xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“นิสสันโลก” ยกเครื่องครั้งใหญ่ “นิสสันไทย” อยู่ในโหมดลุ้นระทึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การควบรวมระหว่าง  “บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และบริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด”  จะเป็นที่ยุติลงแล้วจากการแถลงยืนยันของจากทั้งสองฝ่าย ดูเหมือนว่า โลกกำลังเฝ้าจับตามองว่า “นิสสัน” ซึ่งมีปัญหาหนักหนาสาหัสอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

และ “ข่าวร้าย”  ก็เกิดขึ้น เมื่อ “นิกคันจิโดฉะชิมบุน  หนังสือพิมพ์ข่าวยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่น รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (Nissan) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการยานยนต์ ได้ออกมาประกาศว่า จะปิดโรงงานจำนวน 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือโรงงานในประเทศไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ

โดยบริษัทนิสสันมีแผนจะลดต้นทุนคงที่และต้นทุนอื่น ๆ รวม 4 แสนล้านเยน (ราว 8.8 หมื่นล้านบาท) ภายในปีงบประมาณ 2569 โดยจะลดจุดคุ้มทุนลง 600,000 หน่วย เหลือ 2.5 ล้านหน่วยต่อปี

นอกจากนี้ นิสสันยังตั้งเป้าที่จะสร้างระบบที่สามารถรักษาอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ 4% ได้อย่างมั่นคงด้วยการผลิตปีละ 3.5 ล้านหน่วย

สำหรับต้นทุนคงที่นั้น จะตัดค่าใช้จ่ายด้านการขาย 2 แสนล้านเยน (ราว 4.4 หมื่นล้านเยน) และตัดค่าใช้จ่ายด้านการปรับโครงสร้างฐานการผลิต 1 แสนล้านเยน (ราว 2.2 หมื่นล้านเยน)

นิกคันจิโดฉะชิมบุนยังรายงานด้วยว่า ส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างฐานการผลิต คือการปิดโรงงานแห่งแรกในประเทศไทย โดยจะปิดตัวลงช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายนของปีงบประมาณ 2568 นอกจากนี้ โรงงานอีก 2 แห่งจะปิดตัวลงภายในปีงบประมาณ 2569 ส่งผลให้ต้นทุนจะลดลง 1 แสนล้านเยน

ในแง่ของกำลังคน บริษัทจะลดพนักงานทั่วโลก 2,500 คน นอกจากนี้ จะลดกำลังคนในโรงงานประกอบรถยนต์และโรงงานระบบส่งกำลัง (powertrain) ลง 5,300 คนในปีงบประมาณ 2568 และ 1,200 คนในปีงบประมาณ 25469 รวมเป็น 6,500 คน

นอกจากนี้ บริษัทจะลดต้นทุนลง 6 หมื่นล้านเยน (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท) ผ่านการปรับสเปก เช่น ลดจำนวนประเภทชิ้นส่วนลง 70%

ข่าวการปิดโรงงานนิสสันในประเทศไทยสร้างความแตกตื่นให้กับผู้คนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมถึงผู้ที่นิยมชมชอบรถยนต์ของค่ายนี้เป็นอย่างมาก ด้วยก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเหตุในทำนองเดียวกันกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยี่ห้ออื่นให้เห็นมาแล้ว

ที่สำคัญคือ นี่ไม่ใช่  “ครั้งแรก” ที่เกิดข่าวในลักษณะนี้กับนิสสัน เพราะก่อนหน้านี้ในราวเดือนพฤศจิกายน 2567  “รอยเตอร์”  ก็เคยนำเสนอการปิดโรงงานนิสสันในประเทศไทยมาแล้วเช่นกัน

ในครั้งนั้น รอยเตอร์อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว 2 คนซึ่งระบุว่า นิสสันมีแผนที่จะหยุดการผลิตบางส่วนที่โรงงานหมายเลข 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในสองโรงงานประกอบรถยนต์ของนิสสันที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยจะย้ายไปรวมกับโรงงานหมายเลข 2 ภายในเดือนกันยายนปี 2568

โฆษกนิสสันปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนปลดพนักงาน แต่ระบุว่าการควบรวมโรงงานทั้ง 2 แห่งเข้าด้วยกันบางส่วนก็เพื่ออัปเกรดเครื่องไม้เครื่องมือ โดยจะไม่มีการปิดโรงงานเกิดขึ้น

“โรงงานหมายเลข 1 จะยังคงเป็นฐานการผลิตใหญ่ของเราในประเทศไทยต่อไป” โฆษกนิสสันยืนยัน ณ ห้วงเวลานั้น

ทั้งนี้ นิสสันมีโรงงานในประเทศไทย 2 แห่ง เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์สำหรับตลาดในประเทศ และผลิตรถยนต์ส่งออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ด้วยกำลังผลิตรวม 370,000 คันต่อปี แบ่งเป็น

โรงงานที่ 1 กำลังผลิต 220,000 คันต่อปี

โรงงานที่ 2 มีกำลังผลิต 150,000 คันต่อปี

ทั้งสองโรงงานอยู่ใกล้กันที่บริเวณบางนา กม.21และกม.22




นอกจากนี้ยังมี โรงงาน นิสสัน พาวเวอร์เทรน ประเทศไทย (Nissan Powertrain Thailand-NPT)  ซึ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2565 เพื่อประกอบแบตเตอรี่สำหรับเครื่องยนต์แบบอี-พาวเวอร์ ซึ่งถือเป็นสายการประกอบแห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่นและเป็น 1 ในโรงงานนิสสัน 4 แห่งทั่วโลก ที่มีศักยภาพในการประกอบแบตเตอรี่สำหรับระบบขับเคลื่อนอี-พาวเวอร์ มีกำลังการผลิตเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังทุกรุ่นรวมสูงสุด 580,000 หน่วยต่อปีด้วย

 งานนี้ ทำเอา “นิสสันประเทศไทย” เต้นเป็นเจ้าเข้า พร้อมออกโรงชี้แจงว่า “ไม่ได้ปิด” แถมยังมีคำยืนยันจาก “บีโอไอ” สำทับมาอีกชั้นว่า “ไม่ได้ปิดจริง” เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนเท่านั้น 
นิสสันประเทศไทยบอกว่า นิสสันจะทำการรวมกระบวนการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานที่ 1 ไปยังโรงงานที่ 2 ในประเทศไทย และดำเนินการปรับปรุงสายการผลิต ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2025 ภายใต้แผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนคงที่ และเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ในประเทศไทย

โรงงานที่1 จะหยุดประกอบรถยนต์ โดยจะถูกปรับให้เป็นโรงงานประกอบตัวถัง ประกอบชิ้นส่วนพลาสติก และปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วน รวมถึงงานโลจิสติกส์ภายในโรงงาน ทั้งนี้ ไทยจะยังคงเป็นตลาดสำคัญของนิสสันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะเติบโต และพัฒนาแบรนด์ และธุรกิจ ในตลาดอาเซียน และประเทศไทยต่อไป

ขณะที่  “นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ได้หารือกับ  นายโทชิฮิโระ ฟูจิกิ ประธานบริษัทนิสสัน ภูมิภาคอาเซียน และนิสสันประเทศไทย  ได้ชี้แจงว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการรวมสายการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุน และเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการและปรับโครงสร้างธุรกิจทั่วโลกของนิสสัน จะเป็นการรวมกระบวนการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานที่ 1 ที่ก่อตั้งปี 2518 ไปยังโรงงานที่ 2 ที่อยู่ในพื้นที่ ติดกัน ซึ่งโรงงานแห่งนี้ได้ก่อตั้งปี 2557 พร้อมทั้งจะดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพสายการผลิต

โดยโรงงานที่ 1 จะถูกปรับให้เป็นโรงงานประกอบตัวถังและปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วน รวมถึงงานโลจิสติกส์ภายในโรงงาน ขณะที่การประกอบรถยนต์ของนิสสันจะไปรวมอยู่ที่โรงงานที่ 2 ซึ่งนิสสันเตรียมเริ่มดำเนินการตามแผนตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม โดยย้อนไปดูข้อมูลการดำเนินธุรกิจของ “นิสสัน” ในประเทศไทย พบว่า นิสสันได้เริ่มดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ปัจจุบันมีบริษัทในเครือ 5 แห่ง และฐานการผลิตรถยนต์รวม 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 3.7 แสนคัน/ปี

ขณะเดียวกันยังมีเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการมากกว่า 180 แห่ง โดยมีผลิตภัณฑ์รถยนต์ตอบสนองลูกค้าทุกกลุ่มรวม 11 รุ่น ทั้ง รถยนต์อีโคคาร์ รถยนต์อเนกประสงค์ รถยนต์พรีเมี่ยมซีดาน รถกระบะ และรถตู้

ส่วนข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูล ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 จากรายงานงบการเงินนำส่งในปี 2567 พบว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีสินทรัพย์รวม 32,086 ล้านบาท หนี้สินรวม 30,216 ล้านบาท รายได้รวม 102,163 ล้านบาท รายจ่ายรวม 100,493ล้านบาท และมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ 1,503 ล้านบาท

ทั้งนี้หากพิจารณาเฉพาะผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปี พบว่า บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่งจะมีผลประกอบการพลิกกลับมามีกำไรได้อีกครั้้งในรอบ 8 ปี หลังเคยมีกำไรสุทธิในปี 2559 อยู่ที่ 1,837 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาบริษัทก็ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดขาดทุนสุทธิสะสม 2.4 หมื่นล้านบาท แยกเป็นรายปี ดังนี้

ปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,767 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 4,814 ล้านบาท ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 1,003 ล้านบาท ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 7,212 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุนสุทธิ 6,102 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 267 ล้านบาท ปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 2,031 ล้านบาท

สรุปก็คือ นิสสันเพิ่งจะกลับมามีกำไรครั้งแรกในปี 5567 หลังย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 7 ปีขาดทุนมาตลอด ซึ่งนับเป็น “สัญญาณที่ดี” อยู่พอสมควร และเป็นที่คาดหมายว่า หลังการปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ จะทำให้ผลการดำเนินงานของนิสสันไทยจะดีขึ้นเป็นลำดับ

อย่างไรก็ดี เมื่อไปย้อนดูกำลังการผลิตของโรงงานทั้งสองแห่ง ก็พบว่า การปรับ “โรงงานที่ 1” ที่มีกำลังการผลิตราว 220,000 คันต่อปีให้เป็นโรงงานประกอบตัวถังและปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วน รวมถึงงานโลจิสติกส์ภายในโรงงานนั้นมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า กำลังผลิตของนิสสันในประเทศไทยจะลดลงไปโดยปริยาย

 หรือหมายความว่า นิสสันจะเหลือโรงงานที่ 2 ซึ่งมีกำลังผลิต 150,000 คันต่อปีเท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า จะมีการ “เพิ่ม” หรือ “ลด” กำลังผลิตไปจากตัวเลขเดิมที่มีการรายงานออกมาหรือไม่อย่างใด

แต่ที่แน่ๆ คือ นี่เป็น “การยกเครื่องครั้งใหญ่” ทั้งของนิสสันทั่วโลกและนิสสันประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า จะต้องมีการ “ลดคน” เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน 


กำลังโหลดความคิดเห็น