ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ร้อนที่ชายแดนไทยเบื้อง “ประจิมทิศ” กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังไม่คลี่คลาย ก็เกิดเหตุแทรกขึ้นมาที่เบื้อง “บูรพาทิศ” ซ้ำซ้อนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ “พล.ต.เนี๊ยะ วงศ์” ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 42 ภาคทหาร 4 ประเทศกัมพูชา และคณะของภรรยา พากันมาทำกิจกรรมที่ปราสาทตาเมือนธม ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา
กิจกรรมอื่นใดไม่สำคัญเท่ากับการที่ “คณะทหารกลุ่มนี้พากันร้องเพลงชาติเขมรในดินแดนอธิปไตยของประเทศไทย” ซึ่งทหารไทยที่ประจำการอยู่ที่นั่นไม่ยอม ทำให้ “พล.ต.เนี๊ยะ วงศ์” บันดาลโทสะต่อหน้าทหารไทยว่า “ห้ามไม่ให้ทหารฝั่งไทยเข้ามาเหยียบพื้นที่บริเวณนี้ซักขาเดียว ถ้าจะยิงก็ยิง” ก่อนที่จะเดินทางกลับไป
หลังเกิดเหตุกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 ได้ทำหนังสือประท้วงการกระทำดังกล่าวของคณะนายทหารกัมพูชาไปแล้วว่าอย่าให้เกิดขึ้นอีก เพราะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและผิดตามข้อตกลง พร้อมยืนยันว่า ปราสาทตาเมือนธมเป็นดินแดนอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย
ขณะที่ทาง “ฝั่งรัฐบาลไทย” ดูเหมือนว่า จะไม่ได้อนาทรร้อนใจเท่าในนัก ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหม ยิ่งตัว “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรียิ่งแล้วใหญ่
นายกฯ แพทองธารให้สัมภาษณ์เสียงดังฟังเอาไว้ว่า “ไม่มีปัญหา ได้พูดคุยกันในพื้นที่แล้วไม่มีปัญหา ไม่มีอะไร และการเดินทางไปเยือนกัมพูชา จะดึงเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยแน่นอน เชื่อว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง”
ตรงกันข้ามกับ “ฮุน มาเนต” นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่บอกว่า ““กัมพูชาต้องการที่จะแก้ไขปัญหาอย่างสันติ แต่กัมพูชาขอสงวนสิทธิในการปกป้องตนเองด้วยวิธีการใดๆ ก็ตาม รวมถึงการใช้กำลังทหาร หากประเทศใดใช้กำลังรุกรานกัมพูชา”
เนี้ยะ วงศ์ ตัวตึงขาประจำชายแดนไทย-เขม
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า กรณีดังกล่าวเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจไว้วางใจได้ เพราะคณะที่มาร้องเพลงชาติเขมรที่ปราสาทตาเมือนธม ไม่ใช่ชาวเขมรที่อาศัยอยู่ในละแวกดังกล่าว หากแต่เป็นถึง “นายทหารระดับนายพล” และคุมกองกำลังรบที่สำคัญ
โดยภาคทหารที่ 4 ของกัมพูชาที่ “พล.ต.เนี๊ยะ วงศ์” สังกัดนั้น มีพื้นที่รับผิดชอบใน 4 จังหวัดคือ จังหวัดอุดรมีชัย จังหวัดพระวิหาร จังหวัดเสียมราฐ และจังหวัดกำปงธม
ที่สำคัญคือคนอย่าง “พล.ต.เนี๊ยะ วงศ์” ย่อมต้องรู้สภาพพื้นที่บริเวณปราสาทตาเมือนธมเป็นอย่างดีว่า มีความละเอียดอ่อนระหว่างประเทศมากน้อยเพียงใด ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศจำนวนไม่น้อยจึงมีความเห็นตรงกันว่า “มีการวางแผนมาแล้วล่งหน้า” และ “ตั้งใจ” ทำร้อยเปอร์เซ็นต์
และการตั้งใจร้องเพลงชาติของ “พล.ต.เนี๊ยะ วงศ์” และคณะก็น่าจะได้รับความเห็นชอบจากทั้ง “กองทัพกัมพูชา” และ “รัฐบาลกัมพูชา” ที่มี “ฮุน มาเน็ต” ลูกชายของ “สมเด็จฯ ฮุนเซ็น” เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนี้
ไม่เช่นนั้น จะ “กล้า” ได้อย่างไร
ย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านี้หลายปี ในช่วงที่ “พล.ต.เนี๊ยะ วงศ์” ยังมียศ “พันเอก” และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลน้อยทหารราบที่ 42ภูมิภาคทหารที่ 4 ของกัมพูชา ก็เคยเกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา มาแล้ว
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2554 และนายพลเขมรคนนี้ก็คือตัวการสำคัญ
ภายหลังการปะทะกัน ทหารกัมพูชาสูญเสียกำลังพลจำนวนมาก ขณะที่ทหารไทยก็เสียชีวิตไปหลายรายเช่นกัน
หรือในปี 2552 “เนี๊ยะ วงศ์” ก็ได้นำทหารใต้บังคับบัญชากว่า 50 นาย พร้อมอาวุธสงครามครบมือ พยายามเข้ามาวางกำลังที่ปราสาทตาเมือนธม แต่ได้ถูกกำลังทหารพรานไทยเจรจาและผลักดันให้กลับเข้าไปในเขตแดนกัมพูชา
สำหรับในครั้งนี้นั้น แม้เหตุการณ์จะคลี่คลายลงไประดับหนึ่งจากการที่ “นายเมน จันญาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมีชัย ได้นำ พล.ต.เนี๊ยะ วงศ์ ตัวตึงเขมร์เดินทางข้ามชายแดนขึ้นมายังบริเวณปราสาทตาเมือนธม เพื่อเจรจาพูดคุย กับพ.ท.จักรกฤษ ปิยะศุภฤกษ์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 23 และคณะเจ้าหน้าที่ทหารไทย
ทว่า ในโลกโซเชียลกลับมีการปะทะกันอย่างหนักหน่วงรุนแรง ด้วยการเชิดชูว่า พล.ต.เนี๊ยะ วงศ์เป็นฮีโร่ที่กล้าพูดตอบโต้ทหารไทยอย่างดุเดือด ขณะที่ชาวโซเชียลไทยก็เข้าไปคอมเมนต์ตอบโต้ดุเดือดไม่แพ้กัน
ทั้งนี้ กล่าวสำหรับปราสาทตาเมือนธมนั้นเป็นจุดเปราะบางที่สุดแห่งหนึ่งของปัญหาชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา เพราะคนเขมรจำนวนมากเห็นว่าปราสาทแห่งนี้เป็นของกัมพูชา ไม่ใช่ของไทย โดยเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ก็มีคนเขมรบางกลุ่มไปร้องเพลงแสดงพลังที่ตาเมือนธมมาแล้ว โดยเป็นเพลงปลุกใจชาตินิยมเขมรเสียด้วย แต่มิได้เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันเหมือนกับเที่ยวนี้
จะใช้คำว่า “เคลมโบเดีย” ต้องการ “เคลมตาเมือนธม” ว่าเป็นของกัมพูชามาอย่างต่อเนื่องก็คงไม่เกินเลยไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี มีการประเมินกันว่า “รัฐบาลตระกูลฮุน” น่าจะเป็นผู้จุดประเด็น “คลั่งชาติ” เหนือปราสาทตาเมือนธมขึ้นมาเอง เพราะกำลังเมาหมัดและเสียคะแนนนิยมจากการถูกโจมตีเรื่องยกเกาะกูดให้ไทย
เหตุที่ต้องเดินเกมเรื่องนี้ก็เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้น และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็มีการปลุกกระแสรักชาติขึ้นมาเป็นธงนำในการหาเสียงเลือกตั้งเสมอๆ
ยกตัวอย่างเช่น เลือกตั้งใหญ่ของกัมพูชาปี 2546 รัฐบาลฮุน เซน ชนะ เพราะปลุกชาตินิยมสำเร็จ หลังจากมีคนปล่อยข่าวต่อต้านดาราไทยจนนำไปสู่การเผาสถานทูตไทยในพนมเปญ หรือในปี 2551 ฮุน เซนก็ชนะการเลือกตั้งใหญ่ของกัมพูชาอีกเพราะเกิดกรณีปราสาทพระวิหาร เป็นต้น
งานนี้ไม่รู้ว่า รัฐบาลไทย “ตามเกมเขมรไม่ทัน” หรือ “ตั้งใจให้เหตุการณ์ดำเนินไปในลักษณะนั้นตามประสาคนที่รู้จักมักคุ้นกันหรือไม่” ก็ไม่ทราบได้
จับตา “อิ๊งค์” เยือนกัมพูชา
เดินหน้า MOU 44 เจรจาผลประโยชน์อ่าวไทย
กระนั้นก็ดี นอกเหนือจากเรื่องปราสาทตาเมือนธมแล้ว หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ไม่นานนักก็เคยมีเรื่องที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ เมื่อเกิดกรณีที่แรงงานและชาวกัมพูชาที่พักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ออกมารวมตัวกันเรียกร้องรัฐบาลกัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อทวงคืน “เกาะกูด” ให้กลับมาเป็นของกัมพูชา
เว็บไซต์ข่าวอาร์เอฟเอ รายงานว่าชาวกัมพูชามากกว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวที่กำลังทำงานหรือใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมารวมตัวกันเพื่อประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“เกาะกูดเป็นของเขมร เป็นของเขมร! เรามารวมกันที่นี่เรียกร้องร้องเกาะกูด” ผู้ประท้วงตะโกน
นาย Moun Yan หนึ่งในผู้ประท้วง บอกว่าเหตุผลที่เขาเข้าร่วมชุมนุม เพราะว่าเขาไม่ต้องการเห็นเกาะกูดมีชะตากรรมแบบเดียวกับเกาะโตรล ที่ตกไปเป็นของเวียดนาม เขาบอกว่าเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นประเด็นระดับชาติ ดังนั้นชาวกัมพูชาควรพร้อมใจกันประท้วงและกดดันรัฐบาลฮุนมาเนต ให้ยื่นประท้วงประเด็นเกาะกูด กับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เรียกร้องส่วนแบ่งของกัมพูชา
นอกเหนือจากในญี่ปุ่นแล้ว พลเมืองกัมพูชาที่พำนักอยู่ในต่างแดนที่ไม่พอใจความเป็นผู้นำของ ฮุน มาเนต ทั้งใน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส ต่างแถลงแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันและจัดการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล ฮุน มาเนต ยื่นฟ้องร้องคดีเกาะกูดต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และเสาะหาความชอบธรรมแก่ ลิม กึมยา ที่ถูกสังหารในประเทศไทย
นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ธรรมดา
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาโดนถล่มเป็นพิเศษเรื่อง “ขายชาติ” ด้วยการยกเกาะกูดให้ไทยเพื่อแลกผลประโยชน์กับพื้นที่ทับซ้อน โดย “พรรคฝ่ายค้านกัมพูชา” เป็นผู้จุดประเด็นในเรื่องดังกล่าว รวมถึงอยู่เบื้องหลังการปลุกระดมคนเขมรให้ลุกขึ้นมาประท้วงในประเทศต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
และต้องไม่ลืมเช่นกันว่า หนึ่งในคนที่เป็นตัวตั้งตัวตีและเดินเกมนี้ก็คือ “นายลิม กึมยา” อดีต สส.พรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party -CNRP) ซึ่งถูกสังหารในประเทศไทย ด้วยฝีมือของอดีตทหารเรือที่ชื่อ “จ่าเอ็ม” หรือ “นายเอกลักษณ์ แพน้อย” อดีตนาวิกโยธิน
แถมเมื่อสืบไปสืบมายังปรากฏว่า เบื้องหลังมีความเกี่ยวพันกับ 2 ตัวละครฝ่ายกัมพูชา
คนแรกคือ “นายพิช กิมสริน (Pich Kimsrin)” ซึ่งเดินทางมากับรถบัสท่องเที่ยวข้ามประเทศคันเดียวกับ “ลิม กึมยา” จากด่านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยหลังจากทำหน้าเสร็จเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยสายการบินสกายอังกอร์ ปลายทางที่กรุงพนมเปญทันที
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ จากการตรวจสอบประวัติและภูมิหลังจากนายพิช กิมสรินพบว่า เขามีตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการตลาดกลางซาร์กันดาล ในกรุงพนมเปญ แถมยังเป็นทายาทของ “นายควนสเริง (Khuon Sreng)” ผู้ว่าการกรุงพนมเปญ อีกต่างหาก
สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี (RFA) รายงานด้วยว่า นายพิช กิมสริน เป็นน้องชายของ พิช สรส นักการเมืองที่เป็นผู้ริเริ่มฟ้องร้องดำเนินคดีกับพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ที่เป็นพรรคฝ่ายค้านและนำไปสู่การยุบพรรคในปี 2560 และมีตำแหน่งในรัฐบาล
คนที่สอง “นายลี รัตนรัศมี (Ratanakraksmey Ly )” หรือชื่อในประเทศไทย คือ “นายสมหวัง บำรุงกิจ” ซึ่งมีตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษาของสมเด็จฯ ฮุนเซ็น” อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ด้วยเหตุดังกล่าว เหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะ “ดูเบา” เหมือนที่ “นายกฯ แพทองธาร” ว่าไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นที่รับทราบกันถ้วนทั่วแผ่นดินกัมพูชาว่า นายกรัฐมนตรีไทยกำลังจะเดินทางไปเยือนกัมพูชา
ไม่เพียงแค่ “แพทองธาร” เท่านั้น หากแต่ “ทักษิณ ชินวัตร” ก็เตรียมเดินทางไปเยือนกัมพูชาเช่นกัน โดยทำเรื่องขออนุญาตกับศาลในคราวเดียวกับการเดินทางไปเยือนบรูไน เพื่อเข้าร่วมการประชุมอาเซียนในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ทว่า ศาลอนุญาตเฉพาะที่บรูไป ส่วนที่กัมพูชากับเวียดนาม ศาลไม่อนุญาต
โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่า คำเชิญจากเวียดนามเป็นการเชิญส่วนตัวจากนักธุรกิจซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานรัฐเวียดนาม ขณะที่คำเชิญจากกัมพูชาเป็นของสมเด็จฮุน เซน แต่อยู่ในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามรัฐบาลของกัมพูชา
ทั้งนี้ เรื่องลับลมคมในระหว่าง “ตระกูลฮุน” กับ “ตระกูลชิน” นั้น มีความซับซ่อนซ่อนเงื่อนหลายอย่าง เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความสนิทสนมกันถึงขนาดใช้คำว่า “เป็นพิเศษ” ได้เลยทีเดียว
ดังนั้น การที่สังคมจะ “ไม่วางใจ” อะไรๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นภายใต้การเจรจาตกลงของสองฝ่ายก็ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะ “MOU 2544” ที่จัดทำขึ้นสมัยที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี และ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เดินหน้าผลักดันอย่างไม่ลดละ และไม่มีทีท่าที่จะยกเลิก MOU 2544 ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ไทยเสียดินแดนให้เห็นเลยแม้แต่น้อย