xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนสำรวจเลือดสำรองไม่เคยพอ ซื้อขายไม่ได้ ปรับเกณฑ์ได้ไหม ถึงเวลารับบริจาค LGBTQ หรือยัง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - โลหิตสำรองในประเทศไทยไม่เคยพอ

เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง แม้หน่วยงานเจ้าภาพ “ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย” ตลอดจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะปฏิบัติหน้าที่อย่างขมีขมันขอรับบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นสถานการณ์โลหิตสำรองก็ยังไม่เพียงพอ เกิดวิกฤตขาดแคลนโลหิตสำรองเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

ไม่เพียงเท่านั้น ในโซเซียลมีเดียมักพบเห็นโพสต์ขอรับบริจาคเลือดกรุ๊ปต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังเจ็บป่วยอย่างร้อนใจ เกิดสถานการณ์ปัญหาวนลูปเลือดคงคลังไม่พอจ่าย ผู้ป่วยต้องการใช้เลือดสูงขึ้นกระทบผู้ป่วยบางรายต้องเลื่อนการผ่าตัด หรือลดโอกาสการรักษากลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด

ปัจจุบันศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ต้องจัดหาโลหิตให้ได้วันละ 1,800 - 2,000 ยูนิต เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 58,000 ยูนิต จึงจะเพียงพอจ่ายให้กับผู้ป่วยทั้งประเทศ โดยตามข้อมูลเปิดเผยว่าโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จะต้องจัดหาหมู่โลหิตเฉลี่ยในแต่ละวัน ดังนี้ หมู่ A วันละ 500 ยูนิต, หมู่ B วันละ 550 ยูนิต, หมู่ O วันละ 800 ยูนิต และ หมู่ AB วันละ 150 ยูนิต

ทั้งนี้ โลหิตที่ได้รับบริจาคส่วนใหญ่ ร้อยละ 77 นำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่สูญเสียโลหิตเฉียบพลันจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด ตกเลือดหลังคลอดบุตร เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น ต้องมีโลหิตสำรองไว้ระหว่างการผ่าตัด 2-3 ยูนิต ในกรณีที่มีอาการรุนแรง 5-10 ยูนิต ถ้าโลหิตไม่เพียงพอต้องเลื่อนการผ่าตัด อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยถึงชีวิตได้

ส่วนอีกร้อยละ 23 นำไปใช้รักษากลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ฮีโมฟีเลีย เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น ในรายที่เป็นชนิดรุนแรงต้องได้รับโลหิตในการรักษาเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ยูนิต หากไม่ได้รับโลหิตผู้ป่วยจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน

อ้างอิงสถิติความถี่การบริจาคโลหิตทั่วประเทศ ปี 2566 จากจำนวนผู้บริจาคโลหิตทั้งหมด 1,606,743 คน พบว่ามีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง มีปริมาณมากถึง 1,057,894 คน คิดเป็นร้อยละ 65.84 ขณะที่ผู้บริจาคโลหิตปีละ 4 ครั้ง มีจำนวนเพียง 73,770 คน คิดเป็นร้อยละ 4.59 และยังมีผู้บริจาคโลหิตปีละ 2 ครั้ง จำนวน 313,029 คน คิดเป็นร้อยละ 19.48 บริจาคโลหิตปีละ 3 ครั้ง จำนวน 156,052 คน คิดเป็นร้อยละ 9.71 ส่วนผู้บริจาคโลหิตมากกว่า 4 ครั้ง (รวมกับบริจาคส่วนประกอบโลหิตอื่นๆ) จำนวน 5,998 คน คิดเป็นร้อยละ 0.37

ทั้งนี้ หากมีผู้บริจาคโลหิตบริจาคทุก 3 เดือน หรือปีละ 4 ครั้งเพิ่มมากขึ้น จะทำให้มีโลหิตที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอตลอดปี

เมื่อโลหิตสำรองไม่เพียงพอ และต้องจัดหาโลหิตสำรองเข้าคลังอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ข้อถกเถียงเสนอทางออกต่างๆ ซึ่งนอกจากเพิ่มความถี่ในการบริจาคข้างต้นแล้ว หนึ่งในประเด็นที่ถูกจับตาเรื่องการพิจารณาปรับเกณฑ์การรับบริจาคโลหิต โดยเฉพาะข้อห้ามบริจาคโลหิตของ LGBTQ ที่เหมารวมกลุ่มชายรักชายทั้งหมด ไม่มีการพิจารณาพฤติกรรมเป็นรายบุคคล โดยอิงหลักฐานทางการแพทย์บ่งชี้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (men who have sex with men, MSM) มีสถิติการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ

คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย ระบุชัดเจนว่า “กรณีมีเพศสัมพันธ์แบบชายกับชาย ให้งดบริจาคโลหิตไปก่อน จนกว่าจะมีผลการวิจัยของประเทศไทยที่สนับสนุนให้บริจาคโลหิตได้ ทั้งนี้ ต้องมีการตรวจคัดกรองโลหิตด้วยวิธีทางอณูชีววิทยา (nucleic acid testing: NAT) เท่านั้น”

นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ว่าให้ปรับปรุงใบสมัครผู้รับบริจาคโลหิตและคู่มือการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิต โดยมุ่งเน้นสอบถามลักษณะพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสำหรับทุกเพศทุกวัย และหลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ตามฐานข้อมูลสถิติกลุ่มประชากร รวมถึงกลุ่มบุคคลหรือกลุ่มอาชีพ

สาระสำคัญ กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศไม่ควรถูกปิดกั้นการบริจาคโลหิตเป็นการถาวร อันเนื่องมาจากการประเมินความเสี่ยงด้วยฐานข้อมูลสถิติกลุ่มประชากร หรือพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ส่วนการสอบถามประวัติด้านเพศสัมพันธ์สำหรับทุกคน ควรมุ่งถามถึงลักษณะพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงรายบุคคล เช่น การมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางทวารหนัก การไม่ใช้ถุงยางอนามัย ในกรณีที่มิใช่คู่ของตน เป็นต้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มประชากรหลักที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

ขณะเดียวกัน ลักษณะคำถามที่ถามประวัติด้านเพศสัมพันธ์ของชายที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชาย อาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อการสื่อสาร ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการตีตรากลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ และสุ่มเสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งสภาพบุคคล ซึ่งอาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน

ต่อมา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย มีการศึกษาวิจัยความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ผ่านโลหิตของชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และศึกษาช่วงเวลางด/เลื่อนการบริจาคโลหิต (deferral period) ที่ปลอดภัยสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายผู้มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวจะนำมาปรับใช้เป็นคำถามในการคัดกรอง และประเมินความเสี่ยงในการรับบริจาคโลหิตเป็นรายบุคคล ให้สอดคล้องกับแนวทางการคัดกรองการรับบริจาคโลหิตขององค์การอนามัยโลกได้

ความคืบหน้าล่าสุด ปี 2567 ศูนย์บริการโลหิตฯ ยืนยันว่าตระหนักถึงหลักการความเท่าเทียมกันของมนุษย์และมาตรฐานสากลในการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริจาคและผู้ป่วยผู้รับโลหิตเป็นสำคัญ โดยได้ข้อสรุปว่าผลการวิจัยพบว่า “ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนเพียงพอ” เพื่อมาพัฒนาเกณฑ์การคัดเลือกให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นผู้บริจาคโลหิตได้ เนื่องจากมีอาสาสมัครเข้าร่วมการวิจัยน้อยกว่าเป้าหมาย จำเป็นต้องหาแนวทางศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ในเชิงวิชาการ ให้มีความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้รับโลหิตต่อไป

สถานการณ์โลหิตสำรองเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจับตา ซึ่งประเทศไทยไม่มีการซื้อขายโลหิตมีเพียงการรับบริจาคโลหิตเท่านั้น โดยหลังจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย รับโลหิตจากผู้บริจาคมาแล้ว จะนำไปให้บริการโลหิตและส่วนประกอบโลหิตแก่โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ดี หากมีค่าบริการเป็นในส่วนของค่าใช้จ่ายในกระบวนการ ดังนี้ 1. ค่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ในการรับบริจาคโลหิต เช่น ถุงบรรจุโลหิต หลอดเก็บตัวอย่างโลหิต น้ำยาตรวจค่าความเข้มข้นเลือด น้ำยาตรวจหมู่เลือด เป็นต้น 2. ค่าใช้จ่ายการผลิตส่วนประกอบโลหิต ในการปั่นแยกโลหิตให้เป็นส่วนประกอบโลหิตชนิดต่างๆ ได้แก่ เม็ดเลือดแดงเข้มข้น (Packed red cells) พลาสมา (Plasma) เกล็ดเลือด (Platelets) เป็นต้น

3. ค่าใช้จ่ายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ค่าตรวจหมู่โลหิตเอบีโอ (ABO) ค่าตรวจหมู่โลหิตระบบอาร์เอช (Rh) ค่าตรวจกรองแอนติบอดี (Antibody screening) ค่าตรวจภาวะการติดเชื้อที่สามารถติดต่อทางการให้เลือด ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ไวรัสเอชไอวี และซิฟิลิส โดยการตรวจวิเคราะห์ทางซีโรโลยี และวิธี Nucleic Acid Test (NAT)

4. ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาส่วนประกอบโลหิตชนิดต่างๆ และการขนส่ง เช่น ตู้เย็นเก็บเม็ดเลือดแดง 1-6 องศาเซลเซียส ตู้เก็บเกล็ดเลือด 20-24 องศาเซลเซียสที่ต้องเขย่าตลอดเวลา ตู้แช่แข็งพลาสมา -20 องศาเซลเซียส เป็นต้น อีกทั้งต้องรักษาอุณหภูมิของส่วนประกอบโลหิตชนิดต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน Blood cold chain ตลอดระยะเวลาขนส่งจากต้นทางจนถึงปลายทาง

และ 5. ค่าใช้จ่ายในการควบคุมคุณภาพ ตามระบบ ISO และ GMP ที่เกี่ยวข้องโดยอัตราค่าบริการโลหิตจะถูกกำหนดโดยกรมบัญชีกลาง ซึ่งศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะนำมาเทียบเคียงให้เทียบเท่าหรือต่ำกว่าเกณฑ์กลางตามความเหมาะสมกับการบริการโลหิตทุกประเภท

กล่าวคือ โลหิตที่ได้รับบริจาคจากประชาชนไม่ได้ถูกนำจำหน่าย แต่อาจมีการคิดค่าบริการ ตามต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมโลหิตให้มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล เพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ต้องรับโลหิตในการรักษา โดยกำหนดค่าบริการโลหิตให้โรงพยาบาลเป็นอัตราเดียวกันทุกโรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน มีการใช้อัตราค่าบริการจากกรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลจะมีการคิดค่าใช้จ่ายตามต้นทุนในการจัดเตรียมโลหิตให้กับผู้ป่วยเพิ่มเติม ตามอัตราที่แต่ละโรงพยาบาลกำหนด

การจัดหาโลหิตสำรองให้เพียงพอต่อผู้ป่วยทั้งประเทศนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง คงติดตามกันว่า “สภากาชาดไทย” นอกจากการรณรงค์ให้ผู้มีสุขภาพแข็งแรง ร่วมบริจาคเลือดเป็นประจำทุกๆ 3 เดือน หรือ 4 ครั้งต่อปี จะมีการพิจารณาปรับเกณฑ์รับบริจาคเลือดเพิ่มเติมหรือไม่? โดยต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้รับบริจาคเลือดเป็นสำคัญ.


กำลังโหลดความคิดเห็น