ทันทีที่จักรพรรดิทรัมป์จรดปากกามหาภัยลงในคำสั่งปธน. เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา...พลันกฎอันศักดิ์สิทธิ์หนักแน่นดั่งหินผาที่นักธุรกิจสหรัฐฯ ได้ยึดมั่นปฏิบัติมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี ก็ทลายลงเป็นผุยผงทันทีในพริบตา
นั่นคือ คำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ (ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบตามกฎหมาย) ให้พักการติดตามตรวจสอบเหล่าบริษัทของสหรัฐฯ ที่ทำธุรกิจในต่างประเทศ ที่ห้ามติดสินบน ต่อทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศ หรือบริษัทวิสาหกิจต่างประเทศ เพื่อจะได้ชนะสัญญาการประมูล หรือการเป็นคู่ค้าในต่างประเทศ
คำสั่งของทรัมป์นี้ มีไปยังรมต.หญิงคนแรกของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ฯพณฯ แพม บอนดี (ซึ่งเคยเป็นอัยการแห่งรัฐฟลอริดา และมีความใกล้ชิดเกื้อกูลกับทรัมป์เป็นอย่างยิ่งในธุรกิจการเมืองของทรัมป์)...ซึ่งนอกจากให้หยุดพักการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายต่อต้านการติดสินบนแล้ว... คำสั่งปธน.ให้รมต.ยุติธรรมจัดทำคำชี้แนะ (new guidelines) ชุดใหม่เป็นแนวปฏิบัติตามกฎหมายการต่อต้านการติดสินบน
กฎหมาย US. Foreign Corrupt Practices Act (FCPA) ผ่านสภาในปีแรกของการเข้าดำรงตำแหน่งของปธน.จิมมี คาร์เตอร์ โดยได้ลงนามในต้นเดือนธ.ค. 1977 (เมื่อ 48 ปีมาแล้ว)
ต้นเหตุที่สหรัฐฯ ต้องผ่านกฎหมายต่อต้านการติดสินบนในปี 1977 ก็เพราะมีเรื่องราวฉาวโฉ่ทำลายชื่อเสียงของบริษัทธุรกิจยักษ์ของสหรัฐฯ และเป็นการทำลายชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของประเทศสหรัฐฯ ให้ย่อยยับไปด้วย
นั่นคือ บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินทั้งในทางพาณิชย์และทางการทหารที่ทรงอิทธิพลมากชื่อ Lockheed (ต่อมาได้ควบรวมกับบริษัท Martin ในปี 1995) ที่ชนะการประมูลขายเครื่องบินรบให้แก่รัฐบาลของประเทศต่างๆ โดยมีการติดสินบนทั้งต่อเจ้าหน้าที่และนักการเมือง กระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงคมนาคม รวมทั้งผู้นำรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ ตั้งแต่ 1950 คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ๆ
ที่หนักข้อคือ เกิดการเปิดโปงโดยฝ่ายค้านที่โจมตีว่ารัฐบาลได้รับเงินสินบนใต้โต๊ะ เพื่ออนุมัติการจัดซื้อเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศเยอรมนี; ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ปี 1975 ที่เกี่ยวพันกับเจ้าชาย Bernhard ซึ่งเป็นพระราชสวามีสมเด็จพระราชินีองค์กษัตรีของเนเธอร์แลนด์ทีเดียว); ประเทศญี่ปุ่น 1976 มีหลักฐานและคำให้การในวุฒิสภาสหรัฐฯ ถึงการจ่ายสินบนให้รมต.หลายคนในครม.ของนายกฯ ทานากะ รวมทั้งตัวนายกฯ เอง เป็นเรื่องฉาวโฉ่กระฉ่อนโลกทีเดียว; ประเทศซาอุดีอาระเบีย (ช่วง 1970-1975…มีการจ้างนักล็อบบี้ตัวยง แอดนัน คาช็อกกี (Adnan Khashoggi ด้วยการจ่ายค่าวิ่งเต้น 2.5% ของราคาขายเครื่องบิน และต่อมาค่าล็อบบี้สูงขึ้นเป็นถึง 15%)
และด้วยความเหลวแหลกของรัฐบาลนิกสัน ทั้งเรื่องวอเตอร์เกต และการถือหางเหล่าบริษัทอเมริกันที่ไปจ่ายใต้โต๊ะเพื่อชนะประมูลสัญญาจัดซื้อจัดจ้างในต่างประเทศ บริษัทยักษ์เหล่านี้เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้แก่นักการเมืองอเมริกัน โดยเฉพาะจากพรรครีพับลิกัน...ซึ่งทำให้ปธน.จิมมี คาร์เตอร์ หาเสียงว่า เขาจะไม่โกหกต่อชาวอเมริกัน และต้องการบริหารด้วยความโปร่งใส จนทำให้เขาชนะการเลือกตั้งเมื่อแข่งกับปธน.เจอรัลด์ ฟอร์ด ที่เคยเป็นรองปธน.ของนิกสัน (และได้เข้ารับตำแหน่งปธน.หลังนิกสันลาออกเพื่อหลบเลี่ยงการถูกถอดถอนจากตำแหน่ง)
กฎหมาย (FCPA) นี้เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมถึงการจ่ายใต้โต๊ะในทุกๆ รูปแบบต่อการประมูลของทุกๆ กระทรวง ทบวง กรม ภายในประเทศสหรัฐฯ เองด้วย โดยห้ามการติดสินบนเพื่อเป็นคู่สัญญากับรัฐบาลอเมริกันด้วย
จักรพรรดิทรัมป์ให้เหตุผลที่ต้องทำลาย (หรือพักการใช้) ข้อปฏิบัติตามกฎหมายนี้ว่า เพราะทำให้บริษัทอเมริกันเสียเปรียบในการต่อสู้เพื่อแข่งขันช่วงชิงสัญญาประมูลในต่างประเทศ ในขณะที่คู่แข่งกลับสามารถจ่ายใต้โต๊ะติดสินบนในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็น Common Sense หรือสามัญสำนึกในการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาในประเทศ (กำลังพัฒนา) ทั้งนั้น!!
ต่อแต่นี้ไป...เหล่าโครงการยักษ์ (mega projects) ของประเทศต่างๆ คงจะมี price tags (ป้ายบอกราคา) การจ่ายใต้โต๊ะติดสินบนผุดขึ้นมาด้วยราคาสูงกว่าที่เคยจ่ายในอดีต... เพราะคราวนี้ จะมีบริษัทยักษ์ของอเมริกาพร้อมแข่งในการจ่ายสู้กับอีกหลายประเทศทีเดียว
นี่คือ อเมริกาต้องมาก่อน; จะไม่ยอมปล่อยให้ประเทศอื่นๆ ชนะการประมูลเหมือนในอดีต!