รับตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ตรงกันข้ามพรรคเพื่อไทยโอบอุ้ม และปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่ตลอดเวลา
นั่นแค่เหตุการณ์เดียว ความจริงแล้วมีความผิดพลาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทั้งโดยจงใจและไม่เจตนาเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษนับแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อเดือนม.ค. 2547 การจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว ยัดข้อหาคดีความมั่นคง การละเมิดสิทธิในหลายรูปแบบ การจัดฉากสังหารผู้ต้องสงสัย เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เคยมีเลยสักครั้งเดียวที่จะมีผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
นายทักษิณเรียกร้องให้ชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้อภัยแก่ความผิดพลาดของเขาได้อย่างไรโดยไม่ได้พูดเลยสักคำว่าตัวเขาและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องจะรับผิดชอบและแก้ไขความผิดพลาดและผลของมันอย่างไร
คำขอโทษและการให้อภัยไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบากอะไรที่จะพูดออกมา แต่คำขอโทษจากคนที่ไม่เคยสำนึกผิด ไม่มีความหมายอะไร ทำนองเดียวกันการให้อภัยแก่คนที่ไม่สำนึกผิดก็ไม่มีความหมายเช่นกัน
นายรอมฎอน ปันจอร์ มองว่า การขออภัยต่อการบริหารงานที่ผิดพลาดในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประเด็นคาใจประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด ดูเหมือนว่านายทักษิณจะเน้นย้ำเป็นพิเศษ โดยกล่าวซ้ำๆ กันถึง 3 ครั้งในการเยือนสถานที่ซึ่งแตกต่างกัน 3 จุดในวันเดียวกัน นั่นคือที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา จ.นราธิวาส, โรงเรียนสายบุรีอิสลามวิทยา จ.ปัตตานี และที่บ้านศรียะลา ของประธานรัฐสภาที่จ.ยะลา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ซึ่งมีนัยทางการเมืองอย่างมาก
การกล่าวคำขออภัยเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะนายทักษิณเคยกล่าวถ้อยคำในลักษณะเช่นนี้มาแล้วในรายการสนทนาออนไลน์เมื่อวันครบรอบ 18 ปีเหตุการณ์ตากใบในปี 2565 ความจริงใจในการขอโทษมี 2 องค์ประกอบหลัก คือ คำพูดและการกระทำ นอกจากจะไม่ใช่ครั้งแรกที่ทักษิณขอโทษแล้ว การกระทำของรัฐบาลยังสะท้อนความไม่จริงใจ
เมื่อพิจารณาว่าเป็นคำกล่าวในช่วงที่อายุความของคดีตากใบสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา หรือผ่านมาแล้ว 4 เดือน ท่ามกลางคำถามที่ว่ารัฐบาลพยายามมากเพียงพอหรือไม่ที่จะโน้มน้าวให้จำเลยที่ประชาชนผู้เสียหายฟ้องร้องดำเนินคดีที่ศาลประทับรับฟ้องแล้วให้เดินทางไปเบิกตัวต่อศาล คำถามที่ว่านี้พุ่งตรงไปที่รัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากจำเลยคนสำคัญมีสถานะเป็น สส. ของพรรคเพื่อไทย เอง
นอกจากนี้ การที่นายทักษิณพูดว่าเหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดในการทำงาน ยังเป็นการลดทอนความสำคัญของรากเหง้าปัญหา แล้วยังเรียกร้องฝ่ายเดียวให้ประชาชนให้อภัย โดยไม่ได้พูดสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้เกิดสันติภาพในพื้นที่
ทั้งนี้ นายทักษิณได้ขออภัยต่อความผิดพลาดในการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 ซึ่งคดีได้หมดอายุความไปแล้วโดยไม่มีใครถูกลงโทษ โดยนายทักษิณ กล่าวว่า “ตอนผมเป็นนายกรัฐมนตรีมีความตั้งใจและห่วงใยประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทำงานก็มีผิดพลาดได้บ้าง ถ้ามีอะไรผิดพลาด ที่ไม่พอใจก็ขออภัยด้วย ให้ช่วยกันเผื่อแก้ปัญหาช่วยกัน ซึ่งคนมุสลิมจะมีสิ่งที่สำคัญมาก คือรักสันติสุข รู้จักให้อภัย ผมก็ขออภัยด้วย”
คล้อยหลังจากนั้น นักกิจกรรมภาคประชาสังคมในหลายพื้นที่ พร้อมใจกันโพสภาพถ่ายกระดาษเปล่าสีขาวในสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมแคปชั่น “20 ปี ความยุติธรรมกรณีตากใบ จำเลยยังคงลอยนวล ร่วมโพสต์ภาพ ถือกระดาษเปล่า พร้อมกับใส่ แฮชแทคคำว่า #ว่างเปล่า และ #ตากใบยังหายใจ”
สัมพันธ์ “ทักษิณ - วันนอร์ – ทวี” คนบ้านเดียวกัน
หนึ่งในไฮไลท์ในการเยือนชายแดนใต้ของนายทักษิณคือ การเดินทางมายัง “บ้านศรียะลา” ของนายวันนอร์ที่ไหว้สวย และกล่าวต้อนรับนายทักษิณบนเวที ตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีและดีใจที่ได้ฟังคำมั่นจากนายทักษิณว่าจะมาร่วมแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองรวมถึงจังหวัดชายแดนใต้ มั่นใจว่าคนดีคนเก่งอย่างนายทักษิณจะกลับมาช่วยแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ได้
นายทักษิณกล่าวบนเวทีเช่นกันว่า เมื่อมีโอกาสกลับมาก็พร้อมจะสานต่อนโยบายต่าง ๆ ที่เคยทำไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้แล้วเสร็จ ... ด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยนั้นมีความตั้งใจจะช่วยเหลือชาวบ้านอย่างจริงใจแต่หากเกิดผิดพลาดก็ต้องขออภัย
ภาพนายวันนอร์ไหว้นายทักษิณในการเยือนบ้านศรียะลา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม
อันที่จริงแล้ว ชื่อของ “วันนอร์” ก็หาใช่อื่นไกล แต่เป็น “อดีตคนในบ้าน” มาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประช าชน และพรรคเพื่อไทย
เส้นทางของ “วันนอร์” มาบรรจบกับพรรคไทยรักไทย เมื่อครั้งที่พรรคความหวังใหม่ เข้ามายุบรวมกับพรรคไทยรักไทย หลังการเลือกตั้งปี 2544 และได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ๆ ตลอด ทั้ง รมว.คมนาคม, รมว.มหาดไทย, รมว.เกษตรและสหกรณ์ และรองนายกฯ ยุค “ทักษิณ 1-2” ก่อนถูกรัฐประหารปี 2549 และในฐานะรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ร่วมกับเพื่อนๆ “บ้านเลขที่ 111” ยุค “ทักษิณ 1-2”
ชื่อของ “วันนอร์” ยังผูกพันกับนายทักษิณ ชินวัตร โดยตรง เพราะมีส่วนในคดีที่นายทักษิณถูกยึดทรัพย์ อย่างการเป็นผู้อนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ “วันนอร์” เป็น รมว.คมนาคม เมื่อปี 2545
ระหว่างถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง “วันนอร์” ยังมีบทบาทให้คำแนะนำ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ซึ่งย้ายจากพรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราช ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับไปร่วม พรรคพลังประชาชน เครือข่ายของ “ทักษิณ” อีกครั้ง
หลังพ้นโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองเมื่อปี 2555 “วันนอร์” ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และลงสมัครรับเลือกตั้งปี 2557 ในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 13 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ระหว่างที่อยู่ร่วมกับ “ค่ายทักษิณ” ในการเลือกตั้ง 4 ครั้ง คือปี 2538, 2550, 2554 และ 2557 ปรากฏว่า “กลุ่มวาดะห์” ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย โดยไม่มีผู้สมัครของทางกลุ่มได้รับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตแม้แต่คนเดียว ทั้งที่เคยครองพื้นที่อย่างเหนียวแน่นมากว่า 20 ปี อันเป็นบทสรุปว่า ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ขายไม่ได้ในชายแดนใต้ ยิ่งเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ “วันนอร์” ก่อตั้งพรรคประชาชาติ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการพรรค
ภาพของพรรคประชาชาติ ถูกมองว่าอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ของ “เครือข่ายทักษิณ” ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร
ครั้งสมัยเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คว้าชัยชนะ ส.ส.เขตในจังหวัดชายแดนใต้ได้ 6 ที่นั่ง รวมกับบัญชีรายชื่ออีก 1 เป็น 7 คน และยืนหยัดทำหน้าที่ฝ่ายค้านร่วมกับ พรรคเพื่อไทย อย่างแข็งขัน
ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 พรรคประชาชาติ ที่ส่งผู้สมัครเพียง 19 เขตเท่านั้น จำนวนนี้เป็น 13 เขตในจังหวัดชายแดนใต้ และคว้าชัยชนะ ได้ ส.ส.เขต 7 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 2 ที่นั่ง คือ “หัวหน้าวันนอร์” และ “เลขาฯทวี” รวมมี ส.ส. 9 เสียง
ขณะเดียวกัน ก็ต้องมองไปถึง “พ.ต.อ.ทวี” ที่เป็นอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ว่ากันว่าเป็น “เด็กในบ้าน” ของ “ทักษิณ” จนเคยมีชื่อจะได้เป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เลยด้วยซ้ำ
เป็นภาพที่ฉายให้เห็นว่าความสัมพันธ์ “วันนอร์-ทักษิณ” รวมไปถึง “ทวี” คีย์แมนของพรรคประชาชาติ นั้นลึกซึ้งขนาดไหน
****************************
2 ทศวรรษความไม่สงบชายแดนใต้ บึ้ม 5 พันลูก ตาย 6 พันราย ใช้งบแก้ไข 5 แสนล้าน
กล่าวสำหรับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานกว่าสองทศวรรษ มีการลอบวางระเบิดซึ่งเป็นยุทธวิธีหลักที่ผู้ก่อความไม่สงบใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ระเบิดส่วนใหญ่เป็นระเบิดแสวงเครื่อง ที่ประกอบขึ้นเองจากอุปกรณ์ที่มีในท้องถิ่น นับตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2547 จนปัจจุบัน มีการก่อเหตุรุนแรงด้วยระเบิดแล้ว 5,484 ลูก จาก 4,369 เหตุการณ์ ปีที่เกิดเหตุระเบิดมากที่สุดคือปี 2550 จำนวน 468 เหตุการณ์
นราธิวาส เป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุระเบิดมากที่สุด ยกเว้นปี 2558 ที่ยะลามีเหตุระเบิดมากกว่า สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะนราธิวาสเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุดใน 3 จังหวัด
ในช่วง 22 ปีงบประมาณ (2547-2568) มีการใช้จ่ายงบประมาณดับไฟใต้ไปแล้ว 510,365 ล้านบาท ปีงบประมาณที่ใช้งบมากที่สุดคือปี 2559 จำนวน 30,512.80 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาล คสช.
รัฐบาล คสช. จัดหมวดหมู่งบดับไฟใต้ใหม่ เรียกว่า “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เริ่มในปีงบประมาณ 2560 อย่างไรก็ตาม มีการตรวจสอบพบว่า งบประมาณดับไฟใต้ถูกซุกซ่อนอยู่ใน “แผนงานอื่น” ด้วย
สำหรับงบประมาณส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นงบเยียวยา เพื่อชดเชยเหยื่อไฟใต้ ข้อมูลถึงวันที่ 3 ม.ค. 2568 มีการจ่ายเยียวยาไปแล้ว 4,468.8 ล้านบาท
ผลกระทบที่เกิดขึ้น มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 5,936 ราย (ประชาชน 3,644 ราย และเจ้าหน้าที่รัฐ 2,292 ราย) มีผู้บาดเจ็บ 13,129 ราย (ประชาชน 6,442 ราย และเจ้าหน้าที่รัฐ 6,687 ราย) มีผู้พิการทุพพลภาพ 903 ราย (ประชาชน 465 ราย และเจ้าหน้าที่ 438 ราย) มีการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือด้านชีวิตและร่างกายมากที่สุด (3,411.9 ล้านบาท) ส่วนที่เหลือ (1,056.8 ล้านบาท) เป็นค่าชดเชยทรัพย์สินที่เสียหาย
ภาพรวมความรุนแรงเกิดขึ้น 9,948 ครั้ง มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 19,968 ราย