ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
หนังเรื่อง สงครามชี้ขาด (ต้าเจี๋ว์ยจั้น, 大決戰, Decisive Engagement) ที่มีอยู่สามภาคนี้เป็นหนังที่สร้างจากเหตุการณ์จริง และชื่อหนังก็เรียกตามเหตุการณ์นั้นว่า “สงครามชี้ขาด” จริงๆ
คำว่า “สงครามชี้ขาด” หมายถึง สงครามที่หากฝ่ายใดเป็นฝ่ายชัยชนะแล้ว ชัยชนะนั้นจะถือเป็นเด็ดขาด และแม้จะมีสงครามต่อไปอีกกี่ครั้งก็ตาม ชัยชนะก็จะตกเป็นของฝ่ายที่ได้รับชัยชนะครั้งแรกไปด้วยเช่นกัน สงครามชี้ขาดจึงเป็นสงครามที่ชี้เป็นชี้ตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยดุษณี
สงครามชี้ขาดที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนี้มีอยู่ด้วยกันสามครั้ง และทั้งสามครั้งนี้ล้วนเป็นศึกใหญ่ที่ไม่นับรวมศึกเล็กศึกน้อยที่มีขึ้นในพื้นที่อื่นๆ โดยเป็นสงครามระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐที่นำโดย กว๋อหมินตั่ง (กว๋อหมินตั่ง) กับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และในสงครามครั้งแรกที่ฝ่ายหลังเป็นฝ่ายชนะก็เป็นอันรู้กันว่า แม้จะมีครั้งต่อไปอีกกี่ครั้ง ฝ่ายหลังก็จะเป็นฝ่ายชนะ
เหตุดังนั้น สงครามของทั้งสองฝ่ายมีอยู่สามครั้ง ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเป็นฝ่ายชนะในสองครั้งหลังด้วย
สงครามชี้ขาดดังกล่าวจึงมีความสำคัญตรงที่ว่า เป็นสงครามที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนก้าวขึ้นมาปกครองประเทศจีนจนถึงปัจจุบัน ตอนที่ปกครองจีนในช่วงแรกๆ คนทั่วโลกมักจะเรียกจีนว่า จีนคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันที่การแบ่งแยกอุดมการณ์ทางการเมืองสลายตัวไปแล้ว จีนแผ่นดินใหญ่มักจะถูกเรียกว่า จีน คำเดียว
ยกเว้นเวลาที่มีข้อขัดแย้งกับสาธารณรัฐจีนที่เกาะไต้หวันจึงจะเรียกแบ่งว่า จีนแผ่นดินใหญ่กับจีนไต้หวัน ความสำคัญของสงครามชี้ขาดข้างต้นจึงควรที่เราจะมาทำความรู้จักกับสงครามนี้ไปด้วย ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรถึงได้มีความสำคัญขนาดนั้น
ในที่นี้ขอเริ่มเล่าอย่างย่อๆ ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นซึ่งเป็นฝ่ายแพ้สงครามก็ได้ถอนตัวออกจากจีน หลังจากที่รุกรานทำศึกกับจีนมายาวนานแปดปี (1937-1945) การที่ญี่ปุ่นถอนตัวออกไปนี้ได้ทำให้จีนเหลือสองพรรคการเมืองใหญ่คือ พรรคกว๋อหมินตั่งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งช่วงที่ทำสงครามกับญี่ปุ่นอยู่นั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถขยายเขตปลดปล่อยของตนได้ 19 เขต มีพลเมืองในเขต 70-90 ล้านคน มีทหารประชาชนหรือทหารบ้าน (Militia) ที่มิได้ผละจากการผลิตในหมู่บ้านที่ตนสังกัดอีกราว 2.2 ล้านคน และทหารประจำการราว 910,000 คน
กระนั้นก็ตาม กองกำลังที่มากมายนี้ก็เทียบไม่ได้กับที่กว๋อหมินตั่งมีอยู่ แต่ความแตกต่างในเชิงปริมาณกลับมิใช่จุดที่จะชี้ขาดของสงครามว่าฝ่ายใดจะแพ้ฝ่ายใดจะต้องชนะเสมอไป ความจริงในเรื่องนี้ก็ถูกพิสูจน์ผ่านสงครามกลางเมืองภายหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นยุติลงได้ไม่นาน
สงครามกลางเมืองไม่ได้เกิดขึ้นในทันที โดยเมื่อสงครามจีน-ญี่ปุ่นยุติลง กว๋อหมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่างพยายามประนีประนอมกันด้วยการตั้งรัฐบาลผสมขึ้น แต่ด้วยเหตุที่ต่างก็มีกองกำลังทางทหารของตนอยู่ในมือเป็นฐานทางการเมืองที่มั่นคง การจัดการให้ลงตัวด้วยการยุบกองทัพของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อรวมเป็นหนึ่งเดียวนั้น จึงยากที่ทั้งสองฝ่ายจะยอมรับได้
ผลคือ รัฐบาลผสมที่จะทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในจีนจึงล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงในเดือนกุมภาพันธ์ 1947 จากนั้นมาสงครามกลางเมืองก็ระเบิดขึ้น
แม้กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเสียเปรียบกว๋อหมินตั่งก็ตาม แต่ในแง่ขวัญและกำลังใจของทหารและความนิยมจากประชาชนแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความได้เปรียบกว๋อหมินตั่งอยู่มาก
ผลในแง่บวกเช่นนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมืองที่เหมาเจ๋อตงสร้างสรรค์ขึ้นมานั้น ได้ถูกนำมาใช้อย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมจีน เวลานั้นแม้การยอมรับในตัวเหมาในทางสากลอาจจะไม่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับเจียงไคเช็คก็ตาม แต่กล่าวสำหรับชาวจีนแล้ว ชื่อของเหมานับว่ามีฐานะดีกว่าเจียงอย่างมาก
แม้สงครามกลางเมืองระหว่างสองพรรคจะเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่ที่ถือเป็นสงครามชี้ขาดอันเป็นสงครามขนาดใหญ่นั้นมีอยู่สามสมรภูมิด้วยกัน ซึ่งหากว่ากันตามลำดับแล้วก็คือ
หนึ่ง สมรภูมิเหลียว-เสิ่น หมายถึง สมรภูมิในเหลียวหนิงและเสิ่นหยังทางภาคอีสานหรือแมนจูเรีย การยุทธมีขึ้นในกลางปี 1947 จนถึงปลายปี 1948
สอง สมรภูมิฮว๋าย-ไห่ หมายถึง สมรภูมิในพื้นที่ฮว๋ายเหอและไห่โจว อันเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำหยังจื่อ (แยงซีเกียง) การยุทธมีขึ้นในปลายปี 1948 จนถึงต้นปี 1949 และ
สาม สมรภูมิผิง-จิน หมายถึง สมรภูมิแย่งชิงเป่ยผิงและเทียนจิน โดยเป่ยผิงเป็นชื่อของปักกิ่งที่เจียงไคเช็คเปลี่ยนเป็นเป่ยผิงระหว่างเรืองอำนาจ หลังสิ้นอำนาจในปี 1949 แล้ว รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์จึงเปลี่ยนกลับไปใช้ชื่อเดิมว่า ปักกิ่งหรือเป่ยจิงจนทุกวันนี้ การยุทธนี้มีขึ้นในช่วงต้นปี 1949
ผลของสงครามชี้ขาดทั้งสามครั้งคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นฝ่ายชนะทั้งสามสมรภูมิ สามารถทำลายกองกำลังทหารของกว๋อหมินตั่งรวมสามสมรภูมิประมาณ 1.54 ล้านคน จากที่มีอยู่ก่อนทำสงครามกลางเมืองในปี 1947 ประมาณ 3.73 ล้านคน
ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีอยู่ในเวลาเดียวกันประมาณ 1.95 ล้านคน หรือแตกต่างกันในอัตราส่วนประมาณ 2 ต่อ 1 โดยผู้นำทัพคนสำคัญในสมรภูมิสุดท้ายคือ เหมาเจ๋อตง และการบุกยึดพื้นที่สมรภูมิของเขาจึงไม่ต่างกับการเข้าทำศึกของทัพหลวง
นับจากเดือนเมษายน 1949 เรื่อยมา การรุกคืบเพื่อบุกยึดดินแดนตอนใต้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นไปด้วยชัยชนะโดยตลอด ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถยึดจีนแผ่นดินใหญ่ไปครองได้แล้วโดยพื้นฐาน
ที่ว่า “โดยพื้นฐาน” นี้หมายความว่า ยังคงมีกองกำลังของกว๋อหมินตั่งหลงเหลืออยู่ในบางพื้นที่ที่ยังคงสู้ไปถอยไป ในขณะที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ตีรุกคืบไปเรื่อยๆ กล่าวกันว่า แม้ตอนที่เหมาประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 นั้น การรุกตีดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่ประปราย
อย่างไรก็ตาม สงครามชี้ขาดทั้งสามสมรภูมิดังกล่าวต่างก็มีแม่ทัพใหญ่ประจำสมรภูมินั้นๆ โดยหนึ่งในแม่ทัพในสมรภูมิแรกนั้นก็คือ หลินเปียว ซึ่งถึงแม้เขาจะเคยก่อกบฏเพื่อจะยึดอำนาจจากเหมาในต้นทศวรรษ 1970 และทำให้ถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนประณามในเวลาต่อมาก็ตาม แต่หนังเรื่องนี้ก็มิได้ตัดบทบาทของเขาในสมรภูมินี้ทิ้งไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่ทางผู้สร้างเอาความจริงเป็นที่ตั้ง มิได้อาฆาตจองเวรด้วยการละเลยข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ หนังยังฉายให้เห็นว่า ปัจจัยในการทำสงครามนั้น ฝ่ายกว๋อหมินตั่งมีความได้เปรียบในหลายด้าน เวลาวางแผนก็ทำกันในที่ตึกที่สง่างามและเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลับวางแผนในกระท่อมหรือในถ้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ในบางพื้นที่ แถมอาวุธก็ทันสมัยสู้ของกว๋อหมินตั่งไม่ได้ ฯลฯ แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็สามารถเอาชนะได้ในที่สุด
กล่าวกันว่า ที่กว๋อหมินตั่งแพ้นั้น สาเหตุสำคัญมาจากการคอร์รัปชั่นในหมู่ผู้นำและบรรดาแม่ทัพนายกองเป็นหลัก ทัพบางหน่วยคอร์รัปชั่นแม้กระทั่งค่าเสบียงของพลทหาร แล้วอย่างนี้จะไม่แพ้ได้ยังไง