xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (27): “สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1680” การสถาปนาอำนาจนำของราชาธิปไตย (the Primacy of Monarchy)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


Hans Wachtmeister คนสนิทของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน” และเค้าโครงของประวัติศาสตร์ของกฎหมายในฐานะที่เป็นกรอบกติกาการปกครองหรือ “รัฐธรรมนูญ” รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมของสวีเดนก่อนการสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วง ค.ศ. 1680 ไปบางส่วน

ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไปจากประเด็นความขัดแย้งต่อนโยบายเวนคืนไปสู่ความขัดแย้งเห็นต่างในเรื่องพระราชอำนาจในการออกกฎหมายและพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้นคือ เหตุการณ์ที่ไม่ได้มีการวางแผนมาก่อนที่ส่งผลให้เกิด  “การประกาศทางรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก” (the first formal constitutional declaration) ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ด  นั่นคือ จากการที่คณะตุลาการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (the Regency tribunal) ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 36 คนที่มาจากแต่ละฐานันดรทั้งสี่เท่าๆ กัน ได้เริ่มปฏิบัติงานและได้ออกข้อความที่จะต้องให้มีการกล่าวตาม (citations) แก่สมาชิกของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลัง ค.ศ. 1660 หรือโดยส่วนใหญ่แล้ว คือทายาทของพวกเขา และรวมทั้งสภาบริหารโดยรวมด้วย

เพราะข้อความในบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดไว้ว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผูกมัดที่จะต้องรับฟังคำปรึกษาของสภาบริหาร เมื่อสภาบริหารได้รับทราบข้อเสนอของคณะตุลาการ สภาบริหารแห่งแผ่นดินปฏิเสธอย่างเด็ดขาดที่จะยอมรับคำกล่าวตามนั้น
ในวันที่ 6 ธันวาคม ประธานสภาอภิชนได้กล่าวต่อฐานันดรต่างๆ ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชประสงค์ให้พวกเขาอยู่ในสตอคโฮล์มเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ให้ลุล่วงเสียก่อน ในส่วนของพวกอภิชน สภาอภิชนได้เลิกประชุมหลังจากมีการอภิปรายยาวนานที่แสดงให้เห็นว่า พวกอภิชนอยู่ในสภาวะที่สับสนยุ่งเหยิง ดังนั้น จึงมีได้มีการเรียกประชุมระหว่างผู้แทนจากสามฐานันดรและผู้แทนจากสภาบริหาร โดยไม่มีฐานันดรชาวนา

สภาบริหารยืนยันในที่ประชุมดังกล่าวว่า สภาบริหารไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำใดๆ ของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่แม้ว่าจะมี สมาชิกที่รับผิดชอบต่อการตัดสินแต่ละเรื่องก็แตกต่างกันไป ไม่สามารถถูกล่าวหาโดยรวมได้ ยิ่งกว่านั้น

“สภาบริหารยังเป็นฐานันดรที่แยกต่างหาก ไม่ต่างฐานันดรอื่นๆแห่งราชอาณาจักร และไม่สมเหตุสมผลที่องค์คณะทั้งหมดของสมาชิกสภาบริหารจะต้องตอบคำถามในเรื่องที่เป็นเรื่องของคนไม่กี่คน”  

วันต่อมามีการประชุมหลากหลายคณะ และก็เต็มไปด้วยความสับสน ผู้ร่วมประชุมส่วนหนึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะให้มีการตั้งคำถามพื้นฐานในทางรัฐธรรมนูญขึ้น

ในสภาอภิชน จึงได้มีการตั้งคำถามที่เป็นคำถามสำคัญในทางรัฐธรรมนูญสองประการ นั่นคือ

 หนึ่ง หากบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1660 ได้ระบุเจาะจงว่า รัฐบาล (คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในปี ค.ศ. 1660/ผู้เขียน) จะต้องรับคำแนะนำปรึกษาจากสภาบริหาร ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องบังคับใช้เช่นเดียวกันกับพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ด้วยหรือไม่ ?

และสอง ฐานันดรทั้งสี่สามารถมีมติปฏิเสธสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงตัดสินไปแล้วหรือไม่ ? โดยมีการอ้างมติของที่ประชุมสภาฐานันดรที่ปฏิเสธพระราชพินัยกรรมของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบ ในปี ค.ศ. 1660 

ต่อคำถามทั้งสองข้อนี้ Hans Wachtmeister  คนสนิทของพระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดได้แสดงความเห็นที่น่าแปลกใจว่า ในคำถามข้อสอง เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ที่เป็นเช่นนั้น เพราะในปี ค.ศ. 1660 ขณะนั้น พระเจ้าชาร์ลสที่สิบเอ็ดยังทรงพระเยาว์และบ้านเมืองต้องอยู่ภายใต้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอำนาจอันชอบธรรมต้องอยู่ที่ฐานันดรทั้งสี่ เพราะยังไม่มีพระมหากษัตริย์

ส่วนคำถามข้อที่หนึ่ง เขาให้ความเห็นว่า ในบางโอกาส พระมหากษัตริย์ทรงถูกคาดหวังให้ปรึกษาฐานันดรทั้งสี่ แต่ไม่ใช่ในทุกโอกาส ซึ่งต่อประเด็นนี้ เลขาธิการของสภาอภิชนได้เริ่มหลุดประเด็นการอภิปราย เพราะผู้อภิปรายอภิปรายเยิ่นเย่อและซ้ำกัน อีกทั้งมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายมากเกินไป
ความสับสนดังกล่าวได้ยุติลงในวันที่ 8 ธันวาคม หลังจากที่ Charles XI ได้ทรงหารือกับประธานสภาอภิชน และทรงเห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวข้องกับการยืนยันหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและขอบเขตของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พระองค์จึงได้ทรงตั้งคำถามไปยังฐานันดรทั้งสี่ผ่านประธานสภา โดยมีคำถามดังต่อไปนี้คือ

 หนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงถูกผูกมัดโดยรัฐธรรมนูญ (the Form of Government) หรือไม่ ? 

ประเด็นนี้ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1660 ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญจะผูกมัดเฉพาะในช่วงที่มีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น

 สอง สภาบริหารแห่งแผ่นดินมีสถานะเป็นฐานันดรที่แยกต่างอีกฐานันดรหนึ่ง ที่แยกจากฐานันดรอื่นๆ หรือไม่ ?  

ต่อประเด็นดังกล่าว ประธานสภาอภิชนได้กล่าวเสริมว่า พระมหากษัตริย์ทรงเข้าใจว่าสวีเดนมีเพียงแค่สี่ฐานันดรเท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ Watchmeister ได้ให้ข้อคิดว่า หากสภาบริหารมีสถานะเป็นฐานันดรอีกฐานันดรหนึ่ง สภาบริหารก็ย่อมจะต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎร ไม่ต่างจากที่แต่ละฐานันดรทั้งสี่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรของแต่ละฐานันดร

ซึ่งถ้าสภาบริหารจะกล่าวอ้างว่าทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎร ก็ไม่น่าจะใช่ เพราะฐานันดรทั้งสี่ก็ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว หรือสภาบริหารจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางซ้อนอีกทีระหว่างพระมหากษัตริย์กับฐานันดรทั้งสี่ ?

และ Watchmeister “หวังว่าคงจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีตัวกลางระหว่างพระมหากษัตริย์กับฐานันดรทั้งสี่” 

จากคำกล่าวของประธานสภาและความเห็นของ Watchmeister ไม่มีผู้ใดในฐานันดรทั้งสี่จะออกมาคัดค้านและปฏิเสธว่า สวีเดนมีฐานันดรมากกว่าสี่ฐานันดร ดังนั้น สภาบริหารจึงไม่ได้มีสถานะเป็นฐานันดรพิเศษต่างหากแต่อย่างใด

 อันที่จริง แก่นสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาบริหารก็คือ ขอบเขตของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มีแค่ไหน ? พระองค์มีอิสระในการใช้พระราชอำนาจเพียงไร ? เพราะตามกฎหมายแห่งแผ่นดิน (Land Law) ได้บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงปกครองด้วยคำแนะนำของสภาบริหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องมีการตีความว่า พระองค์ทรงต้องปกครองตามคำแนะนำของสภาบริหารในทุกกรณีและเสมอหรือไม่ และอย่างไร ? 

ประธานสภาได้เริ่มยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานะของพระมหากษัตริย์ โดยเขาได้ให้ความเห็นว่า  “พระมหากษัตริย์ทรงใช้คำแนะนำของสภาบริหารอย่างแน่นอน แต่การตัดสินใจเป็นของพระองค์” และ Watchtmeister ได้ให้ความเห็นที่เป็นปริศนาคลุมเครือว่า  “ม่ใช่ในทุกกรณี (ไม่ใช่ทุกกรณีที่เป็นการตัดสินใจของพระองค์/ผู้เขียน) เพราะฐานันดรทั้งสี่ก็มีอำนาจด้วย”  และเขาได้ให้ความเห็นเช่นเดียวกันนี้อีกสองครั้งในเวลาต่อมา

เมื่อ Sparre กล่าวว่า บางครั้งพระมหากษัตริย์ก็ทรงปรึกษาสภาบริหาร บางครั้งก็ไม่ได้ปรึกษา แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะไม่ว่าจะปรึกษาหรือไม่ปรึกษา การตัดสินใจเป็นของพระองค์ แต่ Wachtmeister ก็ยังคัดค้านต่อไปว่า  “แต่ในบางเรื่อง พระมหากษัตริย์ต้องฟังสภาบริหาร” 
จากความเห็นที่แตกต่างกันนี้ ประธานสภาได้แนะนำให้พวกเขาทำหนังสือคำร้องไปยังพระมหากษัตริย์เพื่อให้พระองค์ทรงร่างพระราชพินัยกรรมขึ้นทันทีและกำหนดทิศทางการบริหาราชการแผ่นดินให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ Wachtmeister ได้ย้ำว่า “ (พระราชพินัยกรรม/ผู้เขียน) จะต้องไม่ขัดกับกฎหมายสวีเดน”
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า ความเห็นต่างๆที่เกิดขึ้นในการอภิปรายอย่างเปิดเผย (open discussion) นี้ ไม่ได้มีการแบ่งออกได้เป็นสองฝักฝ่ายระหว่างผู้ที่มีความเห็นสนับสนุนให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอันสมบูรณ์ (absolutists) กับพวกที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญนิยมที่จำกัดพระราชอำนาจโดยสภาบริหาร (Council constitutionalists) และไม่ได้มีการปะทะกันระหว่างสองแนวความคิดนี้
ประธานที่ประชุมสภาของแต่ละฐานันดรก็ยังไม่มีความแน่ใจต่อประเด็นดังกล่าว และการอภิปรายก็ยังมีลักษณะซ้ำซากไม่มีสาระอะไรชัดเจน และไม่ต่างจากการให้ความเห็นของ Wachtmeister ที่ดูเหมือนจะให้เหตุผลกลับไปกลับมา ที่บางครั้ง เขาเห็นว่า ในบางเรื่องพระมหากษัตริย์ทรงต้องรับฟังคำแนะนำจากสภาบริหาร และไม่ใช่ทุกเรื่องที่พระองค์จะทรงตัดสินเองได้ เพราะบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่สภาฐานันดรมีอำนาจอยู่

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


กำลังโหลดความคิดเห็น