xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ค่ายแดง-น้ำเงิน”รู้กัน? ทำหมันแก้รัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พรรคภูมิใจไทยแถลงชัดเจนว่า ไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  เรียบร้อยโรงเรียนเขากระโดง … สำหรับวาระการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่นัดประชุมกันเมื่อวันที่ 13 ก.พ.68 ที่ “ล่ม” ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม โดยไม่สามารถเปิดการประชุมได้ เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม 

ต้นสายปลายเหตุก็ไม่ต้องสืบให้มากความเป็น  “ค่ายสีน้ำเงิน” พรรคภูมิใจไทย ผนึกกับสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มีคราบไคลเป็น “สว.สีน้ำเงิน” ลุกขึ้นประกาศไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า สุ่มเสี่ยงว่าผิดและขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีการทำประชามติก่อน แล้วก็จูงมือ  “วอล์กเอาท์”  ออกจากที่ประชุมไป

แม้ระหว่างการปรึกษาหารือ จะมีการแก้เกมโดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.เสียงข้างน้อย จะเสนอญัตติด่วนขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียก่อน โดยมี พรรคเพื่อไทย สนับสนุน แต่ก็ถูก “สว.สีน้ำเงิน” ลงมติค้านจนคว่ำไม่เป็นท่า รวมทั้ง “ค่ายสีส้ม” พรรคประชาชน ที่โหวตค้านไม่เอาด้วยกับแนวทางนี้

ที่สุด วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ก็ต้องสั่งปิดประชุมอย่างรวดเร็ว หลังผลนับองค์ประชุมมีผู้แสดงตนแค่ 204 คน จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 692 คน (สส. 493 คน และ สว. 199 คน) และนัดประชุมใหม่ในวันรุ่งขึ้น

เอาเข้าจริงกลเกมของ “สส.-สว.สีน้ำเงิน” ก็มีการประกาศล่วงหน้า โดยฝ่าย พรรคภูมิใจไทย มีการประชุมและออกมาเป็นมติพรรคในการไม่เข้าร่วมสังฆกรรม ขณะเดียวกันก็มี สว.หลายคนออกมารับลูกในแนวทางเดียวกัน

 หนักกว่านั้น เมื่อ “มงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา ได้แจ้งความเห็นทางกฎหมายของสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถึง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา โดยยืนยันหลักการว่า ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างฉบับใหม่ ต้องมีการทำประชามติถึง 3 ครั้ง คือ 1.ถามประชาชนก่อนว่า ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่, 2. หากประชาชนเห็นชอบในครั้งแรก ให้รัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนนำไปทำประชามติอีกครั้ง และ 3.หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ต้องให้ประชาชนโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอีกครั้ง 

คล้ายกับเป็นการส่งสัญญาณกลายว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีการประชามติถามประชาชน

แม้รู้ทั้งรู้ว่ารูปการณ์จะออกมาเช่นนี้ แต่ฝ่าย พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ที่เป็นเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้าสู่วาระประชุมร่วมรัฐสภา ก็ไม่สามารถหาทางแก้เกมได้ทัน

ยิ่งเมื่อดูจากองค์ประชุมที่มี สส.-สว.แสดงตนแค่ 204 คน จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 692 คน ก็เชื่อว่าแม้จะมีความพยายามเปิดประชุมอีกครั้ง บทสรุปคงไม่ต่างจากเดิม

ถือเป็นการขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ช่วงปลายปีก่อน พรรคภูมิใจไทย และ สว.สีน้ำเงิน ก็เคยร่วมกันสกัดร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่มีการแก้ไขในส่วนของการทำประชามติก่อน/หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเป็น “สว.สีน้ำเงิน” ที่แก้ไขในชั้นวุฒิสภา ประเด็นหลักเสียงข้างมาก 2 ชั้น (Double Majority) แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้ดังกล่าว และสนับสนุนให้ใช้หลักเสียงข้างมากชั้นเดียว (Simple Majority)

จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง 2 สภา และกรรมาธิการร่วมกันยังคงเห็นชอบกับการปรับแก้ของวุฒิสภา และเมื่อส่งกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติชี้ขาด ซึ่งก็มีการโหวตไม่เห็นด้วย และยับยั้งร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ไว้ 180 วัน

ซึ่งจะพ้นกำหนดในวันที่ 17 มิ.ย.68 ก่อนจะนำกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรยืนยันการปรับแก้ตามหลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว จึงจะสามารถเริ่มกระบวนการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ก็อาจจะไม่ทันสมัยรัฐบาลชุดนี้

แต่ก็ไม้รู้ว่าถึงวันนั้นจะมีกลเกมอะไรออกมาจาก “ค่ายสีน้ำเงิน” ให้ยืดเยื้ออีกหรือไม่

 ด้านรูปการณ์เช่นนี้ทำเอาหลายฝ่ายประเมินกันว่า ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลแถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภา อาจจะ “เป็นหมัน” ก็เป็นได้ 

“รัฐบาลจะเร่งทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ” คำแถลงนโยบายว่าไว้

 หากแต่ก็มีคำถามว่า เมื่อเป็นนโยบายรัฐบาล แต่กลับไม่มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของรัฐบาลเข้าประกบกับร่างที่้เสนอโดยพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย เมื่อเช่นร่างกฎหมายอื่นๆ ที่รัฐบาลมักทำเข้ามาประกบ

ก็ต้องถามว่า พรรคเพื่อไทยอยากผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือแค่ออกแอ็กชันว่า พยายามยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพื่อ “เลี่ยงบาลี” ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำแถลงนโยบายได้เท่านั้น 

เพราะหากพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในระดับนโยบายรัฐบาลจริง ก็ควรเป็น  “หัวหน้าอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ใช้ฐานะนายกรัฐมนตรี เสนอวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามคณะรัฐมนตรี (ครม.)

แง่หนึ่งก็เป็นการแสดงความจริงใจว่า อยากให้การแก้ไขกฎหมายสูงสุดให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามป่าวประกาศไว้ อีกแง่หนึ่งก็ใช้ที่ประชุม ครม.บีบพรรคภูมิใจไทย ที่นั่งอยู่สลอนที่ประชุม ครม.ให้ต้องร่วมสังฆกรรมไปด้วย

 ซึ่งหากพรรคภูมิใจไทยยังใช้ลูกพลิ้วไม่ร่วมสังฆกรรมจริง ก็อาจ “ยื่นคำขาด” ตัดสินใจปรับ ครม. และปรับเปลี่ยนพรรคร่วมรัฐบาลครั้งต่อไปได้ ตามที่ “พ่อนายกฯ” ทักษิณ ชินวัตร เคยแยกเขี้ยวขู่พวก “อีแอบ-รำวง” ไว้ในหลายเวที 

และต้องบอกว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่ พรรคภูมิใจไทยขวางรัฐบาล เพราะที่ผ่านมามีหลายเรื่องหลายประเด็นที่ไม่เล่นตามคีย์เดียว แต่ก็น่าแปลกใจที่กลับไม่มีส่งสัญญาณคาดโทษสั่งสอนจากพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลแม้แต่น้อย

ซ้ำร้ายหลังฉาก “นายกฯ ตัวพ่อ” ยังไปอี๋อ๋อตีกอล์ฟ-ชนไวน์กับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อยู่บ่อยๆ จนเคยมีคำถามดังๆ ครั้งที่ “ทักษิณ” ไปปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ศรีสะเกษว่า ”จะไล่หนูกี่โมง“ และก็เป็นพรรคเพื่อไทยที่พังพาบให้กับผู้สมัครที่พรรคภูมิใจไทยนับสนุน

ตรงนี้ที่แม้ท่าทีขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรูปแบบของ ”ค่ายสีน้ำเงิน“ จะทำให้คนทำงานในสภาฯ ของพรรคเพื่อไทย ต้องหัวเสียหาทางแก้เกมสารพัด แต่ก็ไม่มีมาตรการกำราบใดๆ ออกมา

 คำถามมีว่าหรือ “ระดับบน” จะรู้กัน แค่แบ่งหน้ากันเล่น ไม่ได้อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริงมากกว่าหรือไม่ 

เพราะเอาเข้าจริง แค่วีรกรรมที่ผ่านๆ มาของ “ค่ายสีน้ำเงิน” หากเป็นรัฐบาลชุดอื่นๆ มีหวังถูกขู่ปรับออกจากรัฐบาลไปนานแล้ว
อ่านใจ “บิ๊กเซราะกราว” ที่อยู่เบื้องหลังพรรคภูมิใจไทย ก็เชื่อว่าไม่ได้นิยมชมชอบเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันซักเท่าไร และมีหลายจุดปลายประเด็นที่อยากแก้ไข แต่เมื่อชั่งตวงวัดแล้วก็เลือกที่จะไม่แก้ไขดีกว่า เพราะยังได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

เห็นทนโท่กับ “สว.สีน้ำเงิน” ที่ใช้วิทยายุทธ์ปลุกปั้นจนเต็มวุฒิสภา มีสิทธิมีเสียงเป็นอำนาจต่อรองทางการเมืองชั้นดี จู่ๆ จะปล่อยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้ สว.ชุดปัจจุบันก็ต้องสิ้นสภาพไปด้วย แล้วมีหรือที่ “ค่ายสีน้ำเงิน“ จะปล่อยให้เป็นเช่นนั้น

ขณะที่ “ค่ายสีแดง” ที่ครองอำนาจเป็นรัฐบาลอยู่ในตอนนี้ หากไม่นับเรื่องนโยบายที่แถลงไว้กับที่ประชุมรัฐสภา ก็ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคู่ต่อสู้หาใช่  “3 ป.”  ผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว แต่วันนี้ต้องมาเผชิญหน้ากับ  “ค่ายสีส้ม”  ที่ถนัดในการใช้ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญสร้างกระแสได้มากกว่า

ดีไม่ดีหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาจริง อะไรๆ ก็อาจไปเข้าทาง “ค่ายสีส้ม” ซึ่งก็ไม่ใช่ความต้องการของ “ค่ายสีแดง” สำหรับการเลือกตั้งสมัยหน้า

 ฟังความตามนี้ ก็อาจพาลนึกไปถึงทฤษฎีสมคบคิดว่า “ค่ายแดง-ค่ายน้ำเงิน” รู้กันกับการขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นหมัน ที่น่าจะ “วิน-วิน” กันทั้งสองพรรค ส่วนใครจะวินมากวินน้อยก็อีกเรื่อง 


กำลังโหลดความคิดเห็น