xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิกฤตศรัทธา “ประกันสังคม” จาก “ด้อยค่าสิทธิรักษา - กองทุนฯ เสี่ยงล่ม” สู่ “ผลาญงบฯ” ไม่คุ้มค่า ไม่โปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รักชนก ศรีนอก  |  นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นอีกครั้งที่ “สำนักงานประกันสังคม (สปส.)” ถูกตั้งคำถามถึงการบริหารงานที่ล้มเหลว โดยเฉพาะล่าสุดกับกรณีการใช้ “งบประมาณ” ไม่เหมาะสมไม่คุ้มค่าของ “กองทุนประกันสังคม” กำลังเป็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพราะกระทบ “ผู้ประกันตน” โดยตรง

ไม่นับก่อนหน้านี้ที่เกิด “ดรามา” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องของความเหลื่อมล้ำสิทธิการรักษาพยาบาล ผู้เอาประกันจ่ายเงินสมทบทุกเดือน แต่สิทธิด้อยกว่าหลักประกันสุขภาพของ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ซึ่งมีการยกระดับบริการต่อเนื่อง
หรือเรื่องของความมั่นคงของกองทุนฯ ขาดสภาพคล่อง เกิดกระแสข่าวคาดการณ์เสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งกระทบโดยตรงต่อผู้ประกันตนโดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีความสุ่มเสี่ยงว่าเงินในกองทุนฯ จะไม่พอจ่ายให้กับผู้ประกันตนโดยเฉพาะกรณีเงินชราภาพ

เรียกว่า มีสารพัดดรามาที่อยู่ภายในใจ “ผู้ประกันตน” เป็นหมื่นล้านคำเลยก็ว่าได้

กล่าวสำหรับ “กองทุนประกันสังคม” จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้แก่ลูกจ้างที่มีรายได้ เป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นคงในชีวิตของแรงงานไทย เป็นสวัสดิการในรูปแบบสมทบจ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ร่วมกันจ่ายเงินสมทบ จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ ซึ่งนับเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ล่าสุดก็เกิดเรื่องอื้อฉาวอีกครั้ง เมื่อ  “น.ส.รักชนก ศรีนอก”  สส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2568 ถึงความเหมาะสมและคุ้มค่าของการใช้งบประมาณในหลายประเด็น ซึ่งเป็นข้อสรุปประเด็นจากวงเสวนาของคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณประกันสังคม

โดยแจกแจงประเด็นต่างๆ อาทิ ประเด็นทริปดูงานของประกันสังคม 6 วัน 5 คืนกับงบประมาณที่ใช้ 2.2 ล้านบาทสำหรับ 10 คนว่า ทำไมต้องใช้จ่ายฟุ่มเพือย ถึงขนาดนี้ และคุ้มค่าคุ้มราคากับสิ่งที่จะได้รับกลับมาหรือไม่ อย่างไร

หรือเรื่อง Call Center 1506 ที่มีค่าใช้จ่ายหลัก 100 ล้านในทุกๆ ปี เป็นค่าเช่าระบบ 50 ล้านบาท แต่สายไม่เคยว่าง กด 0 แล้วก็รอไปยาวๆ สุดท้ายขอข้อมูลอะไรไม่ได้ การเปลี่ยนระบบงานจากคอมเป็นเว็บแอปฯ 550 ล้านบาท มีความจำเป็นหรือไม่?

อีกประเด็นที่น่าสงสัย ค่าตอบแทนประจำปี (โบนัสหรือไม่ ?) 65 – 66 ปีละ 100 ล้าน ทำงานเหมาะสมกับโบนัสหรือไม่? สนง. ประกันสังคม มีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงหลัก “ล้านล้านบาท” ในหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจัดปฏิทินในปี 67 ที่ใช้งบประมาณถึง 55 ล้านบาท แถมเมื่อไปดูตัวเลขย้อนหลัง 8 ปีก็พบว่า ใช้เงินเพื่อการนี้ไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาทเลยทีเดียว

รวมถึงโครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่น SSO+ งบประมาณ 276 ล้านบาท เป็นงบที่รวมถึงการจัดทำระบบ เมื่อตรวจข้อมูลจาก ACTAI พบว่า การจัดซื้อจัดจ้างมีความผิดปกติในการเสนอราคา ตัวแอพประชาชนให้เรตติ้ง 1.5 แสดงถึงความล้มเหลวของแพลตฟอร์ม ไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้ไป เพราะทุกวันนี้ยังสแกนจ่ายค่าประกันสังคมผ่านแอปฯ ไม่ได้ ต้องจ่าย 7-11 การใช้งบประมาณ

“งบประกันสังคมเป็นหลุดดำที่ดำมืดมาตลอด 10 ปี ทำผู้ประกันตนหลายๆ คนบอกว่าไม่อยากส่งแล้ว แต่ต้องยืนยันว่าไม่มีประกันชีวิตไหนถูกและได้เยอะเท่าประกันสังคมแล้ว และต้องยืนยันอีกครั้งว่าแม้การใช้งบไม่โปร่งใสหรือมีข้อสงสัยก็ให้ไปตรวจสอบกัน แต่นี่คือปราการด่านสุดท้ายเป็นพนักพิงสุดท้ายของคนทำงาน ถ้าท่านไม่มีประกันอย่างอื่น เกิดในตระกูลร่ำรวย มีเงินถุงเงินถัง นี่คือความมั่นคงในชีวิต ถ้าต้องออกจากงาน นี่ก็คือปราการด่านสุดท้ายที่จะทำให้ได้เงินชดเชย หรือว่าอายุ 55 - 60 ปีขึ้นไป ก็จะได้บำเน็จบำนาญจากกองทุน จึงอยากจะให้มาเอาใจใส่กัน”น.ส.รักชนกกล่าว

ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบโต้ในประเด็นต่างๆ ที่ถูกตั้งคำถามเอาไว้ว่า สำหรับการเดินทางราชการไปดูงานในต่างประเทศ ทาง สปส.และหน่วยงานทุกกรมภายใต้กระทรวงแรงงานที่เดินทางไปดูงานแต่ละประเทศพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูล เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เงินส่วนตัว แต่เป็นเงินของผู้ประกันตนทุกมาตรา จึงต้องรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ประกันตน โดยการบินไปดูงานในแต่ละประเทศ จะมีรายละเอียดงานในแต่ละวันกำหนด ต้องประสานไปยังประเทศปลายทาง และต้องกลับมาทำรายงานออกมา รวมถึงต้องแจ้งบอร์ด สปส. ให้รับทราบด้วย

ส่วนการเบิกค่าเดินทางชั้นหนึ่ง (First Class) นั้น เป็นไปตามระเบียบ และตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.แรงงาน เคยใช้สิทธิการนั่งชั้นหนึ่งเพียงแค่ 1 ครั้ง นอกนั้นจะนั่งชั้นธุรกิจ (Business Class) และหลังจากใช้สิทธิครั้งนั้นก็ได้บอกผู้บริหารว่าอะไรที่ประหยัดได้ควรประหยัดงบประมาณให้กับหน่วยงานและประเทศ

เรื่องการจัดทำปฏิทินด้วยว่า สปส. มีกลุ่มเป้าหมายการแจกปฏิทินคือผู้ประกันตน มาตรา 40 ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระและเกษตรกร รวมถึงผู้ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 อีกจำนวนประมาณกว่า 10 ล้านคน เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนรู้จักประกันสังคม ซึ่งปฏิทินได้มีการลงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับผู้ประกันตน ทั้ง 12 เดือนในแต่ละหน้าว่ามีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ เนื่องจากแม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและทันสมัย ซึ่งประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลสิทธิประโยชน์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่การสื่อสารผ่านรูปแบบปฏิทิน ช่วยสร้างความเข้าใจและทำให้ผู้ประกันตนสามารถมองเห็นสิทธิประโยชน์ผ่านปฏิทินที่ทุกบ้านต้องมี แม้จะยังเป็นวิธีโบราณ แต่ก็ยังมีความจำเป็น ซึ่งเชื่อว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำปฏิทิน และยังไม่ปิดกั้น หากมีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่จะเข้ามาเสนอหรือสอบถามเพื่อที่จะจัดทำปฏิทินในปีต่อๆ ไปและยื่นประมูลจัดทำปฏิทินในราคาที่ถูกลง

ส่วนกรณีที่มีคนนำปฏิทินของ สปส. ไปขายผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบหน่วยงานที่ได้รับแจกปฏิทินไปว่ามีการนำไปจำหน่ายหรือไม่ หากมีพฤติกรรมดังกล่าวจะเอาผิดต่อไป

สำหรับกระแสข่าวการยกเลิกการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) นายพิพัฒน์ยืนยันว่า ไม่มีการยกเลิกแน่นอน รวมถึงมีความพยายามสื่อสารไปแล้วหลายครั้งว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่กำลังจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นร่างฉบับที่ทำตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และผ่านการทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว

โดยขณะนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง จึงมีการระบุให้เพิ่มเงื่อนไขเกี่ยวกับการเลือกตั้งบอร์ด สปส. หากเกิดเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถเลือกตั้งได้ ให้บอร์ด สปส. มาจากการสรรหาของ รมว. แรงงาน ซึ่งชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าข้อความดังกล่าว เมื่อผ่าน ครม. ขอให้สภาผู้แทนราษฎรนำไปแก้ในชั้นกรรมาธิการ แต่ขอให้การแก้ไขคำนึงถึงสถานการณ์สุดวิสัยที่จะเกิดขึ้นเหมือนช่วงโควิด-19 ด้วย

อย่างไรก็ดี  รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี  กรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) สัดส่วนผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) เปิดเผยว่า งบประมาณของกองทุนประกันสังคมแต่ละปีมีเงินเข้าประมาณ 2 แสนล้านบาท ค่าใช้จ่ายบริหารปีละ 5 พันล้านบาท ซึ่งในการบริหารกองทุนประกันสังคม มีการแบ่งเงินออกมาเป็น 3 กองตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายการลงทุน

1. กองที่ใหญ่ที่สุด เรียกว่า กอง 2 กรณี หรือว่า กองสงเคราะห์บุตร กับกองบำนาญ จะมีรายรับเข้ามาแต่ละปี 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากการสมทบ และส่วนหนึ่งจากการลงทุน มีสำรองอยู่ 2.2 ล้านล้านบาท มีการลงทุนในระยะยาวที่สุด เป็นกองที่สามารถแบกรับความเสี่ยงด้านการลงทุนได้มากที่สุด เพราะว่าเป็นกองที่มีการลงทุนในระยะยาว

2. กอง 4 กรณี มีรายรับประมาณปีละ 8 หมื่นล้านบาท มีสำรองเหลืออยู่ 8.3 หมื่นล้านบาท กองนี้จะจ่ายเรื่อง ตาย ทุพพลภาพ เจ็บป่วย คลอดบุตร กองนี้จึงมีค่าใช้จ่ายแทบจะวันต่อวัน การลงทุนของกองนี้จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ต้องมีสภาพคล่อง และแบกรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า กองนี้ในปัจจุบันอยู่ในสภาพที่ติดลบ เพราะค่ารักษาพยาบาลที่ประกันสังคมแบกรับจะสูงขึ้นทุกปี โดยคู่สัญญาของประกันสังคม คือ โรงพยาบาลเอกชน อัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ที่ประกันสังคมแบกรับ สูงกว่า สปสช.

3. กองว่างงาน อีกกองหนึ่งมีสภาพคล่องมากกว่าอีก 2 กอง มีรายรับดีกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท กองนี้เป็นกองที่แบกรับค่าใช้จ่ายในช่วงวิกฤตโควิด

ทั้งนี้ การบริหารต้องมีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล การวางแผนระยะยาวแบบมีส่วนร่วม การปรับปรุงกฎหมายเพื่อความเป็นอิสระ การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ การสร้างความยั่งยืนทางการเงิน

“ถ้าเราสามารถปรับผลตอบแทนการลงทุนได้ จะสามารถขยายอายุของกองทุนไปได้ 6-7 ปี จาก 3% ขึ้นไปถึง 6% การปรับตัวสิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็มีผลต่ออายุกองทุนเช่นกัน แต่ถ้าประกันสังคมไม่โปร่งใส ไม่มีความเชื่อมั่น ประชาชนจะไม่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่า ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูล 100% กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจะมีความโปร่งใส ลดต้นทุนลงได้ เพิ่มคุณภาพบริการ และลดการทุจริตได้ เมื่อข้อมูลถูกเปิดออกมา ไม่ต้องตั้งหน่วยงานอิสระ หรือตั้งคณะกรรมการตรวจสอบให้วุ่นวาย และเชื่อว่า คนยินยอมที่จะจ่ายเงินมากขึ้น รวมทั้งคนอยากแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย”รศ.ดร.ษัษฐรัมย์แสดงความคิดเห็น

กล่าวสำหรับเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม  นายสุรสิทธิ์ ศรีแก้ว  รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่าการบริหารเงินเพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์เพื่อคุ้มครองประชาชน ปัจจุบันมีประชาชนกว่า 66 ล้านคน กว่า 40 ล้านคนเป็นผู้ที่ทำงาน อยู่ในระบบการจ้างงานตามที่ปรากฏในมาตรา 33 อยู่ที่กว่า 12 ล้านคน ถ้ารวมมาตรา 39 หลังจากออกจากงานมีล้านกว่าคน และมาตรา 40 อยู่ที่ 24 ล้านคน ทั้งหมดสมาชิกประมาณ 50 ล้านคน โดยบริหารเงินไปสู่เป้าหมายการดูแลประชาชน ภายใต้หลักการ เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข มีส่วนร่วม 3 ฝ่าย

ณ วันนี้เงินสมทบมีการจัดเก็บอยู่ที่กองทุนรวมทุกอย่างที่ 3.2 ล้านล้านบาท มีเสถียรภาพในการดูแลสิทธิประโยชน์ไปอีกประมาณ 30 ปี รายรับหลักไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ยหรือการลงทุน แต่มาจากเงินสมทบ จึงมีการวิเคราะห์โอกาส ความเสี่ยง และได้เปิดฐานคำนวณค่าจ้างให้เป็นขั้นบันได เป็นประโยชน์โดยตรงแก่ผู้ประกันตน ตอนนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอแก้ไขพระราชกฤษฎีกา

นอกจากนี้ ได้ดำเนินงานเชิงรุก พยายามดึงผู้ใช้แรงงานอิสระ ขณะนี้มีอยู่ 11 ล้านคน เพื่อให้เงินสมทบมากขึ้นและคุ้มครองให้ได้รับสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนกลุ่มอื่น เช่น แม่บ้าน เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมง และหาบเล่แผงลอย ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 50,000 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น แล้วจะปลดล็อคแก้ไขพระราชกฤษฎีกาต่อไป

ด้าน  ผศ.ดร.นครินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ  ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกัน เปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรมีผลอย่างมีนัสําคัญ ส่งผลต่อรายรับและรายจ่าย เพราะไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ แต่กองทุนยังมีเสถียรภาพมีรายรับจากเงินสมทบอย่างเดียว 2.2 แสนล้านบาท แต่จ่ายออกไปใน 7 กรณี อยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท แต่การเข้าถึงบริการประกันสังคมสูงขึ้นทุกปี

ดังนั้น อีก 10 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงวัยที่ไม่อยู่ในวัยทำงาน 30% ของประชากร จุดนั้นจะเป็นจุดที่เงินสมทบเท่ากับรายจ่าย แต่ด้วยกองลงทุนจะสามารถยืดอายุกองทุนได้อีก 20 ปี ถ้าไม่ทำอะไรเลยกองทุนประกันสังคมจะอยู่ได้อีก 30 ปี และจะไม่เข้าสู่จุดสมดุล ความท้าทาย คือ ปรับสิทธิประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ถ้าเรา Hack ประกันสังคมออกมาจะมี 3 วิกฤตที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

1. วิกฤตทางสังคมสูงวัย ในกองชราภาพ ผู้ประกันตนสมทบที่ 6% ถ้าเขาสมทบมา 25 ปี แล้วเกษียณอายุ 55 ปี คนไทยจะเสียชีวิตประมาณ 79 ปี ประกันสังคมจ่ายอยู่ที่ 35% นี่คือสิ่งที่แบกรับอยู่ 2. วิกฤตซ้อนทับ เช่น สถานการณ์โควิดที่ต้องเสียรายรับจากการลดเงินสมทบ ค่าใช้จ่ายดูแลรักษาผู้ประกันตน และ 3. วิกฤตถาวร การเปลี่ยนผ่านจากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป อาชีพอิสระเพิ่มมากขึ้น ทำให้รายรับมีปัญหา

ทั้งหมดนี้เป็นทางออกที่จะยืดอายุกองทุนประกันสังคมไปได้อีก 55 ปี บนพื้นฐานที่ไตรภาคียอมรับได้ ไม่ได้แบกใครคนใดคนหนึ่ง มีการยกระดับการลงทุน ปรับเพดานค่าจ้างเพื่อให้สิทธิประโยชน์เพียงพอต่อผู้ประกันตน ขยายความคุ้มครองกลุ่มอาชีพอื่น ดึงแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบ ที่สำคัญที่สุดภาครัฐเองก็ต้องมีส่วนร่วมเทียบเท่ากับนายจ้างและผู้ประกันตน ซึ่งความท้าทายแผนยุทธศาสตร์ชาติรองรับสังคมสูงวัย ทำอย่างไรให้ผู้ประกันตน เกิดดี อยู่ดี และแก่ดี

 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการประกันสังคม ยืนยันว่ากองทุนประกันสังคมจะไม่ล้ม เพียงแต่หากยังอยู่ในบริบทแบบเดิมๆ ในอีก 30 ปี หรือในปี 2597 กองทุนประกันสังคมจะเข้าสู่การเริ่มต้นใหม่ (Set Zero) กล่าวคือมีเงินเข้า 100 ก็ออก 100 และหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถัดไปจำนวนเงินเข้า 100 แต่เงินออกจะเพิ่มเป็น 200 ด้วยภาพของสังคมคนไทยเข้าสู่ผู้สูงอายุในสัดส่วนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ปี 2567 มีการทบทวนจัดทำแผนยุทธศาสตร์ใหม่ (ปี 2568 - 2570) เพื่อรักษาความมั่นคง และเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคม วางเป้าหมายพอร์ตการลงทุนต้องสร้างผลตอบแทน (Return Income) เพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านการพิจารณาการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 40% จากเดิม 30% ส่วนอีก 60% เป็นสินทรัพย์มั่นคง (เสี่ยงต่ำ) โดยมีปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก เป็นต้น

 สุดท้าย การบริหารงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นสิ่งสังคมไทยกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด. 


กำลังโหลดความคิดเห็น