xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แผนปราบแก๊งคอลฯ รัฐกะเหรี่ยงระส่ำ จัดระเบียบชายแดนใหม่ จีนมีแต่ได้กับได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปฏิบัติการกวาดล้างอาชญากรรมทางไซเบอร์ในเมืองเมียวดี โดยความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย-พม่า ที่มี นายหลิว จงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีความมั่นคงสาธารณะของจีน “มือปราบพระกาฬแห่งจีน” นำทีมลงมือแบบดุดัน ไม่เพียงแค่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์แตกกระเจิง รัฐกะเหรี่ยงระส่ำระสาย แต่ยังเป็นการปูทางสู่แผนจัดระเบียบชายแดนใหม่ และแผนสันติภาพในพม่า ที่ทำให้จีนมีแต่ได้กับได้

การลงมือของผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ หลิว จงอี้ ที่ข้ามหัวไทยไปมาจากกรุงเทพฯ - แม่สอด - เมียวดี - เนปิดอร์ ตลอดเวลาเกือบสามสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรลุผลสำเร็จเบื้องต้น โดยทางการจีนจัดเที่ยวบินขนคนจีนที่เป็นเหยื่อแก๊งคอลฯ-ผู้ร่วมขบวนการค้ามนุษย์ ส่งกลับไปจีน 4 เที่ยวบินในรอบแรก เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา

พร้อมกับคำขอโทษขอโพยต่อประชาชนคนไทย ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยหลังการพบปะหารือกับนายหลิว เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า นายหลิว จงอี้ ยืนยันว่า การทำงานของเขาในประเทศไทย เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ และเคารพในอธิปไตยของไทยและกฎหมายท้องถิ่นของไทย พร้อมกล่าวขอโทษคนไทยที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ซึ่งดูเหมือนว่าเข้ามารุกล้ำอธิปไตยตามที่วิพากษ์วิจารณ์กัน

“อาจเป็นความเร่งร้อนและมุ่งมั่นมากเกินไป เพราะห่วงประชาชนของตัวเอง จึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจไปบ้าง” นายภูมิธรรม กล่าวอ้างถึงคำพูดของผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ หลิว จงอี้

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ หลิว เดินทางมายังกรุงเทพฯ และลงพื้นที่เยือนชายแดนไทย - พม่า ด้านอ.แม่สอด จ.ตาก และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2568 และเข้าพบนายภูมิธรรม เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2568 ในการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยหลายหน่วยงาน เพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่อลวงและร่วมมือปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฝั่งเมียวดี บีบให้ไทยตัดกระแสไฟฟ้า น้ำมัน และสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ส่งไปพม่า 5 จุด ก่อนที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ของไทยจะเดินทางไปพบกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 25668 ซึ่งหนึ่งในข้อหารือของสองผู้นำคือแนวทางการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนไทย-พม่า

รัฐบาลจีนส่งเครื่องบินมารับตัวเหยื่อ-ขบวนการคอลเซ็นเตอร์เมียวดีข้ามแดนเข้าแม่สอดขึ้นเครื่องกลับประเทศรอบแรกจำนวน 100 คน
“มือปราบพระกาฬแห่งจีน” ตัวแทนรัฐบาลจีนที่เป็นฝ่ายออกหน้าปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลฯ และทุนจีนเทา บุกถึงกรุงเนปิดอว์ เมียนมา ในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. พบปะกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสภาบริหารแห่งรัฐ ตัน ส่วย และรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย พลโท ตุน ตุน หน่อง

หลังการพบปะสถานทูตจีนในพม่า ออกแถลงการณ์เน้นย้ำว่า “จีนแสดงความพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่าและไทย โดยใช้มาตรการเชิงรุกและครอบคลุมเพื่อจัดการกับต้นตอของปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เช่น การพนันออนไลน์และการหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต เพื่อลดภัยคุกคามและรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือที่เป็นระเบียบระหว่างประเทศในภูมิภาค”

จากกรุงเนปิดอร์ หลิว จงอี้ ลงพื้นที่ชายแดนอ.แม่สอด อีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2568 และข้ามสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 ไปเมียวดี โดย หลิว ได้พบปะกับ พ.อ. ซอ ชิตตู่ ผู้นำและผู้บังคับบัญชากองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Karen Border Guard Force-Karen - BGF) / กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Army – KNA) ผู้คุ้มครองและพัฒนาเมืองใหม่ชเวก๊กโก และเข้าเยี่ยมชาวจีนและชาวต่างชาติที่ได้รับการปลดปล่อยจากชเวก๊กโก รวมกว่า 300 คน สะท้อนให้เห็นว่า อิทธิพลจีนแผ่ขยายทะลุทะลวงเข้าไปในพื้นที่เมืองสแกมเมอร์โดยกองกำลังรัฐกะเหรี่ยงไม่อาจต้านทานได้

ในส่วนของไทยนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า การดำเนินโนบายเชิงปฏิบัติการของผู้ช่วยรัฐมนตรีฯหลิว จงอี้ เป็นไปตามหลักการและพิธีการทูตทุกประการ ไม่ได้ข้ามหน้าข้ามตาหน่วยราชการและรัฐบาลไทยแต่อย่างใด ตรงกันข้ามรัฐบาลสามประเทศ จีน - ไทย - เมียนมา ได้ประสานงานกันโดยตลอด มีความเข้าใจกันตามข้อตกลงที่จะทำงานร่วมกัน ทางประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกฯจีน หลี่เฉียง ได้ชื่นชมและขอบคุณผ่านนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ที่เราเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และร่วมกันทำงานจนได้ผล

ในการประชุมหารือเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 ระหว่างนายภูมิธรรม และ นายหลิว พร้อมคณะ ทางฝ่ายจีน มีข้อเสนอ 4 ข้อ ซึ่งฝ่ายไทยตอบรับ 3 ข้อ คือ 1.เสริมสร้างกลไกไตรภาคีความร่วมมือระหว่างไทย - เมียนมา - จีน ให้ชัดเจนมากขึ้น ให้เป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมไตรภาคีภายในสัปดาห์หน้า โดยฝ่ายไทยจะมีกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเข้าร่วมประชุมเอง

2.ฝ่ายไทยจะช่วยเหลือการส่งกลับคนจีนที่มีทั้งเหยื่อและผู้เข้าร่วมขบวนการแก๊งคอลฯ ปัจจุบันมีชาวจีนที่ผ่านการคัดกรองอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา 600 คน ทางการจีนจะส่งเครื่องบินมารับทั้งหมด จะมี 3 รอบ แบ่งเป็นรอบละ 200 คน แต่ละรอบห่างกัน 3 วัน ซึ่งในรอบแรกจะมี 4 เที่ยวบิน โดยใช้สนามบิน อ.แม่สอด จ.ตาก เนื่องจากเส้นทางในเมียนมาไม่ปลอดภัย เมื่อหมดลอตนี้แล้วจะหารือในที่ประชุมไตรภาคี อีกครั้ง การส่งกลับ ทางไทยมีเงื่อนไขว่าการส่งตัวกลับต้องขึ้นเครื่องกลับไปจีนโดยทันทีไม่มีพักคอยที่ อ.แม่สอด

ส่วนฝ่ายจีนรับปากว่าหากจีนสอบสวนขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ได้ข้อมูลว่ามีส่วนใดเกี่ยวโยงกับประเทศไทยแล้ว จะแจ้งให้ทางการไทยรับทราบ เพื่อนำไปสู่การขุดรากถอนโคนเครือข่ายต่อไป

3.ฝ่ายไทยได้ตอบรับมาตรการตัดไฟ ตัดอินเตอร์เน็ต ตัดน้ำมัน ใน จ.เมียวดี ต่อไป จนกว่าจะพิสูจน์ว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะเบาบางจนถึงหมดไป พร้อมสกัดไม่ให้อาชญากรย้ายฐานไปที่อื่น พร้อมกับขอเครื่องมือพิเศษตรวจตู้คอนเทนเนอร์จากจีน เพราะจีนกังวลว่าจะมีสินค้าต้องห้ามเล็ดลอดออกไป

ส่วนข้อเสนอของจีนให้ปิดกั้นสิ่งอุปโภคบริโภคไปยังเมียนมา ทางไทยปฏิเสธเพราะคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และไม่ต้องการให้กระทบกับประชาชนที่ไม่มีส่วนรู้เห็นของทั้งสองประเทศ

มีคำถามถึงการคัดกรองเหยื่อและผู้ร่วมขบวนการคอลเซ็นเตอร์ที่จีนเป็นดำเนินการ นายภูมิธรรม ตอบว่าการดำเนินการทั้งหมดเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันที่ยังต้องทำต่อเนื่อง แต่ไม่ขอพูดถึงในรายละเอียด

นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ซึ่งเตรียมความพร้อมช่วยเหลือการขนย้าย กล่าวว่า จะใช้สถานที่ในเส้นทางเดิมที่เคยรับ-ส่งตัว ซึ่งตามขั้นตอนทางการจีนจะคัดกรองเหยื่อด้วยตนเองว่าใครเป็นเหยื่อ ใครกระทำความผิด โดยดำเนินการเองทั้งหมดจากฝั่งเมียนมา หลังจากคัดกรองเสร็จชาวจีนทั้งหมดจะขึ้นรถข้ามฝั่งสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 มุ่งตรงมาที่ท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อขึ้นเครื่องบินกลับทันที โดยไม่ผ่านการคัดกรองตามกลไก NRM ของไทย จะผ่านแค่การตรวจด้วยระบบไบโอเมตริกซ์ ของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เพราะเป็นบุคคลต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร และลงระบบแบล็กลิสต์ ของ สตม.

ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า ถ้าหากไทยไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการคัดกรอง เท่ากับการปล่อยโอกาสในการทำข้อมูลเครือข่ายอาชญากรรมหลุดรอดมือเจ้าหน้าที่ของไทย เราจะไม่มีข้อมูลสำคัญที่นำไปจัดการกับบรรดาอาชญากรที่จะไปสู่การทลายโครงสร้างขุดรากถอนโคน

หลิว จงอี้

ภูมิธรรม เวชชยชัย

พ.อ.หม่อง ชิต ตู่
ปฏิบัติการกวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์ชายแดนไทย-พม่า โดยมีรัฐบาลจีนเป็นผู้นำสำคัญในครั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า ทางการจีนเลือกใช้วิธีการบังคับใช้กฎหมายข้ามพรมแดน (long arm law enforcement) กล่าวคือ อาศัยกรอบความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับไทยและพม่า แสวงหาความร่วมมือหรือกดดันในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งพลเมืองของจีนเองเป็นผู้ก่อ และชาวจีนจำนวนมากก็เป็นเหยื่อ ส่งกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติของจีน และนี่ไม่ใช่แค่ปฏิบัติการกวาดล้างอาชญากรรมทางไซเบอร์เท่านั้น หากแต่เป็นไปตามแผนสันติภาพแบบจัดการได้ (manageable peace) ในพม่าตามแนวทางของจีน ซึ่งถือว่ามีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

ผลจากการปฏิบัติการในครั้งนี้ ทำให้รัฐกะเหรี่ยงระส่ำระสาย กองกำลังพิทักษ์ชายแดนกลุ่มต่าง ๆ ที่สวามิภักดิ์กองทัพพม่า ปล่อยตัวชาวต่างชาติเหยื่อค้ามนุษย์จำนวนมากออกจากเมืองศูนย์กลางคอลเซ็นเตอร์ กองทัพกะเหรี่ยงใจบุญเพื่อประชาธิปไตย หรือ DKBA (Democratic Karen Buddhist Army) หรือกะเหรี่ยงพุทธ ประกาศส่งตัวเหยื่อฯ 260 คน จาก 20 ประเทศทั่วโลกกลับภูมิลำเนา

ทางด้าน พ.อ.หม่อง ชิต ตู่ ผู้บัญชาการกองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ ผู้นำกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ได้ปลดปล่อยชาวต่างชาติออกจากอาคารในเขตชเวก๊กโก 2,000 คน และยังปฏิบัติการตรวจสอบอาคารทุกแห่งในชเวก๊กโก หลังจากเคลียร์พื้นที่ชเวก๊กโกเสร็จแล้ว จะจัดกำลังไปยังพื้นที่เคเคปาร์ค ที่อยู่บริเวณตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ต่อไป

ส่วนทางตำรวจไทย มีรายงานว่า กำลังเร่งดำเนินการไล่จับกุมผู้ต้องสงสัย 3,700 คนที่ทางการจีนเชื่อว่าน่าจะมีส่วนพัวพันในธุรกิจผิดกฎหมายหรือหลอกลวง ขู่บังคับให้มาทำงานในศูนย์คอลเซ็นเตอร์และกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่น ๆ

ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายข้ามพรมแดนของจีนครั้งนี้ เป็นการจัดระเบียบชายแดนใหม่ และวางรากฐานเพื่อสร้างสันติภาพที่จีนควบคุมได้ เป็นการรักษาเสถียรภาพในพม่าเพื่อที่จะเอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของจีน โดย “สันติภาพที่จัดการได้” จะทำให้จีนสามารถรักษาอิทธิพล และคานอำนาจกับกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า

โดยก่อนหน้านี้จีนเปิดปฏิบัติการจูเฟง 1027 (หรือปฏิบัติการพายุเฮอริเคน) บุกยึดเมืองเล้าก์ก่าย ปลดปล่อยเขตปกครองตนเองโกกั้งจากการปกครองของไป่ ซูเฉียง และการครอบงำของกลุ่มตระกูลธุรกิจสีเทาหลายกลุ่มซึ่งก็รวมถึงตระกูลหมิง และตระกูลเว่ย มาแล้ว

นับจากปฏิบัติการจูเฟง 1027 ที่เลาก์ก่ายมาจนถึงเมืองเมียวดี สิ่งที่เห็นเป็นประจักษ์แล้วคือจีนสามารถควบคุมอิทธิพลในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญ รวมถึงโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) ทำให้จีนสามารถขยายอำนาจในการควบคุมเส้นทางคมนาคมและทรัพยากรสำคัญในภูมิภาคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับไทย การทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์แนวชายแดน ด้านหนึ่งคือการทุบหม้อข้าวคนมีสีที่เกี่ยวข้องกับทุนจีนเทา-ไทยเทา-กะเหรี่ยงเทา ด้านหนึ่งคือทำให้คนไทยมีโอกาสรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากขึ้น


ที่สำคัญความร่วมมือไตรภาคีระหว่างไทย-จีน-เมียนมา ที่มีจีนเป็นผู้นำเคลียร์ปัญหาในพื้นที่ชายแดน และมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลทหารเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างชัดเจน เมื่อจีนสามารถขยายอำนาจในการควบคุมเส้นทางคมนาคมขนส่ง อย่างน้อย ๆ ความร่วมมือแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยของจีน - ไทย จะช่วยเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการค้าชายแดนไทย - พม่า ที่มีมูลค่าปีหนึ่งๆ นับแสนล้านบาท ดีกว่าในเวลานี้ที่เส้นทางลำเลียงสินค้าตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังกะเหรี่ยงหลายกลุ่ม ต้องมีการจ่ายทั้งบนดินและใต้ดิน และไม่แน่ว่าสถานการณ์สู้รบในพื้นที่จะปะทุขึ้นมาตัดขาดเส้นทางขนส่งสินค้าเมื่อใด

ทั้งนี้ เส้นทางค้าชายแดนเส้นหลักผ่านด่านแม่สอด - เมียวดี เข้าสู่ย่างกุ้งถือว่าเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุด ใช้เวลาเพียงสองวันสินค้าก็ส่งถึงย่างกุ้งแล้ว ทั้งสามารถกระจายสินค้าสู่ภาคกลางและภาคเหนือของเมียนมาได้ง่ายที่สุด และการขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ – แม่สอด เป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุดเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น ๆ

แต่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อจีนเข้ามามีอำนาจควบคุมเส้นทางค้าชายแดนไทย - เมียนมา ทางไทยก็ต้องแชร์ผลประโยชน์กับทางการจีนที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านในการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังเมียนมาเช่นกัน

สำหรับรัฐบาลทหารกองทัพเมียนมา ซึ่งเวลานี้แทบไม่หลงเหลืออำนาจในการควบคุมชายแดนรัฐกะเหรี่ยงโดยตรง แต่กระทำผ่านทางกองกำลัง BGF ที่สำแดงให้เห็นแล้วว่าไม่ได้อยู่ใต้อำนาจรัฐบาลทหารเมียนมาแต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับกลุ่ม DKBA ส่วนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union- KNU) มีรายงานว่าทางสหรัฐอเมริกาหนุนหลังอยู่ลับ ๆ อีกต่างหากนั้น การเข้ามาของรัฐบาลจีน ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะอิงแอบอิทธิพลจีนเพื่อเข้ามามีบทบาทในรัฐกะเหรี่ยงได้มากขึ้นตามการต่อรองแลกเปลี่ยนกับจีนในลักษณะแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ความยิ่งใหญ่อันเกรียงไกรของจีน นับจากยุค “ต้าฮั่น” ที่ทำให้หัวเมืองน้อยใหญ่สยบยอม มาจนถึงยุคประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ที่ล่าเมืองขึ้นภายใต้ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative—BRI) เครื่องมือในการเบิกทางการค้าการลงทุน ดังนั้นเมื่อมีปัญหาอย่างที่เกิดขึ้นในชเวก๊กโก ที่ BRI ต้องการปั้นให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” แต่กลับกลายมาเป็น “เมืองสแกมเมอร์” ทางการจีนจึงต้องลงมือตบให้เข้าร่องเข้ารอย เพื่อไม่ให้ขัดขวางแผนการลงทุนระยะยาวของจีนในภูมิภาคนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น